เติ้ง ลี่จวิน: Goodbye My Love เสียงเพลงแทนหัวใจคนจีนทั้งโลก ที่รักเธอมากกว่า 3,650 วัน

เติ้ง ลี่จวิน: Goodbye My Love เสียงเพลงแทนหัวใจคนจีนทั้งโลก ที่รักเธอมากกว่า 3,650 วัน
ณ ถนนเส้นหนึ่งในมหานครนิวยอร์ก... เสียงฝีเท้าของผู้คนที่แปลกหน้าต่อกันกำลังเดินกันขวักไขว่ไปมา สลับกับเสียงแตรของรถแท็กซี่สีเหลืองบนท้องถนน  หลี่เสี่ยวจิน (หลี่หมิง) ชายจีนแผ่นดินใหญ่ที่มาทำงานเป็นพ่อครัวร้านอาหารจีนอยู่ที่มหานครนิวยอร์ก กำลังจะไปทำงาน หลี่เฉียว (จาง ม่านอวี้) หญิงสาวที่โชคชะตาพัดพาให้เธอต้องมาเป็นไกด์ที่อเมริกา กำลังเดินอยู่บนถนนในเมืองใหญ่นี้อย่างไร้จุดหมาย ทั้งคู่ต่างหยุดชะงักที่หน้าร้านขายโทรทัศน์เพื่อยืนฟังข่าวหน้าจอโทรทัศน์ เป็นเรื่องราวการเสียชีวิตของบุคคลหนึ่งที่เกี่ยวพันกับความทรงจำของเขาทั้งสอง เมื่อทั้งสองหันหน้ามาประสานสายตากัน ความทรงจำที่เคยผูกพันก็ย้อนกลับมา จากจีนแผ่นดินใหญ่ข้ามน้ำข้ามทะเลไปทำงานที่ฮ่องกง ก่อนที่จะไปนิวยอร์ก เขาทั้งสองรู้จักกันมา 10 ปีแล้ว จากลากันไปหลายปี แต่วันนี้กลับมายืนตรงหน้ากันอีกครั้ง นี่คือฉากจบที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ฮ่องกง กับภาพยนตร์เรื่อง Comrades: Almost a Love Story หรือ ‘เถียน มี มี่ 3650 วัน รักเธอคนเดียว’ ภาพยนตร์ที่ออกฉายเมื่อปี 1996 และยังครองใจผู้ชมจนถึงทุกวันนี้ เติ้ง ลี่จวิน: Goodbye My Love เสียงเพลงแทนหัวใจคนจีนทั้งโลก ที่รักเธอมากกว่า 3,650 วัน บุคคลที่เสียชีวิตในข่าวที่หลี่เสี่ยวจินและหลี่เฉียว ยืนดูหน้าจอทีวีคือ เติ้ง ลี่จวิน นักร้องไต้หวันชื่อดัง เธอเสียชีวิตเมื่อปี 1995 เติ้ง ลี่จวิน ทำให้ทั้งสองคนนึกถึงชีวิตของตัวเองในช่วงเวลาที่ทำมาหากินที่ฮ่องกง ช่วงปลายยุค 80s ทั้งสองเอาเทปเพลงเติ้ง ลี่จวินมาขายที่ฮ่องกงเพื่อขายให้กับคนจีนแผ่นดินใหญ่ (ที่มาทำงานที่ฮ่องกงเหมือนคนทั้งสอง)  แม้ว่าคนจีนแผ่นดินใหญ่ชื่นชอบเติ้ง ลี่จวิน แต่พวกเขาไม่กล้าจะซื้อเทปของเติ้ง ลี่จวิน เพราะอายที่จะบอกว่าตัวเองมาจากจีนแผ่นดินใหญ่เพื่อมาทำมาหากินที่ฮ่องกง แต่ในเวลาต่อมา ภาพของจีนแผ่นดินใหญ่เปลี่ยนไป (อ่านได้จากบทความนี้ https://thepeople.co/comrades-almost-a-love-story/) จีนพัฒนาในด้านอุตสาหกรรมมากขึ้น ผู้คนยอมรับความเป็นจีนและอิทธิพลวัฒนธรรมป็อปของเติ้ง ลี่จวิน ดังที่แฝงอยู่ในเรื่องเล่าผ่านภาพยนตร์คลาสสิกฮ่องกงเรื่องนี้ นี่คือเรื่องราวชีวิตของเธอ...เติ้ง ลี่จวิน   ครอบครัวตั้งรกรากที่ไต้หวัน เติ้ง ลี่จวิน หรือ เทเรซ่า เติ้ง (Teresa Teng) เกิดที่ไต้หวันในปี 1953 พ่อของเธอทำงานอยู่ในกองทัพแห่งชาติที่อยู่ภายใต้การนำของเจียง ไคเช็ก ครอบครัวของเธอจึงจำต้องล่าถอยจากจีนแผ่นดินใหญ่และอพยพมาตั้งถิ่นฐานใหม่อยู่ที่ไต้หวันในปี 1949 จะว่าไปชีวิตของสองคู่รักนี้ คือ พ่อแม่เติ้ง ลี่จวิน กับชีวิตของหลี่ เสี่ยวจิน และ หลี่เฉียว ใน ‘เถียน มี มี่ 3650 วัน รักเธอคนเดียว’ ก็มีความคล้ายกันอยู่ในบางมุม ทั้งพ่อและแม่ของพ่อแม่เติ้ง ลี่จวินเกิดที่ประเทศจีน แต่ต้องอพยพมาอยู่ที่ไต้หวัน หลี่เสี่ยวจินและหลี่เฉียวก็เกิดที่จีนแผ่นดินใหญ่ แต่ต้องพลัดถิ่นเดินทางไปแสวงหาโชคและโอกาสในดินแดนต่างเมือง สิ่งที่แตกต่างของสองคู่นี้คงจะเป็นเหตุผลที่ทำให้พวกเขาจำต้องจากบ้านของตัวเอง อุดมการณ์ของหลี่เสี่ยวจินและหลี่เฉียวคือการแสวงหาความร่ำรวย แต่อุดมการณ์ของพ่อแม่เติ้ง ลี่จวิน คือเรื่องอุดมการณ์ทางการเมือง เติ้ง ลี่จวินฉายแววศิลปินตั้งแต่เด็ก เธอเริ่มเข้าประกวดร้องเพลง และชนะรางวัลตั้งแต่ตอนเรียนอยู่ชั้นประถม จากนั้นเธอก็เริ่มสร้างความคุ้นเคยกับการแสดงบนเวทีจากการประกวดร้องเพลงในเวทีต่าง ๆ และออกไปตระเวนโชว์ร้องเพลงตามที่สาธารณะ ช่วงปลายของยุค 60s เติ้ง ลี่จวินได้ประกวดร้องเพลงและชนะรางวัลมากมาย และมีโอกาสปรากฏตัวผ่านรายการจอแก้วของไต้หวันหลายครั้ง ด้วยพรสวรรค์ในการร้องเพลงของเธอ ทำให้เติ้ง ลี่จวินได้รับความสนใจทั้งจากประชาชนและจากผู้คนในวงการบันเทิงมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งปี 1968 เวลาของเติ้ง ลี่จวินก็มาถึง เธอได้เซ็นสัญญาเพื่อทำอัลบั้มของตัวเองด้วยอายุเพียง 15 ปี ด้วยหน้าตาที่จิ้มลิ้มน่ารัก บวกกับเสียงไพเราะกังวานใสของเธอ เติ้ง ลี่จวินใช้เวลาเพียงไม่นานก็โด่งดังเป็นพลุแตก และกลายเป็นซูเปอร์สตาร์ของเอเชีย (และซูเปอร์สตาร์ระดับโลก) ในเวลาต่อมา   เป็นนักร้องให้ดีที่สุด ไม่ให้เสียชื่อความเป็นคนจีน เติ้ง ลี่จวินเป็นนักร้องที่ขึ้นชื่อเรื่องความสามารถทางด้านภาษา เธอร้องเพลงได้หลากหลายภาษาทั้งจีนแมนดาริน, จีนกวางตุ้ง, จีนฮกเกี้ยน, ญี่ปุ่น, อินโดนีเซีย และภาษาอังกฤษ เจียง กัมเม่ย (Cheong Kam-mei) หญิงสาวที่อดีตเคยเป็นแฟนคลับเติ้ง ลี่จวินแต่ต่อมาได้กลายเป็นแม่บ้านและเพื่อนสนิทของเติ้ง ลี่จวินเล่าไว้ว่า “เติ้ง ลี่จวินเป็นคนที่ภูมิใจในความเป็นคนจีนของตัวเองมาก เธอตั้งใจว่าเธอจะทำหน้าที่ของตัวเอง นั่นคือการเป็นนักร้องให้ดีที่สุด ไม่ให้เสียชื่อความเป็นคนจีน” เธอเคยออกรายการโทรทัศน์ที่ญี่ปุ่น ในปี 1993 และพูดอย่างภาคภูมิใจว่า “ฉันเป็นคนจีน ไม่ว่าฉันอยู่ที่ไหนบนโลกใบนี้ ฉันก็ยังเป็นคนจีน”  นอกจากการเรียนรู้ภาษาต่าง ๆ เพื่อให้ร้องออกเสียงได้อย่างถูกต้อง อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เติ้ง ลี่จวินเห็นความสำคัญของการเรียนภาษาเวลาที่ต้องร้องเพลงภาษาอื่น คือ เธอต้องการทำความเข้าใจความหมายของคำทุกคำก่อนที่เธอจะร้องมันออกไป โดยไม่ว่าเธอจะได้ร่วมงานกับทีมเขียนเนื้อร้องภาษาใด เธอจะเพียรถามคนเขียนและโปรดิวเซอร์ให้อธิบายความหมายของเนื้อร้องนั้นให้เธอเข้าใจ ‘ทุกคำ’ ไม่เช่นนั้นเธอจะไม่เอ่ยร้องคำคำนั้นออกมา และความพยายามบวกพรสวรรค์ก็ทำให้เติ้ง ลี่จวินดังไกลถึงฝั่งตะวันตกของโลก เธอได้เป็นคนจีนคนแรกที่ได้แสดงที่ลินคอล์นเซ็นเตอร์ที่นิวยอร์กในปี 1980 ตลอดชีวิตการทำงานเป็นนักร้อง 26 ปีของเติ้ง ลี่จวิน เธอมีเพลงฮิตที่ขึ้นแท่นเพลงคลาสสิกตลอดกาลมากมาย เช่น Goodbye My Love (1974), The Moon Represents My Heart (ถูกร้องและอยู่ในอัลบั้มของเฉิน เฟิ่นหลาน ในปี 1973 แต่เติ้ง ลี่จวินนำมาร้องในปี 1977 และกลายเป็นเพลงดังไปทั่วโลก), Tian Mi Mi (1979), I Only Care About You (1990) ผลงานเพลงรวมกันมากถึง 25 อัลบั้ม และผลงานของเธอขายได้ถึง 22 ล้านก๊อบปี้ (และคาดว่าน่าจะมีแผ่น/เทปเถื่อนของเติ้ง ลี่จวินขายได้ถึง 50-75 ล้านก๊อบปี้) ในขณะที่เติ้ง ลี่จวินกำลังดังเป็นพลุแตก แต่ในภาพยนตร์ ‘เถียน มี มี่’ กลับฉายภาพเติ้ง ลี่จวินที่ฮ่องกงในอีกภาพ ฉากที่หลี่เสี่ยวจินและหลี่เฉียวตั้งแผงขายเทปของเติ้ง ลี่จวินที่ตลาดนัดแห่งหนึ่งในฮ่องกงในช่วงเทศกาลตรุษจีน แต่กลับไม่มีคนซื้อเลย ทั้งที่ลดราคาแล้วลดราคาอีก จนหลี่เสี่ยวจินวิเคราะห์ไว้ว่า น่าจะมาจากภาพลักษณ์ความเป็นเติ้ง ลี่จวิน ถ้าใครเดินมาซื้อก็น่าจะแสดงออกถึงอัตลักษณ์ความเป็นจีนแผ่นดินใหญ่  “...ถ้าใครรู้ว่าคุณชอบเติ้ง ลี่จวิน เขาก็จะรู้ว่าคุณมาจากแผ่นดินใหญ่ ดังนั้น ถึงเขาชอบ เขาก็ไม่ยอมมาซื้อหรอก” หลี่เสี่ยวจินพูดกับหลี่เฉียว หลังจากที่ทั้งสองขาดทุนย่อยยับเพราะขายเทปเติ้ง ลี่จวินไม่ได้เลย ในสมัยนั้นเศรษฐกิจของจีนแผ่นดินใหญ่ยังไม่ได้ถูกพัฒนา ผู้คนต่างมีภาพจำในหัวว่าถ้ามาจากจีนแผ่นดินใหญ่ก็คือมาจากแผ่นดินที่เศรษฐกิจยังตามหลังฮ่องกงอยู่ ฉากนี้อาจจะมีนัยทางค่านิยมทางสังคมของจีนและฮ่องกงซ่อนอยู่หลายอย่าง แต่หนึ่งในข้อความระหว่างบรรทัดที่ซ่อนไว้คือ เติ้ง ลี่จวินดังมากที่เมืองจีน หลี่เฉียวพูดเชิงตัดพ้อกับหลี่เสี่ยวจินว่า เธอขายเทปเติ้ง ลี่จวินได้ตั้ง 4,000 ม้วนที่กวางโจวเมื่อตรุษจีนปีที่แล้ว (ไม่คิดว่าจะขายไม่ออกเลยที่ฮ่องกง) เติ้ง ลี่จวิน: Goodbye My Love เสียงเพลงแทนหัวใจคนจีนทั้งโลก ที่รักเธอมากกว่า 3,650 วัน พี่เติ้งใหญ่ปกครองจีนเวลากลางวัน น้องเติ้งเล็กปกครองจีนเวลากลางคืน ด้วยความที่เติ้ง ลี่จวินใช้แซ่เดียวกับเติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำประเทศจีนในขณะนั้น จึงมีประโยคที่ชาวจีนพูดกันว่า เติ้ง เสี่ยวผิง (พี่เติ้งใหญ่หรือบิ๊กเติ้ง) ปกครองจีนตอนกลางวัน เติ้ง ลี่จวิน (น้องเติ้งเล็กหรือลิตเติ้ลเติ้ง) ปกครองจีนตอนกลางคืน แสดงให้เห็นว่าไม่ว่าจะอยู่ที่แห่งไหนในแผ่นดินจีน ถ้าอำนาจของเติ้ง เสี่ยวผิงไปถึง ความนิยมในเสียงเพลงของเติ้ง ลี่จวินก็ไปถึงเช่นกัน แต่คำว่า ‘ปกครองตอนกลางคืน’ นั้นยังมีความหมายนัยอื่นแอบแฝงอยู่อีก นั่นคือการฟังเพลงของเติ้ง ลี่จวินไม่ได้ถูกกฎหมายประเทศจีนในขณะนั้น เพราะในตอนนั้นพรรคคอมมิวนิสต์จีนแบนเพลงของเติ้ง ลี่จวิน เสมือนหนึ่งว่าเพลงของเธอเป็นภาพอนาจาร ด้วยความที่เนื้อหาเพลงของเธอเต็มไปด้วยความรักใคร่คิดถึง ความสัมพันธ์ฉันคนรักของหนุ่มสาว ซึ่งถือเป็นของไม่จำเป็นในอุดมการณ์คอมมิวนิสต์แบบจีน จึงมีการเปรียบเปรยขึ้นว่า เติ้ง ลี่จวินปกครองแผ่นดินจีนในเวลากลางคืน นั่นก็คือทุกคนต้องแอบฟังเพลงของเธอตอนที่ไฟดับมืดลง หรือจะเรียกได้ว่า เธอดังที่จีนแบบเงียบ ๆ ก็น่าจะไม่ผิดนัก และอาจจะเป็นด้วยเหตุนี้ ทำให้ในชีวิตเติ้ง ลี่จวินไม่เคยได้ขึ้นแสดงโชว์ที่จีนเลย   ชีวิตรักหลากรสของเติ้ง ลี่จวิน 你 问 我 爱 你 有 多 深 我 爱 你 有 几 分 我 的 情 也 真 我 的 爱 也 真 月 亮 代 表 我 的 心 เธอถามฉันว่าฉันรักเธอมากแค่ไหน ถามฉันว่าจริง ๆ แล้วฉันรักเธอมากเท่าไร ความรู้สึกของฉันที่มีต่อเธอนั้นจริงแท้ ความรักของฉันที่มีต่อเธอก็จริงแท้ พระจันทร์จะแทนหัวใจของฉัน (เพลง The Moon Represents My Heart) ความรักของราชินีเพลงป็อปตลอดกาลของเอเชียกับซูเปอร์สตาร์จีนคงจะเหมือนกับประโยคที่พ่อครัวที่เป็นหัวหน้าของหลี่เสี่ยวจิน พูดไว้ในเรื่อง ‘เถียน มี มี่’ ว่า หากไร้วาสนา ต่อให้อยู่ตรงหน้าก็หากันไม่เจอ แต่หากมีวาสนาต่อกัน ให้อยู่ไกลกันเป็นหมื่นลี้ก็จะหากันจนเจอ  เธอเคยมีข่าวว่ามีความสนิทสนมกับเฉินหลง ทั้งเติ้ง ลี่จวินและเฉินหลงต่างเป็นคนดังทั้งที่ฮ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่ แต่ต่างฝ่ายต่างไม่เคยได้พบกัน จนกระทั่งวันที่วาสนาของทั้งสองได้ทำงานและพาให้เขาและเธอมาพบกันไกลถึงสหรัฐอเมริกา ปี 1979 เติ้ง ลี่จวินบินมาพักผ่อนที่อเมริกาและได้พบกับเฉินหลง ซูเปอร์สตาร์นักบู๊ชาวฮ่องกงผู้ซึ่งมาเตรียมตัวถ่ายทำหนังเรื่อง ไอ้มังกรถล่มปฐพี (The Big Brawl) อยู่ที่ลอสแอนเจลิสในขณะนั้นพอดี ด้วยความที่ทั้งคู่ต่างจากบ้านเกิดตัวเองมาไกล ต้องมาอยู่ในดินแดนต่างบ้านต่างเมือง ทั้งคู่อาจมีชื่อเสียงอย่างมากทั้งที่จีนและฮ่องกง แต่ที่อเมริกา พวกเขาไม่ใช่คนเด่นดังอะไร ทั้งสองได้ใช้ชีวิตแบบคนธรรมดาที่เดินไปไหนมาไหนตามท้องถนนได้โดยปราศจากคนมารุมล้อม  เฉินหลงในวัย 25 และเติ้ง ลี่จวิน ในวัย 26 ใช้ชีวิตเหมือนคนหนุ่มสาวทั่วไป พวกเขาไปเรียนภาษาอังกฤษด้วยกัน ไปเดินเล่นด้วยกันที่ริมหาด ไปกินอาหารจีนด้วยกันที่ร้านอาหารจีนในย่านไชน่าทาวน์ ความเห็นอกเห็นใจ ช่วยเหลือเกื้อกูลสหายร่วมแผ่นดิน ทำให้ทั้งสองพัฒนาความสัมพันธ์ไปถึงขั้นที่เรียกว่า ‘สนิทสนม’ กันได้โดยไม่ยาก แต่แล้วความสัมพันธ์ของทั้งสองก็ไม่ได้พัฒนาไปไกลเกินกว่านั้น  จนถึงทุกวันนี้ สื่อหลายสำนักต่างพากันเขียนถึงเฉินหลงและเติ้ง ลี่จวินว่า อาจจะเคยเป็นคนรักของกันและกัน เราคงไม่อาจตามไปถามความจริงของหัวใจนี้จากเติ้ง ลี่จวินได้ แต่คำพูดจากเฉินหลงถึงเติ้ง ลี่จวินที่ได้ถูกบันทึกไว้ในหนังสือชีวประวัติของเขา Jackie Chan: Grown Old Before Grown Up คือ “(ช่วงเวลาที่อยู่กับเธอ) มันเป็นช่วงเวลาที่ผมมีความสุขที่สุดของผมตอนที่ผมได้ไปอเมริกาครั้งแรก...แต่ผมไม่รู้ว่ามันจะเรียกว่าเราสองคนคบกันได้ไหม” ถึงแม้โชคชะตาจะพาให้ทั้งสองได้พบกันหลังจากนั้นอีกหลายครั้ง ทั้งที่ไต้หวันและฮ่องกง แต่ทั้งสองก็ไม่เคยได้ไปไกลเกินกว่าคนสนิทกัน  “นั่นอาจจะเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดของผมกับเธอ (ที่เราไม่ได้คบกัน)...เราสองคนบุคลิกต่างกันมาก และเราคงจะไม่เปลี่ยนตัวตนของกันและกัน หรือพูดง่าย ๆ ก็ได้ครับ คือเธอดีเกินไปสำหรับผม” 甜 蜜 蜜 你 笑 得 甜 蜜 蜜, หวานเหมือนน้ำผึ้ง ยิ้มของเธอช่างหวานปานน้ำผึ้ง ( เพลง ‘เถียน มีมี่’) เรื่องราวเล่าขานซุบซิบเกี่ยวกับชีวิตรักของราชินีเพลงป็อปตลอดกาลของเอเชีย เติ้ง ลี่จวิน มีมากมาย แต่ที่ดูจะเป็นที่สนใจของสื่อมวลชนอย่างกว้างขวางอีกครั้งน่าจะเป็นคราวที่เธอพบรักกับ โบ ก๊วก (Beau Kuok) ทายาทอภิมหาเศรษฐีชาวมาเลเซีย โรเบิร์ต ก๊วก (Robert Kuok – ผู้ก่อตั้งเครือโรงแรมแชงกรี-ลา และนิตยสาร Forbes จัดอันดับให้เขาเป็นเศรษฐีที่ร่ำรวยมากที่สุดของมาเลเซียในปี 2020) ข่าวว่าทั้งโบและเติ้ง ลี่จวิน รวมถึงพ่อแม่ของทั้งสองฝั่งต่างยินดีที่ทั้งคู่รักกัน ทั้งสองมีความรักอันหวานชื่นมื่นจนถึงขั้นตกลงปลงใจหมั้นหมายกัน แต่แล้วรสหวานปานน้ำผึ้งของความรักระหว่างโบ ก๊วกและเติ้ง ลี่จวิน ก็จบลง โดยข่าวว่าคุณย่าของโบมีเงื่อนไขในการรับเติ้ง ลี่จวินเข้ามาเป็นสะใภ้ของตระกูลก๊วกหลายข้อ เช่น ต้องแสดงทรัพย์สินของเธอทั้งหมดให้ตระกูลก๊วกทราบ ต้องเลิกร้องเพลงเพื่อมาทำหน้าที่ภรรยาให้โบอย่างเต็มตัว ต้องหยุดคบหากับเพื่อนที่เป็นผู้ชายทั้งหมด เงื่อนไขทั้งหมดนี้ทำให้การแต่งงานของทั้งสองเป็นไปได้ยาก เติ้ง ลี่จวิน หญิงสาวอายุเพียง 29 ปี (ในขณะนั้น) ที่หน้าตาจิ้มลิ้มงดงาม กิริยาท่าทางดูอ่อนหวานละมุนละไม แต่ในใจของเธอกลับเข้มแข็งเด็ดเดี่ยว เธอตัดสินใจจบความสัมพันธ์ของเธอกับทายาทอภิมหาเศรษฐีแห่งเอเชีย โบ ก๊วก ภายหลังจากทราบเงื่อนไขดังกล่าว   Goodbye My Love  ปี 1995 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย เติ้ง ลี่จวินเดินทางมาพักผ่อนกับเพื่อนสนิทชาวฝรั่งเศส แต่ใครเลยจะรู้ว่าที่ประเทศไทยนี่เองที่ราชินีแห่งเพลงป็อปตลอดกาลของเอเชียต้องมาสิ้นลมหายใจที่นี่ เธอเสียชีวิตเนื่องจากอาการหอบหืดกำเริบในขณะที่เธออยู่ในห้องพักคนเดียว การเสียชีวิตของเธออาจจะกะทันหัน เธอยังไม่ทันได้บอกลาใคร และพวกเราไม่มีใครได้บอกลาเธอ แต่อันที่จริงแล้วเธอยังไม่เคยจากเราไปไหน ทุกหัวระแหงบนโลกใบนี้ต่างยังคงจดจำใบหน้าและซุ่มเสียงอันแสนสะท้อนใจของเธออยู่ ไม่ว่าอยู่ที่ไหนบนโลกใบนี้ ที่ไหนมีคนจีน ที่นั่นจะมีเพลงของเติ้ง ลี่จวิน เรายังคงได้ยินเพลงของเธอดังก้องที่ย่านฟลัชชิง ในนิวยอร์ก ย่านโซโห ในลอนดอน หรือที่เยาวราช ประเทศไทย เพราะคนจีนทั่วทั้งโลกยังคงรักเธอมากกว่า 3,650 วัน การจากไปของเติ้ง ลี่จวิน ทำให้คนทั้งสองกลับมาพบกันอีกครั้ง หลี่เฉียว ยังคงสบตากับหลี่เสี่ยวจินอยู่นานสองนาน เติ้ง ลี่จวินมีความหมายมากมายกับชีวิตของคนทั้งสองจริง ๆ   ที่มา: https://www.britannica.com/biography/Teresa-Teng https://www.scmp.com/magazines/style/celebrity/article/3083112/5-teresa-tengs-songs-each-different-language-25-years http://www.chinadaily.com.cn/hkedition/2010-05/28/content_9902002.htm https://www.newyorker.com/culture/cultural-comment/the-melancholy-pop-idol-who-haunts-china https://www.forbes.com/profile/robert-kuok/?sh=3a46f2f95eb5 https://www.chinadaily.com.cn/culture/2015-05/13/content_20700255_3.htm http://www.360doc.cn/mip/917279884.html https://www.straitstimes.com/lifestyle/entertainment/teresa-tengs-life-restaged-for-the-20th-anniversary-of-her-death https://www.nippon.com/en/column/g00285/?pnum=2 https://www.youtube.com/watch?v=SqQO_Z1D5nY https://www.youtube.com/watch?v=tc2tW0jFHPo