"นี่เป็นครั้งแรกของผมที่ดาวอส พูดตามตรงผมว่ามันเป็นประสบการณ์ที่โคตรน่าพิศวงเลย มีคนนั่งเครื่องบินส่วนตัว 1,500 ลำมาลงจอดเพื่อฟัง เซอร์เดวิด แอตตันบะระ (David Attenborough, นักประวัติศาสตร์ธรรมชาติ) พูดว่า เราทำลายล้างโลกอย่างไร แล้วผมก็ได้ยินคนพูดเรื่องการมีส่วนร่วม ความยุติธรรม ความเสมอภาค ความโปร่งใส แต่กลับไม่มีใครสักคนยกปัญหาจริง ๆ อย่างการหลีกเลี่ยงภาษี และการที่คนรวยไม่ได้จ่ายภาษีอย่างเป็นธรรมเลยจริงมั้ย?” รัตเกอร์ เบรกแมน (Rutger Bregman) นักประวัติศาสตร์ชาวดัตช์กล่าวกลางการเสวนาคณะหนึ่งในงานประชุม World Economic Forum ปี 2019
"มันเหมือนผมเข้าไปในวงเสวนาของนักดับเพลิง แต่ทุกคนถูกห้ามไม่ให้พูดเรื่องน้ำเสียอย่างนั้น” เบรกแมนกล่าวเสริม
World Economic Forum (WEF) คืองานประชุมของเหล่านักธุรกิจชั้นนำของโลก รวมถึงนักการเมือง นักวางแผนนโยบาย นักวิชาการต่าง ๆ ที่นี่เป็นเวทีที่นักธุรกิจและนักการเมืองจะได้อวดวิสัยทัศน์ และความปรารถนาดีต่อชาวโลก ผ่านการพูดคุยในประเด็นการเมือง สังคม การพัฒนาทางเศรษฐกิจ และกิจกรรมการกุศลของมหาเศรษฐีรายต่าง ๆ ซึ่งมีการจัดเป็นประจำทุกปีในช่วงฤดูหนาว ในเมืองดาวอส ของสวิตเซอร์แลนด์
เบรกแมนเป็นนักประวัติศาสตร์ที่ตอนนั้นเพิ่งออกหนังสือ Utopia for Realists (โลกพระศรีอาริย์สำหรับคนอยู่กับความจริง) เป็นหนังสือว่าด้วยโลกที่ดีกว่า ด้วยนโยบายอย่างรายได้ขั้นพื้นฐานถ้วนหน้า การทำงานสัปดาห์ละไม่เกิน 15 ชั่วโมง การยกเลิกระบบพรมแดน และโลกที่ปราศจากความยากจน ซึ่งอย่างที่บอกว่า เขาเป็นนักประวัติศาสตร์ นโยบายเหล่านี้ล้วนมาจากการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ และบางนโยบายก็เคยมีอยู่ก่อนแล้วด้วยซ้ำ ไอเดียของเขาเป็นที่สนใจของเหล่าเศรษฐี โดยเฉพาะเรื่องรายได้ขั้นพื้นฐานถ้วนหน้า เขาจึงได้รับเชิญให้มาพูดเรื่องนี้ที่ดาวอส
แต่ถึงเวลาที่เขาต้องพูด เขากลับไม่ได้พูดในเรื่องที่ถูกเชิญให้มาพูด เพราะความอึดอัดที่เห็นคนรวย ๆ โชว์วิสัยทัศน์ออกหน้าสื่อ แสดงความหวังดีต่อโลกต่าง ๆ นานา แต่แทบไม่พูดถึงปัญหาที่สร้างความเหลื่อมล้ำในทุกสังคม ซึ่งเกี่ยวพันกับพวกเขาโดยตรง นั่นคือเรื่องของ “ภาษี”
“มีอยู่แค่การเสวนาคณะเดียวเท่านั้น (ที่พูดเรื่องภาษีก่อนหน้าที่เขาจะพูด) ซึ่งจัดแบบซ่อน ๆ จากพื้นที่สื่อซึ่งพูดกันเรื่องการหลีกเลี่ยงภาษี ผมเป็นหนึ่งใน 15 คนที่เข้าร่วม สถานการณ์มันจำเป็นต้องเปลี่ยน สิบปีก่อน World Economic Forum ตั้งคำถามว่า ภาคอุตสาหกรรมควรทำอย่างไรเพื่อไม่ให้ภาคสังคมประณาม คำตอบมันง่ายมาก เลิกพูดเรื่องการกุศลแล้วหันมาพูดเรื่องภาษี ภาษี และภาษี” เบรกแมนกล่าว
ไมเคิล เดลล์ ผู้ก่อตั้ง Dell Technologies (เคยต้องข้อหาปกปิดและตกแต่งบัญชีต่อนักลงทุนกรณีรับเงินจาก Intel เพื่อไม่ใช้ CPU จากคู่แข่ง ซึ่งเป็นรายได้สำคัญที่ทำให้บริษัทมีกำไร แต่ตอนหลัง Intel เลิกจ่ายทำให้บริษัทมีรายได้ลดลง แต่เขาไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลนี้ ก่อนยอมจ่ายค่าปรับ 100 ล้านดอลลาร์เพื่อยุติคดี) ได้ตั้งคำถามในงานเดียวกันก่อนหน้าเบรกแมนขึ้นพูด 2 วันว่า มันมีสักประเทศมั้ย? ที่คนรวยต้องจ่ายภาษีเกิน 70 เปอร์เซ็นต์แล้วระบบเศรษฐกิจยังไปได้
เบรกแมนบอกว่า "ผมคือนักประวัติศาสตร์นะ แล้วประเทศที่เคยใช้แล้วเวิร์กก็คือ สหรัฐฯ นั่นแหละ ในช่วงทศวรรษ 1950s ช่วงประธานาธิบดี (ดไวต์) ไอเซนฮาวร์ จากรีพับลิกัน อดีตทหารผ่านศึก ตอนนั้นอัตราภาษีสูงสุดของสหรัฐฯ อยู่ที่ 91 เปอร์เซ็นต์ สำหรับคนอย่าง ไมเคิล เดลล์ อัตราภาษีมรดกสูงสุดสำหรับคนอย่างไมเคิล เดลล์ มันเกินกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ นี่มันไม่ใช่ศาสตร์ที่ซับซ้อนเหมือนการสร้างจรวดเลย เราจะมาคุยเรื่องการกุศลงี่เง่าได้เป็นวัน ๆ เราจะเชิญโบโน (U2) มาอีกก็เท่านั้น เราจำเป็นต้องพูดเรื่องภาษี ภาษี แล้วก็ภาษี เรื่องอื่นสำหรับผมก็เป็นแค่เรื่องงี่เง่าเท่านั้น"
ความเห็นของเบรกแมนเหมือนไปกระตุกหนวดกลุ่มคนรายได้สูงเข้าอย่างจัง เคน โกลด์แมน (Ken Goldman) อดีตเจ้าหน้าที่การเงินสูงสุดของ Yahoo ที่ร่วมฟังการเสวนา โจมตีว่า การเสวนาคราวนี้เป็นการพูดข้างเดียว (เพราะผู้ร่วมการเสวนามาเพื่อเสนอทางออกของปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งถึงอย่างไรก็ต้องกระทบคนรวย) เขาจึงจำเป็นต้องเสนอมุมมองที่แตกต่างว่า
"ผมได้ยินพวกคุณพูดแต่เรื่องภาษี ผมไม่ให้มีใครยกประเด็นอะไรเกี่ยวกับการเติบโตเลย เดี๋ยวผมจะย้อนกลับมาเรื่องนี้อีกที ผมอยากจะเกริ่นนำก่อนเล็กน้อยว่า วันนี้สหรัฐฯ มีอัตราการว่างงานต่ำที่สุดที่เคยมีมา มีอัตราคนดำว่างงานน้อยที่สุดเท่าที่เคยมีมา มีอัตราเยาวชนว่างงานน้อยที่สุดที่เคยมี เรามีส่วนช่วยลดความยากจนทั่วโลก ไม่มีใครพูดเรื่องนี้เลย ทุกคนลดทอนคุณค่าของการกุศล อ่านรายงานวันก่อนเรื่องกิจกรรมของ บิล เกตส์ ในแอฟริกา เขาช่วยลดการระบาดของมาลาเรีย โปลิโอ ทำไมไม่พูดถึงเรื่องนี้?
“ผมมีคำถามถึงผู้ร่วมเสวนา แน่นอนผมเห็นด้วยว่า การหลีกเลี่ยงภาษีเป็นปัญหาใหญ่ แต่นอกจากเรื่องภาษีแล้ว มันยังมีอะไรอีกที่จะช่วยกระจายความมั่งคั่ง การสร้างความมั่งคั่ง พูดตรง ๆ สิ่งที่คนต้องการก็คือมีงานที่สมเกียรติ และเราก็สร้างงานเพิ่มขึ้นในสหรัฐฯ เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ในแคลิฟอร์เนียเพิ่มไปอยู่ที่ 15 ดอลลาร์ จากเดิมแค่ 7 ดอลลาร์ ผมอยากให้การเสวนาพูดอะไรที่นอกเหนือจากภาษีที่ทุกคนได้พูดไปแล้วระหว่างการเสวนานี้ว่าด้วยความเหลื่อมล้ำ อะไรคือสิ่งที่เราสามารถทำได้จริง ๆ เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในระยะยาว นอกไปจากการใช้ภาษี"
เบรกแมนไม่มีโอกาสได้ตอบคำถามนี้เอง แต่ วินนี บานยีมา (Winnie Byanyima) ผู้อำนวยการชาวเคนยาขององค์กร Oxfam International องค์กรการกุศลเพื่อขจัดความยากไร้จากอังกฤษ เป็นผู้ตอบคำถามดังกล่าว โดยกล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยของธนาคารโลกพบว่า ด้วยอัตราความเหลื่อมล้ำที่เป็นอยู่ การจะขจัดความยากจนระดับแร้นแค้นให้หมดไปคงทำได้ไม่ทันปี 2030 อย่างที่คาด ยกเว้นแต่ว่า เราจะสามารถลดความเหลื่อมล้ำได้ก่อน เพราะการเติบโตอย่างรวดเร็วแม้จะช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของคนกลุ่มหนึ่งได้ แต่ไม่ได้ทำให้ความยากจนหมดไป กลับทำให้การยกฐานะของคนระดับล่างเกิดขึ้นได้ยากยิ่งขึ้นไปอีก การเติบโตจึงต้องเริ่มจากการลดความเหลื่อมล้ำเสียก่อนเพื่อความเสมอภาคที่ยั่งยืน ไม่ใช่ไปเน้นเรื่องการเติบโตก่อน
บานยีมากล่าวว่า พวกเธอไม่ได้พูดแต่เรื่องภาษี แต่ภาษีเป็นสิ่งสำคัญ หลายประเทศพากันลดภาษีความมั่งคั่ง และภาษีมรดกลงเรื่อย ๆ จนบางแห่งไม่มีเลย เธอยังย้อนเกล็ดโกลด์แมนว่า
"บิล เกตส์ เองก็บอกว่า หน้าที่ที่สำคัญที่สุดสำหรับคนรวยก็คือ การจ่ายภาษีในอัตราที่เป็นธรรม เราจึงเลี่ยงการพูดเรื่องภาษีไม่ได้เลย เรายังพูดถึงเรื่องการหนีภาษี ช่องโหว่ต่าง ๆ เราอยู่ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล แต่ระบบภาษีมีมาตั้งแต่ยุค 1920s มันจึงมีช่องโหว่เต็มไปหมด รายได้หลายอย่างจึงไม่ถูกจัดเก็บ เงินจำนวนนี้จึงไม่ได้ใช้ไปเพื่อการพัฒนามนุษย์ สาธารณสุข การศึกษา และยิ่งขยายความเหลื่อมล้ำออกไป"
และเมื่อพูดถึงการจ้างงาน เธอยกตัวอย่างการจ้างงานของบริษัทข้ามชาติแห่งหนึ่งซึ่งมาร่วมงานที่ดาวอสด้วย แต่เธอไม่ขอเอ่ยชื่อ มันเป็นประสบการณ์ตรงของเธอในการเรียกแท็กซีในไนโรบี บานยีมากล่าวว่า เธอจ่ายค่าแท็กซี่ด้วยเงินน้อยกว่า 2 ดอลลาร์ ซึ่งน้อยมาก ๆ โดย 20 เปอร์เซ็นต์ของรายได้จะถูกหักให้กับบริษัทแอปพลิเคชันเรียกแท็กซี่ แล้วรายได้ที่เหลือก็ต้องมาแบ่งกับเจ้าของรถอีก คนขับรถคนนี้ต้องเช่าห้องกับเพื่อนคนขับอีก 2 ราย โดยผลัดเวลากันมานอนเป็นกะ หรือแม้แต่การจ้างงานในสหรัฐฯ เอง มีลูกจ้างหญิงในโรงงานชำแหละเนื้อไก่แห่งหนึ่ง ต้องใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปมาทำงาน เพราะนายจ้างบีบบังคับไม่ให้เธอเข้าห้องน้ำ การบอกแต่ตัวเลขการเติบโต และอัตราการว่างงานต่ำอย่างเดียวจึงไม่ถูก งานนั้นต้องมีเกียรติและมีค่าตอบแทนที่เหมาะสมด้วย
การเสวนาคราวนั้นจึงทำให้เศรษฐีหัวเสียไปตาม ๆ กัน ตัวเบรกแมนเองก่อนหน้านั้นแทบไม่เป็นที่รู้จักก็กลายเป็นที่สนใจของสื่อนานาชาติ แม้แต่ ทักเกอร์ คาร์ลสัน (Tucker Carlson) พิธีกรข่าว Fox News ช่องโปรดของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็ยังสนใจขอคุยกับเบรกแมน แต่เมื่อได้คุยจริงคาร์ลสันเกิดปรี๊ดแตก สุดท้ายจึงไม่ได้ออกอากาศ
เพราะเบรกแมนกล่าวยืนยันหลักการว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำต้องแก้ที่เก็บภาษีคนรวย ช่วงที่รุ่งเรืองที่สุดของสหรัฐฯ หรือยุโรป ก็คือช่วงทศวรรษที่ 1950s ตอนนั้นคนรวยต้องจ่ายภาษีสูงสุดถึง 90 เปอร์เซ็นต์ และปัจจุบันคนส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยกับนโยบายนี้ แต่มันเป็นเรื่องที่สื่อไม่เคยพูด โดยเฉพาะ Fox News
คาร์ลสันบอกว่า ตอนนี้เขาก็สนใจแล้วไง เบรกแมนตอบว่า คาร์ลสันแค่เกาะกระแสเท่านั้น ก่อนหน้านี้ไม่เคยคิดจะพูด เนื่องจากนายทุนใหญ่ของ Fox อย่าง รูเพิร์ต เมอร์ด็อก พยายามเบี่ยงเบนความสนใจของสังคมให้พ้นจากวิธีการแก้ปัญหาที่แท้จริงคือการเก็บภาษีกับคนรวยในอัตราที่เป็นธรรมด้วยการนำเสนอข่าวว่า ผู้อพยพเป็นปัญหาที่ทำให้เกิดการว่างงาน ปัญหาสังคมต่าง ๆ
ไม่เพียงเท่านั้น เบรกแมนกล่าวว่า คาร์ลสันเองก็เป็นตัวปัญหาเพราะเป็น “คนรวยที่รับเงินทุนมาจากมหาเศรษฐี” จึงไม่เอาเรื่องจริงที่คนส่วนใหญ่เห็นดีเห็นงามมานำเสนอ ทำให้คาร์ลสันตบะแตก ด่าเบรกแมนด้วยคำหยาบคายรุนแรง และไม่ได้นำบันทึกการสนทนาไปออกอากาศ แต่เบรกแมนอัดไว้เรียบร้อยแล้ว และเป็นอีกวิดีโอไวรัลที่ทำให้เบรกแมนเป็นที่รู้จักยิ่งขึ้นไปอีก