ลาซิโอ ทีมรักของเหล่าขวาจัดฟาสซิสต์ นิยมมุสโสลินี
"ผมจะแสดงท่าสดุดี (แบบฟาสซิสต์) ต่อไปเหมือนที่เคยทำตลอดมา มันทำให้ผมรู้สึกว่า ผมเป็นส่วนหนึ่งกับพวกพ้องของผม ผมขอสดุดีพวกเขาด้วยสัญลักษณ์ของการเป็นสมาชิกกลุ่มก้อนที่ยึดถือค่านิยมที่เที่ยงแท้ร่วมกัน ค่านิยมแห่งวัฒนธรรมที่ต่อต้านการสร้างมาตรฐานเดียวซึ่งสังคมนี้บีบบังคับเรา"
เปาโล ดิ คานิโอ (Paolo Di Canio) กล่าวหลังถูกสมาคมฟุตบอลอิตาลีพิจารณาลงโทษ หลังเขาทำท่าสดุดีแบบฟาสซิสต์ ขณะลงเล่นในนาม “ลาซิโอ” 2 นัดติดต่อกันเมื่อปี 2005 (Mirror)
ดิ คานิโอเป็นชาวโรมที่เป็นแฟนทีมลาซิโอมาตั้งแต่เด็ก และไม่ได้เป็นแฟนธรรมดาเท่านั้น เขาคือแฟนหัวรุนแรงเข้าเส้นในกลุ่มที่ชื่อว่า “Irriducibili” (คงกระพัน) กลุ่มอุลตร้าฝ่ายฟาสซิสต์ที่ก่อตัวขึ้นในทศวรรษ 1980s
แม้ฝ่ายจัดการฟุตบอลทั่วโลกพยายามทำให้ฟุตบอลเป็นพื้นที่ปลอดการเมือง แต่ฟุตบอลก็หนีประเด็นการเมืองไม่พ้น การต่อสู้ทางการเมืองของคนในสังคม ยังคงถูกแสดงผ่านการสนับสนุนทีมฟุตบอล
เช่น 2 ทีมคู่แข่งแห่งกรุงโรม ที่มีลาซิโอเป็นตัวแทนของฝ่ายขวา ชาตินิยม ส่วนโรมาเป็นตัวแทนของฝ่ายซ้าย และกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกเกลียดชังโดยนักชาตินิยม ทั้งชาวยิว และคนผิวดำ
และผู้ที่นำลาซิโอไปผูกอัตลักษณ์กับฟาสซิสต์อย่างแนบแน่นก็คือ ฟาบริซิโอ พิสชิเตลลี (Fabrizio Piscitelli) อดีตผู้นำกลุ่ม Irriducibili เจ้าของฉายา Diabolik ตามชื่อตัวการ์ตูนอิตาลีซึ่งเป็นโจรและมือสังหาร ผู้ประกาศว่า พวกเขาคือฟาสซิสต์กลุ่มสุดท้ายที่เหลืออยู่ของอิตาลี
กลางทศวรรษ 80s พิสชิเตลลีซึ่งอยู่ในช่วงวัยรุ่นไม่ปลื้มกับวัฒนธรรมการเชียร์บอลแบบจืดชืดของแฟนบอลยุคเก่าของลาซิโอ ที่ขาด “พลัง” หรือ “แพสชัน” เช่นเดียวกับสถานภาพของทีมที่ตกต่ำลงเรื่อย ๆ จากอดีตแชมป์ซีเรียอา (ลีกสูงสุดของอิตาลี) ฤดูกาล 1973-1974 แต่เพียง 6 ปีต่อมาพวกเขาต้องตกไปอยู่ลีกล่างเมื่อพัวพันคดีล้มบอล และใช้เวลาเกือบสิบปีกว่าที่จะกลับขึ้นมาเล่นในซีเรียอาได้อีกครั้ง (1988) ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ Irriducibili เติบโตและสร้างอิทธิพลเหนือลาซิโอ โดยมีพื้นที่ประจำการอยู่ที่มุมสแตนด์ทางทิศเหนือของสนามโอลิมปิก
"ผมโตมาในย่านสีแดง บ้านฝั่งตรงข้ามบ้านผมก็คือหัวหน้ากลุ่ม Fedayn (แฟนกลุ่มอุลตร้าของโรมา) เขาเป็นนักกิจกรรมซ้ายสุดโต่ง ส่วนผมโตมาเป็นฝ่ายขวาสุดโต่งลาซิโอ เพื่อเป็นการตอบโต้ที่โรมาเป็นตัวแทนของฝ่ายซ้ายในย่านของฝ่ายซ้าย และลาซิโอก็มีนักสู้ที่เป็นขวาจัด" พิสชิเตลลีกล่าวกับ เจมส์ มอนทาร์ก (James Montague) นักเขียนชาวอังกฤษ (GQ)
กลุ่ม Irriducibili ขึ้นชื่อเรื่องการทะเลาะต่อยตีกับแฟนบอลทีมอื่น การแปรอักษร การชูป้ายข้อความเหยียดเชื้อชาติ ต่อต้านยิว การล้อเลียนนักเตะผิวดำว่าเป็นลิง การล้อแฟนบอลโรมาว่าเป็นพวกยิว มีการทำภาพล้อเลียนโดยใช้ภาพของ แอน แฟรงก์ (หญิงชาวยิวเจ้าของไดอารีที่บรรยายสภาพการกดขี่ของนาซี) มาตัดต่อเป็นภาพที่เธอสวมเสื้อทีมโรมา และใช้คำล้อเลียนแฟนโรมาว่า "เอาช์วิตซ์ คือประเทศของพวกมึง บ้านมึงคือห้องรมก๊าซ"
Irriducibili มีความคลั่งไคล้ความผูกพันกับกลุ่มก้อนของตนเองมาก แม้ว่าหลายคนจะไม่ได้สนใจว่า ทีมของพวกเขาจะประสบความสำเร็จเพียงใด และให้ความสำคัญกับการรวมกลุ่มทำกิจกรรมร่วมกันมากกว่า
แอนดี มิตเทน (Andy Mitten) นักข่าวของ FourFourTwo ซึ่งมีโอกาสได้สัมภาษณ์กลุ่ม Irriducibili ในวันที่พวกเขาเพิ่งสูญเสียพิสชิเตลลีผู้นำที่ถูกฆาตกรรมได้ไม่นานเล่าว่า ฟรังโก แฟนบอลวัย 48 ปี ซึ่งตามเชียร์ลาซิโอมากว่า 34 ปีแล้ว บอกว่า เขารักเวลาที่ลาซิโอตกไปอยู่ซีเรียบีมากกว่า เพราะการต่อยตีกับแฟนทีมตรงข้ามทำได้ง่ายกว่า (เพราะความสนใจของสาธารณะน้อยกว่า) แน่นอนว่าเขาจดจำความสำเร็จของทีม แต่นั่นไม่ใช่สาระสำคัญ
"เราไม่ต้องการพูดเรื่องฟุตบอล เราสนใจการปะทะมากกว่า เราคืออุลตร้า เราไม่ใช่แค่แฟนบอล" ฟรังโกกล่าวก่อนเสริมว่า "นี่คือชุมชนของเรา เป็นครอบครัวที่สองของเรา ผมหย่ากับเมียแล้ว แต่ผู้คนที่ผมรู้จักที่นี่ ผมรู้จักก่อนหน้าเมียมานานมากแล้ว"
ความคลั่งไคล้และความสุดโต่งของ Irriducibili ทำให้พวกเขาโดยเฉพาะพิสชิเตลลีมีอิทธิพลสูงมาก เขาสามารถเจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อช่วยเหลือแฟนบอลสุดโต่งเหล่านี้ได้ ในการตัดสินใจของสโมสรพวกเขาก็สามารถใช้การประท้วงเข้ากดดันให้สโมสรต้องรับฟังได้ เช่นในปี 1995 เมื่อสโมสรต้องการขาย จูเซปเป ซิญญอรี กองหน้าที่เก่งที่สุดคนหนึ่งในซีเรียอาให้กับปาร์มา แต่การประท้วงของพวกเขาทำให้สโมสรต้องยอมถอย และพวกเขาก็เคยพยายามยึดสโมสรเป็นของตนเองมาแล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
การจัดการกลุ่มแฟนบอลสุดโต่งทำให้พิสชิเตลลีมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ แต่เขาไม่ได้หวังพึ่งรายได้จากของที่ระลึกสำหรับแฟนบอลเท่านั้น รายงานของ The Guardian กล่าวว่า พิสชิเตลลียังมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มมาเฟีย และพัวพันกับการค้ายาเสพติดก่อนถูกจับกุมในปี 2015 ทำให้เขาถูกจำคุกตามด้วยการกักบริเวณและถูกยึดทรัพย์ แต่เขาก็ยังไม่สูญเสียอำนาจใน Irriducibili
พิสชิเตลลีพยายามกลับมาสร้างอิทธิพลอีกครั้ง คราวนี้เขาหันไปญาติดีกับ เคลาดิโอ โลติโต (Claudio Lotito) ประธานสโมสรลาซิโอที่เขาปีนเกลียวมาโดยตลอด ขณะเดียวกันกลุ่มของเขาก็ยังเป็นข่าวในด้านลบอยู่เสมอ เช่นการรวมกลุ่มไปแสดงการคารวะ เบนิโต มุสโสลินี ผู้นำฟาสซิสต์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ลานประหารในเมืองมิลาน และการประกาศให้พื้นที่ 10 แถวแรกบนสแตนด์ฝั่งเหนือของพวกเขาเป็นพื้นที่ปลอดผู้หญิง ก่อนที่เขาจะถูกลอบสังหารกลางกรุงโรมเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2019
แม้จะเกี่ยวข้องกับยาเสพติดทั้งเสพและค้า แต่พิสชิเตลลีก็เชื่อว่า พวกเขาคือพลังเพื่อความถูกต้อง ไม่ใช่เพื่อเงินทอง และอำนาจ พวกเขาคือผู้ที่ทำให้สโมสรมีทั้งชื่อเสียง ความนิยม และเงินทอง ทั้งยังมีส่วนสำคัญในการจัดการกับนักฟุตบอลที่ไม่มีใจจะเตะให้กับทีม การพยายามกำจัดพวกเขาโดยอ้างว่าเพื่อให้ฟุตบอล “ใสสะอาด” ถือเป็นเรื่องเหลวไหล
“ถึงเวลาของฟุตบอลที่ขาวสะอาด พูดอย่างกับว่าพวกเราคือพวกสกปรกในวงการฟุตบอล ในขณะที่พวกคุณนั่งฮั้วผลการแข่งขันกันทุกเกม ประธานสโมสรครึ่งนึงนั่นแหละที่ทุจริต" พิสชิเตลลีกล่าว
แต่ทั้งนี้ ความเป็นฟาสซิสต์ก็ไม่ใช่เสียงเดียวที่ออกมาจากแฟนบอลลาซิโอ ดิ คานิโอ เองที่ฝักใฝ่ฟาสซิสต์ก็เริ่มสำนึกว่า การแสดงออกของเขาในอดีตมีปัญหา เมื่ออุดมการณ์ของเขาทำให้เขากลับมาหางานในฝั่งอังกฤษได้อย่างยากเย็น แฟนลาซิโออีกกลุ่มก็พยายามล้างภาพฟาสซิสต์ที่ติดมากับพิสชิเตลลี และกลุ่ม Irriducibili นำโดยกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “Laziale and Anti-Fascist” (LAF) ตั้งขึ้นเมื่อปี 2011 มีคำขวัญประจำกลุ่มว่า "รักลาซิโอ ไม่โอฟาสซิสต์" มีวัตถุประสงค์เพื่อทำลายภาพลักษณ์เหมารวมว่า แฟนลาซิโอเป็นฟาสซิสต์ และพยายามขับไล่กลุ่มนีโอฟาสซิสต์จากการยึดครองพื้นที่มุมสแตนด์ฝั่งเหนือ (The Local)
อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันการเคลื่อนไหวของอุดมการณ์ฝ่ายขวาเป็นไปอย่างคึกคัก ปัญหาการเหยียดผิวในสนามฟุตบอลอิตาลีก็ยังเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ โดยที่ผู้เหยียดสามารถเหยียดผิวได้เต็มปากในขณะที่บอกว่าตัวเองไม่เหยียดผิวแม้แต่น้อย เช่น กรณีแฟนบอลเวโรนา ที่ตะโกนร้องเสียงลิงเพื่อเหยียด มาริโอ บาโลเตลลี ศูนย์หน้าอิตาลีเชื้อสายกานา แกนนำกลุ่มอุลตร้าของเวโรนา ออกมาแก้ตัวว่า คนอัดและคนดูวิดีโอหูฝาดไปเอง พวกเขาไม่ได้เหยียดผิว แค่ล้อเลียนรูปลักษณ์ภายนอกของคนอื่นไปเรื่อยเท่านั้น การเคลื่อนไหวเพื่อกำจัดปัญหานี้จึงเป็นเรื่องยาก และแกนนำของ LAF ก็ยอมรับว่า สแตนด์เชียร์ในสนามบอลอิตาลีส่วนใหญ่ถูกครอบครองโดยกลุ่มนีโอฟาสซิสต์