Sully: กัปตันซัลลี ภาวะฮีโร่ที่ชุบชูใจในช่วงวิกฤตของประเทศ
นิวยอร์ก กับเครื่องบิน อาจจะเป็นของ(ไม่) คู่กันที่แสลงหัวใจอเมริกันและชาวโลกส่วนหนึ่ง นั่นเพราะเหตุการณ์โศกนาฏกรรม 911 ตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ถูกเครื่องบินชนในวันที่ 11 กันยายน 2001 โศกนาฏกรรมนี้ทำให้บรรยากาศของโลกใบนี้ในยุคต้นศตวรรษที่ 21 เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง
แต่ในขณะเดียวกัน นิวยอร์ก กับเครื่องบิน ได้กลายเป็นภาพแห่งความหวังอีกครั้งผ่านเหตุการณ์การลงจอดฉุกเฉินกลางแม่น้ำฮัดสันที่นิวยอร์กซิตี้ ของเครื่องบินแอร์บัส A320-214 ขับโดยกัปตันเชสลีย์ ‘ซัลลี’ ซัลเลนเบอร์เกอร์ ในปี 2009 ผลที่ตามมาคือผู้โดยสารบนเครื่องรอดชีวิตทั้ง 155 คน กลายเป็นเรื่องราวปาฏิหาริย์อันช่วยหล่อเลี้ยงหัวใจของชาวอเมริกันในวันที่จะต้องเจอกับเรื่องราวร้าย ๆ ในช่วงเวลานั้นอย่างปัญหาวิกฤตซับไพรม์ที่ทำให้เศรษฐกิจถดถอย ไปจนถึงปัญหานโยบายทางการทหารที่อเมริกามีต่อตะวันออกกลาง ยิ่งทำให้คนอเมริกันในช่วงเวลานั้นไม่ค่อยจะได้อ่านข่าวดีตามหน้าหนังสือพิมพ์เท่าไรนัก
เมื่อวัตถุดิบการเล่าเรื่องที่แสนจะ ‘ดรามา’ นี้มาอยู่ในมือของ คลินต์ อีสต์วูด ที่ถนัดในเรื่อง ‘การบิลต์’ อารมณ์คนดูด้วยจังหวะของหนังในแบบของเขา ภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องจริงอย่าง Sully (2016) จึงทำให้คนดูจำนวนมากอินไปกับมัน ยิ่งได้ ทอม แฮงค์ส มารับบทเป็น ‘ซัลลี’ ซึ่งเขาเล่นได้ตามมาตรฐานของนักแสดงเกรดเอของฮอลลีวูด ยิ่งขับเน้นให้ Sully กลายเป็นหนังในดวงใจของมหาชนได้ไม่ยากนัก
น่าสนใจว่า 2 งานกำกับของคลินต์ อีสต์วูด ที่ออกมาไล่เลี่ยกันอย่าง American Sniper (2014) และ Sully (2016) นั้นแฝงไปด้วยกลิ่นของความชาตินิยมสูงมาก ผ่านการสร้างภาวะฮีโร่ให้กับตัวละคร อย่าง American Sniper นี่ก็เป็นหนังชีวประวัติของคริส ไคล์ นายทหารจอมแม่นปืนที่เคยไปปฏิบัติภารกิจที่ตะวันออกกลาง ในขณะที่หนังตั้งคำถามถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลางจากนโยบายทางทหารของสหรัฐอเมริกาเอง
แต่สุดท้ายเรื่องราวจบลงด้วยการสดุดีคริส ไคล์ ที่กลายเป็นฮีโรในดวงใจของชาวอเมริกัน (ที่อาจจะเคยปลิดชีพคนในครอบครัวของใครสักคนในสงครามที่ตะวันออกกลาง)
พอมาถึง Sully ด้วยความที่หนังไม่ต้องไปอิงกับการเมืองระหว่างประเทศมากนัก ทำให้ Sully เล่นกับอีโมชันของชาวอเมริกันได้เต็มที่ หนังจึงอยู่กึ่ง ๆ ระหว่างการสำรวจจิตใจของกัปตันซัลลี แม้ว่าเขาจะกลายเป็นที่รักของอเมริกันชนบนหน้าหนังสือพิมพ์หรือในจอทีวี แต่เบื้องหลังที่เขาพบเจอก็คือ การสืบสวนจากสหภาพที่ตั้งคำถามถึงการตัดสินใจจอดเครื่องบินฉุกเฉินที่แม่น้ำฮัดสันว่า อาจจะเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดของเขาก็ได้ เพราะเครื่องบินเพิ่งออกจากสนามบินเพียง 3 นาที ก่อนที่เครื่องยนต์จะขัดข้อง เป็นไปได้ว่าเครื่องบินอาจจะบินกลับสนามบินได้โดยที่ไม่ต้องเผชิญกับภาวะที่เสี่ยงเช่นนี้
และอีกส่วนหนึ่งที่หนังเทน้ำหนักให้คือ การเชิดชูภาวะฮีโรของซัลลีอย่างชัดเจนมาก ๆ ในขณะที่เขาเองกำลังกังวลอย่างหนักว่าการตัดสินใจบังคับการบินของตนนั้นถูกหรือผิด แต่ซัลลีก็ได้รับกำลังใจจากผู้คนเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่พนักงานในบาร์ยันคนขับแท็กซี่ที่มองว่าเขาคือวีรบุรุษของชาติ ผู้ช่วยชีวิตผู้โดยสารจำนวน 155 คน
ซัลลีจึงกลายเป็นความหวังใหม่ของชาวอเมริกันในวันที่ American Dream ค่อย ๆ เสื่อมลงเรื่อย ๆ การมีเรื่องดี ๆ แบบนี้เกิดขึ้นก็ช่วยให้บรรยากาศของประเทศนั้นดีขึ้นบ้าง
Sully นำเสนอภาวะมองโลกในแง่ดีของอเมริกันได้อย่างทรงพลัง คือต่อให้ไม่ใช่คนอเมริกันก็รู้สึกเช่นกันว่า แหม่...ปาฏิหาริย์ในเรื่องแบบนี้ทำให้โลกนี้สวยงามเสียจริง
ในวันที่อเมริกันชนตกอยู่ในวิกฤตเศรษฐกิจ ภัยก่อการร้าย วิกฤตศรัทธาต่อระบบการเมือง หรือปัญหาอื่นใด
คนที่จะพาพวกเขาผ่านพ้นวิกฤตเหล่านั้นได้ คือคนธรรมดาแบบกัปตันซัลลีนี่แหละ ที่จะลุกขึ้นมาเป็นฮีโร คอยให้กำลังใจผู้คนในวันที่ห่อเหี่ยวนั้น
ดังสุภาษิตที่ว่าไว้
กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ไม่เคยสิ้นคนดี (ใช่เหรอ?)
เรื่อง: ณัฐกร เวียงอินทร์