"บิลลี่" พอละจี: รักจงเจริญของกะเหรี่ยง ณ ใจกลางแผ่นดินแก่งกระจาน

"บิลลี่" พอละจี: รักจงเจริญของกะเหรี่ยง ณ ใจกลางแผ่นดินแก่งกระจาน

"บิลลี่" พอละจี: รักจงเจริญของกะเหรี่ยง ณ ใจกลางแผ่นดินแก่งกระจาน

รักจงเจริญ ที่ใจแผ่นดิน “สิ่งจำเป็นที่สุด ขอเป็นที่ทำกินดีกว่า เพราะว่าถ้ามีที่ทำกิน อะไรก็จะตามมา” (บิลลี่ 2554 จากการบันทึกของ พฤ โอ่โดเชา เผยแพร่โดย forestbook) นายพอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ คือชาวบ้านชาติพันธุ์กะเหรี่ยงคนหนึ่งในบ้านโป่งลึก-บางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เป็นหลานชายของนายคออี้ มีมิ หรือปู่คออี้ ผู้นำทางจิตวิญญาณของชุมชนกะเหรี่ยงในผืนป่าแก่งกระจาน เป็นสามีของ มึนอ หรือ น.ส. พิณนภา พฤกษาพรรณ เป็นพ่อของลูก ๆ อีก 5 คน เป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี บิลลี่เป็นที่รักและได้รับความไว้วางใจจากชาวบ้านในชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย บิลลี่มีบทบาทนำในการเรียกร้องสิทธิของชุมชนกะเหรี่ยงในผืนป่าแก่งกระจาน  ทว่าวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2557 บิลลี่กลับหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย บิลลี่และชุมชนกะเหรี่ยงของเขาอาศัยอยู่ในพื้นที่ดั้งเดิมของบรรพบุรุษที่บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน การดำรงอยู่ของพื้นที่ดังกล่าวสามารถย้อนไปถึงปี 2455 ตามแผนที่ทหาร กล่าวได้ว่าชุมชนกะเหรี่ยงใจแผ่นดินได้อยู่อาศัย ทำกินตามวิถีชีวิตดั้งเดิมของพวกเขาก่อนที่จะมีการประกาศอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในปี 2524 เสียอีก วิถีชีวิตของชุมชนกะเหรี่ยงในผืนป่าแก่งกระจานมีความผูกพันเชื่อมโยงกับธรรมชาติ จะเห็นได้จากวิถีการดำรงชีพด้วยการทำข้าวไร่หรือไร่หมุนเวียนที่เป็นการสร้างความสมดุลระหว่างการใช้ชีวิต การมีกิน และการรักษาระบบนิเวศ เพราะธรรมชาติคือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นแหล่งกำเนิดอาหารของชุมชน จึงทำให้ชุมชนกะเหรี่ยงเคารพและอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างสงบสุขและยั่งยืน การบังคับโยกย้ายออกจากวิถีชีวิตดั้งเดิมที่สัมพันธ์กับธรรมชาติสร้างผลกระทบต่อชุมชนกะเหรี่ยงอย่างถึงราก เพราะเป็นการทำลายความเชื่อ วิถีการยังชีพและชีวิตของพวกเขา เจ้าหน้าที่อุทยานฯ มีปฏิบัติการบังคับโยกย้ายชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ออกจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานอย่างต่อเนื่อง โดยชาวบ้านถูกบังคับโยกย้ายลงมาบริเวณบ้านโป่งลึก-บางกลอย ตั้งแต่ปี 2539 ในช่วงปี 2553-2554 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้สนธิกำลังเข้าโยกย้าย จับกุมชาวบ้านกะเหรี่ยงที่เจ้าหน้าที่รัฐเชื่อว่าบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เพื่ออนุรักษ์ผืนป่าโดยไม่สนใจชีวิตชาวกะเหรี่ยงและวิถีชีวิตของพวกเขาที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติ จากการปฏิบัติการดังกล่าวส่งผลให้มีการเผาทำลายบ้านเรือนและยุ้งข้าวของชาวกะเหรี่ยงเสียหายกว่า 98 หลังคาเรือน เพื่อผลักดันให้ชุมชนดั้งเดิมออกจากพื้นที่อุทยานฯ การกระทำดังกล่าวถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชนดั้งเดิมในการดำรงชีวิตและมีส่วนร่วมต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ บิลลี่เป็นชาวกะเหรี่ยงรุ่นใหม่ มีนิสัยร่าเริงและชอบช่วยเหลือผู้คน เขารักผืนแผ่นดินและวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน บิลลี่เคยกล่าวว่าเขาอยากกลับไปทำไร่หมุนเวียนข้างบนอีกครั้งเพราะเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิม เขาเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่ความไม่เป็นธรรมที่ชาวบ้านกะเหรี่ยงบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ได้รับ หลังจากเหตุการณ์บังคับโยกย้ายของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ โดยบิลลี่เป็นสื่อกลางและทำหน้าที่ประสานงานระหว่างชาวบ้านกับสาธารณชน และสื่อสารเรียกร้องสิทธิของชุมชนกะเหรี่ยงในพื้นที่ดั้งเดิม บิลลี่เคยมีส่วนร่วมกับชาวบ้านบางกลอยในการทำสารคดี ชื่อ “วิถีชีวิต The Way of Lives” เพื่อบอกเล่าวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงบางกลอยที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับโยกย้ายของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ โดยบิลลี่ได้ร่วมแสดงด้วย สารคดีดังกล่าวได้รับรางวัลชมเชย รัตน์ เปสตันยี และรางวัลพิราบขาว สำหรับภาพยนต์ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพจากเทศกาลหนังสั้นครั้งที่ 18 ปี 2557 ถึงแม้ว่าศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยว่าชาวบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมซึ่งควรได้รับการคุ้มครอง และพิพากษาว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่อุทยานแก่งกระจานในการบังคับโยกย้ายชาวบ้านกะเหรี่ยงเป็นการกระทำไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ยังไม่สามารถกลับเข้าไปอยู่อาศัยและใช้ชีวิตในพื้นที่บรรพบุรุษของพวกเขาได้ ปู่คออี้ เคยส่งสารแสดงความรักต่อพื้นที่ชุมชนดั้งเดิมใจแผ่นดินผ่าน มึนอ ภรรยาของบิลลี่ ว่า “เราไม่ได้โกงหรือแย่งที่ดินของใครมา เพราะน้ำนมหยดแรก เราก็ดื่มที่นี่ ข้าวเม็ดแรก เราก็กินที่นี่ รอยเท้าแรก เราก็ย่ำที่นี่ เราอยากกลับไปอยู่ที่ใจแผ่นดินเหมือนเดิม”  "บิลลี่" พอละจี: รักจงเจริญของกะเหรี่ยง ณ ใจกลางแผ่นดินแก่งกระจาน บิลลี่อยู่ที่ไหน “เราพอจะอนุมานสรุปเบื้องต้นได้ว่า คุณบิลลี่น่าจะต้องเสียชีวิตไปแล้ว เพราะว่ากระดูกชิ้นนี้ได้หลุดออกจากร่างกายแล้ว” (กรมสอบสวนคดีพิเศษ, 3 กันยายน ปี 2562) จากการรายงาน บิลลี่ได้หายตัวไปในวันที่ 17 เมษายน ปี 2557 หลังจากถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานควบคุมตัว โดยอ้างว่าบิลลี่ครอบครองน้ำผึ้งป่า เจ้าหน้าที่อ้างว่าได้ปล่อยตัวบิลลี่พร้อมน้ำผึ้งป่าหลังจากตักเตือน แต่หลังจากนั้นไม่มีใครเห็นบิลลี่อีกเลย  เป็นที่น่าสงสัยว่าการหายตัวไปของบิลลี่มีความเกี่ยวข้องกับการเรียกร้องความเป็นธรรมของชาวบ้านบางกลอย เพราะเป็นช่วงที่เขาร่วมกับทีมทนายกำลังเตรียมข้อมูลชุมชน และเก็บข้อมูลจากชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับโยกย้ายของเจ้าหน้าที่อุทยาน เพื่อต่อสู้ทางกฎหมายเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับชาวกะเหรี่ยงบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน การเรียกร้องความยุติธรรมของชาวบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ของบิลลี่ แลกด้วยชีวิตของเขา และความยุติธรรมต่อชีวิต เลือดเนื้อ จิตวิญญาณของเขาก็ยังมาไม่ถึง หลังการหายตัวอย่างไร้ร่องรอยของบิลลี่กว่า 5 ปี ในเดือนกันยายน ปี 2562 เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ แถลงพบหลักฐานกะโหลกมนุษย์ที่มีลักษณะถูกเผาทำลาย บริเวณสะพานแขวน เขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งพบว่ามีสารพันธุกรรมตรงกับแม่ของบิลลี่ จึงยืนยันว่าเศษกะโหลกศรีษะที่พบเป็นของบิลลี่ที่เสียชีวิตจากการฆาตรกรรม นำมาถึงการออกหมายจับ นายชัยวัตน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พร้อมเจ้าหน้าที่อุทยานอีก 3 คน ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน กักขังหน่วงเหนี่ยวทำร้าย และร่วมกันฆ่าอำพรางศพบิลลี่  อย่างไรก็ตาม อัยการสั่งไม่ฟ้องนายชัยวัฒน์และเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เมื่อวันที่ 24 มกราคม ปี 2563  "บิลลี่" พอละจี: รักจงเจริญของกะเหรี่ยง ณ ใจกลางแผ่นดินแก่งกระจาน เราทุกคนคือบิลลี่ “เขาเกิดมาเพื่อเป็นคนที่ช่วยแก้ไขปัญหาในสังคมให้คลี่คลาย ให้ทุกคนเข้าใจ เกิดมาชาตินี้ ชีวิตอุทิศให้สังคมล้วน ๆ เขาทำดีโดยไม่หวังผลประโยชน์ตอบแทนใด ๆ แม้ต้องแลกด้วยชีวิตก็จะทำต่อไป” (มึนอกล่าวถึงบิลลี่ ในงานวันผู้สูญหายสากล 30 สิงหาคม ปี 2562) การหายตัวไปของบิลลี่คือการบังคับให้บุคคลสูญหาย บิลลี่เป็นหนึ่งใน 86 คนที่ถูกบังคับให้สูญหายในประเทศไทยระหว่างปี 2523-2562 จากการบันทึกของคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจขององค์การสหประชาชาติ ถึงแม้ว่าการบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นอาชญากรต่อสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง ถึงแม้ว่าประเทศไทยมีการรับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ แต่ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่ใช้ในกรณีการบังคับให้บุคคลสูญหาย โดยเฉพาะกรณีที่เกิดจากการกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่มักจะลอยนวลพ้นผิด  ถือเป็นเรื่องน่าเศร้าที่บิลลี่ถูกพรากชีวิตไปจากครอบครัว ชุมชน และผืนแผ่นดินที่เขารักอย่างไร้ร่องรอย ทิ้งคำถามที่ไม่สามารถหาคำตอบได้มากมาย ทิ้งให้ครอบครัวและผู้ที่เป็นที่รักเขารอคอยอย่างยาวนานและทรมาน เขาควรถูกคุ้มครองและช่วยเหลือจากการที่เขารักชุมชนและผืนแผ่นดินของเขา คงไม่เป็นการกล่าวเกินไปนักว่าชีวิตของเราวางอยู่บนความไม่ปลอดภัย เมื่อใครก็ได้มีโอกาสถูกทำให้สูญหาย  เพราะฉะนั้น เราทุกคนมีสิทธิที่จะเป็นบิลลี่ที่สูญหาย เพียงเพราะรักความเป็นธรรม และต้องการยืนยันสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน  เราไม่ควรปล่อยให้เรื่องราวของบิลลี่หายไปจากสังคมไทยตามกาลเวลาเหมือนร่างกายของเขา จนกว่าความยุติธรรมสำหรับเขา ครอบครัว ชุมชนของเขาจะเดินทางมาถึง เรื่องราวและจิตวิญญาณของบิลลี่จะถูกเล่าขานและส่งต่อไปจากรุ่นสู่รุ่นเพื่อเปลี่ยนจากความโศกเศร้า ความกลัว ความโกรธเคือง เป็นพลังเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้ผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหายต่อไป   อ้างอิง ทิพย์วิมล ศิรินุพงศ์และพรพรรณ กาญจนาธิวัฒน์ (2562) ใจแผ่นดิน แผ่นดินกลางใจกะเหรี่ยงแก่งกระจาน โดย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม https://voicefromthais.files.wordpress.com/2019/09/jaipandin-e-book.pdf https://www.amnesty.or.th/latest/news/743/ สารคดี วิถีชีวิต The Way of Lives https://www.youtube.com/watch?v=Y-glT4xzH-g   เรื่อง: Our Fields' Story: เรื่องเล่าจากในฟิลด์ ภาพ: จากทางครอบครัวบิลลี่