โพรมีธีอุส การตีความ กบฏสวรรค์ผู้ชิงไฟมาให้มนุษย์

โพรมีธีอุส การตีความ กบฏสวรรค์ผู้ชิงไฟมาให้มนุษย์
“กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว คณะปฏิวัตินำโดยซุสได้ยกทัพโค่นล้มอำนาจของโครนุสพ่อแท้ ๆ และผู้นำไททันผู้เหี้ยมโหดที่พยายามฆ่าลูกทุกคนเพื่อไม่ให้ขึ้นมาแย่งอำนาจ หลังจากโครนุสเองก็สำเร็จโทษพ่อเพื่อครองอำนาจมาก่อน แต่ซุสลูกชายคนเล็กของโครนุสรอดมาได้และสามารถโค่นล้มพ่อตนเองได้สำเร็จ แล้วขึ้นมาเป็นเจ้าครองสวรรค์แทน ไททันเกือบทั้งหมดถูกลงทัณฑ์ให้ตกนรก แต่โพรมีธีอุสและเอพิมีธีอุส ไททันสองพี่น้องเลือกอยู่ข้างคณะปฏิวัติจึงรอดพ้นจากการลงทัณฑ์ของผู้ยึดอำนาจมาได้ “ภายใต้การปกครองของคณะรัฐบาลชุดใหม่ สองพี่น้องไททันได้รับมอบหมายให้สร้างสิ่งมีชีวิตทั้งหลายบนโลก เอพิมีธีอุสเป็นผู้มอบคุณสมบัติที่โดดเด่นแต่ละอย่างให้กับสัตว์แต่ละชนิด เช่นกรงเล็บ และเขี้ยวอันแข็งแกร่งของสัตว์นักล่า ปีกและจงอยปากให้กับสัตว์ปีก ขณะที่โพรมีธีอุสสร้างมนุษย์ขึ้นจากดินโคลนโดยไม่มีเขี้ยวเล็บอะไรให้ป้องกันตัว แต่มีรูปลักษณ์เช่นเดียวกับเหล่าเทพ “ซุสเห็นเข้าก็เริ่มกังวลจึงมีบัญชาว่า มนุษย์จะไม่มีชีวิตอมตะ ต้องนอบน้อมบูชา และอ้อนวอนขอความเมตตาจากเทพแห่งโอลิมปุสตลอดไป แต่โพรมีธีอุสเห็นว่า มนุษย์ที่เขาสร้างขึ้นนั้นไม่ควรตกอยู่ใต้การปกครองอันไม่เป็นธรรมเช่นนั้น “เมื่อซุสเรียกหาสินบนค่าคุ้มครองจากมนุษย์ (เครื่องบูชายัญ) โพรมีธีอุสจึงออกอุบายเพื่อให้มนุษย์มิต้องอดอยากด้วยการฆ่าหมูป่าแล้วแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งเป็นเนื้อส่วนที่ดีที่สุดแต่ถูกซุกซ่อนไว้ใต้เครื่องในอันน่าขยะแขยง และอีกส่วนหนึ่งเป็นโครงกระดูกที่อยู่ใต้ชั้นไขมันหนาดูแวววาว ซุสจึงเลือกส่วนที่เป็นไขมันที่คิดว่าดีที่สุดแล้ว (นี่เป็นสาเหตุที่ชาวกรีกโบราณเก็บเนื้อไว้กินเอง และใช้มันกับกระดูกเป็นเครื่องบูชายัญเทพ) แล้วก็ให้พิโรธเมื่อรู้ว่าตนถูกโพรมีธีอุสหลอก จึงลงทัณฑ์ห้ามมิให้มีการใช้ไฟบนโลกมนุษย์เป็นอันขาด   “โพรมีธีอุสรู้ดีถึงความจำเป็นของไฟสำหรับการดำรงชีวิตของมนุษย์ เขาจึงลอบขึ้นเขาโอลิมปุส และขโมยเปลวไฟจากโรงตีเหล็กของฮิฟีสตุสและเอธีนาโดยนำใส่โพรงของก้านยี่หร่านำมามอบให้กับมนุษย์ได้สำเร็จ และสอนวิธีการใช้ประโยชน์จากไฟในด้านต่าง ๆ รวมทั้งการประดิษฐ์เครื่องไม้เครื่องมือที่ใช้ในการดำรงชีวิต จนเกิดเป็นความเจริญงอกงามทั้งด้านกสิกรรม อุตสาหกรรมและวัฒนธรรมสืบมา “แต่การกระทำของโพรมีธีอุสยิ่งทำให้ซุสพิโรธ จึงลงโทษด้วยการจับโพรมีธีอุสไปล่ามไว้ที่หน้าผาให้อีแร้งบินมากินตับในตอนกลางวัน กลางคืนให้ตับงอกกลับมาใหม่ เพื่อให้แร้งกลับมากินได้ทุกเช้าเป็นวงจรเวียนไป  “นอกจากนี้ซุสยังสั่งให้ฮิฟีสตุสสร้างมนุษย์เพศหญิงคนแรกขึ้นมาชื่อว่า แพนโดรา ผู้นำเหยือกปริศนาลงมายังโลกมนุษย์เพื่อมาเป็นภรรยาของเอพิมีธีอุส แม้ว่าโพรมีธีอุสจะได้เตือนห้ามไว้ก่อนก็ตาม แล้ววันหนึ่งแพนโดราได้เปิดฝาเหยือกนั้นออกทำให้เภทภัย ทุกข์เข็ญ และความชั่วร้ายทุกประการแพร่หลายไปทั่วสังคมมนุษย์  เหลือแต่ความหวังเก็บไว้ในเหยือก” เรื่องราวข้างต้นคือ ตอนหนึ่งของตำนานโพรมีธีอุส (แปลว่า ผู้มองการณ์ไกล หรือ Forethinker) ที่ยังคงประทับใจผู้ฟังข้ามยุคข้ามสมัย ถือเป็นตำนานที่มีความเป็นอมตะยาวนานนับพัน ๆ ปี ขณะเดียวกันเรื่องราวของเขาก็ถูกแต่งเติม ดัดแปลงให้เข้ากับบริบทของสังคมนั้น ๆ ณ ช่วงเวลานั้น และมีการตีความหลากหลายกันออกไป ตามแต่เครื่องมือที่ผู้พิจารณาใช้ในการวิเคราะห์ตำนานบทนี้  ตัวอย่างเช่น เฮซิอัด (Hesiod) นักประพันธ์กรีกยุคศตวรรษที่ 7 ก่อนคริสตกาล มองว่า โพรมีธีอุสถือเป็นผู้ทำลาย "สันติสุข" ของมวลมนุษย์สมัยบ้านเมืองยังดี จากการไปแหย่ซุสด้วยการเอาเครื่องบูชายัญยัดไส้กระดูกไปถวาย ซ้ำยังไปขโมยไฟของเหล่าเทพมาให้มนุษย์อีก ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้ตัวเองถูกลงโทษ มนุษย์ก็ยังโดนหางเลขไปด้วย ถือเป็นมุมมองของคนที่เห็นว่า การใช้ชีวิตอย่างพินอบพิเทาต่อพระเจ้า ยอมกินเศษเนื้อเศษกระดูกทั้งที่ตนเป็นคนหามา แล้วเอาเนื้อที่ดีที่สุดไปจ่ายเป็นค่าคุ้มครองเป็นชีวิตที่มีความสุขแล้ว ในทางตรงกันข้าม อิสคีลุส (Aeschylus) นักประพันธ์ยุคหลัง 2 ศตวรรษต่อมา บอกว่า โพรมีธีอุสไม่เพียงมอบเปลวไฟที่เป็นไฟจริง ๆ เท่านั้น เขายังเป็นผู้ที่มอบไฟแห่งเหตุผลและปัญญา อันเป็นต้นกำเนิดของอารยธรรมมนุย์ และศาสตร์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นในด้านศิลปศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นคุณูปการที่สำคัญยิ่งสำหรับมนุษย์และไม่ใช่ต้นเหตุแห่งความทุกข์เข็ญของมนุษย์อย่างที่เฮซิอัดกล่าวไว้   ขณะที่ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) นักจิตวิเคราะห์ชื่อดังกล่าวใน The Acquisition and Control of Fire ว่า ตำนานของโพรมีธีอุสนั้น มาจากการพยายามเอาชนะตนเองของมนุษย์ เพื่อเป้าหมายที่ใหญ่กว่า โดยเขาตีความ “ก้านยี่หร่า” ที่ใส่เปลวไฟของโพรมีธีอุสนั้นคือสัญลักษณ์แทน “องคชาติ” และด้วยธรรมชาติที่กลัวไฟของมนุษย์ ทำให้มนุษย์สมัยก่อนเห็นไฟแล้วจะต้องฉี่ใส่เสียให้ได้ (เขาได้ไอเดียนี้มาจากการเห็นกฎของชนเผ่าเร่ร่อนที่ยังใช้ชีวิตแบบมนุษย์ยุคโบราณ ซึ่งห้ามการฉี่รดกองไฟ)  การที่มนุษย์จะสามารถควบคุมไฟได้ก็จำเป็นต้องควบคุมตนเองให้ได้เสียก่อน และการสละสัญชาตญาณเดิมนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย สะท้อนผ่านความเจ็บปวดจากการลงโทษอย่างทารุณของมหาเทพซุส ซึ่งเป็นตัวแทนของ Id สัญชาตญาณดิบของมนุษย์ที่ไม่ถูกพันธนาการด้วยความถูกต้องดีงามใด ๆ (เทพกรีกเต็มไปด้วยตัณหา เป็นจอมข่มขืน และมีสัมพันธ์ทางเพศกับคนในครอบครัวได้)   ด้าน แกสตัน แบชาลาร์ (Gaston Bachelard) เจ้าของผลงาน The Psychoanalysis of Fire เสนอว่า โพรมีธีอุสนั้นคือ วัยเด็กของมนุษย์ เพราะในวัยเด็ก ไฟถือเป็นของต้องห้าม พ่อจะห้ามไม่ให้เด็กเล่นไฟแช็กไม้ขีดไฟอย่างเด็ดขาด และห้ามอยู่ใกล้เตาไฟจนเกินไป ถ้าหากเด็ก ๆ ฝ่าฝืนพ่อก็จะต้องลงโทษ การที่โพรมีธีอุสขโมยไฟจากเทพเจ้า ก็เหมือนเด็กที่พยายามล้ำเส้นพ่อย่อมถูกลงโทษ แบบตาต่อตาฟันต่อฟัน การถูกพันธนาการก็เนื่องจากละเมิดสิทธิพ่อ การถูกตอนก็เป็นเพราะเด็กได้รับเอาความสามารถในการสืบพันธุ์ไปจากพ่อ ตับที่ยืดหดได้ก็เป็นเหมือนสัญลักษณ์แทนองคชาติ อวัยวะที่ทำให้พ่ออิจฉาเด็กได้ และด้วยเรื่องเล่าที่สะท้อนการต่อสู้กับผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่า โพรมีธีอุสยังเป็นสัญลักษณ์ของความหวังแห่งการเปลี่ยนแปลงในทางการเมือง เช่นที่  เชตวัน เตือประโคน (อดีต) เจ้าหน้าที่สื่อพรรคอนาคตใหม่ได้เปรียบเทียบว่า อรุณเทพบุตร สารถีพระอาทิตย์ สัญลักษณ์ที่คณะราษฎรใช้ในอนุสรณ์สถานหลายแห่ง ทั้งอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หรือวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ บางเขน นั้นก็เหมือนดั่งโพรมีธีอุสในโลกตะวันออก “อรุณเทพบุตร คือ ผู้ที่ต้องทุกข์ทรมานเพื่อมอบความสุขสบายแก่มวลมนุษย์ไม่ต่างจาก “โพรมิทิอุส” ผู้ขโมยไฟมาให้มวลมนุษย์แล้วโดนจับได้  “‘สีส้ม’ และ ‘รุ่งอรุณ’ ของ ‘กลุ่มอนาคตใหม่’ อันมี ‘ธนาธร-ปิยบุตร’ เป็นไปได้สูงยิ่งที่จะสื่อไปถึง ‘คณะราษฎร’ ผู้อภิวัฒน์สยาม รวมถึงอรุณเทพบุตรผู้เป็นดั่งโพรมิทิอุสในโลกตะวันออก” เชตวันกล่าว นอกจากนี้ รอลโล เมย์ (Rollo May) นักจิตวิทยาอเมริกันเสนอว่า อารยธรรมมนุษย์นั้นเกิดขึ้นมาได้ด้วยการกบฏ การคิดนอกกรอบขนบธรรมเนียมเดิมเพื่อการพัฒนาไปข้างหน้า ซึ่งแน่นอนว่า เป็นการต่อสู้ที่เจ็บปวดและต้องใช้เวลาเหมือนโพรมีธีอุสที่ถูกลงทัณฑ์ให้ต้องทนทรมาณชั่วกัปชั่วกัลป์ (ก่อนจะได้รับการช่วยเหลือจากเฮอร์คิวลิส)  "อารยธรรมเริ่มต้นด้วยการกบฏ โพรมีธีอุส ไททันตนหนึ่งได้ขโมยไฟจากพระเจ้าแห่งเขาโอลิมปุสมามอบให้กับมนุษย์ อันเป็นจุดเริ่มต้นของอารยธรรมมนุษย์ ด้วยการขบถนี้ซุสจึงลงโทษโดยให้จับเขาไปล่ามไว้กับเขาคอเคซัสให้แร้งกินตับเขาในเวลากลางวัน กลางคืนให้ตับงอกกลับขึ้นใหม่ เพื่อให้แร้งได้กินซ้ำเป็นวงจรไป นี่คือเรื่องราวความเจ็บปวดของผู้มีความคิดสร้างสรรค์ที่ใช้เวลาค่ำคืนพักฟื้นร่างกายเพื่อรับกับความทรมานในวันต่อ ๆ ไป" (Power and Innocence: A Search for the Sources of Violence)