17 ส.ค. 2563 | 20:23 น.
ฝรั่งเศสในช่วงเวลาหนึ่งเคยตกอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการไม่ต่างกับประเทศอื่น ๆ บนโลก โดยกลุ่มอำนาจที่ตั้งตนขึ้นเป็นใหญ่ เข้ามาควบคุมการเมือง ความคิด ชีวิต และสังคมของชาวฝรั่งเศสแบบเบ็ดเสร็จ จนเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า ‘ยุคสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว’ (Reign of Terror) ช่วงปี 1793-1794 ที่แม้จะกินเวลาเพียงแค่หนึ่งปี แต่กลับทำให้ชาวฝรั่งเศสนับหมื่นคนถูกประหารชีวิตด้วยกิโยตีน นับตั้งแต่การทลายคุกบัสตีย์เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 1789 กลายเป็นสัญลักษณ์ของการไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจที่ไม่ยุติธรรม เมืองอื่น ๆ รวมถึงชาวฝรั่งเศสต่างเฝ้าดูทิศทางว่าหลังจากนี้ประเทศจะเป็นอย่างไร เมื่อสโมสรทางการเมืองที่ทรงอิทธิพลช่วงปฏิวัติอย่าง ‘จาโคบิน’ (Jacobins) หรือ สมาคมเพื่อนรัฐธรรมนูญ นำโดยนักกฎหมายชื่อดัง มักซีมีเลียง รอแบสปีแยร์ (Maximilien Robespierre) ผู้อยู่ในสภาฐานันดรที่ 3 ได้นำประเทศที่เพิ่งปลดแอกจากสถาบันกษัตริย์เข้าสู่การปกครองแบบเผด็จการ ภายใต้ระบอบการปกครองที่เรียกว่า สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 1 มักซีมีเลียงเชื่อว่ารัฐบาลใหม่ในระบอบการปกครองแบบใหม่ต้องใช้ความเข้มงวด กวาดต้อนผู้คนที่กำลังหลงทางให้กลับมาเข้าที่เข้าทาง ต้องควบคุมให้ทุกคนอยู่ในความสงบโดยเร็วแม้จะต้องใช้ความรุนแรงก็ตาม แต่ความรุนแรงที่ว่าต้องมีคุณธรรมด้วย ไม่อย่างนั้นพวกเขาก็ไม่ต่างอะไรกับกษัตริย์ที่เป็นใหญ่แล้วใช้อำนาจตามใจ ในฐานะที่เป็นตัวแทน มักซีมีเลียงจะเร่งคืนความยุติธรรมให้ประชาชน หากใครที่ต่อต้านทำให้ติดขัดจะต้องถูกลงโทษ เพราะขัดขวางการพัฒนาของประเทศ มักซีมีเลียงเป็นประธานหน่วยปราบปรามคนเห็นต่างที่ใช้ชื่อว่า คณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะ (The Committee of Public Safety) โดยอ้างว่าตั้งขึ้นเพื่อป้องกันการลุกฮือ การปฏิวัติ หรือเหตุการณ์ความไม่สงบทั้งภายในและนอกประเทศ เนื่องจากสาธารณรัฐฝรั่งเศสเพิ่งตั้งใหม่จึงต้องดูแลอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ราชวงศ์ต่าง ๆ ในดินแดนรอบข้างฝรั่งเศสต่างพากันหวาดระแวง กลัวว่าชาวเมืองของตัวเองอาจลุกขึ้นมาล้มล้างสถาบันกษัตริย์ เปลี่ยนการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นสาธารณรัฐเหมือนที่เกิดขึ้นกับราชวงศ์บูร์บงในฝรั่งเศส มีนักเขียนหลายคนออกมาแสดงจุดยืนเดียวกับคณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะ ฌอง ปอล มาราต์ (Jean Paul Marat) ผู้โด่งดังจากภาพ ‘ความตายของมาราต์’ ได้ตีพิมพ์จุลสารการเมืองสนับสนุนให้ใช้ความรุนแรง “หากประชาชนไม่รุนแรงกับผู้นำ ผู้นำก็จะบดขยี้ประชาชนด้วยกำลังทหารแบบไร้ความปรานี” ซึ่งจุลสารดังกล่าวได้รับความนิยมจากประชาชนชาวฝรั่งเศสเป็นอย่างมาก อาจเป็นเพราะทุกคนกำลังโกรธแค้น รู้สึกขุ่นเคืองจากการถูกกดขี่ ต้องการโต้ตอบอดีตผู้กุมอำนาจให้รับผลลัพธ์แสนเจ็บปวดแบบที่ตนเคยเจอมาก่อน แถมมาราต์ยังเป็นผู้เขียนรายชื่อว่าใครควรถูกจับกุมตัวเพื่อสอบสวนให้กับมักซีมีเลียงอีกด้วย ยุคสมัยแห่งความสะพรึงกลัวเชิดชูกิโยตีนให้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งอุดมการณ์ (ที่ถูกบิดเบือน) เนื่องจากกิโยตีนคือเครื่องสังหารบุคคลชื่อดังของฝรั่งเศสเป็นจำนวนมาก อาทิ อองตวน ลาวัวซีเอ นักวิทยาศาสตร์ผู้คิดค้นกฎการอนุรักษ์มวล ที่มีส่วนช่วยปรับปรุงระบอบการคลังกับภาษีของฝรั่งเศส แต่ถูกคณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะกล่าวหาว่าเป็นกบฏ ต้องโทษประหารชีวิตด้วยการตัดหัวในวันที่ 8 พฤษภาคม 1794 รวมถึง มารี อองตัวเนต และ พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ที่มักซีมีเลียงเป็นผู้เรียกร้องให้สอบสวนอดีตผู้นำในข้อหากบฏ ส่งผลให้ทั้งคู่โดนคมมีดของกิโยตีนด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ประชาชนทุกคนที่เห็นด้วยกับมักซีมีเลียงและคณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะ รวมถึงงานเขียนของมาราต์ หลายคนต่อต้านการทำงานที่เน้นใช้ความรุนแรงโดยไม่ทันถามไถ่ความจริงเสียด้วยซ้ำ เพราะถือว่าเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ทุกคนยังรู้สึกซาบซึ้งกับวลีที่บอกว่าเราทุกคนล้วนมีเสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพ คณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะเข้าควบคุมระบบแทบทุกอย่าง คุมอำนาจทหาร ตุลาการ บริหารและนิติบัญญัติ มีอำนาจชอบธรรมเรียกตัวใครมาสอบสวนก็ได้ ตั้งคำถามโดยไร้หลักฐาน จับกุม บุกค้นบ้าน หลายครั้งถึงขั้นใช้ความรุนแรงกับประชาชนที่ขัดขืน จากนั้นตั้งข้อหาหนักให้คนเหล่านั้น บางคนอาจโดนโทษจำคุก แต่คนส่วนใหญ่ที่โดนจับมักรับโทษประหารชีวิตด้วยกิโยตีนจากข้อหา ‘ผู้เป็นศัตรูแห่งการปฏิวัติ’ นอกจากนี้ มีข่าวลือที่ไม่ได้รับการยืนยันว่ามักซีมีเลียงเป็นโรคนอนไม่หลับ แถมจากเหตุการณ์ที่เคยถูกลอบสังหารถึงสองครั้งแต่รอดมาได้ ทำให้เขาเครียดหนัก ทั้งความเครียดจากการกลัวภัยคุกคามต่างประเทศ และความเครียดเรื่องคนรอบตัว ส่งผลให้เขามีอาการฉุนเฉียว ก้าวร้าว มีท่าทางที่ไม่เป็นมิตรอยู่ตลอดเวลา ถึงจะเด็ดขาด หัวรุนแรง ไม่สนความคิดเห็นของคนอื่นเท่าไหร่นัก แต่มักซีมีเลียงเป็นชายที่ขึ้นชื่อเรื่องความสุจริตจนถูกเรียกว่า ‘คนที่คุณไม่สามารถติดสินบนใด ๆ กับเขาได้’ (The Incorruptible) เขาไม่สนใจเรื่องเงิน เซ็กซ์ หรือผลประโยชน์ส่วนตัว คุณไม่สามารถยัดเงินให้มักซีมีเลียงไปจับกุมใครสักคนที่คุณไม่ชอบขี้หน้า เพราะเขาเป็นคนที่มั่นใจในตัวเอง มักซีมีเลียงจะเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าใครควรถูกจับ ใครควรรับโทษ และไม่ยอมให้คนมีเงินมาชี้นิ้วสั่งให้ต้องทำตาม อีกหนึ่งการกระทำที่สร้างความไม่พอใจให้คนส่วนใหญ่นอกจากจับกุมคนและสั่งตัดหัวคือ การตั้งตนเป็นปรปักษ์กับศาสนจักรคาทอลิก มักซีมีเลียงประกาศยกเลิกปฏิทินแบบคริสต์ศักราชแล้วตั้งปฏิทินของตัวเองขึ้นมาใช้แทน ตั้งวันสำคัญและเทศกาลใหม่ เปลี่ยนชื่อถนนใหม่ พยายามลบประวัติศาสตร์เก่าด้วยการแทนที่สิ่งใหม่เข้าไป จับกุมบาทหลวงในโบสถ์หลายแห่งทั่วฝรั่งเศสมาตัดหัว พยายามรณรงค์ให้ผู้คนเลิกนับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก ทำให้ผู้มีศรัทธาในคริสต์ศาสนารู้สึกรับไม่ได้ เคยมีบันทึกว่าเพียงแค่ 4 วัน คณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะสังหารชาวฝรั่งเศสไป 1,600 คน ในเวลาไม่ถึงปีมีคนถูกจับกว่า 300,000 ราย โดนประหารชีวิตด้วยกิโยตีนมากกว่า 17,000 คน ในยุคสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัวมีผู้เสียชีวิตรวมแล้วกว่า 40,000 คน ศพไร้หัวถูกถมอยู่เต็มรถลาก รอนำร่างไร้วิญญาณออกไปนอกเมือง ทั่วทั้งจัตุรัสเต็มไปด้วยกลิ่นคาวเลือดและบรรยากาศชวนคลื่นเหียน ทั่วทั้งประเทศถูกปกคลุมด้วยเมฆหมอกแห่งความหวาดกลัวจากอำนาจเผด็จการหัวรุนแรง แม้ประชาชนหลายคนยังคงกลัว พากันหลบซ่อน ใช้ชีวิตอย่างเจียมเนื้อเจียมตัว แต่คนส่วนหนึ่งโดยเฉพาะคนใกล้ชิดของมักซีมีเลียงเริ่มเหลืออดกับการปกครองแบบนี้ พวกเขาจึงเริ่มคิดหาทางโค่นมักซีมีเลียงลงจากอำนาจ คณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะคนอื่นเริ่มวางแผนจัดการกับมักซีมีเลียง เนื่องจากอดรนทนไม่ไหว อย่างไรก็ตาม การวางแผนเกิดรั่วไหลไปถึงหูมักซีมีเลียง ไม่ทันไรเขาโดนจับจำคุกรอพิจารณาคดี ทว่าระหว่างอยู่ในคุกเขาเจรจากับผู้คุมจนยอมปล่อยให้หนีออกจากเรือนจำ ประธานคณะความปลอดภัยจึงกลายเป็นคนนอกกฎหมาย เขาพยายามฆ่าตัวตายด้วยการยิงหัวตัวเองแต่เกิดเหตุผิดพลาด ผลที่ได้คือกระสุนยิงเข้าปากจนขากรรไกรหัก มักซีมีเลียงถูกส่งไปรักษาตัวและต้องดามหน้าเอาไว้ระหว่างถูกไต่สวน มักซีมีเลียงถูกจับในวันที่ 26 กรกฎาคม 1794 และถูกตัดสินประหารชีวิตด้วยกิโยตีนโดยไม่ผ่านการไต่สวนตามกระบวนการยุติธรรม เหมือนก่อนหน้านี้ที่เขาเคยพิพากษาประชาชนนับหมื่นคน ต่อมาในวันที่ 28 กรกฎาคม มักซีมีเลียงวัย 36 ปี กับพรรคพวกอีก 21 คน ถูกใส่โซ่ตรวนเดินต่อแถวขึ้นแท่นประหาร ณ จัตุรัสคองคอร์ด มักซีมีเลียงเอนตัวลงบนแผ่นไม้ แม้ตาถูกปิดแต่หูของเขารับฟังเสียงด่าทอด้วยความโกรธแค้นของญาติที่ถูกประหาร เขารับโทษทางกฎหมายด้วยความตายจากการกระทำของตัวเอง ปิดฉากนักการเมืองหนุ่มที่มีส่วนสำคัญทำให้ฝรั่งเศสเกิดยุคสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว หลังพ้นยุคของมักซีมีเลียง การเมืองฝรั่งเศสอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของคณะไดเรกทอรี (Directory) ที่เข้ามามีอำนาจระหว่างปี 1795-1799 ก่อนที่นายทหารชื่อดัง นโปเลียน โบนาปาร์ด จะเข้ามามีอิทธิพลทางการเมืองและยิ่งใหญ่จนตั้งตนเป็นจักรพรรดิ ทำให้ชาวฝรั่งเศสที่รอดชีวิตจากยุคแห่งความน่าสะพรึงกลัวก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ที่ไม่เคยเจอมาก่อน กับการเมืองการปกครองในระบอบจักรวรรดิ โดยจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 ที่มา สัญชัย สุวังบุตร. 2552. ราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญสู่สาธารณรัฐ: ฝรั่งเศส ค.ศ. 1815-1970. กรุงเทพฯ: ศักดิโสภาการพิมพ์ เกรียงศักดิ์ เจริญธนาวัฒน์. 2543. ระบบการเมืองการปกครองฝรั่งเศส. กรุงเทพฯ: สยามศิลป์การพิมพ์ สภาวะยกเว้น: ปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 โดย ปิยบุตร แสงกนกกุล https://www.irishtimes.com/news/insanity-of-the-incorruptible-1.999724 https://www.history.com/this-day-in-history/robespierre-overthrown-in-france https://www.britannica.com/biography/Maximilien-Robespierre/The-Committee-of-Public-Safety-and-the-Reign-of-Terror https://www.biography.com/scholar/maximilien-de-robespierre เรื่อง: ตรีนุช อิงคุทานนท์“อยู่อย่างเสรี หรือไม่ก็ตาย”
– คำขวัญของกลุ่มจาโคบิน สโมสรการเมืองช่วงการปฏิวัติ 1789