โกมล จึงรุ่งเรืองกิจ: จากตระกูลสามมิตร สู่ ‘แอโรซอฟต์’ เจ้าของลิขสิทธิ์บอลยูโร 2020
หากพูดถึงตระกูลที่ก้าวขึ้นมามีบทบาทต่อสังคมไทยมากที่สุดในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมานับตั้งแต่โลกเข้าสู่สหัสวรรษใหม่ หนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้นตระกูลของคนนามสกุล ‘จึงรุ่งเรืองกิจ'
นามสกุลนี้เริ่มเป็นที่คุ้นหูของคนไทยในวงกว้างจากการเข้ามารับตำแหน่งเลขาธิการพรรคไทยรักไทย ของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ตั้งแต่ พ.ศ. 2541 และเป็นผู้มีบทบาทสำคัญทางการเมืองเรื่อยมา จนกระทั่งนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หลานชายได้ก้าวขึ้นมาก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ในปี 2561
แม้ต่อมานายธนาธรจะถูกสกัดดาวรุ่งด้วยการตัดสิทธิทางการเมือง และยุบพรรคอนาคตใหม่ แต่ตัวแทนจึงรุ่งเรืองกิจ รุ่นที่ 3 ผู้นี้ก็ยังไม่หายไปไหน เขายังคงคอยเคลื่อนไหวตรวจสอบรัฐบาลในนามหัวหน้าคณะก้าวหน้า และปรากฏตัวออกสื่ออย่างต่อเนื่อง
หลังปล่อยให้นายสุริยะและธนาธรมีบทบาทและชื่อเสียงในสังคมอยู่หลายปี จู่ ๆ ชื่อของนายโกมล จึงรุ่งเรืองกิจ ก็ผุดขึ้นมาเป็นที่สนใจในสังคมอีกคนในฐานะฮีโร่ผู้ทุ่มเงินส่วนตัว 310 ล้านบาท ซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลยูโร 2020 ที่เลื่อนมาเตะในปี 2021 ให้แฟนบอลชาวไทยได้ชมกันฟรีแบบต้องลุ้นกันเกือบถึงนาทีสุดท้าย
กำเนิดสามมิตร
นายโกมล จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นบุตรของนายโหลยช้วง และนางบ่วยเซียง แซ่จึง ซึ่งอพยพมาจากประเทศจีน โดยนายโกมลเป็นลูกคนที่ 3 จากจำนวนพี่น้องทั้งหมด 5 คน ซึ่งประกอบด้วย นายสรรเสริญ จุฬางกูร, นายพัฒนา จึงรุ่งเรืองกิจ (บิดาของนายธนาธร), นายโกมล จึงรุ่งเรืองกิจ, นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และ น.ส.อริสดา จึงรุ่งเรืองกิจ
ธุรกิจหลักของครอบครัว คือ การผลิตชิ้นส่วน - อะไหล่รถยนต์และรถจักรยานยนต์ส่งออกขายทั่วโลกภายใต้แบรนด์ของบริษัท ซัมมิท คอร์ปอเรชั่น ซึ่งก่อตั้งโดยนายสรรเสริญพี่ชายใหญ่
ข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจระบุว่า ชื่อบริษัท ซัมมิท (Summit) แปลงมาจากคำว่า ‘สามมิตร’ ซึ่งเป็นชื่อเดิมของธุรกิจยุคบุกเบิกที่นายสรรเสริญร่วมก่อตั้งกับเพื่อนสนิทอีก 2 คน ก่อนจะแยกย้ายกันไปหลังทำกิจการได้แค่ปีเศษ และต่อมานายสรรเสริญได้นำธุรกิจดังกล่าวมาต่อยอด พร้อมเปลี่ยนชื่อจาก ‘สามมิตร’ เป็น ‘ซัมมิท' ในที่สุด
แม้บริษัทซัมมิทจะเริ่มต้นด้วยการเป็นธุรกิจครอบครัว แต่ต่อมาสมาชิกครอบครัวแต่ละคนต่างแยกตัวออกไปตั้งบริษัทของตนเอง โดยซัมมิท คอร์ปอเรชั่น ดูแลโดยครอบครัวของนายสรรเสริญ ขณะที่นายพัฒนา น้องชายคนรองซึ่งเป็นบิดาของนายธนาธร ตั้งบริษัทในชื่อคล้ายกัน แต่เติมคำว่า ‘ไทย’ เข้าไปข้างหน้า กลายเป็นบริษัท ไทยซัมมิท ซึ่งมีธุรกิจเชื่อมโยงกัน
ธุรกิจรองเท้า
อย่างไรก็ตาม นายโกมล ลูกชายคนที่ 3 หันมาทำธุรกิจที่ฉีกแนวออกไป โดยเขาก่อตั้งบริษัท ซัมมิทฟุตแวร์ เพื่อผลิตรองเท้าสุขภาพออกวางขายภายใต้แบรนด์ ‘แอโรซอฟต์’ (Aerosoft) แทนที่จะทำชิ้นส่วนและอะไหล่รถขายเหมือนพี่น้องคนอื่น
บริษัท ซัมมิทฟุตแวร์ จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2522 ด้วยทุนจดทะเบียน 40 ล้านบาท โดยนายโกมลดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ ขณะที่ข้อมูลจาก เดอะสเตตส์ไทมส์ ระบุว่า ธุรกิจหลักขององค์กรคือการผลิตรองเท้าเดือนละ 2 ล้านคู่ ในจำนวนนี้ร้อยละ 70 ส่งออกขายต่างประเทศ โดยเน้นที่ตลาดในภูมิภาคตะวันออกกลาง
นอกจากนี้ในช่วงปี 2539 - 2544 ซัมมิทฟุตแวร์ ยังเป็นผู้ผลิตรองเท้าเจ้าเดียวในประเทศไทยที่ได้ใบอนุญาตเป็นตัวแทนผลิต จำหน่าย และส่งออกรองเท้ายี่ห้อ Dunlop ซึ่งเป็นแบรนด์ชื่อดังของอังกฤษ
กระนั้น ธุรกิจรองเท้าไม่ใช่แหล่งรายได้เดียวของนายโกมล โดยเขายังเป็นเจ้าของสนามกอล์ฟไพน์เฮิร์สท ที่ย่านรังสิต และมีธุรกิจโรงแรมและภัตตาคารที่ทำกำไรให้อีกปีละหลายสิบล้าน ขณะเดียวกันก็ได้รับการยกย่องจากบรรดานักลงทุนให้เป็นเซียนหุ้นรุ่นใหญ่ ซึ่งมีหลักทรัพย์อยู่ในพอร์ตคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 2,000 ล้านบาท
ดีลสายฟ้าแลบ
แม้ก่อนหน้านี้ นายโกมลมักถูกพูดถึงในแวดวงธุรกิจว่าเป็นนักลงทุนที่ทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ แต่พยายามทำตัวไม่โดดเด่น ทว่า ระยะหลังนับตั้งแต่ลูกชายคนโต คือ นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ ได้เป็น ส.ส.ในบัญชีรายชื่อของพรรคพลังประชารัฐ โดยมีคุณอาสุริยะคอยเป็นพี่เลี้ยง นายโกมลเริ่มออกมาปรากฏตัวบนสื่อมากขึ้น
ก่อนตัดสินใจทุ่มเงินส่วนตัว 310 ล้านบาท (10 ล้านเหรียญสหรัฐ) ซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลยูโร 2020 มาให้แฟนบอลไทยได้ชมกันแค่เดือนเดียว นายโกมลเพิ่งควงลูกชายออกสื่อด้วยการบริจาคเงิน 100 ล้านบาทให้มูลนิธิโรงพยาบาลศิริราช เพื่อนำไปใช้รับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19
ส่วนดีลซื้อลิขสิทธิ์บอลยูโรแบบสายฟ้าแลบใช้เวลาพูดคุยและเซ็นสัญญาภายในเวลาไม่ถึง 2 วัน เริ่มจากคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่บอกกับคณะรัฐมนตรีให้ช่วยหาทางทำให้คนไทยได้ดูฟุตบอลยูโร 2020
จากนั้น นายสุริยะในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม จึงนำเรื่องนี้ไปปรึกษานายพงศ์กวิน ซึ่งเป็นหลานชาย ก่อนจะไปคุยต่อกับพี่ชาย คือ นายโกมล จนสุดท้ายนายโกมลยอมควักกระเป๋าจ่ายค่าลิขสิทธิ์เพียงคนเดียว เนื่องจากมีเวลาน้อย เหลืออีกไม่ถึง 2 วัน ศึกยูโร 2020 นัดเปิดสนามจะเริ่มขึ้น
“ผมยินดี ผมเต็มใจ และผมก็มีความสุขเช่นกันที่เห็นแฟนบอลทุกท่านมีความสุข” นายโกมล กล่าวกับสื่อมวลชนในวันแถลงข่าว
เมินถ่ายทอดสดกีฬา
สาเหตุที่ทำให้ไม่มีเจ้าของสถานีโทรทัศน์ หรือภาคเอกชนรายใดในประเทศไทยยอมลงทุนซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโร 2020 จนกลายเป็นภาระของนายโกมล ส่วนหนึ่งมาจากภาวะเศรษฐกิจซบเซาจากปัญหาโควิด-19 ทำให้บริษัทต่าง ๆ พากันรัดเข็มขัด
นอกจากนี้ ยูโร 2020 ยังเป็นฟุตบอลที่แข่งกันเฉพาะในยุโรป และจัดขึ้นในยุคดิจิทัล ดิสรัปชัน ซึ่งผู้ชมมีทางเลือกในการรับชมเกมได้หลากหลาย ทำให้การลงทุนซื้อลิขสิทธิ์หลายร้อยล้านค่อนข้างมีโอกาสสูงที่จะจบลงด้วยการขาดทุน
กฎกติกาของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่บังคับให้รายการกีฬาใหญ่ ๆ ต้องถ่ายทอดสดผ่านฟรีทีวี หรือ must have ก็เป็นอีกข้อที่ทำให้เอกชนไม่กล้าซื้อลิขสิทธิ์เข้ามา เพราะเกรงว่าอาจถูกบีบให้ถ่ายฟรี และเก็บค่าสมาชิกไม่ได้ เหมือนฟุตบอลโลก 2014 ที่อาร์เอสเคยประสบมา
ครั้นรัฐบาลจะใช้เงินซื้อลิขสิทธิ์มาถ่ายเองก็อาจโดนตำหนิว่าใช้งบไม่คุ้มค่า เพราะไม่ใช่ชาวไทยทุกคนที่สนใจกีฬาฟุตบอล นอกจากนี้ยังมีกระบวนการขออนุมัติที่ยุ่งยากและใช้เวลานาน ด้วยเหตุนี้จึงมีทางเดียว คือการขอความร่วมมือจากภาคเอกชน คล้ายการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2018 ซึ่งมี 9 บริษัท ช่วยลงขันรวมกันกว่า 1,400 ล้านบาท เพื่อให้คนไทยได้ชมบอลโลกทั้งหมด 64 นัดในครั้งนั้น
ถ่ายแล้วได้อะไร
การถ่ายทอดสดฟุตบอลยูโร 2020 ให้คนไทยได้ชมฟรี แม้จะได้มาแบบไม่มีใครคาดคิด เพราะมีเศรษฐีกระเป๋าหนักอย่างนายโกมล จึงรุ่งเรืองกิจ มาเป็นวีรบุรุษจ่ายให้ในนาทีสุดท้าย แต่ก็ไม่วายทำให้หลายคนตั้งคำถามว่า เขาทำแบบนี้ไปเพื่ออะไร
นักวิเคราะห์บางคนมองว่า การทุ่มเงินซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลยูโรครั้งนี้อาจเป็นการหวังผลทางการเมืองเพื่อช่วยน้องชาย เนื่องจากอำนาจภายในพรรคของกลุ่มสามมิตรที่นายสุริยะเป็นแกนนำ กำลังสั่นคลอนจากกระแสคนในพรรคเคลื่อนไหวหวังโค่นเก้าอี้ของนายอนุชา นาคาศัย เลขาธิการพรรค ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มสามมิตร
นอกจากนี้ การที่นายโกมลช่วยให้คนไทยได้ชมฟุตบอลยูโรกันฟรี ๆ ยังเป็นการเพิ่มเครดิตให้กับรัฐบาลในฐานะผู้สั่งการให้หาเอกชนมาสนับสนุนเรื่องนี้ และเป็นการช่วยลดแรงกดดันจากสังคม ซึ่งไม่พอใจความสามารถในการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาโควิด-19 และเศรษฐกิจซบเซา
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าแรงจูงใจที่แท้จริงของนายโกมลครั้งนี้คืออะไร สิ่งที่เขาได้มาชัดเจนที่สุด คือ การโปรโมตแบรนด์รองเท้าของตนเองด้วยโฆษณาที่ตอกย้ำทั้งก่อนเกม ช่วงพักครึ่ง และหลังแข่งจบด้วยดนตรีจังหวะสามช่า ขับร้องโดย พลพล พลกองเส็ง ด้วยเนื้อร้องซ้ำ ๆ ว่า “เชียร์ยูโร - แอโรซอฟต์”
ขณะเดียวกัน ความเป็นเจ้าบุญทุ่มที่แสดงออกมายังเป็นการตอกย้ำความสำคัญของตระกูลจึงรุ่งเรืองกิจ ในฐานะครอบครัวที่มีบทบาทต่อสังคมไทยมากที่สุดครอบครัวหนึ่งในปัจจุบัน
ข้อมูลอ้างอิง:
https://aerosoftfootwear.com/about-us
https://www.prachachat.net/economy/news-354557
https://thestatestimes.com/post/2021051606
ภาพ: https://thestatestimes.com/post/2021051606