มารี คูรี : สตรีผู้ยกระดับการรักษาชีวิตของมนุษยชาติ ด้วยศาสตร์แห่งเคมี

มารี คูรี : สตรีผู้ยกระดับการรักษาชีวิตของมนุษยชาติ ด้วยศาสตร์แห่งเคมี
หลายการค้นพบ หลายความก้าวหน้า มักแลกมาด้วยความทุ่มเทและความเสียสละมากน้อยแตกต่างกันไป มันจึงอาจไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร หากการได้มาซึ่งความก้าวหน้าในการรักษา ‘ชีวิต’ จะต้องแลกมาด้วย ‘ชีวิต’ เช่นกัน จะกี่ยุคกี่สมัย ‘มะเร็ง’ ก็ยังคงเป็นจักรพรรดิแห่งโรคร้ายที่ผลาญชีวิตผู้คนมาแล้วมากมาย แถมยังไม่เคยมีใครสามารถกำราบให้หายขาด กว่ามนุษย์จะค้นพบความรู้เพื่อต่อกรกับศัตรูร้ายตนนี้ เวลาก็เพิ่งจะผ่านไปร้อยกว่าปี แถม มารี คูรี (Marie Curie) สตรีผู้บุกเบิกงานวิจัยด้านกัมมันตภาพรังสี และค้นพบธาตุเรเดียมที่ถูกนำมาใช้รักษาโรคมะเร็งในภายหลัง ก็ยังต้องแลกชีวิตบั้นปลายของเธอไปกับความก้าวหน้าครั้งนี้ มารี คูรี นับเป็นสตรีผู้สร้างคุณูปการใหญ่หลวงไว้แก่วงการวิทยาศาสตร์ เพราะเธอสามารถคิดค้นหาวิธีสกัดเอา ‘เรเดียมคลอไรด์’ ออกมาจากแร่พิตช์เบลนด์ และศึกษาค้นคว้าจนพบวิธีนำมาใช้รักษาโรคมะเร็งได้ เธอเป็นสตรีคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลถึง 2 สาขา (เคมีและฟิสิกส์) นับเป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์หญิงที่เก่งที่สุด เพราะสามารถเติบโตขึ้นมาท่ามกลางสภาพสังคมที่ไม่เอื้อให้สตรีได้มีที่ยืนในวงการนี้ ชื่อเดิมของเธอ คือ มารี สโคลดอฟสกา (Marie Sklodowska) เกิดเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ปี 1867 ณ เมืองวอร์ซอ เมืองหลวงของประเทศโปแลนด์ เพราะมีพ่อเป็นอาจารย์วิทยาศาสตร์ และแม่เป็นอาจารย์คณิตศาสตร์ มารีจึงได้มีโอกาสคลุกคลีอยู่กับการทดลองและองค์ความรู้ที่น้อยคนจะสนใจมาตั้งแต่เด็ก หลังจบการศึกษาระดับมัธยมฯ ต้น สถานะทางบ้านที่ยากจนทำให้มารีกับพี่สาว โบรเนีย (Bronia) ต้องเริ่มทำงานเป็นครูสอนเด็กอนุบาลในละแวกบ้านเพื่อหาเงินเรียนต่อ เพราะทั้งมารีและพี่สาวอยากจะเรียนในสาขาที่มีค่าใช้จ่ายสูง เงินที่หามาได้เมื่อหักลบจากจำนวนที่ต้องใช้จ่ายประจำวันจึงไม่พอให้เรียนพร้อมกันได้ทั้งสองคน มารีอาสาทำงานหาเงินส่งให้พี่สาวได้เรียนต่อด้านแพทยศาสตร์ก่อน พอจบแล้วค่อยผลัดกันมาหาเงินส่งเธอเรียน หลังโบรเนียเรียนจบ มารีจึงได้เรียนต่อด้านวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยปารีสสมดังใจ แต่เพราะเงินอันน้อยนิดจากพี่สาว ไม่เพียงพอให้เธออยู่กินระหว่างเรียนได้ มารีจึงหางานทำจนได้เป็นผู้ช่วยในห้องปฏิบัติการทางเคมี ที่นั่นเธอได้พบกับ ปีแยร์ คูรี (Pierre Curie) นักฟิสิกส์อนาคตไกล ผู้เคยได้รับรางวัลไซเอนซิเอต (Scienciate Award) ทั้งสองเริ่มสนิทสนมและชอบพอกันเพราะสนใจศึกษาเรื่องแม่เหล็ก โดยหลังจากตกลงปลงใจแต่งงานกันจนมีลูกสาวตัวน้อย ทั้งมารีและปีแยร์ก็ยังร่วมศึกษาเกี่ยวกับการแผ่รังสีของแร่ด้วยกันต่อจากนั้น มารี คูรี : สตรีผู้ยกระดับการรักษาชีวิตของมนุษยชาติ ด้วยศาสตร์แห่งเคมี ในช่วงเวลาเดียวกัน ฝรั่งเศสมีนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์จำนวนมาก กำลังพยายามศึกษาหาคำตอบเกี่ยวกับพลังงานและการแผ่รังสี โดยหนึ่งในผู้คนพบรังสีชนิดใหม่ คือ อองตวน อองรี แบ็กเกอแรล (Antoine Henri Becquerel) นักฟิสิกส์ชาวฝรั่งเศส ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทของปีแยร์ เขาคือผู้ค้นพบปรากฏการณ์การแผ่รังสีจากแร่ยูเรเนียม ซึ่งมีคุณสมบัติทะลุทะลวงเช่นเดียวกับรังสีเอกซ์ ของ วิลเฮล์ม เรินต์เกน (นักวิทยาศาสตร์ผู้ค้นพบรังสีเอกซ์ในปี 1895) “แสงจากยูเรเนียมไม่ได้มีปฏิกิริยาอะไรที่น่าประทับใจนัก ไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางเคมี มันเพียงฉายแสงอย่างคงที่ และยังไม่มีที่มาของแหล่งพลังงานที่ตรวจพบได้” ส่วนหนึ่งจากบันทึกของมารี คูรีในปี 1900 ด้วยความสนใจในพลังงานที่ถูกปล่อยมาในอัตราคงที่ สองสามีภรรยาจึงค้นคว้าต่อไปจนถึงแหล่งพลังงาน พวกเขาสืบเสาะไปจนพบว่าแหล่งที่มาของพลังงานที่แผ่ออกมาคือ แร่พิตช์เบลนด์ (Pitchblende) ซึ่งเป็นออกไซด์ชนิดหนึ่งของแร่ยูเรเนียม โดยหลังจากพยายามสกัดแร่พิตช์เบลด์ออกมา สองสามีภรรยาก็ค้นพบธาตุชนิดใหม่ พวกเขาตั้งชื่อมันว่า โปโลเนียม (Polonium) เพื่อเป็นเกียรติแก่ประเทศโปแลนด์ บ้านเกิดของมารี แต่การค้นพบโปโลเนียมก็ยังไม่จบแค่นั้น เพราะมันยิ่งกระตุ้นความสนใจใคร่รู้ของปีแยร์และมารี พวกเขาสงสัยว่าอาจจะยังมีสารประกอบอื่น ๆ อยู่ในแร่พิตช์เบลด์อีก หลังจากพยายามสกัดธาตุบริสุทธิ์จากแร่พิตช์เบลด์ออกมานานกว่า 5 เดือน พวกเขาก็พบกับธาตุชนิดใหม่ คราวนี้ทั้งบริสุทธิ์และทรงพลังกว่า เพราะเจ้าธาตุชนิดใหม่นี้สามารถแผ่รังสีออกมาได้มากกว่ายูเรเนียมหลายเท่า พวกเขาตั้งชื่อมันว่า เรเดียม (ภาษากรีกแปลว่า ‘แสง’) ตามคุณสมบัติที่สามารถส่องผ่านเนื้อหนังของมนุษย์ได้ ภายหลังพวกเขาค้นพบว่ามันยังทิ้งพลังงานไว้ลึกภายในเนื้อเยื่อ จนส่งผลกระทบให้มือของมารี คูรี ผู้ทำหน้าที่สกัดธาตุ แห้งกร้าน และลอกเป็นชั้นสีดำราวกับถูกไฟเผา ในขณะที่ปีแยร์ซึ่งเก็บเรเดียมเพียงไม่กี่มิลลิกรัมในกระเป๋า ถูกมันไหม้เสื้อผ้าจนหน้าอกเขาเกิดรอยแผลเป็น มารี คูรี : สตรีผู้ยกระดับการรักษาชีวิตของมนุษยชาติ ด้วยศาสตร์แห่งเคมี ปี 1903 การค้นพบธาตุชนิดใหม่นี้เองที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ทั้ง 3 คน (สองสามีภรรยาคูรี และ อองรี แบ็กเกอแรล) ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ในฐานะกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ผู้ศึกษาปรากฏการณ์กัมมันตภาพรังสี (Radioactivity) น่าเสียดายที่ 3 ปีต่อจากนั้น ปีแยร์ คูรี ต้องมาด่วนจากไปเพราะอุบัติเหตุรถม้า เขาจึงไม่มีโอกาสได้เห็นความสำเร็จของภรรยา ผู้แม้จะขาดเพื่อนร่วมงานและสามีคู่คิดไป แต่ก็ยังตั้งใจศึกษาคุณสมบัติของเรเดียมต่อ มารี คูรี ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยปารีส ในการตั้งสถาบันเรเดียม เพื่อค้นคว้าการใช้ประโยชน์จากธาตุเรเดียม จากการศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจัง ทําให้เธอรวมถึงทีมวิจัยค้นพบว่าเรเดียมมีคุณสมบัติทางการแพทย์ที่สามารถนำมาต่อยอดพัฒนาเป็นเครื่องมือรักษาโรคได้ ปี 1911 มารี คูรี ได้รับรางวัลโนเบลอีกครั้งในสาขาเคมี และนับเป็นสตรีคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบลถึง 2 สาขา ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 มารี คูรียังได้ตั้งหน่วยเอกซเรย์เคลื่อนที่ เพื่อตระเวนรักษาทหารที่บาดเจ็บตามสถานที่ต่าง ๆ และเพราะตลอดเวลาที่ทำงาน เธอต้องสัมผัสกับรังสีของเรเดียมโดยตรง ผลกระทบจากรังสี ทำให้ไขกระดูกของเธอค่อย ๆ ถูกทำลาย มารี คูรีจึงกลายมาเป็นผู้ป่วยเสียเองหลังสงครามจบ มารี คูรี : สตรีผู้ยกระดับการรักษาชีวิตของมนุษยชาติ ด้วยศาสตร์แห่งเคมี เพราะใช้เวลาทดลองรังสีต่าง ๆ นานเกินไป สุขภาพของมารีจึงทรุดโทรมลงเรื่อย ๆ ในที่สุดมารีก็ถูกตรวจพบว่าป่วยเป็นลูคีเมีย (มะเร็งเม็ดเลือดขาว) ที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของเธอในภายหลัง ปี 1995 หลังจากมารีเสียชีวิตไปกว่า 60 ปี ศพของเธอถูกย้ายไปฝังที่วิหารแพนธีออน (Pantheon) คู่กับปิแยร์ คูรีเพื่อเป็นเกียรติแก่ความสำเร็จของพวกเขา โลงศพของทั้งคู่จำเป็นต้องมีแผ่นตะกั่วเสริมป้องกันไว้อย่างหนาแน่น เพราะแม้ร่างจะตาย แต่รังสีที่มีค่าครึ่งชีวิตหรือ Half-life อยู่ที่ 1,600 ปีก็ยังตกค้าง และเป็นอันตรายต่อผู้ที่เข้าใกล้อยู่ ว่ากันว่าข้าวของเครื่องใช้ของเธอก็จำเป็นต้องเก็บรักษาและป้องกันอย่างแน่นหนาเช่นกันและนี่ก็คือเรื่องราวของ มารี คูรี สตรีนักเคมีที่แม้ตัวจะจากไป แต่ก็ยังทิ้งมรดกไว้เป็นองค์ความรู้ ที่สามารถนำมาต่อยอดสู่ความก้าวหน้าในการรักษาโรคมะเร็งในปัจจุบัน    
ที่มา
มุกเคอร์จี, สิทธัตถะ. จักรพรรดิแห่งโรคร้าย ชีวประวัติโรคมะเร็ง. กรุงเทพฯ: มติชน, 2556.