Chungking Express: และแล้วความเหงาก็ปรากฏ กับ 'ความหว่อง' ที่เปลี่ยนไป
1.หนังคั่นเวลาที่กลายเป็นมาสเตอร์พีซ
หนึ่งในอีเวนต์ที่น่าสนใจสำหรับคอหนังในช่วงที่ผ่านมาได้แก่ ‘The World of Wong Kar-Wai's Retrospective’ ซึ่งมีการนำหนังของผู้กำกับฮ่องกงชื่อดังอย่างหว่องการ์ไวจำนวน 5 เรื่องมาฉายในโรง (In the Mood For Love, Happy Together, Fallen Angels, 2046, Chungking Express) ซึ่งทุกเรื่องมีการ รีมาสเตอร์ภาพและเสียงคมชัดแบบ 4K
สำหรับหนังปิดท้ายโปรแกรมนี้ได้แก่ Chungking Express (1994) หรือ ‘ผู้หญิงผมทองฟัดหัวใจให้โลกตะลึง’ (เป็นชื่อไทยสุด cult ที่หลายคนยังจำได้จนถึงตอนนี้) ถือเป็นหนังที่ประสบความสำคัญและเป็นที่จดจำมากที่สุดอันดับต้น ๆ ของเขา เรียกได้ว่ากระแส ‘กระทำความหว่อง’ ที่เกิดขึ้นในตอนนี้ มีหนังเรื่องนี้ถือเป็นสารตั้งต้นสำคัญ
ความสำเร็จดังกล่าวต้องถือว่าเกินคาด เมื่อพิจารณาจากจุดเริ่มต้นของหนังซึ่งถูกสร้างขึ้นในสถานะ ‘หนังคั่นเวลา’ โดยในช่วงนั้นเขาเพิ่งเสร็จจากการถ่ายทำหนัง Ashes of Time ซึ่งบานปลายทั้งงบประมาณและเวลาถ่ายทำ ทำให้เขาคิดโปรเจกต์หนังคั่นเวลาที่ถ่ายทำง่าย ๆ เร็ว ๆ เพื่อหาเงินมาช่วยให้บริษัทหนังของเขาอย่าง Jet Tone ที่เพิ่งเริ่มต้นและกำลังมีปัญหาทางด้านการเงินสามารถเดินหน้าต่อไปได้
ด้วยความที่เขาเหน็ดเหนื่อยอย่างมากตอนถ่ายทำ Ashes of Time ซึ่งเป็นหนังแนวกำลังภายในทุนสูง เนื้อหาซีเรียส มีการวางแผนการถ่ายทำที่ซับซ้อน งานสร้างพิถีพิถัน ทำให้การถ่ายทำเต็มไปด้วยปัญหา ส่งผลให้ตอนทำ Chungking Express เขาจึงลองเปลี่ยนแนวทางในการทำหนังเป็นอีกแบบไปเลย ทั้งเนื้อหาที่เบาขึ้น รวมถึงวิธีการถ่ายทำที่เปลี่ยนไปจากเดิม โดยเป็นการถ่ายทำแบบกองโจรในสถานที่จริง ๆ ท่ามกลางผู้คนจริง ๆ ที่เดินผ่านไปมาแถวนั้น มีหลายซีนที่ใช้วิธีด้นสดรวมถึงแอบเข้าไปถ่ายโดยที่ไม่ได้ขออนุญาตเจ้าของสถานที่ ส่วนงานภาพก็เปลี่ยนไปใช้แบบกล้องแฮนด์เฮลล์ซึ่งทำให้ภาพสั่นและเบลอร์ (ต่างจากเรื่องก่อน ๆ ที่เน้นการใช้ขาตั้งกล้องและดอลลีซึ่งทำให้ภาพออกมานิ่ง)
ซึ่งนั่นทำให้ Chungking Express กลายเป็นหนังที่ใช้ทุนและเวลาสร้างน้อยกว่าเรื่องอื่น ๆ ของเขา โดยใช้เวลาในกระบวนการทั้งหมดตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงเสร็จสิ้นรวม 6 สัปดาห์ นับเป็นเวลาถ่ายทำ 23 วัน (ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับหนังในช่วงหลังของเขาที่แต่ละเรื่องใช้เวลาสร้างนานหลายปี)
“เนื้อเรื่องของหนังเรื่องนี้นำมาจากเรื่องสั้นที่ผมพัฒนามาหลายปี ผมเรียกมันว่า ‘กลางวันและกลางคืนของฮ่องกง’ โดยเรื่องราวตอนกลางวันเกิดขึ้นในย่านเซ็นทรัลบนเกาะฮ่องกงซึ่งเต็มไปด้วยบาร์กับร้านอาหาร มีบันไดเลื่อนขนาดยาวที่ไหลผ่านตึกต่าง ๆ ส่วนเรื่องราวตอนกลางคืนเกิดขึ้นที่จุงกิงแมนชั่น ย่านจิมซาจุ่ย เขตเกาลูน โดยมีแก๊งสเตอร์เข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งสองตอนมีเซตติงต่างกัน แต่มีธีมเรื่องเหมือนกันและตัวละครพบเจอกับปัญหาแบบเดียวกัน” หว่องการ์ไวกล่าว
หนังแบ่งออกเป็นสองตอน ตัวเอกของตอนแรกคือตำรวจหมายเลข 223 หรือเหอจื้ออู่ (ทาเคชิ คาเนชิโร) เขาถูกแฟนสาวชื่อเมย์บอกเลิกในวันที่ 1 เมษายนหรือ April Fool’s Day เขาให้เวลาเธอ 1 เดือนเพื่อรอดูว่าการบอกเลิกมันเป็นการล้อเล่นหรือเปล่า ระหว่างนั้นทุกวันเขาได้กินสับปะรดกระป๋องที่หมดอายุในวันที่ 1 พฤษภาคมซึ่งเป็นวันเกิดของเขา ซึ่งถ้าเธอไม่กลับมาภายในวันนั้นเขาจะถือว่าความรักได้หมดอายุลงแล้ว
ต่อมาเขาได้พบกับหญิงลึกลับ (หลินชิงเสีย) ที่ใส่วิกผมทอง แว่นกันแดด และเสื้อโค้ทตลอดเวลา เธอเป็นเอเยนต์ค้ายาและกำลังตามล่าคนที่หักหลังเธอ แม้ทั้งคู่จะใช้เวลาอยู่ด้วยกันไม่นานแต่ก็ก่อเกิดเป็นความสัมพันธ์และมิตรภาพที่ยากลืมเลือน
ตัวเอกของตอนที่สองคือตำรวจหมายเลข 663 (เหลียงเฉาเหว่ย) เขาถูกแฟนสาวที่เป็นแอร์โฮสเตสทิ้งจนรู้สึกเสียศูนย์และพูดระบายความเหงากับสิ่งของในห้อง
แต่ในอีกมุมหนึ่งก็ยังมีคนที่แอบหลงรักเขาอย่างอาเฟย์ (เฟย์ หว่อง) ลูกจ้างร้านอาหารเจ้าประจำของเขา เธอมักแอบเข้าไปในห้องของเขาเพื่อจัดเก็บทำความสะอาดให้เรียบร้อย ซึ่งกว่าที่เขาจะรู้ถึงความปรารถนาดีของเธอ เธอก็เดินทางไปที่ประเทศอื่นแล้ว
หนังมีองค์ประกอบที่โดดเด่นหลายอย่าง เช่น เหล่านักแสดงที่มีเสน่ห์, เพลงในหนังที่ไพเราะติดหู (โดยเฉพาะเพลง California Dreamin' ของ The Mamas & The Papas และ Dream Lover ของเฟย์ หว่อง), งานด้านภาพผลงานของคริสโตเฟอร์ ดอยล์ที่แปลกใหม่มีชีวิตชีวา (ภาพในหนังมีทั้งที่เป็นแบบแฮนด์เฮลล์ สโลว์โมชัน ฟรีซเฟรม แสงนีออนฉูดฉาด ปรับเปลี่ยนสปีดภาพให้เร็วขึ้นและช้าลง)
ความโดดเด่นยังรวมถึงโครงสร้างของหนังที่ถือว่าแปลกใหม่ในยุคนั้น (สำหรับมาตรฐานหนังเมนสตรีมที่เต็มไปด้วยดาราดัง ไม่ใช่มาตรฐานหนังอาร์ทเฮาส์) อย่างการเดินเรื่องที่ไม่เป็นเส้นตรง เปิดช่องว่างให้คนคิดต่อ จบแบบปลายเปิด รวมถึงการแบ่งหนังออกเป็น 2 ตอนซึ่งไม่เกี่ยวข้องกัน (ยกเว้นธีมเรื่องซึ่งว่าด้วยความเหงา, ตัวเอกที่เป็นตำรวจช้ำรัก, ตัวละครกับฉากหลังในตอนสองที่ไปปรากฏในตอนแรกในบางซีน) จนสร้างความมึนงงให้กับผู้ชมบางส่วนในช่วงที่หนังฉายใหม่ ๆ ซึ่งข้อสงสัยยอดฮิตคือเหตุใดตัวละครในตอนแรกจึงหายไปตั้งแต่กลางเรื่องโดยไม่มีการกล่าวถึงอีกเลย
สิ่งที่โดดเด่นอีกอย่างได้แก่บทพูดในหนังซึ่งประโยคเด็ดส่วนใหญ่มาจากวอยซ์โอเวอร์ของตัวละคร 223 เช่น “เราอยู่ใกล้กันที่สุดเพียง 0.01 เซนติเมตร ผมไม่รู้ว่าเธอเป็นใคร อีก 7 ชั่วโมงต่อมา ผมก็ตกหลุมรักเธอ” “ผมออกไปวิ่งเพื่อไม่ให้เหลือน้ำในกายที่กลั่นออกเป็นน้ำตา” “ถ้าความทรงจำบรรจุกระป๋องได้ มันจะมีวันหมดอายุหรือเปล่า ถ้ามีผมก็หวังว่ามันจะยืนยาวเป็นหมื่นปี” ประโยคเหล่านี้ถูกนำเสนอและผลิตซ้ำอยู่เรื่อย ๆ ในเวลาต่อมา ที่เห็นได้ชัดคือจากบรรดาแฟนเพจคำคมจากหนัง
เมื่อตอนเข้าฉายในฮ่องกง หนังประสบความสำเร็จอย่างมากทั้งทางด้านรายได้ รางวัล เสียงวิจารณ์ อีกทั้งยังข้ามไปโด่งดังในต่างประเทศ (ในระดับที่ผู้กำกับดังเควนติน ทารันติโนมารับเป็นพ่อยกให้หนังเรื่องนี้ในอเมริกา) สาเหตุที่หนังเรื่องนี้ประสบความสำเร็จเป็นอันดับต้น ๆ ของเขาเกิดจากการที่มันเป็นหนังที่สนุก ตลก เข้าถึงง่าย และฟีลกู๊ดที่สุดของเขา (ต่างจากเรื่องอื่นที่มักจะเศร้า ดาร์ก หม่น ดูแล้วปวดร้าว) ทำให้มันไปได้ดีทั้งในผู้ชมสายแมสกับสายอาร์ท และถึงแม้จะถูกมองว่าหนังขายสไตล์หวือหวา แต่มันก็ไม่ได้ขั้น style over substance เพราะสไตล์ของมันเข้ากันดีกับเนื้อหาที่พูดถึงความเหงาในเมืองใหญ่ที่เต็มไปด้วยความหวือหวาฉาบฉวย
นอกจากนั้น มันยังเป็นหนังที่ส่งอิทธิพลอย่างมากต่อคนทำหนังในยุคหลัง (มันถูกมองว่าเป็นหนึ่งในหนังที่ถูกหยิบยืมสไตล์ เลียนแบบ หรือล้อเลียนมากที่สุดในบรรดาหนังยุค 90) รวมถึงส่งอิทธิพลไปยังโฆษณา หนังสั้น เอ็มวี ภาพถ่าย และสื่อต่าง ๆ มากมาย โดยหว่องการ์ไวกล่าวว่า “ในตอนนั้น หนังเรื่องไหนที่ใช้แสงน้อย ๆ ถ่ายแบบแฮนด์เฮลด์ และใส่เพลงประกอบในหนังเยอะ ๆ จะถูกมองว่าเป็นหนังสไตล์หว่องการ์ไวหรือสไตล์ Chungking Express ไปเสียหมด ซึ่งนั่นทำให้ผมพยายามหาทางฉีกตัวเองออกไปในช่วงหลัง ๆ”
2.สุนทรียะแห่งความเหงาในฮ่องกง
หนึ่งในหน้าที่หลักของภาพยนตร์คือการเป็นเครื่องมือบันทึกภาพสังคมในแต่ละยุคสมัย ซึ่งนั่นทำให้ Chungking Express ถือเป็นบทบันทึกถึงฮ่องกงในช่วงต้นยุค 90 ก่อนที่อังกฤษจะส่งคืนดินแดนแห่งนี้ให้จีนในปี 1997
เอกลักษณ์ของฮ่องกงที่หลายคนคุ้นเคยได้ปรากฏในหนังเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นความวุ่นวายและความมีชีวิตชีวาของเมือง เหล่าผู้คนที่เดินเบียดชนกันในย่านใจกลางเมือง ผู้คนที่มาจากหลายหลายประเทศ ตึกรามบ้านช่องที่ผุดขึ้นมามากมาย ที่อยู่อาศัยคับแคบซึ่งมีผู้คนอยู่กันแน่นขนัด
ฮ่องกงในหนังเรื่องนี้ถูกถ่ายทอดออกมาอย่างมีเสน่ห์ จนหลายคนมองว่าดูดีกว่าความเป็นจริง จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีผู้ชมเดินทางไปตามรอยโลเกชันในหนังกันเพียบ ไม่ว่าจะเป็นบันไดเลื่อนกลางแจ้งที่ยาวที่สุดในโลกกลางย่านเซนทรัล, ร้านอาหาร Midnight Express (ปัจจุบันกลายเป็น 7-11 ไปแล้ว), จุงกิงแมนชั่น ตึกสูง 17 ชั้นซึ่งด้านในเต็มไปด้วยร้านค้าและที่พัก (ถือเป็นสถานที่ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวซึ่งใครที่เคยขึ้นไปบนตึกนี้ต้องบอกว่าลืมไม่ลง เนื่องจากความวกวนราวกับเขาวงกต, ความวุ่นวายไร้ระเบียบและการที่มันเจือปนด้วยธุรกิจสีเทา)
ประเด็นสำคัญที่ปรากฏในหนังคือเรื่องความสัมพันธ์ท่ามกลางเมืองใหญ่ ถึงแม้ฮ่องกงจะเป็นเมืองที่ไม่เคยหลับไหลและเต็มไปด้วยผู้คนมากมาย แต่พวกเขาก็ยังคงรู้สึกเหงา (ซึ่งขัดแย้งกับความเข้าใจหลักที่ว่าต้องอยู่แบบคนน้อย ๆ ถึงจะเหงา) เกิดความเหินห่าง ไม่อาจสานความสัมพันธ์หรือสื่อสารกับผู้คนได้อย่างเต็มที่ และด้วยวิถีแบบเมืองใหญ่ก็ยิ่งทำให้ผู้คนพยายามหาทางเอาตัวรอดในกระแสทุนนิยมอันเชี่ยวกราดมากกว่าจะใช้เวลาพัฒนาความสัมพันธ์กับคนรอบกาย ส่งผลให้ถึงแม้จะเคยมีปฏิสัมพันธ์ พบหน้า พูดคุย ทำความรู้จัก แต่ก็ไม่อาจพัฒนาความสัมพันธ์ให้ไกลเกินกว่าสถานะของคนที่รู้จักกันแบบผิวเผิน
แต่จะสังเกตได้ว่าความเหงาในหนังเรื่องนี้ไม่ได้ถูกนำเสนอแบบรันทด เจ็บปวด ทรมาน โหดร้าย แต่มันกลับออกมาเท่ โรแมนติค มีความสไตลิสต์ (สมกับชื่อหนังสือพ็อคเก็ตบุ๊คเกี่ยวกับหว่องการ์ไวอย่าง ‘เดียวดายอย่างโรแมนติก’) ทำให้กล่าวได้ว่าหนังเรื่องนี้ทำให้เกิดกระบวน การ Romanticize และสร้างสุนทรียะให้กับความเหงา และก่อให้เกิดกระแส “และแล้วความเหงาก็ปรากฏ” โดยผู้คนมองว่าความเหงากลายเป็นเรื่องเท่และโรแมนติค จนต่างพากันทำตัวเหงากันทั้งบ้านทั้งเมือง
หนังยังมีองค์ประกอบหลายอย่างที่ชวนฝัน เหนือจริง จนทำให้เราสามารถมองหนังเรื่องนี้ว่าเป็น ‘เทพนิยายในเมืองใหญ่’ และด้วยความเป็นเทพนิยายก็ได้ทำให้หลายคนสามารถมองข้ามช่องโหว่และความแปลกประหลาดของพล็อตเรื่องไปได้ไม่ยาก (อย่างตัวละครเฟย์ ที่มีลักษณะเป็น stalker ซึ่งดูน่ากลัวในโลกความเป็นจริง)
หนังมีตอนจบแบบให้ความหวังแก่ผู้ชม โดยสุดท้ายแล้วตัวละครก็สามารถรับมือความเหงาได้ในแบบของตัวเอง อีกทั้งสามารถสานความสัมพันธ์กับคนที่พวกเขาหลงรักได้ (หว่องการ์ไวให้สัมภาษณ์ว่า “เหล่าตัวละครใน Chungking Express ล้วนเป็นคนแปลกหน้าที่อยู่ห่างไกลและไม่เกี่ยวข้องกันแต่กลับมาเชื่อมโยงกันได้ในตอนท้าย ตรงข้ามกับหนังที่เป็น Companion กับเรื่องนี้อย่าง Fallen Angels (1995) ที่ถึงแม้เหล่าตัวละครจะใกล้ชิดกันด้านกายภาพ แต่กลับไม่สามารถพัฒนาความสัมพันธ์ไปได้”)
ตัวละครในหนังสามารถก้าวข้ามผ่านความรักในอดีตที่ล้มเหลวและมุ่งหน้าไปสู่หนทางใหม่ที่มีความหวัง ถึงแม้จะไม่อาจแน่ใจว่าหนทางใหม่นั้นจะดีกว่าเดิมหรือเปล่าแต่พวกเขาก็เลือกที่จะลอง ซึ่งสิ่งนี้สามารถเทียบเคียงได้กับบรรยากาศของฮ่องกงในยุคนั้นซึ่งผู้คนกำลังลังเลว่าอนาคตหลังการส่งมอบดินแดนคืนสู่จีนในปี 1997 นั้นจะเป็นอย่างไร แต่พวกเขาก็มีความหวังอยู่ (ซึ่งหากพิจารณาถึงบริบทในปัจจุบันจะพบว่าความคิดดังกล่าวถือเป็นการมองโลกในแง่ดีเกินเหตุ เนื่องจากสุดท้ายจีนก็ไม่สามารถรักษาสัญญาเรื่อง ‘การรักษาแนวคิด 1 ประเทศ 2 ระบบเป็นเวลาอย่างน้อย 50 ปี’ เอาไว้ได้ จนนำปสู่การประท้วงทางการเมืองในปัจจุบัน)
การกลับมาดูหนังเรื่องนี้ในปัจจุบัน อาจไม่ได้ให้ความรู้สึกแปลกใหม่หรืออิมแพกต์แบบเดิมเหมือนการดูตอนหนังฉายใหม่ ๆ เมื่อ 26 ปีก่อน เนื่องจากสไตล์ของหนังถูกหยิบยืมและลอกเลียนจนเกร่อ (จนสิ่งที่เคยดูเท่กลับกลายเป็นสิ่งที่ดูแล้วขำ) รวมถึงอารมณ์ชวนฝันเหนือจริงในหนังก็ไม่ได้สอดคล้องกับบริบทปัจจุบันสักเท่าไร ซึ่งนั่นทำให้หนังเรื่องนี้อาจไม่ได้ทำงานกับผู้ชมรุ่นใหม่อายุน้อยมากเท่ากับผู้ชมรุ่นก่อนที่เป็นแฟนหนังหว่องอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งหนังเรื่องนี้ก็ถือเป็นเครื่องมือในเชิง Nostalgia ที่ทำให้ผู้ชมกลับไปย้อนคิดถึงยุคสมัยที่ ‘บ้านเมืองยังดี’ ได้เป็นอย่างดี
หมายเหตุ - อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากบทความ “Wong Kar – Wai: As 30 Years Go By” ของผู้เขียนเอง ในนิตยสาร Bioscope ฉบับกระทำความหว่อง (มิถุนายน – กรกฎาคม 2018)
โดยนำข้อมูลมาจาก - หนังสือ The Cinema of Wong Kar – Wai โดยหว่องการ์ไวและจอห์น พาวเวอร์ส (Rizzoli International Publications Inc, 2016), หนังสือเดียวดายอย่างโรแมนติค (สำนักพิมพ์ Bioscope, 2004)