14 ธ.ค. 2563 | 13:42 น.
“หากเราจะเรียนให้สูง ยังไงซะก็ต้องใช้เงิน มิหนำซ้ำยังมีน้อง ๆ อีกถึง 3 คน” “ฟุตบอลจะเป็นใบเบิกทางให้เราได้ทุนเรียนต่อ รวมทั้งอะไรต่อมิอะไรอีกมากมายในวันข้างหน้า” (ภาษาไทยจากเวอร์ชั่นของ Siam Inter Comics) เสียงเหล่านี้ก้องอยู่ในใจของ ฮิวงะ โคจิโร (日向小次郎) อยู่เสมอ เขาเป็นเพียงเด็กประถมฯ คนหนึ่งที่ทำทุกอย่างเพื่อให้ชีวิตตัวเองและครอบครัวหนีพ้นไปจากความยากจนที่เกาะกุมชีวิตอยู่ ฮิวงะ มีพี่น้องอีก 3 คน รวมเป็น 4 คน พ่อของฮิวงะประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตไปตอนที่ฮิวงะยังเรียนอยู่ ป. 4 ทำให้เหลือแม่เพียงคนเดียวที่ต้องคอยทำงานหาเลี้ยงครอบครัว ฮิวงะจึงต้องคอยทำงานพิเศษแบบใช้แรงงาน เช่น ทำงานร้านโอเด้ง, ส่งหนังสือพิมพ์ และงานแบกหามต่าง ๆ เพื่อช่วยหารายได้จุนเจือครอบครัวไปด้วย ในระหว่างที่แบ่งเวลาเรียนและแบ่งเวลาไปซ้อมฟุตบอล แล้วยังต้องคอยหลบไม่ให้โรงเรียนรู้เพราะว่าตามกฎหมายญี่ปุ่นนั้นเด็กประถมยังไม่มีสิทธิ์ทำงานพิเศษหารายได้ในลักษณะนี้ เรื่องกัปตันซึบาสะนั้นเขียนโดย ทะกะฮะชิ โยอิชิ (高橋陽一) ตั้งแต่ปี ค. ศ. 1981-1988 ก่อนที่ทะกะฮะชิจะตัดสินใจกลับมาเขียนภาคต่อคือภาค World Youth ในปี ค. ศ. 1994 และมีอีกหลายภาคต่อมาเรื่อย ๆ หลังจากนั้น แต่เนื้อเรื่องต้นฉบับคือในช่วงทศวรรษที่ 80s ที่ตัวละครหลักเรียนชั้นประถมฯ และมัธยมฯ อยู่ แม้ว่าผู้เขียนจะเคยกล่าวไปแล้วว่าญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษ 1970 เป็นต้นมาจะเป็นสังคมแห่งชนชั้นกลางเกือบทั้งประเทศ ( https://thepeople.co/suneo-doraemon-the-rich-family/ ) แต่ก็ไม่ได้แปลว่าญี่ปุ่นจะไม่มีคนยากจนเลย เนื่องจากญี่ปุ่นยังเป็นสังคมที่มีแนวโน้มจะให้ผู้ชายหาเลี้ยงครอบครัวและผู้หญิงเป็นแม่บ้าน บางครอบครัวที่ประสบชะตากรรมสูญเสียผู้หาเลี้ยงครอบครัวไปก็จะมีชะตากรรมไม่ต่างจากครอบครัวของฮิวงะนี่เอง สไตล์การเล่นฟุตบอลของฮิวงะจึงแตกต่างจากซึบาสะที่เป็นพระเอกของเรื่องโดยสิ้นเชิง ซึบาสะมีฐานะดี พ่อเป็นกัปตันเรือสำราญ จ้างโค้ชที่เป็นอดีตทีมชาติบราซิลคือโรแบร์โต้ ฮงโง มาสอนได้ มีฟุตบอลเป็นเพื่อนรัก เล่นฟุตบอลด้วยความสนุกสนานมีความสุขตั้งแต่เด็ก แต่ฮิวงะนั้นเห็นทุกคนในสนามเป็นศัตรู ฟุตบอลของฮิวงะเป็นฟุตบอลแห่งความเคียดแค้นต่อโลก ต่อสังคม ฮิวงะยังเคยบอกด้วยตัวเองว่า “เรามักนึกว่าเราอยู่ตัวคนเดียว เรามักคิดว่ารอบตัวเรามีแต่ศัตรู” ตอนแข่งชิงแชมป์ชั้นประถมฯ ฮิวงะอยู่ทีม Meiwa FC (明和FC) ก็ได้รับการรีครูทพร้อมทุนการศึกษาเต็มจำนวนจากโรงเรียนเอกชนชื่อที่มีชื่อด้านฟุตบอล คือโรงเรียนโทโฮ (東邦学園) แต่มีเงื่อนไขว่าทางโทโฮกำลังจับตามองทั้งฮิวงะและซึบาสะ และจะให้ทุนการศึกษาเต็มจำนวนเพียงคนเดียว คือคนที่ชนะเลิศในการแข่งขันเท่านั้น ทีมแมวมองของโทโฮเองยังวิเคราะห์ออกมาได้ชัดเจนว่า ซึบาสะคือสไตรเกอร์ขาว เพราะเล่นบอลด้วยความสนุกจากใจจริง ลูกบอลเป็นเหมือนส่วนหนึ่งของร่างกาย ในขณะที่ฮิวงะคือสไตรเกอร์ดำ เพราะความร้อนแรงต่าง ๆ ในใจเขาถูกปะทุออกมาทางลูกบอลจนหมด ฉากที่สะเทือนใจมากคือฉากที่ฮิวงะยิงประตู แต่วะกะบะยะชิรับไว้ได้ แล้วน้อง ๆ ของฮิวงะที่มาเชียร์ข้างสนามก็ตะโกนด่าวะกะบะยะชิว่า “บ้าที่สุดเลย คนใจดำ!! รับไว้ทำไม!?” เพราะชะตากรรมของครอบครัวและอนาคตการศึกษาของฮิวงะผูกอยู่กับการชนะเลิศในนัดชิงแชมป์นั่นเอง แล้วผู้เขียนก็โหดร้ายพอที่จะเขียนให้ฮิวงะแพ้ซึบาสะจนได้ในนัดชิง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าฮิวงะจะพลาดแชมป์ปีนั้น แต่เนื่องจากโชว์ฟอร์มขั้นเทพ และซึบาสะไม่สนใจย้ายไปเรียนที่โทโฮ ฮิวงะจึงได้ทุนเต็มจำนวนเข้าเรียนที่โรงเรียนเอกชนโทโฮได้ในที่สุด “หุบปาก ถ้ากลัวเจ็บ ก็อย่ามาเล่นบอล!!” ฮิวงะตะโกนด่าทีมตัวเองที่เลี้ยงลูกอ้อมไปอ้อมมา เพราะฮิวงะเลี้ยงบอลตรงกระแทกไม่เลี้ยง อัดไม่ยั้ง ตามแรงเคียดแค้นในใจ ยิ่งได้โค้ชอย่าง คิระ โคโซ (吉良耕三) ที่มีนโยบาย “ขอเพียงยืนอยู่ในสนาม จงทิ้งความสงสารไปให้หมด” เข้าไปอีก ทำให้ฮิวงะกลายเป็นเสือร้ายที่พร้อมจะกัดกินทุกชีวิตในสนาม และใช้ซากศพของนักฟุตบอลในสนามเป็นบันไดไต่ขึ้นไปที่สูงเพื่อถีบตัวเองให้พ้นจากความยากจนนั่นเอง จนได้รับฉายาว่า เสือร้าย (猛虎 แปลตรงตัวว่า เสือบ้าคลั่ง) ฟุตบอลของฮิวงะจึงเป็นฟุตบอลแห่งการต่อสู้, โหดร้ายทารุณ, บ้าคลั่ง ฮิวงะสามารถเตะอัดโมริซะกิ (ผู้รักษาประตูทีมของซึบาสะ) จนกลัวหัวหดไม่กล้ารับลูกยิงอีก, เตะอัดนักฟุตบอลฝ่ายตรงข้ามเพื่อให้บาดเจ็บได้อย่างไร้สงสาร บุคลิกของฮิวงะจึงเหมาะกับการฝึกของโค้ชคิระอย่างมาก เมื่อฮิวงะได้เข้าเรียนโทโฮแล้วจึงฝีมือตกเพราะว่าสูญเสีย “ไฟที่เคยคุโชนในใจ” เนื่องจากไม่มีเรื่องเงินเข้ามากวนใจ กลายเป็นผลตรงข้ามคือฟอร์มตก โค้ชจึงต้องจับไปฝึกเตะลูกสวนคลื่นทะเลที่โอกินะวะ จนสำเร็จท่า “ไทเกอร์ช็อต” เรียกความโหดเหี้ยมของเสือร้ายกลับมาได้ ตอนไปชิงแชมป์ Junior Youth ก็ได้โค้ชคิระอีกนั่นแหละที่ส่งลูกบอลสีดำที่หนักมากกว่าลูกบอลปกติ 3 เท่าเพื่อให้ฝึก นีโอไทเกอร์ช็อต จนสำเร็จ เล่นเอาผู้รักษาประตูทีมชาติอิตาลีนิ้วหักเลยทีเดียวเพราะรับท่าไม้ตายนี้เข้าไป ในเนื้อเรื่องระยะหลัง ฮิวงะก็ได้ไปเป็นนักฟุตบอลอาชีพที่ทีมยูเวนตุสในที่สุด หากจะบอกว่าเขาใช้ความเคียดแค้นเพราะความยากจน ต่อสู้ฟันฝ่าจนพาตัวเองไปถึงระดับโลก และเอาชนะความยากจนของครอบครัวตัวเองได้สำเร็จ ก็คงจะไม่ผิดนัก แต่สไตล์การเล่นอันโหดร้ายเลือดเย็น รวมทั้งท่าไม้ตายสุดโหด ก็ยังคงพัฒนาความโหดอย่างต่อเนื่อง ไม่ทิ้งลาย “เสือร้าย” ที่แท้จริง ในโลกแห่งความจริงก็คงมีคนอีกมากที่ประสบเคราะห์กรรมแบบเดียวกับฮิวงะ และพยายามสู้ชีวิตอย่างมากด้วยวิธีการต่าง ๆ กัน เช่น นักฟุตบอลบางคนในบราซิล, นักมวยบางคนในประเทศไทย, สตันท์แมนในฮ่องกง หรืออีกหลายวิชาชีพในหลายประเทศ ที่ล้วนแล้วแต่มีฐานะครอบครัวยากจน ใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก และพยายามใช้พรสวรรค์บวกกับพรแสวงที่ตัวเองมี เพื่อทำลายทางตันแห่งชีวิต และกรุยทางให้แสงสว่างได้ส่องเข้ามาในชีวิตตัวเองมากขึ้นบ้างเท่านั้นเอง