29 พ.ค. 2567 | 10:46 น.
KEY
POINTS
‘นพ.กรันดร์ ปาเตีย’ คุณหมอเวชกรรมรักษาคน ผู้มีหัวใจปรารถนาให้เหล่าสัตว์เลี้ยงไร้บ้านที่บาดเจ็บตามซอกหลืบข้างทางรอดพ้นจากความยากลำบากทั้งปวง เขาเล่าถึงความสุขและทุกข์ที่ได้ช่วยเหลือแมวจรจัด จนถึงความหวังที่มีต่อภาครัฐในการแก้ไขปัญหาหมาแมวจรจัด
ในวันหนึ่งคุณหมอกรันดร์มีโอกาสช่วยเหลือและอุปถัมภ์น้องแมวที่ถูกรถชนจนบาดเจ็บเอาไว้ เมื่อได้ช่วยเหลือตัวที่หนึ่งแล้ว ย่อมต้องอยากช่วยเหลือตัวต่อไป คุณหมอรับแมวเข้าบ้านมาดูแลอยู่เรื่อย ๆ จนถึงจุดที่เขารู้สึกว่าไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึงทุกตัวแล้ว
คุณหมอครุ่นคิดถึงหนทางที่จะทำให้สามารถช่วยเหลือสัตว์เลี้ยงจรจัดต่อไปได้ เขาต้องการสร้างจุดพักพิงให้สัตว์เหล่านี้ หากแต่ว่าถ้าเป็น Dog Shelter มันจะเกินกำลังของเขาไปเสียหน่อย สุดท้ายจึงกลายเป็น ‘คาเฟ่หาบ้านให้แมวจร’ ซึ่งเป็นสเกลที่เขาสามารถช่วยเหลือได้
Catsanova เป็นคาเฟ่แมว ที่ให้บริการทั้งอาหาร เครื่องดื่ม ทั้งยังเปิดให้ลูกค้าได้เยี่ยมชมคลุกคลีกับน้องแมวจรจัดที่คุณหมอช่วยเหลือไว้ และหากทาสแมวคนไหนที่สนใจรับเลี้ยงก็สามารถทำข้อตกลงกับทางร้านเพื่อรับกลับไปดูแลที่บ้านได้เลย
“เราอยากมีพื้นที่ให้เขามีสเปซได้ปรับตัวกับคนมากขึ้นระหว่างที่รอบ้านได้ แล้วก็ให้มีคนมาเล่นกับเขาได้ เขาจะได้เริ่มคุ้นคน”
คุณหมอเล่าถึงจุดประสงค์ของการก่อตั้ง Catsanova ซึ่งถือได้ว่าเป็นทั้งจุดพักพิงรอบ้านใหม่และเป็นที่ปรับตัวให้น้องแมวทั้งหลายคุ้นชินกับมนุษย์ก่อนส่งตัวให้กับเจ้าของใหม่อีกด้วย
ทุกวันนี้หลายคนเริ่มมองหาสัตว์เลี้ยงน่ารักเพื่อคลายเหงา เพราะในยุคที่วิถีชีวิตของผู้คนมีความเป็นสังคมเมือง ใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบ การเรียนการงานมีการแข่งขันที่สูงลิ่วสวนทางกับเวลาชีวิตที่น้อยลง ความรู้สึกแย่ทั้งหลายทั้งความเครียด เหงา โดดเดี่ยวค่อย ๆ กัดกินจิตใจของเรามากขึ้นเรื่อย ๆ
การได้เล่น ได้มองเพื่อนต่างสายพันธุ์สุดน่ารักอย่างเจ้าเหมียวนั้นถือว่าช่วยเยียวยาบรรเทาความหนักอึ้งในใจของทาสแมวอย่างเรา ๆ ได้ไม่น้อย ดังนั้น Catsanova ไม่ได้เป็นเพียงจุดพักพิงรอเจ้าของของแมวจรเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นจุดพักใจของเหล่ามนุษย์ทาสแมวผู้โดดเดี่ยวอีกด้วย
คุณหมอเล่าว่าแมวแต่ละตัวที่ช่วยเหลือไว้ก่อนเข้าคาเฟ่ต้องตรวจโรคที่โรงพยาบาลสัตว์ก่อน หากมีโรคประจำตัว ทางร้านจะมีห้องแยกสำหรับน้องแมวที่เป็นโรคประจำตัว
“ก็จะมีการตรวจเอดส์แมว ตรวจลูคีเมีย ทำวัคซีน หยอดยาเห็บหมัด ถ่ายพยาธิ ถ้ามีตัวไหนที่ป่วยต้องทำแผลให้เรียบร้อย แต่ถ้าเกิดว่าไม่ต้องแอดมิทก็เอามาไว้ที่คาเฟ่ได้ แล้วเราก็พาไปหาหมอทุกวันได้ พอตรวจ รักษาทุกอย่างเสร็จ เราก็เอาเข้ามาที่คาเฟ่ อยู่ไปสักระยะหนึ่งก็จะทำหมันเมื่อถึงวัยเขา
“ถ้าเกิดว่าเขาอยู่คาเฟ่แล้วเขาดูเฟรนด์ลี่ เราก็จะเอาไปอยู่ห้องรวม ซึ่งเป็นห้องรับแขก ก็จะเป็นห้องรวมน้องแมวที่นิสัยเป็นมิตร แต่ถ้าเกิดว่าเขาต้องอยู่ตัวเดียว หรือว่าอยู่ห้องที่มีโรคประจำตัว เราก็แยกตามความเหมาะสม”
“การช่วยเหลือแมวทุกตัว ก็เหมือนได้สมาชิกครอบครัวมาเพิ่ม มีทั้งความสุขแล้วก็มีทั้งความทุกข์ ความสุขก็คือเหมือนเรามีลูกเพิ่มมา มีสมาชิกครอบครัวเพิ่มมา เราทำงานมาเหนื่อย ๆ เราก็มา Relax กับเขา ส่วนเวลาที่เขาป่วยหรือเขาทรุดลงมันก็เป็นความทุกข์เหมือนกัน แต่ก็เป็นส่วนที่เราต้องพยายามทำความเข้าใจให้ได้ว่ามันก็เป็นเรื่องธรรมชาติของเขา”
คุณหมอกรันดร์เล่าถึงความรู้สึกผูกพันที่ก่อตัวขึ้นกับแมวทุกตัวที่เขาเคยช่วยเหลือไว้ ตั้งแต่ช่วยขึ้นมาจากข้างถนนตั้งแต่ตัวยังเล็ก ๆ จนกระทั่งเจ้าเหมียวทั้งหลายค่อย ๆ โตมามีสุขภาพที่ดี ดังนั้นผู้รับเลี้ยงจะต้องดูแลแมวได้มากกว่าหรือเท่ากับที่คาเฟ่ดูแล
แน่นอนว่าการจะส่งต่อแมวให้เจ้าของคนใหม่รับไปดูแลต้องมีข้อตกลงที่จะช่วยให้เขาพิจารณาและตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่าแมวจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งจะมีข้อตกลงอยู่ทั้งหมด 11 ข้อ หลัก ๆ ที่เน้นคือการเลี้ยงระบบปิด 100% เพื่อป้องกันไม่ให้กลับไปเป็นแมวจรอีกครั้ง
“ส่วนใหญ่แล้วเราจะพยายามคัดกรองให้เรียบร้อยก่อน ก่อนที่จะให้ Adopt เพราะว่าป้องกันการคืนไปคืนมา เรารู้สึกว่ามันทำให้แมวมีภาวะเครียดได้ ก็ไม่อยากให้แมวต้องมานั่งเครียดจากการย้ายที่บ่อย ๆ”
เขาทำงานในคลินิก จึงค่อนข้างมีเวลา หลังเลิกงาน 6 โมงเย็น เขาจะเข้าร้านมาเล่นกับน้องแมวและตรวจสอบว่าแต่ละตัวปกติหรือไม่ ซึ่งในเวลานี้เองถือเป็นช่วงเยียวยาจิตใจของเขาไปด้วย ทั้งยังไม่เคยเหนื่อยหรือเครียดกับการดูแลร้านเลย
“ระหว่างช่วงที่ผมทำงานก็จะมีพี่เลี้ยงแมวอยู่ที่คาเฟ่ ซึ่งพี่เลี้ยงแมวก็ช่วยได้เยอะมาก ๆ เพราะว่าเขาก็จะอยู่กับแมวทุกวัน ทุกตัว ก็คอยสังเกตว่ามีใครมีอะไรผิดปกติไหม เขาก็จะไลน์มา หมอคะตัวนี้วันนี้รู้สึกว่ากินข้าวลดลงนะ อะไรอย่างนี้”
ความเครียดหลัก ๆ ที่คุณหมอรู้สึกคือการไม่สามารถรักษาน้องแมวที่เฝ้าดูแลมาตั้งแต่วันแรกไว้ได้
“ความเครียดหลัก ๆ ที่เกิดขึ้นเลยคือมันไม่ใช่ว่าเราช่วยแล้วเขาจะรอดทุกตัว เราจะมาเครียดตรงนี้มากกว่า ว่าทำไม เหมือนเราเจอเขาช้าไปหรือเปล่า หรือเราไม่เต็มที่หรือเปล่า คือจะค่อนข้างดาวน์ถ้าเกิดว่ามีน้องแมวป่วย หรือน้องแมวมีปัญหาสุขภาพเกิดขึ้น”
“ถ้าถามสเกลแล้วเราก็ถือว่าเป็นสเกลเล็ก ๆ ครับ เพราะว่าเราทำกันแค่ไม่กี่คน แล้วเราก็ช่วยแมวได้ปริมาณน้อย ๆ จะต้องเข้าใจก่อนว่าการหาบ้านให้แมวมันเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุแล้วครับ ถ้าเกิดเราจะ fix ปัญหานี้เลย เราต้องไปดูที่ต้นเหตุก็คือเราต้องไปทำหมัน”
นอกจากต้องมีหน่วยงานมาแก้ปัญหาอย่างจริงจังแล้ว เขายังมองว่าเราทุกคนในสังคมต้องมีความรับผิดชอบ ผู้ที่เป็นเจ้าของต้องไม่เอาหมาแมวไปทิ้ง จึงจะไม่เป็นการเพิ่มประชากรหมาแมวจรจัด
“การทำหมันมันก็ต้องควบคู่กับการไม่เพิ่มประชากรแมวจร คือไม่ให้คนเอาแมวไปทิ้งด้วย ซึ่งตรงจุดนี้ก็อาจจะต้องมีกฎหมายเรื่องการทิ้งสัตว์เลี้ยงที่มันรุนแรงขึ้น หรือว่ามันดูน่ากลัวขึ้น ให้คนคิดให้ดีก่อนที่จะทำการทิ้งสัตว์เลี้ยงอะไรอย่างนี้ครับ”
ส่วนการจัดการสัตว์เลี้ยงจรจัดในอุดมคติของคุณหมอที่จะทำให้สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้ คือเขาอยากให้มีศูนย์พักพิงที่สนับสนุนโดยรัฐบาล โดยที่หมาแมวเหล่านี้ได้รับการดูแลที่ดีในระหว่างที่หาบ้านได้
“ถ้าเกิดเราเอาแมวออกจากจุดที่เขาไม่ต้องการ แล้วก็ไปอยู่ในจุดที่เขาต้องการ มันก็จะแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ แต่ถ้าเกิดจะเป็นหน่วยงานไปทำไปอะไรอย่างนี้ มันก็ค่อนข้างยาก เพราะว่า Budget บุคลากร สถานที่ก็ต้องเยอะ ก็เลยคิดว่าต้องเป็นส่วนที่รัฐบาลต้องเข้ามาช่วยอย่างจริงจัง”