28 ส.ค. 2563 | 18:07 น.
“เดี๋ยวนี้ใคร ๆ ก็ดูเน็ตฟลิกซ์”
แทบไม่รู้ตัวเลยว่าเมื่อไหร่ที่ระบบการดูหนังแบบสตรีมมิงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของหลายคน หากเทียบกับสมัยก่อนที่ต้องดูหนังทุกเรื่องในโรงหนัง จากนั้นรออีกพักใหญ่กว่าค่ายหนังทำวิดีโอออกมาขาย ต่อมาวิดีโอเริ่มหายไปกลายเป็นแผ่น CD และ DVD ก็ยังต้องเช่าดูหรือไปซื้อที่ร้านอีก
ทว่าในสังคมปัจจุบันแค่มีโทรศัพท์หนึ่งเครื่อง คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ หรืออะไรก็ตามที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ เราก็สามารถเข้าถึงหนังและซีรีส์หลายหมื่นหลายแสนเรื่องอย่างง่ายดายโดยไม่ต้องลุกไปยังร้านขายซีดี
จุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดระบบสตรีมมิงแสนสะดวกสบายอย่างเน็ตฟลิกซ์ เริ่มต้นมาจากการตั้งคำถามเกี่ยวกับการดูหนังของ ‘รีด แฮสติ้งส์’ (Reed Hasting) หนุ่มไฟแรงที่ชื่นชอบงานเข้าร่วมโครงการอาสาสมัคร ศึกษาด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ เมื่อเรียนจบก็เข้าสู่โลกของการทำงานด้วยการเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์
งานอดิเรกของรีดคือการเช่าหนังจากร้านบล็อกบัสเตอร์ (Blockbuster) มาดูที่บ้าน ทว่าเขามักโดนปรับเพราะเอาวิดีโอไปคืนช้าอยู่ตลอด การโดนปรับซ้ำ ๆ ทำให้รีดคิดว่ามีวิธีไหนที่เราสามารถเช่าหรือคืนวิดีโอโดยไม่ต้องขับรถไกลไปถึงร้านบ้างไหม จึงตัดสินใจสร้างธุรกิจจากปัญหาที่เจอด้วยการลงทุนเปิดธุรกิจเช่าแผ่นหนัง CD กับ DVD จะเข้ามาตีตลาดวิดีโอ VHS ผ่านทางไปรษณีย์ชื่อว่า Netflix ในปี 1997 รวมกับเพื่อนอีกหนึ่งคนนามว่า มาร์ก แรนดอฟ (Marc Randolph)
ถึงตอนนั้นชาวอเมริกาส่วนใหญ่ยังไม่มีเครื่องเล่น DVD แต่รีดคิดว่าอีกไม่นานการดูหนังด้วยแผ่นบาง ๆ นี้ต้องแพร่หลายอย่างแน่นอน เขาจึงเปิดธุรกิจให้เช่าแผ่นหนังแบบส่งถึงบ้าน เพียงแค่เลือกมาว่าจะดูเรื่องอะไร บริษัทของรีดก็พร้อมส่งหนังที่อยากดูไปให้ถึงที่
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจของเขาเจอปัญหาอีกครั้ง แม้ไม่ต้องขับรถมาคืนหนังด้วยตัวเองแต่ยังมีลูกค้าที่ส่งคืนหนังช้าอยู่ดี อาจเป็นเพราะตัวลูกค้าเอง หรือเป็นปัญหาระหว่างการขนส่งก็ตาม ทำให้รีดพยายามหาทางออกด้วยการเปิดให้เช่าหนังแบบสมัครสมาชิกรายเดือน แล้วอยากดูอะไรก็ดูได้ภายในหนึ่งเดือน คล้ายกับการจ่ายรายเดือนแบบบุฟเฟต์ของธุรกิจฟิตเนส แต่ก็ยังเกิดเรื่องชวนปวดหัวซ้ำแล้วซ้ำอีกเมื่ออยู่ ๆ ไปรษณีย์สหรัฐฯ ปรับราคาขนส่งเพิ่มขึ้น ทำให้บริษัทของรีดต้องแบกรับค่าขนส่งจนหลังแทบหัก
ปัญหาการแบกรับค่าขนส่งเพิ่มขึ้นรู้ไปถึงบล็อกบัสเตอร์ ในปี 2000 พวกเขาจึงมาเจรจากับรีดเพื่อขอซื้อกิจการ ซึ่งรีดเสนอขายธุรกิจของตัวเองราคา 50 ล้านเหรียญ (ราว 1,500 ล้านบาท) ทางบล็อกบัสเตอร์มองว่าแพงเกินไปมาก ๆ การตกลงกันครั้งนี้จึงจบลง รีดรู้ดีว่า Netflix ของเขาไปไกลกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้แน่นอน
ในที่สุดสิ่งที่รีดคาดเดาไว้ล่วงหน้าหลายปีก็เป็นจริง ช่วงคริสต์มาสปี 2002 ชาวอเมริกาจำนวนมากต่างซื้อเครื่องเล่น DVD มาไว้ใช้ดูหนังกับครอบครัวช่วงวันหยุดยาว ทะยานขึ้นเป็นสินค้าขายดีอันดับหนึ่งแห่งปี เวลานี้ชนชั้นกลางจนถึงชนชั้นสูงแทบทุกบ้านต่างมีเครื่องเล่น DVD เมื่อพวกเขามีเครื่องเล่น ขาดอยู่อย่างเดียวคือการหาแผ่นหนังมานั่งดู ซึ่งร้านของรีดเตรียมอ้าแขนรอรับลูกค้าจำนวนมหาศาลที่จะมาเช่าหนังกับเขาแล้ว
จากบริษัทเช่าหนังเล็ก ๆ เติบโตขึ้นกลายเป็นบริษัทเช่าแผ่น DVD เจ้าใหญ่ของประเทศ รีดตัดสินใจนำ Netflix เข้าสู่ตลาดหุ้น พร้อมกับมองหาลู่ทางใหม่ เพราะสิ่งสำคัญของความสำเร็จในโลกธุรกิจคือต้องนำคนอื่นไปก่อนอย่างน้อยหนึ่งก้าวเสมอ เขาจึงเริ่มขยับขยายธุรกิจของตัวเองด้วยการวางแผนผลิตกล่องรับสัญญาณ Netflix Box เพียงแค่ซื้อกล่องของเขาไปติดที่บ้าน จ่ายรายเดือน ก็สามารถดูหนังได้ทันทีโดยไม่ต้องเสียเวลารับของคืนของผ่านทางไปรษณีย์
แต่ Netflix ต้องพบกับปัญหาใหม่เสมอ เมื่ออยู่ ๆ เว็บไซต์ชื่อว่า YouTube ถือกำเนิดขึ้น
ถ้าอยากดูคลิปอะไรเพียงแค่พิมพ์สิ่งที่อยากดูลงในช่องค้นหาของเว็บไซต์ YouTube เพียงเท่านี้ก็ได้ดูสิ่งที่ต้องการแล้ว ทุกอย่างมันช่างง่ายดายอะไรขนาดนี้ เมื่อมี YouTube รีดจึงต้องพักเบรก Netflix Box ไปก่อน และหันมาศึกษาเกี่ยวกับระบบเพิ่มเติมว่าเขาสามารถให้ทุกคนดูหนังผ่านอินเทอร์เน็ตง่าย ๆ เพียงแค่เสิร์ชชื่อเรื่องได้บ้างไหม ความคิดเกี่ยวกับระบบสตรีมมิงจึงที่รีดจะต้องทำให้มันเกิดขึ้นกับ Netflix ให้ได้
ในปี 2007 บริษัทเช่าหนัง Netflix มียอดใช้บริการเช่าแผ่น DVD ครบ 1 พันล้านแผ่น ทางบริษัทจึงจัดงานฉลองความสำคัญยิ่งใหญ่นี้ พร้อมกับเตรียมแจ้งข่าวให้โลกรู้ว่า Netflix มีโมเดลใหม่มาให้ผู้ใช้บริการทุกท่านได้ลองใช้กัน สิ่งนั้นคือการบริการสตรีมมิงผ่านสัญญาณอินเทอร์เน็ต
ทว่า Netflix เจอปัญหารอบที่เท่าไหร่แล้วไม่รู้ เมื่อความละเอียดคมชัดของหนังแบบสตรีมมิงเทียบไม่ได้กับแผ่น DVD แถมมีหนังให้ดูแค่พันกว่าเรื่อง หากเทียบกับการเช่าแผ่นที่ Netflix มีมากเป็นแสนเรื่องถือว่าห่างชั้นกันมาก แต่รีดยังไม่ถอดใจ เขาเชื่อมั่นว่าระบบอินเทอร์เน็ตในบ้านทุกหลังจะต้องดีขึ้น สัญญาณเน็ตบนมือถือจะต้องดีขึ้น ระบบสตรีมมิงของเขาต้องประสบความสำเร็จในอนาคตอันใกล้แน่นอน
แล้วก็จริงอย่างที่รีดคิด ยอดขายแผ่น DVD เริ่มลดน้อยลงทุกปี ผู้คนสามารถเข้าไปท่องโลกอินเทอร์เน็ต หาอะไรที่อยากดูเพียงแค่เสิร์ชชื่อในกูเกิลเท่านั้น ยอดขายแผ่นสวนทางกับยอดผู้ใช้ระบบสตรีมมิงของ Netflix ที่สูงขึ้นทุกปี ส่งให้พวกเขามีกำไรเป็นกอบเป็นกำจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของมนุษย์เปลี่ยนไปพร้อมกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ หุ้นที่เคยมีมูลค่าตัวละ 15 ดอลลาร์ เมื่อปี 2002 โตขึ้นหลายต่อหลายเท่าเพราะในปี 2020 มูลค่าหุ้นของ Netflix อยู่ที่ราว ๆ 547 ดอลลาร์ แล้วแต่การขึ้น-ลงแต่ละวัน พร้อมกับกิจการมีมูลค่าทะยานสูงกว่า 6 ล้านล้านบาท
หากคิดว่า Netflix ประสบความสำเร็จจนไม่รู้จะทำอะไรต่อแล้วคงผิดถนัด ในปี 2013 พวกเขาเริ่มแตกไลน์ไปยังการสร้างทีวีซีรีส์เป็นของตัวเอง ออกฉายให้รับชมในสตรีมมิงของตัวเองเท่านั้น เรียกว่า ‘เน็ตฟลิกซ์ ออริจินัล’ (Netflix Originals) เนื่องจากผู้ถือลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ดังหลายเรื่องไม่ยอมให้หนังของตัวเองลงฉายกับ Netflix พวกเขาจึงต้องสร้างหนังขึ้นเอง
ซึ่งซีรีส์สองเรื่องในยุคแรกที่ประสบความสำเร็จจนพลุแตกคือ House of Card (2013-2018) ซีรีส์การเมืองเร้าใจเชือดเฉือนกันด้วยมันสมองและคำพูด กับ Orange Is the New Black (2013-2019) ดัดแปลงจากหนังสือของสาวผมบลอนด์ฐานะทางบ้านดี การศึกษาดี ชีวิตดี แต่ทำผิดต้องไปติดคุก 15 เดือน ที่ได้รับความนิยมมากจนมีถึง 7 ซีซัน ซีรีส์ทั้งสองเรื่องมีส่วนอย่างมากที่ทำให้นักดูหนังต่างประเทศรู้จัก Netflix มากขึ้นไปอีก
ผลงานซีรีส์จำนวนมากที่ Netflix ทั้งร่วมทุนและสร้างเองหลายเรื่องอัดแน่นด้วยคุณภาพ ส่งให้ผลงานของพวกเขาได้เข้าชิงรางวัล Emmy Awards (คนมักเรียกกันว่า ‘ออสการ์สาขาโทรทัศน์’) อยู่หลายครั้ง ในปี 2017 Netflix สร้างปรากฏการณ์ครั้งใหญ่ด้วยการส่งซีรีส์ของตัวเองเขาชิงสาขาต่าง ๆ มากถึง 112 สาขา โดยเฉพาะ Netflix Originals เรื่อง The Crown ที่กลายเป็นผู้ท้าชิงขาประจำของเวทีเอมี่ไปเสียแล้ว
ในวงการภาพยนตร์ยังมีกระแสต่อต้านหนังที่ฉายผ่านสตรีมมิงอยู่มาก หลายคนรู้สึกรับไม่ได้เมื่อเห็นภาพยนตร์ที่ไม่ได้ฉายในโรงหนังมีสิทธิ์เข้าชิงรางวัลออสการ์ ผู้กำกับดังอย่าง สตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) ออกมาประกาศกร้าวว่าอรรถรสของการดูหนังที่ยอดเยี่ยมควรรับชมในโรงภาพยนตร์ ทว่าออสการ์ปี 2020 มีหนังหลายเรื่องของ Netflix ได้เข้าชิงรางวัลถึง 24 สาขา
งานออสการ์ปี 2020 ทำให้นักดูหนังบางคนที่ไม่อยากให้ผลงานของ Netflix เข้าชิง ต้องรู้สึกชะงักไปเล็กน้อยเมื่อหนังที่ Netflix ยอมควักกระเป๋าประมูลให้ตัวเองได้เป็นผู้ลงทุนถึง 105 ล้านเหรียญ อย่าง 'คนใหญ่ไอริช' The Irishman (2019) ของผู้กำกับระดับตำนาน มาร์ติน สกอร์เซซี (Martin Scorsese) เข้าชิงออสการ์ถึง 10 สาขา
โดยหนังเรื่องนี้ไม่ได้ฉายในโรงภาพยนตร์ (ถึงสุดท้ายจะชวดทุกรางวัลก็ตาม) แต่ทุกคนรู้จักสกอร์เซซี รู้ว่าผลงานของเขายอดเยี่ยมอยู่เสมอ จึงทำให้เกิดความกระอักกระอ่วนสำหรับคนที่ไม่อยากให้หนังที่ฉายบน Netflix ได้เข้าชิงออสการ์ พาลเกิดคำถามตามมาว่า “หนังที่ดีจะต้องฉายในโรงเท่านั้นจริงหรือ แล้วคุณจะบอกว่าหนังของสกอร์เซซีไม่ดีจริงดิ?”
นอกจากผู้กำกับ ทางด้านนักแสดงที่แสดงในหนัง Netflix Originals หลายคนต่างมีชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ แสดงถึงความสำเร็จอีกขั้นของ Netflix ที่สามารถดึงดูดนักแสดงระดับแนวหน้าของวงการมาร่วมงานด้วยมากขึ้นทุกปี ในงานออสการ์ปี 2020 ลอร่า เดิร์น (Laura Dern) จากเรื่อง Marriage Story (2019) สามารถคว้ารางวัลนักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมไปครอง ทำให้คนเริ่มเปิดใจมากขึ้นว่าหนังที่ฉายผ่านระบบสตรีมมิงหลายเรื่องมีองค์ประกอบครบถ้วน มีเนื้อเรื่องยอดเยี่ยม มีนักแสดงคุณภาพ มีผู้กำกับระดับโลกไม่ต่างจากหนังที่ฉายในโรงภาพยนตร์
สำหรับงานออสการ์ครั้งที่ 93 ประจำปี 2021 ทางคณะกรรมการออกมากล่าวว่า หนังที่ฉายผ่านระบบสตรีมมิงสามารถมีสิทธิ์เข้าชิงออสการ์หากอยู่ในข้อกำหนดย่อยอื่น ๆ ที่กำหนดไว้ เพราะวงการหนังก็รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้เห็นถึงความสำคัญของระบบสตรีมมิงมากขึ้นเมื่อโลกอยู่ในภาวะวิกฤต ส่วน Netflix ก็ยิ้มรับเตรียมเข็นผลงานมากมายออกฉายให้เหล่าคณะกรรมการได้คัดเลือก
เมื่อมีคนถามรีดว่า ตอนนี้รู้สึกอย่างไรบ้างกับการความสำเร็จที่พุ่งทะยานขึ้นเรื่อย ๆ เขาก็ต้องบอกว่าดีใจมากอยู่แล้ว การตัดสินใจที่ผ่านมาทุกครั้งไม่ใช่เรื่องง่าย มันไม่ใช่แค่ว่าอยากทำก็ทำสำเร็จ แต่เขาต้องอาศัยหลายสิ่งทั้งประสบการณ์ ความมุ่งมั่น การไม่ยอมแพ้ รวมถึงเรื่องของโชคกับจังหวะที่ถูกเวลา และห้ามทิ้งความมองโลกในแง่ดี ตอนนี้เขาเป็นนักธุรกิจมีรายได้รวมแล้วกว่า 1 แสนล้านบาท (ข้อมูลเมื่อปี 2018) ที่คาดว่าไม่น่าจะหยุดอยู่แค่นี้แน่นอน
Netflix ของ รีด แฮสติ้งส์ ถือเป็นความสำเร็จเหนือชั้นที่ไม่ได้ได้มาง่าย ๆ จากคนดูหนังที่เช่าหนังแล้วโดนปรับเพราะคืนไม่ทัน จึงทำให้ตัดสินใจเปิดบริษัทเช่าหนัง และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอจนทำให้ Netflix กลายเป็นการรับชมภาพยนตร์ช่องทางใหม่ที่ใครหลายคนเข้าถึงได้
การต่อสู้ของเขาในตลาดภาพยนตร์จะยังไม่จบลงเพียงเท่านี้ เพราะค่ายหนังหลายแห่งต่างมีสตรีมมิงเป็นของตัวเองกันหมดแล้ว อาทิ HBO MAX ของสตูดิโอ Warner Bros. ค่ายดิสนีย์ที่มี Disney+ หรือช่องหนัง Amazon Prime ขนาดบริษัทแอปเปิลยังมีสตรีมมิง Apple TV+ เป็นของตัวเอง พวกเขาทำให้ตลาดสตรีมมิงคึกคักมากขึ้น
ไม่แน่ว่าในตอนนี้รีดอาจกำลังเตรียมแผนใหม่ ๆ ที่จะทำให้ Netflix เดินหน้าต่ออย่างภาคภูมิอยู่ก็เป็นได้...
เรื่อง: ตรีนุช อิงคุทานนท์
อ้างอิง: