เอิร์ลเกรย์ที่ 2 อดีตนายกฯ อังกฤษ ที่มาชื่อชา "เอิร์ลเกรย์" ที่อาจไม่เกี่ยวข้องอะไรด้วย

เอิร์ลเกรย์ที่ 2 อดีตนายกฯ อังกฤษ ที่มาชื่อชา "เอิร์ลเกรย์" ที่อาจไม่เกี่ยวข้องอะไรด้วย

เอิร์ลเกรย์ที่ 2 อดีตนายกฯ อังกฤษ ที่มาชื่อชา "เอิร์ลเกรย์" ที่อาจไม่เกี่ยวข้องอะไรด้วย

"เอิร์ลเกรย์" เป็นชาผสมสูตรหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง เดิมทีมันคือชาดำที่เอามาปรุงรสแต่งกลิ่นด้วยน้ำมัน "เบอร์กามอต" หรือมะกรูดฝรั่งซึ่งปลูกมากในอิตาลีและฝรั่งเศส และในปัจจุบันมีการดัดแปลงเอาชาชนิดอื่นเครื่องเทศอื่นมาปรับปรุงสร้างเอกลักษณ์แตกต่างกันไปตามแต่ละยี่ห้อ ส่วนชื่อ "เอิร์ลเกรย์" ซึ่งถูกใช้เป็นชื่อของชาสูตรนี้นั้น ตำนานเล่ากันว่าเพราะชาสูตรนี้ไปเกี่ยวข้องกับ ชาร์ลส์ เกรย์ (ค.ศ. 1764-1845) เอิร์ลเกรย์ที่ 2 ซึ่งเคยเป็นนายกรัฐมนตรีของอังกฤษก่อนช่วงสงครามฝิ่นไม่นาน ประวัติคร่าวๆ ชาร์ลส์ เกรย์ คือศิษย์เก่าอีตันและเคมบริดจ์ เป็นนักการเมืองซึ่งเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษระหว่างปี 1830-1834 มีผลงานชิ้นโบว์แดงคือ การผ่านกฎหมายปฏิรูปการลงคะแนนเสียงปี 1832 ทำให้ประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะแรงงานในเขตอุตสาหกรรมซึ่งมีอยู่อย่างหนาแน่นมีสิทธิมีเสียงมากขึ้น แทนที่ชนชั้นสูงเจ้าของที่ดินแปลงใหญ่ในเขตที่มีประชาชนอาศัยอยู่น้อย ตำนานสำนวนหนึ่งเล่าว่า สมัยที่เอิร์ลเกรย์เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่นั้น เขาได้เดินทางไปเมืองจีน ระหว่างนั้นเองเจ้าหน้าที่ในคณะของเขาก็ได้ช่วยชีวิตลูกชายขุนนางจีนรายหนึ่งจากการจมน้ำเอาไว้ ขุนนางจีนรายนี้รู้สึกสำนึกในพระคุณ จึงตอบแทนด้วยการส่งชาสูตรพิเศษพร้อมสูตรการปรุงมาให้ เพื่อให้เอิร์ลเกรย์ได้ใช้ผลิตชาขายในอังกฤษ ซึ่งสมัยนั้นถือว่าเป็นของมีค่าและราคาดีมาก นั่นจึงเป็นที่มาของชื่อชาสูตรผสม "เอิร์ลเกรย์" อย่างไรก็ดี ในเชิงข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ เอิร์ลเกรย์ไม่เคยเดินทางไปเมืองจีน จึงมีการแก้สำนวนใหม่ให้เอิร์ลเกรย์สมัยเป็นนายกฯ เป็นผู้ส่งคณะทูตไปเมืองจีนแทน และความไม่ลงรอยในเรื่องเล่า ทำให้มีผู้ตั้งข้อสงสัยว่าในเชิงประวัติศาสตร์แล้วตำนานข้างต้นมันเชื่อถือได้เพียงใดกัน? ทาง Oxford English Dictionary (OED) ได้ทำการสืบค้นและพบหลักฐานการกล่าวถึง "ชาเอิร์ลเกรย์" เก่าที่สุดในช่วงทศวรรษ 1920s เท่านั้น ไม่ได้เก่าถึงยุคของเอิร์ลเกรย์ที่ 2 ส่วนคำว่า "ส่วนผสมโดยเอิร์ลเกรย์" (Earl Grey’s Mixture) นั้นพบย้อนกลับไปได้ถึงปี 1891 เพื่อความกระจ่างในปี 2012 ทาง OED จึงได้ร้องขอต่อสาธารณะให้ช่วยกันสืบค้นหาหลักฐานของชาสูตรนี้ และได้พบหลักฐานที่น่าสนใจหลายชิ้น หลักฐานสำคัญๆ มาจากทีมของ Foods of England Project โครงการค้นคว้าที่มาของอาหารดั้งเดิมของอังกฤษที่ชี้ว่า เมืองจีนสมัยนั้นไม่น่าจะมีเบอร์กามอตที่เป็นพืชพื้นเมืองอิตาลี สูตรชาเอิร์ลเกรย์จึงไม่น่าจะได้มาจากเมืองจีนอย่างที่ตำนานเล่า ทฤษฎีที่เป็นไปได้มากกว่าก็คือ มันเป็นชื่อของพ่อค้าชาสักเจ้า ที่พยายามผสมชาให้ได้รสใกล้เคียงกับชาราคาแพงที่มาจากเมืองจีน ด้วยการ "ปรุงแต่ง" เสริมวัตถุดิบอื่นๆ เข้าไป วิธีการปรุงชาแบบนี้ถือเป็นสิ่งที่สามารถยอมรับได้ หากผู้ขายไม่ได้ไปหลอกขายว่ามันเป็นชาราคาแพงจากเมืองจีน และจากหลักฐาน (เป็นรายงานของหนังสือพิมพ์เก่า Lancaster Gazzette) พบว่า การนำเอาน้ำมันเบอร์กามอตมาปรุงรสชา เป็นสิ่งที่ทำกันมาอย่างน้อยตั้งแต่ปี 1824 ก่อนหน้าที่เอิร์ลเกรย์จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษเสียอีก และ "เกรย์" ที่น่าจะเป็นเจ้าของสูตรชาตัวนี้จริงๆ นั้น Foods of England เสนอว่า น่าจะเป็นผู้ค้าชาในนาม วิลเลียม เกรย์ มากกว่า โดยชาของเกรย์รายนี้ได้ถูกโฆษณาผ่านสื่อมาตั้งแต่ปี 1852 เป็นอย่างน้อย ก่อนที่มันจะค่อยๆ หายไปจากหน้าสื่อ และกลับมาปรากฏตัวอีกครั้งในอีกสิบปีต่อมาด้วยชื่อ "ชาผสมอันโด่งดังของเกรย์" (The Celebrated Grey Mixture Tea) โดย London Blenders Charlton & Co เป็นผู้ลงโฆษณา และก็เป็นผู้ค้าชาเจ้าเดียวกันนี้เอง ที่จู่ๆ ก็เติม "เอิร์ล" ต่อหลังคำว่า "อันโด่งดัง" เข้าไปในช่วงทศวรรษ 1880s กลายเป็น "ชาผสมอันโด่งดังของเอิร์ลเกรย์" (The Celebrated, Earl Grey's Mixture Tea) อย่างไรก็ดี "ทไวนิงส์" (Twinings) ผู้ค้าชารายใหญ่อ้างว่า ชาเอิร์ลเกรย์นั้นเป็นสูตรที่ ริชาร์ด ทไวนิง อดีตเจ้าของบริษัทของพวกเขาต่างหากที่เป็นคนคิดค้นชาสูตรนี้ขึ้นมาในปี 1831 ตามคำขอของเอิร์ลเกรย์ ผู้เป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เมื่อเอิร์ลเกรย์ได้ชิมเข้าก็ถูกใจมาก จึงขอให้เอาชื่อของเขามาเป็นชื่อของชาสูตรนี้ และทางบริษัทยังได้ "เอิร์ลเกรย์ที่ 7" ทายาทอดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ มาเซ็นชื่อรับรองบนบรรจุภัณฑ์ของพวกเขาด้วย นอกจากทไวนิงส์แล้ว Jackson of Piccadilly ผู้ผลิตชาอีกราย ก็อ้างว่าตนเป็นต้นตำรับตัวจริง โดยโฆษณาของพวกเขาในปี 1928 อ้างว่า โรเบิร์ต แจ็กสัน อดีตเจ้าของบริษัทเป็นผู้นำเสนอชาสูตรนี้มาตั้งแต่ปี 1836 เพื่อตอบสนองความปรารถนาของเอิร์ลเกรย์ พร้อมระบุว่า "ชื่อเสียงของชาตัวนี้ทำให้มีผู้ลอกเลียนแบบเป็นจำนวนมาก" แต่ภายหลัง Jackson of Piccadilly ได้ถูกทไวนิงส์ซื้อไป และบนเว็บไซต์ขายเอิร์ลเกรย์ของ Jackson of Piccadilly (ซึ่งเป็นหมวดย่อยในเว็บไซต์ของทไวนิงส์) ก็ไม่มีการกล่าวอ้างความเป็นต้นตำรับอีก