19 มี.ค. 2564 | 11:15 น.
ย้อนไปเมื่อปี พ.ศ. 2554 เฮลิคอปเตอร์ฮิวอี้ของทหารตกที่อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ก่อนเฮลิคอปเตอร์อีกสองลำจะตกบริเวณใกล้เคียงกันกับจุดเดิม ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนั้นถึง 17 คน เหตุที่เฮลิคอปเตอร์ฮิวอี้ของทหารบินขึ้นฟ้า มาจากเจ้าหน้าที่จากอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ขอกำลังเสริมจากทหารให้ไปช่วยรับเจ้าหน้าที่ที่ทำ ‘ภารกิจ’ บางอย่าง โดยที่ทหารบนเฮลิคอปเตอร์ไม่ได้ไปร่วมภารกิจนี้โดยตรง เพียงแต่ไปตามคำขอความช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ หากแต่โชคร้ายที่เกิดเหตุการณ์อันไม่คาดฝันนี้เสียก่อน เหตุการณ์ดังกล่าวได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการสืบสาวราวเรื่องจนพบว่า ‘ภารกิจ’ ที่ว่านี้ คือ ‘ยุทธการตะนาวศรี’ ของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเพื่อขับไล่ชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ใจแผ่นดินและบางกลอย (บน) ด้วยการเผาที่อยู่อาศัยและทรัพย์สินของชาวบ้าน นายคออี้ มีมิ หรือ ‘ปู่คออี้’ ผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยงแห่งแก่งกระจาน จึงลุกขึ้นมาต่อสู้และเรียกร้องความยุติธรรมให้กับชาวบ้านใจแผ่นดินและบางกลอย (บน) เมื่อจำต้องจาก 'ใจแผ่นดิน' ‘ใจแผ่นดิน’ คือพื้นที่ในผืนป่าแก่งกระจานที่ ‘ปู่คออี้’ ได้ลืมตาดูโลกและดื่มน้ำนมหยดแรก เมื่อปี พ.ศ. 2448 ต่อมาในปี พ.ศ. 2524 ผืนป่าแก่งกระจานถูกประกาศให้เป็น ‘อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน’ ซึ่งผลพวงจากการนิยามคำว่า ‘อุทยานแห่งชาติ’ ครั้งนี้ ทำให้เกิดการนิยามชาวกะเหรี่ยงและปู่คออี้ว่าเป็น ‘ผู้บุกรุก’ ตามมาด้วยการเจรจาให้ชาวบ้านในใจแผ่นดินและบางกลอย (บน) อพยพย้ายถิ่นลงมายังพื้นที่ที่รัฐจัดสรรให้ คือบริเวณหมู่บ้านโป่งลึกและบางกลอย (ล่าง) ปู่คออี้และชาวบ้านได้อพยพลงมาตามคำเจรจาของเจ้าหน้าที่ แต่ผ่านไปไม่กี่เดือน ปู่คออี้ก็กลับไปยังหมู่บ้านใจแผ่นดินอีกครั้ง ด้วยความที่ ‘บ้านใหม่’ มีภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นลานหิน ไม่เหมาะแก่การเพาะปลูก ชาวบ้านจึงต้องดิ้นรนบนเส้นทางชีวิตใหม่ จากเดิมที่เคยมีวิถีชีวิตเกื้อกูลกันกับผืนป่า ยิ่งไปกว่านั้นคือ ‘ความคิดถึงบ้าน’ ที่เอ่อล้นในหัวใจ ทำให้ชาวบ้านบางกลอยรวมทั้งปู่คออี้ตัดสินใจเดินทางกลับไปปักหลักยังถิ่นเดิมที่เคยจากมา 'ยุทธการตะนาวศรี' เมื่อเปลวไฟเผาใจแผ่นดิน เมื่อการเจรจาและจัดสรรพื้นที่ไม่เป็นผล เจ้าหน้าที่อุทยานฯ แก่งกระจานนำโดยนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร จึงใช้ ‘ยุทธการตะนาวศรี’ เข้าจับกุมชาวกะเหรี่ยงที่ออกจากพื้นที่ที่รัฐจัดสรรไว้ให้ และเผาทำลายบ้านเรือนของพวกเขาด้วยข้อกล่าวหาที่ค่อย ๆ ถูกโต้แย้งและเผยความจริงให้เห็นในภายหลัง อย่างแรก คือการกล่าวหาว่าชาวบ้านใจแผ่นดินและบางกลอย (บน) เป็นชนกลุ่มน้อยที่ ‘อพยพเข้ามาใหม่’ หากความจริงแล้ว พวกเขาเป็นชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นมาตั้งแต่ยังไม่ก่อตั้งอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีหลักฐานในแผนที่ทหาร ปี พ.ศ. 2455 และ ‘นายหน่อแอะ มีมิ’ ลูกชายของปู่คออี้ ยังเคยเป็นนายพรานที่เข้าไปช่วยเหลือตำรวจ 4 นายที่หลงป่าแก่งกระจานในช่วงปี พ.ศ. 2534 พวกเขาจึงไม่ใช่ผู้อพยพใหม่อย่างที่เจ้าหน้าที่กล่าวหา ต่อมาคือข้อกล่าวหาว่าพวกเขาเป็น ‘กองกำลังสั่งสมอาวุธ’ หากความจริงกลับพบเพียงปืนขนาดเล็กสำหรับยิงสัตว์ป่า รวมทั้งการกล่าวหาว่าชาวบ้าน ‘ทำไร่เลื่อนลอย’ คือการบุกรุกแผ้วถางพื้นที่ป่าไปเรื่อย ๆ โดยไม่มีการฟื้นฟูดิน แต่ความจริงชาวบ้านกลับใช้วิธี ‘ทำไร่หมุนเวียน’ ที่ปล่อยพื้นที่นั้นได้ฟื้นฟูสภาพดินและพืชพรรณก่อน จึงเวียนกลับมาทำไร่ใหม่อีกครั้ง ซึ่งเป็นภูมิปัญญาเพื่อรักษาผืนป่าของชาวกะเหรี่ยงที่ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติในปี พ.ศ. 2556 นอกจากคำกล่าวหาเพื่อทำลายบ้านเรือนทรัพย์สินของชาวกะเหรี่ยงแล้ว เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ยังบอกอีกว่าได้เผาทำลายเพียงแหล่งพักพิง ‘ชั่วคราว’ ของชาวกะเหรี่ยง ขณะที่ภาพจริงคือไฟลุกโชนนั้นได้แผดเผาทำลาย ‘บ้าน’ และ ‘ยุ้งฉาง’ กว่า 98 หลังคาเรือนให้มอดไหม้ในพริบตา ซึ่งแน่นอนว่าหนึ่งในนั้นคือบ้านของปู่คออี้ ทวงคืนผืนป่า บ้านเกิด และความยุติธรรม ในปี พ.ศ. 2555 ปู่คออี้ ชาวบ้าน ร่วมกับสภาทนายความจึงได้ยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชต่อศาลปกครองกลาง เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับชาวบ้านที่ถูกเผาทำลายที่อยู่อาศัย ด้วยความหวังว่าจะได้กลับไปอยู่ถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเองอย่างเคย โดยพยานคนสำคัญของคดีนี้คือ บิลลี่-พอละจี รักจงเจริญ หลานแท้ ๆ ของปู่คออี้ แต่แล้วช่วงหนึ่งเดือนก่อนขึ้นให้การกับศาล ในปี พ.ศ. 2557 บิลลี่ได้หายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอย แต่ไม่อาจฟ้องเอาผิดใครได้เพราะมีหลักฐานไม่เพียงพอ (อ่านเรื่องราวของ บิลลี่-พอละจี รักจงเจริญ เพิ่มเติมได้ที่ https://thepeople.co/billy-porlajee-rakchongcharoen-karen/?fbclid=IwAR3ftfljR7EBKx6LiKelZX0dtbz4KIjjEWvFPQqLPPlmJV9lVmB1wwK_q2w) นอกจากบิลลี่-พอละจีแล้ว ยังมีอีกหนึ่งความสูญเสียปริศนาคือ ทัศน์กมล โอบอ้อม หรือ อาจารย์ป๊อด ผู้ให้ความช่วยเหลือการฟ้องร้องของชาวกะเหรี่ยง โดยทัศน์กมลถูกยิงเสียชีวิตระหว่างขับรถ แต่ไม่สามารถหาตัวคนผิดได้เช่นกัน หลังจากผ่านความสูญเสียมาพร้อมกับการต่อสู้บนชั้นศาลของปู่คออี้ ท้ายที่สุดศาลได้ตัดสินว่า ปู่คออี้และชาวบ้านมีความผิดในข้อหา ‘บุรุก’ พื้นที่ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติ และการรื้อถอนของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ นับเป็นวิธีเหมาะสมตามสภาพการณ์แล้ว เพราะหากไม่รื้อถอนที่อยู่อาศัย อาจทำให้ปู่คออี้และชาวบ้านกลับไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เดิมอีกครั้ง ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้น ปู่คออี้และชาวบ้านที่ฟ้องร้องจะได้รับเงินสินไหมทดแทนคนละ 10,000 บาท แต่ปู่คออี้ ชาวบ้านใจแผ่นดินและทนายมองว่าคำตัดสินดังกล่าวไม่ได้รับการพิจารณาอย่างเป็นธรรม อีกทั้งจุดมุ่งหมายของปู่คออี้มิใช่เงินสินไหมทดแทน แต่ต้องการ ‘บ้านเดิม’ ที่เคยอยู่กลับคืนมาอีกครั้ง ปู่คออี้และชาวบ้านจึงยื่นอุทธรณ์ต่อศาล ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ผู้คนเริ่มได้รับรู้ถึงการต่อสู้ของปู่คออี้และการรุกล้ำสิทธิมนุษยชนของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ จนปี พ.ศ. 2560 ปู่คออี้ได้รับรางวัล ‘ผู้อุทิศตนเพื่อสิทธิมนุษยชน’ จากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อวันเวลาผ่านไปจนกระทั่งเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2561 คำตัดสินสุดท้ายของศาล กลับกลายเป็นให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติม แต่ไม่อนุญาตให้ปู่คออี้และชาวบ้านคืนถิ่นทั้งในใจแผ่นดินและบางกลอย (บน) จนกระทั่งเดือนตุลาคมปีเดียวกันนี้ ปู่คออี้จากโลกนี้ไปด้วยวัย 107 ปี โดยที่ยังไม่ได้กลับไปใช้ชีวิตบั้นปลายในบ้านเกิดของตนเอง แม้การต่อสู้ของปู่คออี้จะไม่ได้ทำให้ร่างในลมหายใจสุดท้ายได้กลับ ‘บ้าน’ แต่เราเชื่อว่าจิตวิญญาณของปู่คออี้จะยังคงอยู่ที่ใจแผ่นดินเสมอมา เช่นเดียวกับชาวบ้านหลายคนที่อพยพมายังพื้นที่จัดสรรของรัฐแห่งนี้ ความหวังแรก หากแต่ไม่สุดท้าย อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื้อรังอย่างหนึ่งของชาวบ้านผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่รัฐจัดสรรให้ ยังคงเป็นเรื่องพื้นที่ทำกินที่ไม่เพียงพอตามที่ตกลงกันไว้ ที่สำคัญคือพื้นที่บางส่วนเป็นลานหิน ทำให้ไม่สามารถเพาะปลูกได้ตามปกติ ชาวบ้านบางคนจึงต้องจากป่าเข้าเมืองไปเป็นแรงงานหรือรับจ้างงานต่าง ๆ แต่สถานการณ์โควิด-19 ได้ตัดหนทางอาชีพของพวกเขาให้มีทางเลือกลดน้อยลงทุกวัน ชาวบ้านบางกลอยหลายคนจึงตัดสินใจสานต่อความหวังของปู่คออี้ที่จะกลับไปใช้ชีวิตในบ้านเกิดของตนเอง ซึ่งการ ‘คืนถิ่น’ ของชาวบ้านบางกลอยครั้งนี้ ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นให้คนส่วนใหญ่หันมาสนใจประเด็นบางกลอยมากยิ่งขึ้น โดยมีทั้งกลุ่มคนที่ออกมา #saveแก่งกระจาน ด้วยมุมมองที่ต้องการผลักดันแก่งกระจานให้เป็นมรดกโลกที่ไม่ควรถูกรุกล้ำหรือใช้งานโดยมนุษย์ ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งได้ออกมา #saveบางกลอย ด้วยมุมมองที่ว่า ชาวกะเหรี่ยงดั้งเดิมคือ ‘ผู้ดูแลผืนป่า’ ไปพร้อมกับการอยู่อาศัย ด้วยภูมิปัญญาและความผูกพันกับธรรมชาติ ทั้งยังมองว่าชาวกะเหรี่ยงที่บางกลอยมีส่วนผลักดันให้ยูเนสโกยกระดับผืนป่าแห่งนี้เป็นมรดกโลกอีกด้วย การต่อสู้ของปู่คออี้จึงไม่ได้สิ้นสุดลงที่ลมหายใจสุดท้าย แต่ยังคงสืบสานและก้าวต่อไปโดยคนรุ่นหลังที่ออกมาเคลื่อนไหวอย่างในปัจจุบัน ล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานฯ แก่งกระจาน ได้ถูกให้ออกจากราชการ ด้วยคดีเผาบ้านเรือนของชาวบ้านบางกลอยในปี พ.ศ. 2554 อีกทั้งผู้คนที่ออกมาร่วมต่อสู้และเรียกร้องครั้งนี้ เริ่มไม่ได้มีเพียงชาวบ้านบางกลอย แต่ยังรวมถึงผู้คนที่สนใจและมองเห็นความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น ‘ปู่คออี้’ จึงเปรียบเสมือนผู้จุดประกายความหวังแรก หากแต่ไม่ใช่ความหวังสุดท้ายของชาวบ้านบางกลอย (บน) และชาวบ้านใจแผ่นดิน ที่มา https://www.pptvhd36.com/news/ประเด็นร้อน/90568?fbclid=IwAR25Q__gWoMor_oLU6jbAZ-s8VA7yMhK9bSRiAyyqTW8rbhHV5OsZPsPSk8 https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B9%84%E0%B8%A5%E0%B8%9F%E0%B9%8C%E0%B8%AA%E0%B9%84%E0%B8%95%E0%B8%A5%E0%B9%8C/54477?utm_source=direct&utm_campaign=Coreii_3 https://prachatai.com/journal/2018/06/77377 https://www.the101.world/bang-kloi/ https://workpointtoday.com/explaine/ https://www.matichon.co.th/local/news_1660311 https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_1647338 https://www.matichon.co.th/local/news_1660692 https://thestandard.co/sataporn-pongpipatwattana/ https://www.thairath.co.th/news/local/central/2040037