โรแบร์โต ซาเวียโน : นักเขียนที่แลกอิสรภาพกับการเปิดโปงมาเฟียอิตาลี
ราคาของการพูดความจริงนั้นแพงแค่ไหน? สำหรับ โรแบร์โต ซาเวียโน (Roberto Saviano) นักข่าวอิตาเลียนวัย 40 ปี ผู้เขียนหนังสือตีแผ่เครือข่ายมาเฟียในเมืองนาโปลี ประเทศอิตาลี ต้องจ่ายด้วยอิสรภาพกว่าสิบปี เพื่อพูดในสิ่งที่ใคร ๆ ก็ไม่กล้าเอ่ย
ก่อนหน้านี้ ซาเวียโนเป็นนักข่าวฟรีแลนซ์ที่ฝันอยากจะเป็นนักเขียน เขาเขียนบทความและข่าวทั่ว ๆ ไปส่งให้หนังสือพิมพ์หรือนิตยสารเพื่อหาเลี้ยงชีพ ขณะเดียวกันเขาก็พยายามรังสรรค์ต้นฉบับหนังสือเล่มแรกของตัวเองส่งให้สำนักพิมพ์พิจารณาไปด้วย ซาเวียโนไม่ใช่กวี เขาบอกว่าตัวเองเคยพยายามแต่งนิยายที่เน้นภาษาสวยงามแล้วแต่มันออกมาแย่ สุดท้ายเขาเลยอาศัยทักษะของนักข่าว ถ่ายทอดเรื่องราวที่เกิดขึ้นในนาโปลี เมืองหลักของแคว้นคัมปาเนียที่เขาเติบโตมาลงไปในหนังสือ
“ผมรู้สึกโกรธมากขึ้นเรื่อย ๆ ตลอดหลายปีที่โตมาในเมืองนี้ มันเป็นเวลาเกือบ 10 ปีที่มีมาเฟีย 2 กลุ่มพยายามทำสงครามแย่งอาณาเขตปกครองกันในเมืองที่มีคนอาศัย ผมเห็นความรุนแรง คนตาย คนอดอยาก ผมรู้จักบางคนที่ทำงานให้กลุ่มมาเฟียพวกนี้ ผมติดตามข่าว อ่านคำพิพากษาของศาลที่พวกเขารอดไปทุกทีทั้งที่มีความผิด ผมพยายามเก็บรวบรวมทุกอย่างและเขียนลงไป”
หนังสือเล่มแรกที่รวมความอัดอั้นของซาเวียโนคือ Gomorrah ตีพิมพ์ในปี 2006 เขาตั้งชื่อให้พ้องกับ ‘คามอร์รา’ (Camorra) ชื่อกลุ่มมาเฟียที่ทรงอิทธิพลที่สุดของนาโปลี เมืองที่มีคนยากจน และธุรกิจสีเทาแฝงตัวอยู่เป็นจำนวนมาก เขาเล่าตั้งแต่เรื่องราวโดยทั่วไปของแก๊ง สมาชิกกลุ่ม ไปจนถึงเส้นสายอำนาจและการลงทุนที่พวกเขาครอบครอง หนังสือเล่มนี้เป็นที่สนใจอย่างรวดเร็ว จนทำให้คนเริ่มรู้จักชื่อของโรแบร์โต ซาเวียโน นักเขียนวัย 26 ปี
“มันอาจไม่น่าเชื่อนะ แต่สิ่งที่ผมเขียนไม่ใช่เรื่องใหม่เลย ถ้าคุณอาศัยอยู่ในนาโปลีคุณย่อมรู้ แต่แค่ไม่มีใครกล้าพูดมันออกมาตรง ๆ ก็เท่านั้น” ในเวลาไม่กี่เดือนหนังสือของซาเวียโนก็ขายดีจนขึ้นแท่น best-seller แน่นอนว่ามันเริ่มสะกิดความสนใจจากกลุ่มมาเฟียเจ้าของเรื่องราวในที่สุด ซาเวียโนเริ่มได้รับอีเมลแปลก ๆ และเริ่มรู้สึกว่ามีสายตาจ้องมองมา
สัญญาณทุกอย่างเริ่มชัดเจนขึ้นหลังเขาเดินทางไปโปรโมทหนังสือที่เมืองคาซาล ดิ ปรินซิเป ต้นกำเนิดของแก๊งคามอร์รา วันนั้นซาเวียโนเรียกชื่อของหัวหน้าแก๊งคามอร์ราออกมาอย่างชัดเจน ก่อนจะไล่ให้เขาออกไปจากเมืองเสีย ซาเวียโนจำได้ว่าทันทีที่เขาพูดจบ ทุกคนก็นิ่งค้าง ไม่มีใครคาดคิดว่าเขาจะกล้าพูดชื่อของหัวหน้าแก๊งออกมาตรง ๆ
“ผู้คนมักจะเรียกเขาว่า ‘คนคนนั้น’ หรือไม่ก็ ‘ชายคนนั้น’ ไม่มีใครกล้าเรียกชื่อของเขา นั่นล่ะอำนาจที่เขามี” ซาเวียโนจำได้ว่าวันนั้นหลังจบอีเวนต์แจกลายเซ็น มีเจ้าหน้าที่มาดักพบเขาตอนที่กำลังจะกลับ แล้วบอกว่าหากเขาเดินทางกลับเองอาจไม่ปลอดภัย ให้เจ้าหน้าที่พากลับไปดีกว่า หลังจากซาเวียโนกลับมาที่เมืองนาโปลีได้ไม่ถึง 1 เดือน ก็มีเจ้าหน้าที่สองคนบอกว่าได้รับคำสั่งให้มาคุ้มกันเขา เพราะได้รับรายงานว่ามีคำสั่งจากในคุก ซึ่งหัวหน้าแก๊งคาร์มอร์ร่าถูกขังอยู่ บอกให้กำจัดเขาเสีย
ตอนแรกซาเวียโนคิดว่าการคุ้มกันจะนานเพียงไม่กี่สัปดาห์ แต่แล้วมันก็เริ่มนานถึง 6 เดือน เหตุเพราะหนังสือของเขาได้รับความสนใจมากขึ้น ยอดขายในอิตาลีดีดไปถึง 4 ล้านเล่ม และกำลังจะถูกแปลไปอีกหลายภาษา ชื่อเสียงที่ได้มาเริ่มส่งผลกระทบต่อชีวิตเขามากขึ้นไปอีก
“การคุ้มกันมันเริ่มหนาแน่นขึ้น ผมต้องเดินทางพร้อมกับบอดี้การ์ดที่ถูกฝึกมาอย่างดีถึง 7 คน พร้อมรถกันกระสุนอีก 2 คันที่ผมใช้สลับนั่ง ผมเริ่มไปในสถานที่ที่อยากไปไม่ได้เพราะมันเสี่ยง แค่อยากจะซื้อไอศกรีมกินสักแท่งยังยากเลย”
เพราะความกังวลด้านความปลอดภัย ซาเวียโนจึงไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตแบบเดิมได้อีก เขาไม่สามารถทำอะไรตามใจตัวเองได้ ตารางชีวิตจะต้องวางแผนล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน เพื่อให้เจ้าหน้าที่วางระบบคุ้มกัน ถ้าหากร้านอาหารที่อยากไปไม่ผ่านเกณฑ์ความปลอดภัยที่ตั้ง เขาก็ไม่มีสิทธิ์เดินเข้าร้าน ซาเวียโนไม่สามารถมีตารางชีวิตที่แน่นอนได้เพราะมันเสี่ยง รวมถึงไปพบเพื่อนหลาย ๆ หนไม่ได้ เพราะอาจทำให้เพื่อน ๆ กลายเป็นเป้าหมายไปด้วย
แม้เขาไม่ใช่คนแรกที่ต้องใช้ชีวิตภายใต้การคุ้มกันแบบนี้ ในอิตาลีมีคนเช่นเขาอยู่ถึง 585 คน (อ้างอิงจากบทความ My life under armed guard ที่ซาเวียโนเขียนลง The Guardian) แต่อาจมีเพียงเขาคนเดียวที่อยู่ใต้การคุ้มกันแน่นหนายาวนานตั้งแต่ปี 2006 จนถึงปัจจุบัน รวมเป็นระยะเวลากว่า 14 ปี ตัวซาเวียโนเองก็ยังแปลกใจที่เขาไม่เป็นบ้าไปเสียก่อน
“ผมมักถูกถามว่า ทำไมแก๊งคามอร์ราที่มีอิทธิพลขนาดนั้น ถึงต้องกลัวคนอย่างผม ผมขอบอกชัด ๆ ตรงนี้เลยว่า พวกเขาไม่ได้กลัวผม พวกเขากลัวคนอ่านของผมต่างหาก ถ้าหนังสือของผมเป็นแค่หนังสือทั่วไปที่มีแค่คนไม่กี่พันอ่าน พวกเขาก็คงไม่สนใจขนาดนี้ แต่เพราะมันขายดีมากทั้งในและต่างประเทศ ทำให้คนเริ่มหันมาสนใจสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในอิตาลี นั่นล่ะที่พวกเขากลัวที่สุด”
.
ซาเวียโนบอกว่า แก๊งมาเฟียล้วนอยากแสดงอำนาจในพื้นที่ของตัวเอง แต่กลับไม่อยากมีความสำคัญในพื้นที่อื่น การอยู่ใต้สปอตไลต์ อยู่ในความสนใจของผู้คน ทำให้พวกเขาเคลื่อนไหวได้ยาก และนั่นก็เป็นเหตุผลให้ซาเวียโนยังต้องอยู่ภายใต้การคุ้มกันต่อไป แม้ชีวิตแบบนี้จะไม่ต่างอะไรจากการถูกคุมขังก็ตาม
“มีครั้งหนึ่งที่ผมไปสนามบิน มีคุณผู้หญิงคนหนึ่งเดินมาถามผมว่า ‘คุณมาทำอะไรที่นี่ นี่มันสนามบินนะ’ เหมือนว่าเขาจะกลัวโดนลูกหลงไปด้วยน่ะ มันแย่นะ ผมไม่รู้แล้วว่าสิ่งที่ผมทำไปมันถูกต้องไหม บางครั้งตื่นขึ้นมาก็ยังรู้สึกผิดกับคนที่รักผมอยู่เลย เพราะผมทำพวกเขาลำบาก แต่มันก็เป็นสิ่งที่ผมเลือกแล้ว ผมยอมรับผลของมัน”
หลังจากมีการตีพิมพ์หนังสือ Gomorrah ออกมา คนทั่วโลกก็เริ่มสนใจเรื่องราวของมาเฟียในอิตาลีมากขึ้น ซาเวียโนบอกว่า รัฐบาลไม่สามารถจะทำเป็นหลับหูหลับตาได้อีกต่อไป เพราะสาธารณชนไม่ยอมให้พวกเขาทำแบบนั้นได้อีก ทั้งหมดนี้คือพลังที่หนังสือของเขาทำไว้ หนังสือเล่มแรกของเขา ที่ปลุกความสนใจของผู้คนทั่วโลก ซาเวียโนบอกว่า “ไม่มีอะไรต้องเสียใจอีก”
ที่มา
สารคดี Roberto Saviano: Writing Under Police Protection
https://www.theguardian.com/world/2015/jan/14/-sp-roberto-saviano-my-life-under-armed-guard-gomorrah