อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์: จากผู้เขียนเชอร์ล็อก โฮล์มส์ยอดนักสืบ สู่สาวกลัทธิจิตวิญญาณ
ไม่ว่าจะเอ่ยถึงชื่อของ ‘เซอร์ อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์’ หรือแม้กระทั่งตัวละครในนวนิยายอย่าง ‘เชอร์ล็อก โฮล์มส์’ นักอ่านหลายคนคงจะจินตนาการถึงชายทั้งสองขึ้นมาพร้อมกัน เพราะพวกเขาได้กลายเป็นตัวแทนและซิกเนเจอร์ของกันและกันมานานมากกว่า 130 ปี นับตั้งแต่นวนิยายสืบสวนสอบสวนชุดเชอร์ล็อก โฮล์มส์ เล่มแรก ‘แรงพยาบาท’ (A Study in Scarlet) ได้รับการเผยแพร่ในปี 1887
โดยตัวละครเชอร์ล็อก โฮล์มส์ ในฉบับนวนิยายถูกบรรยายไว้ว่าเป็นชายหนุ่มร่างบาง สูง 6 ฟุต มีผมสีดำ ดวงตาเทา และจมูกที่งุ้มลงคล้ายปากเหยี่ยว แต่ในปัจจุบัน ใครหลายคนคงจะจินตนาการถึงดาราหลายต่อหลายคนที่แสดงบทบาทนี้ หนึ่งในนั้นคือใบหน้าของ ‘เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบตช์’ ดารานำชายจากเกาะอังกฤษ ผู้รับบทเป็นเชอร์ล็อก โฮล์มส์ ในเวอร์ชันคนแสดง เป็นซีรีส์ของบีบีซีที่ออกอากาศ ตั้งแต่ปี 2010
ด้วยพื้นเพของนักเขียนอย่างโคนัน ดอยล์ ที่จบการศึกษาจากโรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยเอดินบะระ (University of Edinburgh Medical School) ทำให้เขามีทั้งความรู้ และความล้ำเลิศในการใช้ตรรกะและเหตุผล ซึ่งแสดงออกผ่านการสร้างสรรค์ตัวละครอย่างยอดนักสืบเชอร์ล็อก โฮล์มส์ ที่สามารถไขคดีได้ด้วยการสังเกต วิเคราะห์ และจดจำหลักฐานบนแนวคิดนิติวิทยาศาสตร์
แต่เชื่อหรือไม่ว่าในช่วงหนึ่งของชีวิตจนกระทั่งหมดลมหายใจของโคนัน ดอยล์ เขาได้วางแนวคิดที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงที่พิสูจน์ได้ลง และหันหน้าเข้าหาลัทธิจิตวิญญาณอย่างจริงจัง ถึงขั้นเดินสายบรรยายความเชื่อในเรื่องการทรงเจ้าเข้าผีและสิ่งเหนือธรรมชาติไปทั่วโลก
แต่ก่อนที่จะกล่าวถึงความเชื่อเรื่องโลกวิญญาณของโคนัน ดอยล์ จุดเริ่มต้นที่แท้จริงของนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่คนนี้กลับมาจากครอบครัวชาวไอริชที่เคร่งครัดในหลักคำสอนของศาสนาคริสต์ นิกายคาทอลิกต่างหาก
กำเนิดความฝันจากนิทานของแม่
วันที่ 22 พฤษภาคม 1859 อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์ ได้ลืมตาดูโลกที่เมืองเอดินบะระ ประเทศสกอตแลนด์ เขาเกิดในตระกูลชาวไอริชที่ร่ำรวย ภายใต้บรรยากาศของครอบครัวที่นับถือศาสนาคริสต์อย่างเคร่งครัด
แต่ถึงแม้ครอบครัวดอยล์จะได้รับการยอมรับนับถือในวงการศิลปะเป็นอย่างสูง พ่อของโคนัน ดอยล์ ‘ชาร์ลส์ อัลตามอนต์ ดอยล์’ (Charles Altamont Doyle) กลับเป็นศิลปินที่ไม่ได้ประสบความสำเร็จมากนัก ทั้งยังเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง จนแทบจะไม่มีสิ่งดีให้กล่าวถึง ตรงกันข้ามกับภรรยาอย่าง ‘มารี โฟเลย์ ดอยล์’ (Mary Foley Doyle) แม่ของโคนันที่มีนิสัยร่าเริงสดใส มีการศึกษา และยังเป็นนักเล่านิทานชั้นเลิศ
ตลอดวัยเด็กของโคนัน ดอยล์ เขาได้รับอิทธิพลในการเปิดโลกแห่งจินตนาการมาจากนิทานที่แม่ของเขาแต่งและเล่าให้ฟัง ถึงขนาดที่เขากล่าวไว้ในหนังสือชีวประวัติของตัวเองว่า
“เท่าที่ผมจดจำได้ในวัยเด็ก นิทานอันสดใสของแม่คือสิ่งเดียวที่เปล่งประกายขึ้นมา และมันโดดเด่นเสียจนบดบังความจริงในชีวิตของผมไป”
แต่เมื่อโคนัน ดอยล์ อายุได้ 9 ปี ใบหน้าของเขาก็ต้องอาบไปด้วยน้ำตา เพราะเขาถูกส่งไปเรียนต่อที่โรงเรียนเยซูอิต สโตนีเฮิร์สต์ (Stonyhurst) ประเทศอังกฤษ เป็นเวลานานถึง 7 ปี และที่โรงเรียนประจำแห่งนี้เอง โคนัน ดอยล์ก็ได้รับความทรงจำที่น่าเจ็บปวดจากการถูกเพื่อนแกล้ง และต้องทนอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่ลงโทษนักเรียนอย่างไร้ความปรานี ซึ่งมันถูกเยียวยาด้วยความสุขเล็ก ๆ จากการเขียนจดหมายถึงแม่ และการถูกรายล้อมไปด้วยนักเรียนรุ่นน้องที่เข้ามานั่งฟังเขาเล่านิทาน ก่อนที่เขาจะจากโรงเรียนนี้ไปและเริ่มต้นชีวิตนักเรียนแพทย์ในปี 1876
การพบกันของนายแพทย์นักเขียนและต้นแบบเชอร์ล็อกโฮล์มส์
หลังจบการศึกษาจากวิทยาลัยสโตนีเฮิร์สต์ พ่อและแม่ของโคนัน ดอยล์ก็วาดฝันให้เขาเดินตามรอยเท้าคนในครอบครัวโดยการเรียนศิลปะ แต่เขากลับปฏิเสธ และเลือกเรียนแพทย์ที่มหาวิทยาลัยเอดินบะระแทน
จากการตัดสินใจครั้งนั้นทำให้เขาได้พบกับอาจารย์ศัลยแพทย์นามว่า ‘โจเซฟ เบลล์’ ซึ่งเขาคนนี้เองที่ได้ทำให้โคนัน ดอยล์รู้สึกประทับใจจากความสามารถในการสังเกตและวิเคราะห์โรคของคนไข้ที่เข้ามารักษาได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ โดยอาศัยเพียงการมองจากภายนอกเท่านั้น
ลักษณะที่โดดเด่นและความสามารถที่ล้ำเลิศของอาจารย์แพทย์ท่านนี้เอง คือต้นแบบในการพัฒนาตัวละครอย่างยอดนักสืบเชอร์ล็อก โฮล์มส์ โดยมี ดร.วัตสัน คู่หูสืบคดีเป็นตัวแทนของอาชีพแพทย์ที่โคนัน ดอยล์เลือกเรียน และหลังจากนั้นในปี 1887 เชอร์ล็อก โฮล์มส์ เล่มแรกก็ได้ออกวางขาย ซึ่งปัจจุบันมีนวนิยายทั้งหมด 4 เล่ม และเรื่องสั้นอีก 56 เรื่อง ทำยอดขายไปกว่า 60 ล้านเล่มทั่วโลก
แม้ในปี 1893 โคนัน ดอยล์จะวางพล็อตเรื่องให้เชอร์ล็อก โฮล์มส์ เสียชีวิตลงในเรื่องสั้นตอน ‘ปัจฉิมปัญหา’ (The Final Problem) แต่สุดท้ายก็ต้องพายอดนักสืบคนนี้กลับมาอีกครั้ง เพราะทนคำเรียกร้องจากแฟนหนังสือไม่ไหว
นอกเหนือจากผลงานนวนิยายอย่างเชอร์ล็อก โฮล์มส์แล้ว โคนัน ดอยล์ยังมีงานประพันธ์อีกมากมายทั้งเรื่องสั้น บทกวี บทละคร บทความ และหนังสือ อาทิ The Lost World (1912), Sir Nigel (1905), Captain Sharkey (1897) หรือหนังสือเรื่อง The Great Boer War (1900) ที่เขียนขึ้นจากประสบการณ์ตรงเมื่อโคนัน ดอยล์ได้เข้าร่วมเป็นแพทย์อาสาในสงครามแอฟริกาใต้
เซอร์อาร์เธอร์ผู้กลับมาจากสงคราม
ชายร่างท้วมวัย 40 ปี คือผู้ที่ไม่เหมาะกับงานอาสาในสงครามที่รุนแรงและอันตรายอย่างสงครามแอฟริกาใต้ แต่โคนัน ดอยล์ปฏิเสธที่จะรับฟังเหตุผลนั้น เขาล่องเรือไปแอฟริกาทันทีในปี 1900 เพื่อทำหน้าที่แพทย์อาสาอย่างที่ตั้งใจ
ท่ามกลางไฟสงคราม เขาลงมือบันทึกเรื่องราวที่พบเห็นเป็นตัวอักษร ทั้งความตาย และการสูญเสียเพื่อนจากไข้ไทฟอยด์มากกว่าแผลจากสงคราม และหลังจากกลับมา โคนัน ดอยล์ก็ได้เข้ารับการแต่งตั้งจากสมเด็จพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 ประมุขแห่งเครือจักรภพอังกฤษ ในฐานะผู้เสียสละและผู้มีความดีความชอบในสงคราม ภายใต้ตำแหน่ง ‘เซอร์’ อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์ นับตั้งแต่นั้นมา
จนกระทั่งในปี 1918 คิงส์ลีย์ ดอยล์ ลูกชายของโคนัน ดอยล์ ได้เสียชีวิตจากโรคปอดบวม หลังจากที่เขาได้รับบาดเจ็บสาหัสในสงคราม ‘ยุทธการแม่น้ำซอมม์’ (Battle of the Somme) รวมไปถึงญาติคนอื่น ๆ ของโคนัน ดอยล์ก็เสียชีวิตในสงครามโลกครั้งที่ 1 ด้วย โดยคนส่วนมากมักเข้าใจผิดว่า การประกาศตัวเข้าสู่ลัทธิแห่งจิตวิญญาณของโคนัน ดอยล์นั้น มาจากการที่เขาสูญเสียลูกชายไป ทั้งที่จริงแล้วเขาได้ออกมาประกาศให้คนทราบตั้งแต่ปี 1916 ก่อนหน้าที่ลูกชายจะเสียชีวิตถึง 2 ปี
สู่ลัทธิแห่งจิตวิญญาณ
ความสนใจในโลกวิญญาณของโคนัน ดอยล์ มีมาตั้งแต่สมัยที่เขายังเป็นนักเรียนแพทย์ในปี 1880 และมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามกาลเวลา โดยเขาได้อ่านหนังสือของผู้พิพากษาศาลสูงสุดสหรัฐฯ จอห์น วอร์ท เอ็ดมอนด์ส (John Worth Edmonds) ซึ่งมีอิทธิพลเป็นอย่างมากต่อผู้ที่มีความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณในสหรัฐอเมริกา โดยเขาอ้างว่าตัวเองสามารถสื่อสารกับวิญญาณของภรรยาหลังจากที่เธอเสียชีวิตไปแล้วได้
หลังจากนั้นโคนัน ดอยล์ ก็ได้เข้าร่วมการวิจัยทางจิตวิญญาณที่จัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ พร้อมกับคนที่มีชื่อเสียงมากมาย เช่น อาร์เธอร์ บัลโฟร์ (Arthur Balfour) ว่าที่นายกรัฐมนตรี วิลเลียม เจมส์ (William James) นักปรัชญา และโอลิเวอร์ ลอดจ์ (Oliver Lodge) นักฟิสิกส์ ก่อนที่โคนัน ดอยล์จะเริ่มมีความเชื่อเรื่องโทรจิต และการติดต่อกับวิญญาณมากขึ้น โดยภรรยาคนที่สองของเขา ‘จีน เลกกี’ เองก็มีส่วนที่ทำให้ความเชื่อเรื่องวิญญาณในตัวโคนัน ดอยล์เพิ่มขึ้น เพราะเธออ้างว่าสามารถติดต่อกับคนตายได้เช่นกัน
ถึงแม้หลายคนจะมองว่าเป็นสิ่งที่น่าเหลือเชื่อและค่อนข้างขัดแย้ง ที่นักเขียนนวนิยายนักสืบผู้มักจะอ้างอิงถึงหลักการทางวิทยาศาสตร์ ตรรกะ และเหตุผลอย่างโคนัน ดอยล์ จะมีความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณที่เข้มแข็งและมั่นคง แต่ด้วยความสนใจ และความจริงใจในเรื่องที่เขาเชื่อ ทำให้การเดินสายเผยแพร่ความคิดและผลิตหนังสือเกี่ยวกับโลกวิญญาณของเขายังเป็นสิ่งที่ได้รับการตอบรับจากคนหลายกลุ่มทั่วโลก
ยกตัวอย่างหนังสือเรื่อง The Coming of the Fairies (1922) โคนัน ดอยล์ได้เห็นภาพฟิล์มของหญิงสาวนามว่า เอลซี ไวรท์ (Elsie Wright) และ ฟรานซ์ กริฟฟิทส์ (Frances Griffiths) พร้อมกับภูตแฟรี นั่นทำให้โคนัน ดอยล์เชื่ออย่างสนิทใจว่าภาพเหล่านั้นเป็นของจริง และเขียนออกมาเป็นหนังสือ จนภายหลังเขาเสียชีวิตลงในปี 1930 และในปี 1983 เอลซีก็ได้ออกมายอมรับว่าภาพเหล่านั้นเป็นของปลอม
แม้เรื่องของโลกวิญญาณจะเป็นสิ่งที่ยังไม่อาจหาข้อพิสูจน์ได้ แต่ทุกคนย่อมมีอิสระทางความคิดที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อเรื่องดังกล่าว โดยโคนัน ดอยล์ได้แลกชื่อเสียงของเขาไปกับการเขียนหนังสือเรื่องโลกจิตวิญญาณ ทำให้ถูกใครหลายคน รวมถึงสื่อมวลชนเยาะเย้ย แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เซอร์ อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์ เข้าใจในจุดนี้ และเขาก็เป็นแบบอย่างที่ดีของผู้ที่มีอิสระทางความคิด โดยก่อนหมดลมหายใจ เขาก็ได้อยู่กับภรรยาที่รัก และมีความเชื่อในเรื่องเดียวกัน
ที่มา
https://www.arthurconandoyle.com/biography.html
https://www.biography.com/writer/arthur-conan-doyle
https://peoplepill.com/people/arthur-conan-doyle
https://www.arthur-conan-doyle.com/index.php/Biography
https://arthurconandoyle.co.uk/spiritualist
https://www.conandoyleinfo.com/life-conan-doyle/conan-doyle-and-spiritualism/
https://thepeople.co/harry-houdini-sir-arthur-conan-doyle-friendship-marred-by-conflicting-beliefs-in-spiritualism/
https://victorianweb.org/authors/doyle/spiritualism.html
ที่มาภาพ: https://deadliestfiction.fandom.com/wiki/Sherlock_Holmes_(BBC)
Photo by © Hulton-Deutsch Collection/CORBIS/Corbis via Getty Images
เรื่อง: วโรดม เตชศรีสุธี