read
interview
09 ต.ค. 2563 | 19:28 น.
เฌอปราง อารีย์กุล BNK48: ไอดอลหญิงที่คิดว่าเสียงของทุกคนมีความสำคัญ
Play
Loading...
ท่ามกลางกระแสการเมืองโลกที่ร้อนแรง หลังจากที่เราพร่ำเขียนบทความเกี่ยวกับการเมืองมามาก ในตอนนี้เหมือนจะมีเวลาให้พักหายใจหายคอสักนิด เรามีโอกาสได้นั่งคุยกับไอดอลหญิงคนหนึ่งที่โลดแล่นอยู่ในกระแสบันเทิงเสมอ มีโอกาสได้ถามไถ่ถึงชีวิตและการทำงานของเธอ ถามเธอว่ารู้สึกอย่างไรกับการที่ถูกเรียกว่าเป็น ‘ไอดอล’ เพราะความหมายของคำคำนี้มันช่างกว้างเสียเหลือเกิน จนชวนให้ตั้งคำถามตั้งแต่ยังไม่พบกับเธอว่า
“ไอดอลคืออะไร ? แล้วเรานิยามคำว่าไอดอลเหมือนกับคนที่ถูกเรียกว่าไอดอลหรือไม่”
ระหว่างที่นั่งต่อบทสนทนาไปเรื่อย ๆ ในคาเฟ่กระจกชื่อหูกระจงย่านพระราม 3
‘เฌอปราง อารีย์กุล’
ไอดอลจากวง BNK48 ได้ตอบทุกคำถามที่เราอยากรู้ เธอเผยให้เห็นมุมมองความคิดของตัวเองเกี่ยวกับประเด็นหลากหลายทั้งความหมายของคำว่าไอดอล ความสุขจากการทำงาน สังคมและวัฒนธรรมหรือที่เรียกว่า Soft power ที่หล่อหลอมให้เธอเป็นเธออย่างทุกวันนี้ แต่สุดท้ายเราก็ยังไม่วายถามเฌอปรางถึงความคิดเห็นเรื่องการคุกคามทางเพศ เสียงของคนรุ่นใหม่ สิทธิและการผลักดันความเท่าเทียมของทุกคน
The People: เป็นไอดอลมากี่ปีแล้ว? จากวันแรกจนวันนี้รู้สึกต่างไหม
เฌอปราง:
3 ปีกว่า ๆ เกือบ 4 ปีแล้ว
รู้สึกว่าเหมือนเรามีประสบการณ์มากขึ้น โตขึ้น พอประสบการณ์มากขึ้นก็รับมือกับอะไรง่ายขึ้นไปด้วย พอทำงานก็จะรู้สึกชินแล้วรู้ว่าตัวเองต้องทำอะไร
The People: ตลอดเวลาที่ทำงานมาเกือบ 4 ปี คิดว่าความสุขของการทำงานที่ได้เจอคืออะไร
เฌอปราง:
เป็นคำถามที่ยากมาก เป็นข้อหนึ่งที่หนูก็ตั้งคำถามมากเลยว่าจะตอบยังไงดี ความสุขในการทำงานสำหรับเฌอคือการที่ได้ทำสิ่งนั้น ได้ทำสิ่งที่ตัวเองเลือกทำหรือคนมอบหมายให้ทำได้สำเร็จตามเวลานั้น ๆ และถ้าสิ่งที่ทำมีประโยชน์ต่อคนอื่นด้วยจะรู้สึกดีมากขึ้น เฌอเป็นคนที่ถ้าได้รับมอบหมายมาแล้วทำสำเร็จและได้ผลลัพธ์ออกมาดีในความพึงพอใจทั้งของตัวเองและคนอื่น แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว
The People: ในฐานะที่ตัวเองเป็นไอดอล เราคิดว่าความหมายของ ‘ไอดอล’ ที่คนไทยส่วนใหญ่เข้าใจมันตรงกับความเข้าใจของตัวเองไหม
เฌอปราง:
ตอนนี้ต้องบอกว่า
‘ไอดอล’
มีหลากหลายบริบท หนูรู้สึกว่าคนไทยส่วนใหญ่คิดถึงคำว่าไอดอลในความหมายตรงตัวคือ
‘การเป็นแบบอย่างตัวอย่างที่ดีต่อผู้อื่น’
คำว่าไอดอลจะเป็นแบบนั้น แต่สำหรับเฌอ โดยส่วนตัวคิดว่าไอดอลคือ
‘แรงบันดาลใจ’
เราอาจมีไอดอลเป็นของตัวเองได้หลายคนในหลากหลายด้าน เป็นแรงบันดาลใจให้เราอยากพัฒนาตัวเองในด้านนั้น ๆ
แต่ถ้าบริบทของคำว่า ‘ไอดอลในทางดนตรี’ จะเป็นกลุ่มคนที่มอบความสุข ความสนุกสนาน และการแสดงของตัวเองผ่านเสียงเพลงแล้วส่งไปยังผู้คน อันนี้จะเป็นแนวไอดอลเกาหลีหรือไอดอลญี่ปุ่น ซึ่งเราก็รับมาพร้อมกับผสมผสานจนกลายเป็นไอดอลญี่ปุ่นในเมืองไทยแบบปัจจุบันอย่าง BNK48
BNK48 เป็นกลุ่มคนที่ฝึกหัดกำลังจะเป็นศิลปิน ไอดอลคือศิลปินฝึกหัดที่จะเติบโตไปตามสายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นนักแสดงหรือศิลปิน เราได้ก้าวเข้ามาในวงการบันเทิงด้วยการถูกฝึกให้ร้อง เต้น แล้วก็มอบความสุขให้คนอื่นผ่านบนเวที ไอดอลทางดนตรีจะเป็นแบบนั้นค่ะ
The People: เวลาเราตั้งใจทำงานแล้วมีคนบอกว่า
“BNK48 คือกลุ่มไอดอลที่ขายผลงานเพลง แต่สมาชิกหลายคนยังร้องเพลงไม่เพราะเลย”
เราคิดเห็นอย่างไรกับประโยคนี้
เฌอปราง:
เฌอเป็นคนที่ร้องเพลงไม่เป็นค่ะ เฌอร้องเพลงไม่เพราะ แต่ว่าตอนนี้พอจะทำได้แล้ว แต่การเป็นไอดอลกรุ๊ปเราจะอยู่ร่วมกัน เราไปด้วยกัน บางคนอาจถนัดกันคนละอย่าง แต่พอเราร่วมมือกันแล้วอาจจะมีพลังเยอะขึ้นจนทำได้ดีขึ้นก็ได้ อันนี้คือความพิเศษของการเป็นไอดอลกรุ๊ปที่ช่วยพยุงซึ่งกันและกันไป ทำให้เมมเบอร์ทุกคนค่อนข้างจะรู้สึกว่า
“ดีจังที่มีเพื่อนอยู่ด้วย”
แต่ถ้าถามว่าเรารู้สึกเศร้าไหมกับการที่มีคนบอกว่าร้องเพลงห่วย เศร้าค่ะ ยังร้องไม่ได้แต่จะพยายามต่อไปให้ดี จะต้องร้องเพลงเก่งขึ้นในสักวันหนึ่ง สำหรับเฌอตอนนี้ก็เปลี่ยนแปลงมาพอสมควร ดีขึ้นมากเหมือนกัน ส่วนคำว่า 'ไอดอลขายงานเพลงมั้ย' ใช่ เราขายเพลง แต่เรามีหลายหลากหลายส่วนที่ทำเพลงขึ้นมา แล้วเราเป็นคนหนึ่งที่อยู่ข้างหน้าเพื่อแสดง ส่งมอบพลังบวกทั้งหลายให้กับผู้คนที่มาชมโชว์ของเราในวันนั้น จึงกลายเป็นหลายอย่างประกอบกันทั้งเพลง การแสดง การมีปฏิกิริยาระหว่างผู้แสดงกับคนดูที่จะทำให้ผลงานของเราออกมาเป็นอย่างทุกวันนี้
The People: BNK48 เป็นวงที่รับฟีดแบคเยอะมาก ข้อความต่าง ๆ ทั้งดีและไม่ดีส่งผลต่อใจเราบ้างไหม
เฌอปราง:
ทั้งดีและไม่ดีส่งผลต่อใจมั้ย ส่งผลค่ะ แค่ว่าเฌอจะยึดกับมันนานหรือเปล่า บางอย่างถ้าเรารู้สึกว่าไม่จริงเราก็จะ “โอเค ความจริงคืออะไร” บอกเขาไปว่าเราทำด้วยเจตนาอะไร และย้อนถามตัวเองว่าเราได้เคลียร์กับคนรอบตัวแล้วหรือยัง แต่ถ้าเกิดเป็นคอมเมนต์เรื่องความสามารถที่อาจจะยังไม่ดีพอในความคาดหวังของใครหลายคน เฌอก็จะพยายามต่อไป จะพัฒนาและทำให้ดีขึ้น เฌอรู้ว่าตัวเองอาจกำลังอยู่ในช่วงพัฒนาหรือว่าเราไม่ได้ถนัดในสิ่งนั้นมากขนาดนั้น แต่ก็อยากจะทำให้ดีที่สุด ส่วนเรื่องคำชมได้รับก็จะดีใจค่ะ ได้รับกำลังใจก็จะดีใจมากเลยเป็นสิ่งที่ดีมาก ๆ ที่เฌอได้รับมา
The People: งานของไอดอลคือการให้ความสุขผู้คนทั้ง 2 shot งานจับมือ เธียเตอร์ แล้วถ้าเฌอปรางอยากหาความสุขนอกเหนือเวลางาน จะหาจากอะไร?
เฌอปราง:
ส่องไอดอลที่เราชอบ ดูการแสดง ตอนนี้เป็นคนที่ดูไอดอลเกาหลีค่อนข้างเยอะ เพราะรู้สึกว่าชอบการแสดงเขา เราชอบแนวเพลงด้วยสำหรับบางวง แล้วก็ชอบการแสดงแบบกลุ่มที่พร้อมเพรียง อะไรบางอย่างตรงนั้น รู้สึกว่าดูแล้วเพลินตาดี แล้วก็กินของหวาน ง่ายสุด กินขนม กินของหวาน รู้สึกมีความสุขกับการกิน เป็นคนมีความสุขเวลาได้กินของอร่อย มีความสุขเล็ก ๆ แต่ให้กับเรามาก
ส่วนอื่น ๆ เวลาได้รับกำลังใจจะรู้สึกดี เวลาที่รู้สึกว่างานที่เราทำไปมีคนได้รับจริง ๆ งานจับมือค่อนข้างมีผลกับเฌอพอสมควร เวลาได้รับฟีดแบคกลับมาว่าเขามีเราเป็นกำลังใจ บางคนเรียนดีขึ้น บางคนฉุดตัวเองขึ้นมาจากเวลาดำดิ่ง รู้สึกว่าดีใจที่เราเป็นแบบนั้นได้ เพราะรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนที่ได้รับมาจากไอดอลที่ตัวเองชื่นชอบ ‘ซายาเน่’
ยามาโมโตะ ซายากะ
เราก็เลยรู้สึกว่าถ้าวันหนึ่งเราทำได้แบบเขาบ้างก็คงจะดี แล้วทำได้จริง ๆ ก็รู้สึกดีกับตัวเอง
The People: ถ้าเฌอปรางจะให้นิยามแฟนคลับสัก 3 คำ จะนิยามว่า...
เฌอปราง: ‘ก้อน’ ‘แมว’ ‘กลม ๆ เป็นก้อน ๆ
’ แต่ว่าก้อนกับกลมก็คำคล้าย ๆ กัน บางครั้งก็รู้สึกถึงคำว่า ‘หลากหลาย’ เพราะเท่าที่หนูได้สัมผัสจากงานจับมือ แฟน ๆ ก็มีความหลากหลาย หนูก็ไม่รู้เหมือนกันว่าหลากหลายแค่ไหน แต่ที่มาจับมือส่วนใหญ่จะเป็นคนขี้แกล้ง แฟนคลับชอบเข้ามาแกล้งกัน หรือให้หนูแกล้งเขาบ้าง หนูยิงมุกก็มี เหมือนเราสนิทกันจนรู้สึกสบายใจที่จะคุยกันแบบสบาย ๆ เฮฮา งั้นอีกคำก็คงเป็น
‘ขี้แกล้ง’
The People: แล้วถ้าให้นิยามตัวเองล่ะ
เฌอปราง:
เฌอเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่เกิดมาบนโลกนี้แล้ว 24 ปี เป็นคนกลม ๆ มีหลากหลายด้าน มีหลากหลายมุม เป็นมนุษย์คนหนึ่ง เป็นพวกมีความระเบียบจัดนิดหน่อย ทำอะไรจริงจัง ทำอะไรลงมือทำจริง ทำเต็มที่ให้ดีที่สุด ไม่อยากให้เกิดคำว่า “รู้งี้...” ขึ้นมาในชีวิตตัวเอง
The People: ในฐานะที่เป็นกัปตัน คิดว่าอะไรเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้นำที่จะต้องมี แล้วถ้าลองมองในมุมกลับว่า ‘ถ้าเฌอปรางไม่ได้เป็นกัปตัน เราจะอยากเห็นอะไรจากตัวผู้นำ’
เฌอปราง: เฌอจะเปรียบเทียบกับเวลาอ่านนิยาย เฌอชอบตัวละครที่มีทั้งอ่อนทั้งแข็ง มีความแข็งในเรื่องที่ต้องตัดสินใจ แล้วก็มีความอ่อนในการประคับประคองจิตใจของผู้คนด้วย เพราะฉะนั้นผู้นำสำหรับเฌอต้องเป็นคนที่พร้อมลุย เป็นคนริเริ่มที่จะทำอะไรบางอย่างแต่ก็ไม่ลืมที่จะคอยดูแลข้างหลังด้วย คอยดูว่าคนนี้ไหวมั้ย คนนั้นโอเคหรือเปล่า รู้ว่าสมดุลของคนที่ทำงานร่วมกันเป็นอย่างไร
ถ้าเราเป็นคนตาม เราอยากเห็นคนที่ทำให้เราเชื่อใจและจะยอมตามเขา การมีสิ่งเหล่านี้ได้จะต้องประกอบกับประสบการณ์ที่ได้อยู่ร่วมกันกับสิ่งที่เขานำเสนอออกมาว่ามีความน่าเชื่อถือแค่ไหน รวมถึงการกระทำโดยรวมทั้งหมดว่าเขามีวิธีดูแลคนแบบไหน เข้าหาคนแบบไหน และปฏิบัติตัวกับคนอื่น ๆ อย่างไรบ้าง อย่างที่บอกค่ะว่าต้องมีความเป็นตัวเองที่แข็งพอ แต่บางเวลาก็อ่อนน้อมกับคนอื่นด้วยเช่นกัน เฌอรู้สึกว่าคนแบบนั้นดูน่าทำงานด้วย
The People: แล้วคิดว่าตัวเองยังขาดอะไรที่จำเป็นต่อการเป็นผู้นำบ้างไหม
เฌอปราง:
เฌออาจขาดการเข้าไปคุยกับน้อง ๆ แล้วบางทีอาจจะรีบเกินไปหน่อย หรือบางครั้งก็ปากไวแบบไม่ยั้งคิดเพราะเฌอค่อนข้างจริงจังกับงาน จริงจังไปหมด เราจะปิดกั้นทุกอย่างและมุ่งไปกับงานอย่างเดียว เวลาต้องการคำตอบ เราก็จะเป็นคนไปจี้ให้ได้เดี๋ยวนั้น ถามเขาว่าความชัดเจนคืออะไร การทำงานบางครั้งคือไม่มีแผนมาให้ เราก็ต้องเป็นคนไปถาม จัดการทุกอย่างว่าแผนคืออะไร เราต้องทำอะไรต่อจะได้ไปคุยกับน้องต่อได้ แล้วการไปจี้แบบนี้กับพี่สตาฟฟ์บ่อยเข้า เฌอก็จะรู้สึกผิด รู้สึกว่า
‘ตายแล้ว ฉันใช้เขาโหดไปมั้ย’
กังวลว่าเมื่อกี้ที่พูดน้ำเสียงจะนิ่งไปหรือเปล่า รวมถึงเรื่องน้ำเสียงเวลาเฌอพูดคุยที่อาจทำให้คนรอบข้างที่ทำงานด้วยอาจรู้สึกไม่สบายใจ ไม่รู้สึกโอเคที่จะทำงานด้วย ตรงจุดนี้ก็จะพยายามปรับ ค่อย ๆ ทำให้ตัวเองช้าลงบ้างเหมือนกัน
The People: มีอะไรที่คิดว่าเฌอปรางยัง ‘ไม่เพอร์เฟกต์’
เฌอปราง:
ถ้าถามว่าหนูไม่เพอร์เฟกต์อะไรบ้าง อาจจะเป็นพวกขาดมุกตลกที่กำลังพยายามพัฒนาอยู่ค่ะ แต่พออยู่กับน้อง ๆ เล่นกับน้องหรืออยู่กับคนที่เขาเล่นมุกเก่ง ๆ แล้วดีขึ้น รวมถึงประสบการณ์ในการทำงานที่เจอคนหลากหลายที่ทำงานสายนี้ ก็รู้สึกว่าเราก็พอจะมีอารมณ์ขันให้คนอื่นได้บ้าง ยิ่งช่วงหลังมีโอกาสพักผ่อนมากและดูแลตัวเองมากขึ้น เหมือนผ่อนคลายก็จะมีส่วนช่วยตรงนี้ด้วย
แต่ถ้าเรื่องอื่น ๆ ที่คิดว่าเฌอไม่เพอร์เฟกต์คงเป็นเรื่องความเห็นอกเห็นใจ เราเห็นอกเห็นใจคนอื่น แต่ว่าอาจจะยังไม่เยอะพอหรือเปล่า ท่าทีอาจจะแข็งไปจนเคยรู้สึกว่าเวลาแสดงออกให้คนอื่นเห็นมันแข็งไปหรือเปล่า ยากมากเลยถ้าเผลอทำตัวแบบนี้โดยไม่รู้ตัวหรือเวลาที่เราโฟกัสกับงาน เราก็อยากบอกว่า “หนูขอโทษค่ะ หนูไม่ได้ตั้งใจ”
The People: จัดการกับความกดดันหรือความคาดหวังที่แฟน ๆ มีให้อย่างไร
เฌอปราง: ถ้าเขาคาดหวังกับเราเยอะ ๆ ก็ชวนให้รู้สึกว่าทำไมเราถึงคาดหวังกับคนอื่น เพราะเราทำไม่ได้หรือเปล่า เราเลยคาดหวังกับเขา แต่ในมุมของเฌอเวลาเฌอคาดหวังกับน้อง ๆ เราคาดหวังว่าเขาจะทำงานหรือทำอะไรที่เราคิดว่าเขาทำได้ แต่บางทีทุกคนต่างมีเหตุผล ความรับผิดชอบ หรือปัจจัยที่ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้าถามว่าเฌอคาดหวังแล้วรู้สึกต้องเป็นตามหวังมั้ย มันขึ้นอยู่กับว่าเรารับความผิดหวังได้มากน้อยแค่ไหนจากแต่ละคนที่เราคาดหวังเขาไป
ส่วนตัวเฌอ ด้วยความที่เรามีคนคาดหวังหลากหลายแบบ ตัวเองก็คือรู้ว่าเราคาดหวังกับตัวเองแค่ไหน เขาคาดหวังกับเราแค่ไหนเราก็รับรู้ แต่ถ้าเรารับมามากเกินไปไม่ไหวเหมือนกัน ใช้การที่ว่า
‘เท่านี้หนูแฮปปี้กับตัวเองแล้ว’
ต้องจัดการที่ตัวของเขาเหมือนกันว่าเขาจะผิดหวังกับเราหรือเปล่า ถ้าเขาผิดหวังกับเรา หนูก็ได้แต่ขออภัยด้วยจริง ๆ ทำได้ประมาณนี้จริง ๆ ณ ขณะนี้
The People: นอกจากการเป็นสมาชิกวง BNK48 นักแสดง คนดัง เราอยากให้คนอื่นรู้จักเราแบบไหนอีกบ้าง?
เฌอปราง :
หนูก็เป็นหนูในทุก ๆ แบบ ถ้าอยากรู้จักน่าจะมาคุยกันมั้งคะ หรือว่าอ่านหนังสือ
‘SOFT POWER’
ที่เขียนโดยพี่นิ้วกลม ซึ่งพี่เขาจะมาสัมภาษณ์เฌอแล้วค่อยไปเขียน ตอนแรกเฌอก็งงกับไอเดียนี้เหมือนกัน ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะได้มีโอกาสมีคนมาเขียนหนังสือเกี่ยวกับตัวเรา พี่เอ๋มาสัมภาษณ์ เขารู้สึกว่าเฌอเติบโตมากับซอฟต์เพาเวอร์หรือวัฒนธรรมบางอย่างที่หล่อหลอมเรามาตั้งแต่เด็ก ไม่ว่าจะการเลี้ยงดูจากที่บ้านหรือสิ่งที่หนูใช้คำว่าเสพสื่อบันเทิง ดนตรี หรืออะไรอื่น ๆ ที่อยู่ในยุคที่เฌอโตมา กลายเป็นว่าทั้งหมดคือซอฟต์เพาเวอร์ที่ทำให้เฌอเป็นเฌอแบบทุกวันนี้ เขาก็เลยตั้งชื่อหนังสือว่า ‘SOFT POWER’ แล้วก็เขียนเกี่ยวกับตัวเฌอว่าเฌอโตมาประมาณไหนในมุมมองเขา
‘SOFT POWER’ บอกเล่าความเป็นเฌอ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าทุกด้านหรือเปล่าเหมือนกันนะคะ บางคนอาจมองว่ายังขาดด้านอื่นไปบ้าง แต่เฌอก็ตอบทั้งหมดตามตรง ตอบสิ่งที่ตัวเองคิดจริง ๆ ณ ขณะช่วงเวลาที่โตมา ซึ่งตอนนี้อาจจะเปลี่ยนไปแล้วก็ได้ หวังว่าใครที่อ่าน ‘SOFT POWER’ อาจจะได้รู้ว่าเฌอก็เป็นคนธรรมดาจริง ๆ เป็นคนกลม ๆ มีหลากหลายด้วย มีด้านขาว ดำ เทา หลากสีสัน แต่แค่ว่าจะเห็นหรือเปล่า บางทีถ้าเรามาเข้าใจกันและกันมากขึ้นก็อาจจะเห็นหนูในมุมมองที่กลมขึ้น และอาจจะไม่คาดหวังกับหนูเกินไปก็ได้
หลังจากถามไถ่เกี่ยวกับชีวิตไอดอล แฟนคลับที่อยู่ด้วยกันมาตั้งแต่แรก รวมถึงมุมมองการทำงานจนแทบไม่เปิดโอกาสให้หายใจหายคอ เราปล่อยให้เฌอปรางได้พักจิบชาแก้กระหาย บทสนทนาจำนวนมากก่อนหน้านี้ส่งให้เกิดบรรยากาศที่ผ่อนคลายมากขึ้น และหลังจากให้เฌอได้พักสักพัก เราก็ไม่รอช้าเปิดประเด็นที่หนักขึ้น ถามถึงมุมมองภาพลักษณ์ที่ส่งผลต่อตัวเองและคนอื่น การคุกคามทางเพศในสังคมไทย ไปจนถึงเรื่อง ‘เสียง’ ระหว่างคนธรรมดากับคนมีชื่อเสียง ที่คำตอบของเธอก็ทำให้เราประทับใจจนอดยิ้มไม่ได้
The People: คิดอย่างไรกับประโยค ‘ไม่สวยก็เหนื่อยหน่อย’
เฌอปราง:
ในความรู้สึกหนูคิดว่าทุกคนก็มีความเหนื่อยเป็นของตัวเอง แค่ว่าเราเหนื่อยกับอะไรมากน้อยแค่ไหน บางคนอาจรู้สึกเหนื่อยมากเพราะคิดว่าเราไม่เท่าคนอื่น แต่ทุกคนก็มีความเหนื่อยเป็นของตัวเอง ต่างคนต่างเหนื่อยคนละรูปแบบ มันเลยเทียบกันยากมาก แต่ถ้าถามถึงคำว่า ‘ไม่สวยก็เหนื่อยหน่อย’ หนูก็ต้องถามต่อว่าแล้วความสวยของแต่ละคนคืออะไร ? อาจหมายถึงความดูดีหรือเปล่า แต่ถ้าใครคิดว่าตัวเองรู้สึกไม่เท่าคนอื่นและอยากพัฒนาต่อ ทุกคนพัฒนาได้แน่นอนค่ะ แต่การพัฒนานั่นแหละมันก็เลยมีความเหนื่อยหน่อย
The People: ในโลกแห่งความเป็นจริง คิดว่าภาพลักษณ์จำเป็นต่อการใช้ชีวิตไหม?
เฌอปราง:
สำหรับเฌอคิดว่าจำเป็น ภาพลักษณ์เป็นสิ่งแรกที่คนเจอเราเขาจะเห็น ถ้าเราสะอาดไว้ก่อนก็ดูดีกว่า ดูน่าเข้าหากว่า น่าคุยด้วยมากกว่า บางคนดูมีความอาร์ติสต์ หนูว่าพี่นักเขียนมีความอาร์ติสต์ถ้าดูจากการแต่งตัว ส่วนกลุ่มพี่ ๆ ทีมช่างภาพก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง เหมือนเราเห็นบุคลิกคร่าว ๆ ของแต่ละคนจากเสื้อผ้า สไตล์ หรือบุคลิก
บางทีสงสัยเหมือนกันว่าภาพลักษณ์อาจมีผลต่อการน่าเข้าหาหรือเปล่า หรือทำให้รู้ว่าเราจะพูดกับคนในแบบต่าง ๆ ยังไง เพราะเวลามีงานจับมือคนที่มาก็มีหลากหลายแบบ บางคนแต่งตัวดูเด็กหน่อย ดูสไตล์ออกน่ารัก เราก็จะเข้าหาด้วยความสดใส บางคนดูโต เราก็จะเข้าหาด้วยการพูดคุยแบบนิ่ง ๆ เพราะภาพลักษณ์เป็นสิ่งแรกที่เรามองเห็น หนูเลยคิดว่ามีความสำคัญมากที่จะดูแลภาพลักษณ์ของเราให้ดี จะว่าให้ดีก็ไม่เชิงนะคะ ให้เป็นตัวของตัวเองที่โอเคก็แล้วกันค่ะ
The People: ถ้าพูดถึงประเด็นสังคมและความเท่าเทียมทางเพศที่กำลังถกเถียงกันหนักหน่วงในปัจจุบัน หากมองผิวเผินบนผิวน้ำ คิดว่าผู้หญิงไทยถูกคุกคามทางเพศมากน้อยแค่ไหน
เฌอปราง:
หนูว่าทุกวัน แล้วแต่ว่าขอบเขตของแต่ละคนรับได้แค่ไหน แต่หนูว่าทุกคนถ้าเกิดรู้สึกว่าถูกมองเป็นการคุกคามทางเพศแล้วก็อาจจะเยอะ เพราะเป็นเรื่องธรรมชาตินิดหนึ่งที่จะถูกมองหรือเราจะมองใคร แต่ถ้าในระดับที่หนูว่าใช้คำว่า ‘คุกคาม’ หรือทำให้รู้สึกเป็นอันตราย แค่เดินไปเดินมาเราก็รู้สึกได้แล้ว ถ้าในที่เปลี่ยวในเมืองไทย แล้วก็ไม่ใช่แค่ว่าผู้หญิง แต่น่าจะทุกคน เพราะฉะนั้นทุกคนถูกคุกคาม
The People: ถ้าการคุกคามทางเพศเกิดขึ้นกับตัวเอง แต่อีกฝ่ายไม่ได้ตั้งใจ หรือเขาคิดว่าการกระทำของตัวเองไม่ใช่การคุกคามทางเพศ แต่เรารู้สึกว่าตัวเองถูกคุกคามอยู่ เราจะทำอย่างไร
เฌอปราง:
ถ้าเขาเป็นคนใกล้ตัวเราหรือเป็นอะไรที่รู้สึกว่าเกินไปจริง ๆ หนูเลือกที่จะเดินไปบอก เฌอเป็นคนเลือกที่จะเดินไปบอกว่า
“เฮ้ย! อันนี้เรารู้สึกไม่โอเค ปรับให้ได้ไหม”
เราต้องพูดคุยกัน ไม่ใช่เข้าไปด้วยอารมณ์รุนแรง แต่เข้าไปด้วยการบอกดี ๆ ว่าเรารู้สึกไม่สบายใจที่ถูกทำแบบนี้ บางทีอาจเป็นอากัปกิริยาบางอย่างที่เขาไม่ได้ตั้งใจแสดงให้เราเห็นแต่เขาหลุดออกมาให้เห็น เราก็จะบอกว่า “อย่าทำให้เห็นได้มั้ย” ก็คือคุยกัน ใช้คำว่าเข้าไปคุย เข้าไปบอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เราไม่สบายใจหรือคนรอบข้างไม่สบายใจ
The People: คิดว่าการเป็นไอดอลจะสามารถช่วยผลักดันความเท่าเทียมได้ไหม? ทั้งเรื่องความเท่าเทียมทางเพศรวมถึงสิทธิความเท่าเทียมอื่น ๆ ในสังคมไทย
เฌอปราง:
ในความรู้สึกเฌอไม่ว่าเราเป็นอะไร เราผลักดันได้ หนูเป็นมนุษย์คนหนึ่งก็ผลักดันเรื่องสิทธิสตรีได้ เพราะอย่างน้อยหนูก็เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง อันนี้ถ้าในเรื่องของสิทธิผู้หญิงนะคะ แต่หนูรู้สึกว่าทุกคนมีความสามารถในการผลักดันสิทธิตัวเองแล้วก็สิทธิของผู้อื่นด้วย อันแรกเลยคือการให้เกียรติซึ่งกันและกัน เพราะการให้เกียรติก็ถือเป็นการให้สิทธิความเป็นมนุษย์แก่คนอื่น แต่ถ้าถามว่าการอยู่ในฐานะไอดอลจะทำให้มีสิทธิมีเสียงมากกว่าคนอื่นมั้ย ความมีชื่อเสียงของเราอาจมีผลต่อคนอื่นและแฟน ๆ มากกว่าในแง่ที่ถ้าเราเป็นคนธรรมดา เพราะฉะนั้นเฌอรู้สึกว่าการเป็นไอดอลแล้วส่งเสียงจะมีผลมากกว่า แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ใช่ว่าทุกคนไม่มีสิทธิที่จะเป็นคนผลักดันเรื่องเหล่านี้ ช่วยกันค่ะ ทุกคนในสังคมต้องช่วยกัน
The People: แสดงว่าสิทธิของเรามีความสำคัญ?
เฌอปราง:
สิทธิและเสียงของทุกคนมีความสำคัญ ไม่ใช่แค่เสียงของคนรุ่นใหม่เท่านั้นที่สำคัญ บางคนแม้จะอายุมากก็มีแรงอยู่ แต่ด้วยความที่คนรุ่นใหม่ที่ยังมีแรงมากกว่า มีเอนเนอจีบางอย่างที่หนูเริ่มรู้สึกกับตัวเองว่า ‘เอนเนอจีฉันไม่เท่าน้องเหมือนกัน’ ยกตัวอย่างง่าย ๆ อย่างเวลาเจอน้องเต้นแล้วก็รู้สึกว่าทำไมน้องเต้นแรงกันจังเลยนะ รู้สึกว่าคนรุ่นใหม่พอมีเอนเนอจีเขาก็จะแบบเต็มที่กับเสียงของเขา แต่ทุกคนมีสิทธิมีเสียง แค่ว่าเราจะรับฟังแล้วหาจุดที่โอเคอย่างไร การรับฟังซึ่งกันและกันน่าจะเป็นอะไรที่ใหญ่กว่าการแค่ได้ส่งเสียง ทุกคนเป็นคนฟังและเป็นคนส่งเสียง ทุกคนมีสิทธิมีเสียงของตัวเองค่ะ
The People: แต่ถ้าเรากำลังส่งเสียงถึงอะไรบางอย่างแล้วมีผู้ใหญ่เดินมาบอกว่า “เป็นแค่เด็กจะไปรู้อะไร”
เฌอปราง:
ทำไมต้องพูดกับเราแบบนั้น พานให้รู้สึกว่า ‘เอ๊ะ! เขาต้องการอะไรจากเรานะ’ ถ้าเกิดตอนที่เราส่งเสียงหรือพูดออกไปแล้วโดนคำถามประมาณนี้กลับมา ถ้าเป็นเฌอก็จะถามว่าแล้วหนูควรรู้อะไรเพิ่ม หรือว่าหนูต้องรู้อะไร ต้องศึกษาอะไรเพิ่ม แต่ในแง่ความรู้สึกมันเป็นประโยคลบค่ะ ถ้าไม่มีได้จะดีกว่า เรารับมือกับประโยคแบบนี้ได้ แต่ก็จะรู้สึกไม่ค่อยดีกับคนที่พูดสักเท่าไร
The People: หากจะส่งเสียงให้กับคนอีกจำนวนมากที่กำลังทำตามความ
ความฝัน
กำลังเดินบนเส้นทางของตัวเองแล้วรู้สึกเหนื่อย เราจะบอกพวกเขาอย่างไร
เฌอปราง:
ไม่ว่าใครที่ทำตามฝันของตัวเองอยู่ ไม่ว่าจะรุ่นไหนก็ตาม ลองพยายามให้เต็มที่ก่อน แล้วก็อย่าลืมแบ่งเวลาให้ตัวเองได้พักด้วย ใครไหวไปต่อ ใครเริ่มไม่ไหวอยากหาที่พึ่งก็ลองมองหาที่พึ่ง เราพักได้เสมอ ถ้าใครมีคนรอบข้างคอยเป็นกำลังใจก็ดีมาก ๆ ขอให้มีแรงอยู่ตลอด ถ้าใครที่คิดว่าไม่มีคนรอบข้างที่พร้อมเป็นกำลังใจให้ หันมาทางเฌอก็จะมีกำลังใจให้อยู่ตรงนี้หนึ่งคน หวังว่าทุกคนจะเจอเส้นทางของตัวเองแล้วทำมันออกมาได้ดีที่สุดเท่าที่ไหว ได้ลองทำได้เต็มที่กับมันดูสักครั้ง แม้ว่ากำลังจะพยายามเดินตามความฝันมานาน แต่ว่าระหว่างทางขอให้มีความสุขด้วย สู้ ๆ นะคะ
เรื่อง: ตรีนุช อิงคุทานนท์
ภาพ: ดำรงค์ฤทธิ์ สถิตดำรงธรรม
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3487
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
6940
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
818
แท็กที่เกี่ยวข้อง
Interview
The People
BNK48
CherprangBNK48
สัมภาษณ์
Cherprang
สิทธิสตรี
เฌอปราง อารีย์กุล
สิทธิเท่าเทียม
แคปเฌอ
การคุกคามทางเพศ
สิทธิ
ไอดอล
เฌอปราง