ศ. นพ. มานพ พิทักษ์ภากร หมอดูแห่งวงการแพทย์ ผู้ทำนายโรคจาก DNA

ศ. นพ. มานพ พิทักษ์ภากร หมอดูแห่งวงการแพทย์ ผู้ทำนายโรคจาก DNA
ความก้าวหน้าทางการแพทย์ในด้านการตรวจรักษาโรคด้วยองค์ความรู้พันธุกรรม เดินทางมาไกลเหนือความคาดหมายในวันนี้ จากเดิมที่เคยเป็นสาขาวิชาที่ไม่มีผู้สนใจศึกษาหรือถูกมองข้าม วันนี้องค์ความรู้ดังกล่าวได้พัฒนามาถึงขั้นสามารถทำนายโรคร้ายได้ล่วงหน้า ศาสตราจารย์ นายแพทย์มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล (SiCORE-PM-Siriraj Center of Research Excellence in Precision Medicine) เป็นหนึ่งในบุคลากรทางการแพทย์ของไทย ที่บุกเบิกการศึกษาในสาขาวิชาดังกล่าว หลังจบการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยความสนใจเรื่องพันธุกรรม เขาจึงตัดสินใจไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา เริ่มต้นด้วยการฝึกอบรมด้านอายุรศาสตร์ 3 ปี และต่อด้วยด้านพันธุศาสตร์อีก 3 ปี นายแพทย์มานพเลือกฝึกอบรมที่สถาบันวิจัยจีโนมมนุษย์ (National Human Genome Research Institute) สังกัดสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (National Institutes of Health-NIH) รัฐแมรีแลนด์ จากนั้นได้ทำวิจัยร่วมกับทีมนักวิจัยที่สถาบันมะเร็ง (National Cancer Institute) ก่อนกลับมาพัฒนาเรื่องนี้อย่างจริงจังในประเทศไทย ปัจจุบัน ความรู้ในการถอดรหัสพันธุกรรมได้กลายมาเป็นแผนที่นำทางที่ช่วยต่อยอดความก้าวหน้าของวิทยาการทางการแพทย์ และให้ความหวังแก่การดำรงชีวิตอยู่อย่างมีคุณภาพของมนุษย์ และนี่คือบทสนทนากับ "หมอดูแห่งวงการแพทย์" ผู้ทำนายโรคจาก DNA   ศ. นพ. มานพ พิทักษ์ภากร หมอดูแห่งวงการแพทย์ ผู้ทำนายโรคจาก DNA The People : การทำนายโรคในเชิงวิทยาศาสตร์เป็นอย่างไร มานพ : หลายคนเวลาพูดถึงเรื่องนักทำนาย คนจะเข้าใจว่า เอ๊ะ ! เราเป็นหมอดูหรือเปล่า จริง ๆ แล้ว การทำนาย ถ้ามีหลักการหรือหลักฐานเชิงวิทยาศาสตร์ที่เราสามารถบอกที่มาที่ไปได้ การทำนายจริง ๆ ก็สามารถที่จะใช้ในกรณีของคนไข้ทุก ๆ คนได้เหมือน ๆ กัน ถ้าเรามีข้อมูลหรือองค์ความรู้เหมือน ๆ กัน เพราะฉะนั้น คำว่าทำนายมันไม่ได้แปลว่าเรายกเมฆขึ้นมาเฉย ๆ แต่ว่ามีเหตุมีผลที่มาที่ไปอยู่   The People : องค์ความรู้เหล่านี้ดีขึ้นแค่ไหนในช่วงเวลาที่ผ่านมา มานพ : ต้องยอมรับว่าองค์ความรู้มากขึ้นเรื่อย ๆ ทุกวัน เราพูดกันเป็นรายวัน แต่ว่าปัจจุบันนี้เราสามารถที่จะทำนายหลาย ๆ อย่าง ตั้งแต่คนไข้ยังไม่มีอาการด้วยซ้ำไปว่าอนาคตเขาจะเกิดอะไรได้บ้าง ถ้าเราทราบว่าเขามีรหัสพันธุกรรมส่วนไหนที่บกพร่อง แล้วส่วนที่บกพร่องหรือที่เกิดความผิดปกติ ก่อให้เกิดโรคอะไรในอนาคต   The People : อย่างเช่นสามารถทำนายโรคของทารกคนหนึ่งได้ว่า อีก 30 ปีจะเป็นโรคอะไร? มานพ : เราสามารถบอกได้ตั้งแต่ยังไม่เกิดด้วยซ้ำไป แล้วเด็กแรกเกิดออกมาจะมีปัญหาอะไรหรือเปล่า หลายโรคซึ่งเรารู้ว่าโรคนี้ไม่ได้เกิดตอนเด็ก ถึงแม้ว่าเขาจะมีรหัส DNA ซึ่งผิดไปจากเดิม แต่ว่าเรารู้ว่าโรคเหล่านี้จะเกิดขึ้นตอนเป็นผู้ใหญ่ เราสามารถจะบอกได้เหมือนกันว่า อนาคตเขาจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอะไรบ้าง   The People : ความหมายของ "ศูนย์การแพทย์แม่นยำ" คืออะไร มานพ : เป็นคำภาษาไทย แปลมาจากภาษาอังกฤษ คำว่า "Precision Medicine" เวลาคนไข้สักคนหนึ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคโรคหนึ่ง เรารู้ว่าจริง ๆ แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการรักษา หรืออนาคตที่เราทำนายว่าต่อไปเขาจะเป็นยังไง แต่ละคนไม่เหมือนกัน เช่น คนไข้ที่เราเห็นโรคทั่ว ๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นเบาหวาน ความดันเลือดสูง เป็นโรคหัวใจ หรือแม้กระทั่งเป็นโรคมะเร็ง ถึงแม้ว่าเขาจะเป็นโรคเดียวกัน แต่เรารู้ว่าคนไข้แต่ละคนซึ่งเป็นโรคเดียวกันมีการดำเนินโรคไม่เหมือนกันเลย การรักษาก็ไม่เหมือน การตอบสนองการรักษาก็ไม่เหมือนอีก สูตรยาก็ไม่เหมือนกัน ในอดีตเราอาจจะบอกไม่ได้ว่าความแตกต่างนี้เกิดขึ้นจากอะไร แต่ว่าในปัจจุบันองค์ความรู้ทำให้เราสามารถจะทำนายดีขึ้นไปอีกว่า คนไข้แต่ละคนที่เขาต่างกัน เขาต่างกันเพราะอะไร แล้วเราใช้วิธีนี้ในการที่จะทำนายการรักษาได้เลยด้วยซ้ำไปว่า คนไข้คนนี้ควรจะได้รับการรักษาแบบไหนถึงจะเหมาะสม ทำให้แนวคิดเปลี่ยนจากการที่คนไข้โรคเดียวกันควรจะได้รับการรักษาเหมือนกัน ในปัจจุบันเราก็เชื่อว่า การรักษาควรจะเหมาะสมกับคนไข้แต่ละคน ทำให้ภาพรวมของการรักษามันดูแม่นยำและจำเพาะบุคคลมากขึ้น อันนี้ก็เป็นที่มาของคำว่าการแพทย์แม่นยำ   The People : แม้แต่ในภาษาอังกฤษ "Precision Medicine" ก็ถือว่าเป็นคำใหม่ใช่ไหม มานพ : เป็นองค์ความรู้ที่ประมาณว่าล้อไปกับโครงการที่ได้รับการถอดรหัสพันธุกรรมมนุษย์ ซึ่งเพิ่งเสร็จไปประมาณสัก 20 ปีนี้เอง แต่ว่าองค์ความรู้ที่สั่งสมมาจากการถอดรหัสพันธุกรรม ทำให้เรารู้ว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เรามีความรู้ใหม่ ๆ เกิดขึ้นเยอะมาก แล้วเทคโนโลยีของการถอดรหัสพันธุกรรม มันดีพอที่จะเอามาใช้กับการดูแลรักษาผู้ป่วยในช่วงเวลาไม่กี่ปีนี้เอง ความรู้นี้เลยเกิดขึ้นในช่วงเวลาประมาณสัก 4-5 ปีที่ผ่านมา ศ. นพ. มานพ พิทักษ์ภากร หมอดูแห่งวงการแพทย์ ผู้ทำนายโรคจาก DNA The People : ทำไมตอนเป็นนักเรียนแพทย์ถึงสนใจเรียนต่อด้านนี้ ทั้งที่ขณะนั้นน่าจะเป็นองค์ความรู้ใหม่มากๆ มานพ : มันอาจจะเกิดจากความสนใจส่วนตัวเป็นหลัก และเราคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ซึ่งคนทั่วไปยังไม่ค่อยมีใครเข้าใจ ไม่ค่อยมีใครรู้เท่าไหร่ ประเทศไทยเองมีคนที่ศึกษาเรื่องนี้น้อย ผมคิดว่าเราน่าจะทำกลับมาทำประโยชน์ได้ดีขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับว่ามันเป็นสิ่งที่เกินคาดพอสมควร ไม่คิดว่าองค์ความรู้จะเกิดขึ้นเร็วขนาดนี้ แล้วก็เอามาใช้ได้อย่างรวดเร็วขนาดนี้ เลยดูเหมือนว่าเป็นของที่ใหม่มาก แล้วก็ก้าวล้ำนำยุคไปค่อนข้างเยอะ และหลาย ๆ คนอาจจะมองว่าเป็นของซึ่งแทบจะไม่นึกไม่ฝันว่าเราจะได้ใช้ในช่วงเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา   The People : ในแง่ความก้าวหน้า เปรียบเทียบกับต่างประเทศแล้ว ไทยเราตามทันไหม มานพ : ถ้าในแง่ขององค์ความรู้ เราก็ไล่ ๆ กับต่างประเทศ ไม่ต่างกันเท่าไหร่ เรารู้ว่าองค์ความรู้หลายอย่างเป็นองค์ความรู้ซึ่งแบ่งปันข้อมูลกันทั่วโลกอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น สิ่งซึ่งเขาศึกษาในต่างประเทศ เราก็รู้ไม่ต่างกัน แต่ว่าสิ่งที่เราจะต้องศึกษาเพิ่มเติม คือของบางอย่างที่มันเหมือนกัน มันก็มีแง่มุมบางอย่างซึ่งต่างกัน เช่น คนไข้ที่เป็นโรคเดียวกัน อาจจะเป็นคนไข้ต่างชาติ อย่างเช่นคนผิวขาวชาวตะวันตกกับคนเอเชียก็ไม่เหมือน เรามีบางอย่างซึ่งคนเอเชียมี แต่ว่าคนต่างชาติไม่มี หลายองค์ความรู้เราก็ต้องค้นหาเอง ศึกษาเอง   The People : อนาคตของการแพทย์แม่นยำจะเป็นอย่างไรต่อไป มานพ : คงเป็นสาขาที่ได้รับความนิยมมากขึ้น แต่ว่ายังไงก็ยังไม่พอ เนื่องจากงานหรือความสำคัญของมันเกิดขึ้นเร็วมาก แล้วก็เข้าไปมีบทบาทกับการดูแลผู้ป่วยหลาย ๆ โรค หลาย ๆ สาขาด้วย เมื่อก่อนอาจจะมองว่าเรื่อง DNA หรือเรื่องพันธุกรรม เป็นเรื่องจำเพาะมาก ๆ เฉพาะเรื่อง หายาก เรื่องโรคซึ่งถ่ายทอดในครอบครัวเท่านั้น แต่ปัจจุบัน แม้กระทั่งโรคทั่ว ๆ ไป ก็มีปัจจัยทาง DNA ปัจจัยทางพันธุกรรมผสมอยู่ไม่มากก็น้อย เพราะฉะนั้น บทบาทของวิชานี้จะเกิดขึ้นและมีส่วนร่วมในทุก ๆ สาขาการแพทย์หมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของหัวใจ สมอง มะเร็ง โรคปอด โรคไต หรือว่าโรคเบาหวาน หรือว่าโรคทั่ว ๆ ไปที่เราเข้าใจกันดี ศ. นพ. มานพ พิทักษ์ภากร หมอดูแห่งวงการแพทย์ ผู้ทำนายโรคจาก DNA The People : การรักษามะเร็งเต้านมของแองเจลินา โจลี นักแสดงฮอลลีวูด ทำให้ศาสตร์สาขานี้ได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น? มานพ : ใช่ คือจริง ๆ แล้วองค์ความรู้เรื่องเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมโดยเฉพาะในมะเร็งกรณีอย่างแองเจลินา โจลี เกิดขึ้นมานานพอสมควรแล้ว แต่ว่าคนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยเข้าใจดี แล้วก็อาจจะนึกไม่ถึงด้วย บางคนก็อาจจะคิดว่าเป็นเรื่องซับซ้อนมาก ๆ ไกลเกินเอื้อม ราคาแพง เข้าไม่ถึง แต่พอมีกรณีตัวอย่าง เช่น แองเจลินา โจลี เป็นตัวเปิดหรือจุดประกายให้คนเห็นว่า จริง ๆ แล้ว มันมีความสำคัญยังไง  ปัจจุบัน การตรวจพันธุกรรมในการดูแลรักษาโรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งเต้านม แทบจะกลายเป็นมาตรฐานเลย อย่างในศิริราชเองที่ผมทำงานอยู่ จริง ๆ เราตรวจคนไข้โรคมะเร็งอย่างนี้ ปีหนึ่งประมาณ 500-600 คน ที่ถอดรหัสพันธุกรรมเฉพาะกลุ่มที่เป็นมะเร็งที่เราสงสัย และเราก็เจอคนไข้อยู่ไม่ต่างกันกับที่ต่างประเทศมี มันมีคนไข้ที่เราติดตามอยู่เป็นร้อยครอบครัว เพราะฉะนั้น จริง ๆ แล้ว ของบางอย่างที่เราคิดว่ามันน่าจะเจอน้อย หรือว่ามันไม่น่าจะมีในประเทศไทย จริง ๆ แล้วมีไม่ต่างกัน และคนไทยเข้าถึงได้ เทคโนโลยีนี้เป็นเทคโนโลยีซึ่งไม่ได้ไกลเกินเอื้อม ต่างประเทศมีอย่างไร คนไทยก็มีอย่างนั้น   The People : ตอนนี้มีการเก็บกลุ่มตัวอย่างเท่าไรแล้ว มานพ : จะมีโครงการที่เกี่ยวข้องกับมะเร็ง เรามีโครงการที่เรียกว่าการแพทย์แม่นยำในโรคมะเร็ง ซึ่งมีการระดมทุนไปก่อนหน้านี้ด้วย เราตั้งเป้าว่าเราอยากถอดรหัสพันธุกรรมของมะเร็งชาวไทยอย่างน้อย 2,000 คน ตอนนี้ก็ยังมีการรวบรวมกันอยู่ทุก ๆ วัน แล้วก็สร้างฐานข้อมูล เราคิดว่าภายในสัก 2-3 ปีแล้วน่าจะเห็นตัวเลข และมีข้อมูลขนาดใหญ่พอที่จะเอาไปใช้ประโยชน์ได้ (เป็นงานที่) ต้องอาศัยความร่วมมือเยอะ ไม่ใช่เฉพาะผมคนเดียว ก็จะมีแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยมะเร็ง มีนักวิทยาศาสตร์ และมีนักวิจัยจากหลาย ๆ แล็บ ไม่ใช่เฉพาะที่นี่อย่างเดียว ก็มีแล็บอีกหลาย ๆ แล็บในศิริราชที่ร่วมมือกัน   The People : ถ้านำเครื่องมือ AI มาใช้ จะช่วยวินิจฉัยโรคได้ไหม มานพ : AI คงเป็นเรื่องอนาคตแน่ ๆ เรารู้ว่า AI ทำให้เราสามารถคำนวณหรือวิเคราะห์ข้อมูลที่ซับซ้อนและปริมาณมาก ๆ ได้เร็วขึ้น ผิดกับมนุษย์ที่ต้องมานั่งดูทีละ 1 คน หรือว่า 1 ข้อมูล 1 ชุด แต่ว่า AI ต้องใช้เวลาพอสมควรในการพัฒนา เพราะว่าส่วนใหญ่ AI ต้องอาศัยข้อมูลที่มีจำนวนมากในการเรียนรู้ก่อน เมื่อเรียนรู้ได้ดีแล้ว ถึงจะเอามาใช้ประโยชน์ได้ AI อาจจะใช้ได้ดีกับข้อมูลซึ่งเรารู้กันมานาน แต่ว่าข้อมูลบางอย่างซึ่งมีความจำเพาะมาก ๆ เช่น มะเร็ง หรือแม้กระทั่งมะเร็งซึ่งเกิดขึ้นกับคนไทย AI ก็ต้องอาศัยข้อมูลที่จำเพาะมาก ๆ อย่างเช่นเฉพาะมะเร็งคนไทยนะ หลังจากนั้นเอามาเรียนรู้ก่อน หลังจากนั้นจึงเอามาใช้  ตอนนี้เราพยายามนำ AI มาใช้ในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะการวินิจฉัยมะเร็ง เช่น ใช้ AI ในการดูภาพเวลาคุณหมอที่เขาตัดชิ้นเนื้อจากการผ่าตัด เพื่อเขาจะมาดูว่าตกลงชิ้นเนื้อนี้เป็นมะเร็งหรือเปล่า ที่ผ่านมาใช้หมอดู 100 เปอร์เซ็นต์ ดูกล้องจุลทรรศน์ ต่อไปเราจะใช้ AI ในการวิเคราะห์ภาพและบอกเลยว่า ชิ้นเนื้อตรงนี้เป็นมะเร็งไหม มะเร็งอยู่ที่ไหน มีมากมีน้อยหรือเปล่า ซึ่งบางทีการดูด้วยตาอาจจะมองข้ามไปก็ได้   The People : ต้นทุนในการถอดรหัสพันธุกรรมจะลดลงจนทำให้คนเข้าถึงได้มากขึ้นไหม มานพ : ผมเชื่อว่าเป็นอย่างนั้น ถ้าเรามองย้อนหลังกลับไปประมาณสัก 20 ปี ตอนที่เขาถอดรหัสพันธุกรรมมนุษย์ครั้งแรกคนเดียว เขาใช้เวลา 13 ปีในการถอดรหัสพันธุกรรม แล้วก็หมดเงินไป 3,000 ล้านเหรียญ 100,000 ล้านบาท ปัจจุบันด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมของคน 1 คนเหมือนกัน เราใช้เวลาประมาณไม่เกิน 1 เดือน จาก 10 กว่าปีด้วยเงินแค่หลักไม่กี่หมื่น ราคาถูกลงมหาศาลมาก แต่โอเคเวลาคนพูดถึง 100,000 ล้านแล้วลงมา 10,000 จริง ๆ แล้วมันเหมือนของซึ่งเซลลดราคา 99.99% เลยนะ อนาคตเราอาจจะเห็นหลักพันในเวลาไม่นานก็ได้ พอมันถึงราคาขนาดนี้ต่อไปการเข้าถึงมันก็จะเกิดขึ้นได้ค่อนข้างกว้างขวางมาก การใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ก็จะเป็นของซึ่งเป็นมาตรฐานของคนไทยทุกคนควรจะเข้าถึงได้ ศ. นพ. มานพ พิทักษ์ภากร หมอดูแห่งวงการแพทย์ ผู้ทำนายโรคจาก DNA The People : คิดว่าใครบ้างที่เหมาะสมจะเดินเข้ามาในคลินิกการแพทย์แม่นยำ มานพ : เราดูตามข้อบ่งชี้เป็นหลักก่อน เราคิดว่าการตรวจจะมีประโยชน์กับใครก่อน ถ้าเกิดตรวจแล้วเขาได้ประโยชน์ชัด ๆ การตรวจก็ควรตรวจอยู่ดี ไม่ว่าจะราคาเท่าไหร่ก็ตาม ในอดีตถ้าเราจะเห็นตัวอย่างอย่างอื่นเช่น การทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ การทำ MRI ในอดีตก็เครื่องมือราคาแพง การตรวจค่าใช้จ่ายสูงมาก แต่ถ้าเราเห็นว่ามีประโยชน์มาก ๆ ก็ควรตรวจอยู่ดี การตรวจถอดรหัสพันธุกรรมก็เหมือน ๆ กัน แต่ว่าความพิเศษของมันอย่างหนึ่งก็คือ เราจะเห็นว่าค่าตรวจของการถอดรหัสพันธุกรรมถูกลงเร็วมาก อนาคตการตรวจมันจะแพร่หลายมากขึ้นไปอีก วันนี้ ถ้าคนไทยมีความจำเป็นและมีข้อบ่งชี้ของการตรวจ ทุกคนสามารถตรวจได้ ไม่ว่าจะคนไข้ที่สามารถที่จะจ่ายได้หรือว่าแม้กระทั่งคนไข้ซึ่งอาจจะเข้าถึงสิทธิ์ในการเบิกจ่ายไม่ได้ หรือแม้กระทั่งคนไข้ซึ่งอยู่ในสิทธิ์ต่าง ๆ ซึ่งการตรวจไม่ครอบคลุม ในปัจจุบันเราอาจจะเห็นข้อจำกัดอยู่ แต่ในอนาคตเราจะผลักดันการตรวจของเหล่านี้ ให้อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของทุก ๆ สิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นบัตรทอง ไม่ว่าจะเป็นประกันสังคม สิทธิ์ข้าราชการ คนไทยทุกคนควรจะได้ตรวจถ้ามีข้อบ่งชี้   The People : ศาสตร์นี้ช่วยป้องกันหรือช่วยรักษาโรคมากกว่ากัน มานพ : เริ่มต้นครั้งแรกที่การตรวจมันซับซ้อน ค่าใช้จ่ายสูง เราคงมุ่งเน้นไปที่ผู้ป่วยก่อนอยู่แล้ว ใช้ในการวางแผนการรักษา แต่ว่าอนาคตเรารู้ว่ายังไงก็ตามไม่ว่าจะเป็นโรคอะไรก็ตาม การป้องกันย่อมดีกว่าการรักษาเสมอ เราป้องกันไม่ให้เป็นโรค ค่าใช้จ่ายในภาพรวมจะถูกลงอยู่แล้ว เทียบกันกับรอให้เป็นโรคแล้วมารักษาโรคให้หาย เพราะฉะนั้น ถ้าอนาคตเราสามารถที่จะป้องกันได้เร็ว เรารู้ก่อนย่อมดีกว่า ทิศทางของการถอดรหัสพันธุกรรมเพื่อใช้ในการดูแลสุขภาพก็เป็นแบบนั้นเหมือนกัน ในอนาคต ถ้าเราสามารถทำนายได้เลยว่า ใครมีความเสี่ยงกับการเกิดโรคบางอย่าง ถ้าเราหาวิธีป้องกันได้ดีอยู่แล้ว ทั้งในการป้องกันคนไข้เอง ก็สามารถที่จะดูแลรักษาสุขภาพได้เอง โดยที่ไม่จำเป็นต้องมาที่โรงพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปดูแลรักษาขนาดนั้น เรารู้ว่าสังคมสูงอายุ คนที่สูงอายุเยอะขึ้น เราอาจจะต้องทุ่มเททรัพยากรอย่างนั้นเยอะ ถ้าเราเปลี่ยนโฉมหน้าใหม่เป็นวิธีการป้องกัน ภาระงานก็จะลดลงด้วย เจ้าตัวก็ยังสามารถใช้วิธีในการดูแลรักษาสุขภาพด้วยตัวเองได้ง่ายขึ้น ก็เป็นการแบ่งเบาภาระไปด้วย ภาพรวมค่าใช้จ่ายของประเทศก็จะลดลง   The People : Avatar กับ Organoid ถือเป็นความก้าวหน้าที่สุดของการรักษามะเร็งในเวลานี้? มานพ : จริง ๆ แล้ว มันก็จะเป็นส่วนเติมเต็ม สมมุติว่าเรามองว่าการถอดรหัสพันธุกรรม เราถอดรหัสพันธุกรรมจากมะเร็งเพื่อดูว่าในชิ้นเนื้อมะเร็งมีการกลายพันธุ์อะไร การกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นในเนื้อมะเร็งนั้น มียาซึ่งออกฤทธิ์ตรงจุดกับการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นหรือเปล่า อันนี้ก็จะเป็นเทคโนโลยีที่เราใช้อยู่แล้ว แต่ว่าการสร้างตัวแทนของผู้ป่วยที่เรียกว่า ‘อวตาร’ หรือ Avatar ก็คือแทนที่เราจะให้การรักษาผู้ป่วยและลองด้วยสูตรยาต่าง ๆ แล้วก็ดูว่าสูตรยานี้มันได้ผลดีหรือเปล่า เรารู้ว่าการรักษามะเร็งยาต่าง ๆ ล้วนแต่เป็นยาที่มีผลข้างเคียงเยอะมาก เวลาคนพูดถึงเคมีบำบัด ทุกคนก็จะกลัวมากในการรักษามะเร็ง แต่ถ้าเราบอกว่าเราสามารถสร้างร่างอวตารมะเร็งของผู้ป่วยในหลอดทดลองได้ แล้วทดสอบมะเร็งนั้นกับยาโดยตรง โดยที่เราไม่ต้องเอาคนไข้ไปลองให้ยาก่อน อันนี้ก็จะเป็นโมเดลซึ่งเราสามารถที่จะคัดเลือก แล้วก็บอกได้เลยว่าสูตรยาไหนน่าจะเหมาะสมโดยใช้การสร้างร่างอวตารที่เกิดขึ้น ถามว่าร่างอวตารนี้มาได้ยังไง เราก็เพาะเลี้ยงมันขึ้นมาจากตัวชิ้นเนื้อมะเร็งซึ่งเราผ่าตัดมาจากผู้ป่วยนี่แหละ โดยปกติชิ้นเนื้อมะเร็งเวลาเราวินิจฉัยแล้ว ผ่าตัดได้เราก็ต้องผ่าตัดออก ไม่มีใครอยากจะเก็บชิ้นเนื้อไว้ ชิ้นเนื้อที่ผ่าตัดออกมา ตัวก้อนมะเร็งส่วนใหญ่ก็ทิ้ง ไม่มีใครอยากเก็บเอาไว้อยู่ดี แต่เราเอาชิ้นเนื้อส่วนนั้นที่ออกจากห้องผ่าตัดส่วนหนึ่งมาเพาะเลี้ยงให้มันกลายเป็นเซลล์มะเร็งในหลอดทดลอง เมื่อเซลล์มะเร็งในหลอดทดลองเราเลี้ยงไปถึงระดับหนึ่ง ตัวมันก็มีพฤติกรรมเหมือนกันกับเซลล์มะเร็งหรือก้อนเนื้อมะเร็งซึ่งอยู่ในร่างกายผู้ป่วย เซลล์มะเร็งเหล่านี้เราสามารถเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ได้ หลังจากนั้นเราก็เอามาทดสอบยา ทำให้เราสามารถรู้ได้เลยว่าจริง ๆ แล้วเซลล์มะเร็งของผู้ป่วยที่เราเพิ่งผ่าตัดออกมาแล้วเพาะเลี้ยง ตกลงว่ามันตอบสนองกับยาอะไร ดื้อกับยาอะไร เพราะฉะนั้นเราสามารถใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการคัดเลือกหรือว่าเลือกสูตรยาให้กับผู้ป่วยได้เลยตั้งแต่ต้น โดยที่คนไข้ไม่จำเป็นต้องไปลองก่อนแล้วก็บอกว่าได้ผลหรือไม่ได้ผล   The People : นอกจากมะเร็งแล้ว องค์ความรู้ทางพันธุศาสตร์สามารถรักษาโรคอื่นได้ไหม มานพ : มะเร็งอาจจะเป็นตัวอย่างที่เห็นชัด เหตุผลเพราะว่าโรคมันร้ายแรง แล้วก็มันมีการเปลี่ยนแปลงในรหัสพันธุกรรมที่เห็นชัดเจน แต่ว่าในโรคซึ่งเป็นโรคเรื้อรังซึ่งพบบ่อยในบ้านเรา หรือแม้กระทั่งในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นเบาหวาน ความดันเลือดสูง โรคหัวใจ สมองเสื่อมทั้งหลาย จริง ๆ แล้วมีปัจจัยทางพันธุกรรมหมด ถึงแม้ว่าจะเป็นโรคซึ่งเรื้อรังและใช้เวลานานกว่าเราจะเห็นผลว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ถ้าเราทราบก่อนว่า ใครจะมีความเสี่ยงสูง แล้วเราสามารถหาวิธีในการที่จะป้องกันหรือลดโอกาสที่จะเกิดโรคเหล่านั้นในอนาคตได้ เราจะเปลี่ยนวิธีการดูแลผู้ป่วย แทนที่เราจะรอให้เขาเป็นแล้วก็หาวิธีในการปรับยาปรับอาหารให้เขา เราก็เปลี่ยนใหม่เลย เราก็บอกว่าคุณมีความเสี่ยงสูงนะในอนาคตที่จะเกิดโรค ทำไมเราไม่เลือกที่จะปรับตอนนี้เลย เพื่อลดโอกาสที่จะเกิดในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้าอันนี้ก็สามารถทำได้ อันที่สอง ถ้าเกิดเขาเป็นแล้ว เราสามารถที่จะทำนายได้ว่าจริง ๆ แล้วโรคของเขาที่เขาเป็น เขาควรเลือกใช้ยาอะไร เขาต้องระวังผลแทรกซ้อนอะไรจากโรค เรารู้ว่าบางคนเป็นเบาหวาน บางคนเบาหวานแล้วลงไตทำให้เกิดไตวาย บางคนเบาหวานขึ้นตา ทำให้มีปัญหาเรื่องตาบอด อนาคตข้อมูลทางพันธุกรรมเหล่านี้อาจจะสามารถใช้จำแนกคนไข้เบาหวานเลยก็ได้ว่าคุณเสี่ยงต่อเบาหวานลงไตเยอะ คุณต้องให้ความสำคัญกับการดูแลเรื่องไตให้ดีกว่าคนอื่น ศ. นพ. มานพ พิทักษ์ภากร หมอดูแห่งวงการแพทย์ ผู้ทำนายโรคจาก DNA The People : การทำงานทุกวันนี้ขับเคลื่อนด้วย purpose หรือ passion? มานพ : จริง ๆ แล้วผมมองว่าจริง ๆ มันก็เป็นของที่คล้าย ๆ กัน มันเป็นแรงผลักดันที่ทำให้คนอยากทำงานอะไรบางอย่างที่ตัวเองสามารถทำได้ไปในระยะยาว หลายคนอาจจะบอกว่า เฮ้ย! การที่เราสามารถจะทำอะไรสักอย่างหนึ่งได้เราต้องมี passion กับมันหน่อย เราต้องมีความชอบ แต่ passion มันเป็นอารมณ์ คือมันทำเพราะเราอยากทำ แต่ถ้าเราไม่รู้ว่า เราทำไปเพื่อมีจุดประสงค์อะไร พอถึงจุดหนึ่งการทำงานย่อมมีอุปสรรค ผลไม่เป็นไปตามคาด พอมีอุปสรรคปุ๊บ มันทำให้เกิดการท้อเกิดขึ้น ทีนี้ถ้าบอกว่าเราทำไปแล้ว passion เราหมด เพราะว่าอารมณ์เปลี่ยนแล้ว ความอยากหายไป เราอาจจะอยู่กันได้ไม่นาน โดยเฉพาะงานบางอย่าง ซึ่งเราคิดว่าเป็นสิ่งพิเศษ หมายความว่าคนทั่วไปอาจจะทำได้ยาก เวลาเราพูดถึงงานอะไรซึ่งทำได้ยาก อุปสรรคเยอะ คือถ้าทำง่าย คนอื่นก็ทำกันหมดแล้ว เพราะฉะนั้นการทำงานพิเศษ ๆ อย่างนี้บางทีต้องมองไปถึงเป้าหมายระยะยาวว่า เราหวังเห็นอะไร นั่นเป็น purpose เป็นจุดประสงค์ของภาพใหญ่ที่เราอยากให้เป็น ผมคิดว่าอันนี้เป็นความสวยงามของชีวิต ผมมองว่ามันมีช่วงที่ดี มีช่วงที่แย่ มีช่วงความสุข มีช่วงของความทุกข์ สลับไปสลับมา แต่คนส่วนใหญ่ เวลามีสุขก็รู้สึกว่าตัวเองสบาย เราอาจจะมียึดติดนิดหน่อยกับเรื่องชื่อเสียง เรื่องความสุข เรื่องความสำเร็จ แต่การจะนำไปสู่เส้นทางแห่งเป้าหมาย มันมีอุปสรรคอยู่แล้ว ทุกอย่างไม่เป็นเส้นตรงหรอก มันต้องหยุดบ้าง มันต้องมีอุปสรรคบ้าง ชนกำแพงบ้าง มันต้องหาทางเลี่ยงบ้าง อะไรบ้าง อันนี้เป็นเรื่องปกติ เบื้องหลังความสำเร็จของคนทุกคน ผมเชื่อว่าจะต้องมีอุปสรรคอยู่ เพียงแต่ว่าคนส่วนใหญ่เวลารับทราบข้อมูล หรือว่าเราไปมองภาพเขา เราไปมองภาพปลายทาง เราไปมองภาพในสิ่งที่เขาสำเร็จแล้ว แต่ว่าเราไม่รู้หรอกว่า จริง ๆ แล้วกว่าเขาจะถึงจุดนั้นได้ มันผ่านอะไรมาบ้าง แล้วคนส่วนใหญ่เราจะไม่ค่อยรู้หรอกว่า อุปสรรคเบื้องหลังที่เกิดขึ้นกว่าเขาจะมาถึงขั้นนี้ เขาต้องผจญความลำบากมาขนาดไหน หาวิธีแก้ไขยังไงกว่าเขาจะมาถึงจุดนั้น   The People : เป้าหมายต่อไปที่อยากจะทำให้สำเร็จ? มานพ : ตอนที่ตั้งต้น ตอนที่ทำงานผมก็ไม่ได้หวัง หรือว่าไม่ได้ตั้งเป้าอะไรนัก เหตุผลส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่าเรื่องที่ผมทำ เป็นเรื่องใหม่พอสมควร มันใหม่มาก บางทีเราก็มองอนาคตไม่ออกเหมือนกัน แต่ถามว่าทุกวันนี้มันเกินเป้าหมายไหม มันเกินมาก เราก็ไม่คิดว่าความก้าวหน้ามันจะเกิดขึ้นเร็ว แล้วก็สามารถประยุกต์ใช้ได้กว้างขวางเร็วขนาดนี้ แต่ถามว่าอนาคตจะดีกว่านี้ไหม ผมเชื่อว่าดีกว่านี้มาก ๆ  อันนี้ข้อมูลหรือแม้กระทั่งความก้าวหน้าในปัจจุบันในศาสตร์นี้ที่เรามองว่ามันมาไกลมาก ถ้าเราดูกันจริง ๆ แล้วเรายังรู้ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมดด้วยซ้ำไป ยังมีอีกมากที่เรายังไม่รู้และยังต้องการการศึกษา ต้องการการค้นหา ต้องการการแปลความอีกเยอะ ผมเชื่อว่าถ้าเรารู้มันทั้งหมด มนุษย์ในภาพรวมจะได้ประโยชน์จากมันมาก เราจะเข้าใจรหัสซึ่งอยู่กับเรามาตั้งแต่บรรพบุรุษของต้นกำเนิดของมนุษย์เลยว่า มันแปลว่าอะไร เราก็อยากรู้ว่า ถ้าเราแปลความมันได้หมด เราจะเข้าใจสุขภาพของเราเอง เราจะเข้าใจการทำงานของเราเอง เราจะเข้าใจว่าทำไมเราถึงเจ็บป่วย และเราก็หาวิธีการป้องกันหรือแก้ไขสิ่งเหล่านี้ได้ ผมเชื่อว่าศักยภาพของมันมีอีกเยอะมาก ศ. นพ. มานพ พิทักษ์ภากร หมอดูแห่งวงการแพทย์ ผู้ทำนายโรคจาก DNA The People : ถ้าได้รู้อีก 90 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือมนุษย์จะมีศักยภาพเท่าพระเจ้าเลยหรือเปล่า มานพ : (หัวเราะ) คำถามนี้ก็จะมีคนถามมาอยู่พอสมควรว่า เอ๊ะ! เราจะฝืนธรรมชาติได้ขนาดนั้นไหม เราจะกลายเป็นพระเจ้าหรือเปล่า ผมก็ไม่คิดขนาดนั้นหรอก จริง ๆ แล้วเนื่องจากผมเป็นชาวพุทธ ทุกคนเข้าใจดี เกิดแก่เจ็บตายเป็นเรื่องปกติ แต่ว่าความรู้ทำให้เราเข้าใจได้มากขึ้น และถ้าของบางอย่างที่เราเข้าใจแล้ว เราสามารถทำให้คนต้องอยู่ในทุกข์นั้นน้อยลง เช่น ถ้าเขาเจ็บป่วย เราสามารถทำให้เขาดีขึ้นได้ ถ้าเขาเจ็บป่วย เราสามารถหาวิธีป้องกันได้ ทำให้คุณภาพชีวิตเขาดีขึ้น เราอาจจะยังไม่ได้มองไปถึงการเอาชนะการเกิดแก่เจ็บตายได้ หรือเอาชนะพระเจ้า ชนะธรรมชาติจนเรากลายเป็นอมตะขนาดนั้น แต่เราคิดว่าเราสามารถอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ แล้วก็อยู่ได้ โดยที่เราเป็นภาระทั้งต่อตัวเอง ทั้งต่อคนรอบข้าง ทั้งต่อสังคมน้อยลง แค่นี้เองน่าจะมีประโยชน์มาก ๆ แล้ว   The People : พันธุกรรมกับ stem cells ทำงานคู่ขนานกันได้ไหม มานพ : ได้ครับ มันเป็นคนละศาสตร์ แต่ว่าเราคิดว่ามันน่าจะเกื้อหนุนกันเองมากกว่า มันจะมีองค์ความรู้หลายอย่างซึ่ง stem cells ก็ยังไม่เข้าใจ ก็ต้องอาศัยองค์ความรู้ด้านพันธุกรรม แล้วเราก็รู้ว่าองค์ความรู้ด้านพันธุกรรมอย่างเดียวก็อาจตอบโจทย์ไม่ได้หมดอยู่ดี ก็ต้องอาศัยองค์ความรู้ด้านอื่นเข้ามาช่วยเสริม ทำให้สุขภาพมนุษย์ดีขึ้น   The People : คิดอย่างไรกับคำนิยามของความเป็นหมอดู? มานพ : หลายคนมองว่าการรู้รหัสพันธุกรรมก็ไม่ต่างกับหมอดูนัก คล้าย ๆ กับหมอดูลายมือ แต่ถามว่า รู้ไปแล้วได้อะไร-อันที่หนึ่ง อันที่สอง-เรารู้จริงหรือเปล่า อย่างน้อยข้อมูลของ DNA เป็นสิ่งซึ่งเรามีอยู่เดิม ข้อมูลเหล่านี้ถ้าเราเข้าใจความหมายของมัน เราจะใช้ประโยชน์จากมันได้ดีขึ้น  อันที่สาม-ถ้าเราสามารถที่จะใช้องค์ความรู้นี้กับคน 1 คน เราสามารถต่อยอดองค์ความรู้นี้กับคนอื่นก็ได้ หมายถึงว่า มันมีหลักมีการของมันอยู่ ในการที่จะบอกว่าข้อมูลเหล่านี้จะแปลงไปเป็นแนวทางการป้องกัน แนวทางการรักษาโรคต่าง ๆ อย่างไร บางคนอาจจะบอกว่าเหมือนหมอดู แต่มันเป็นหมอดูซึ่งอิงหลักวิทยาศาสตร์ มีที่มาที่ไป สามารถที่จะนำไปใช้ได้จริง และเกิดประโยชน์ให้เห็นผลได้จริง ๆ