อ็องตวน เดอ แซ็ง-ฌุสต์: นักกฎหมายหนุ่ม ผู้มีอายุน้อยที่สุดในสภาแห่งชาติฝรั่งเศส ภายหลังการปฏิวัติ
การปฏิวัติฝรั่งเศส ถือเป็นหมุดหมายและเหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์ ที่ได้เปลี่ยนโฉมหน้าโลกที่เรารู้จักไป เหตุการณ์นี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1789
จุดเริ่มต้นของการรอวันปะทุจนกลายเป็นปฏิวัตินั้นเริ่มจากสภาพสังคมที่แร้นแค้น ค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น เหล่านี้ได้ก่อให้เกิดความไม่พอใจต่อเหล่าชนชั้นขุนนาง เจ้านายศักดินา และพระ ที่ถูกมองว่าเป็นผู้ที่ฉ้อฉลและนำมาซึ่งสภาพสังคมที่ย่ำแย่ดังกล่าว นอกจากนั้นยังรวมไปถึงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อันมีอำนาจรวมศูนย์อยู่ที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 16
ประชาชนในฝรั่งเศส ไม่ว่าจะเป็น ชาวนา พ่อค้า ช่างฝีมือ ทนาย นักกฎหมาย ต่างก็เข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิวัติครั้งนี้ และหนึ่งในบุคคลสำคัญคนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ที่มีอิทธิพลทางความคิดในการปฏิวัติครั้งนี้ คือ หลุยส์ อ็องตวน เดอ แซ็ง-ฌุสต์ (Louis Antoine de Saint-Just) นักกฎหมายหนุ่ม ผู้มีอายุน้อยที่สุดในสภาแห่งชาติฝรั่งเศส
ชีวิตในวัยเยาว์และการเดินทางสู่มหานครปารีส
อ็องตวน เดอ แซ็ง-ฌุสต์ (1767-1794) เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้นำทางการเมืองฝ่ายซ้ายแบบถอนรากถอนโคนในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส เขาเป็นแกนนำคนสำคัญในกลุ่มจาโคแบงและรัฐบาลฝรั่งเศสภายหลังปฏิวัติ แซ็ง-ฌุสต์ เกิดเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 1767 ที่เมืองเดอซิส (Decize) ในตอนกลางของประเทศฝรั่งเศส เขาเกิดในครอบครัวชนชั้นกลาง ที่มีพ่อเป็นนายทหารม้า ขณะที่แม่ของเขาเป็นลูกสาวของทนายความผู้มั่งคั่ง ภายหลังเรียนจบจากโรงเรียน แซ็ง-ฌุสต์ได้เดินทางออกจากบ้านเกิดในเดอซิส เพื่อไปแสวงหาชีวิตใหม่ที่ปารีส
เมื่อมาถึงปารีสได้ไม่นาน เขาได้ศึกษาเล่าเรียนด้านกฎหมาย จนจบการศึกษาในปี 1788 หลังจบการศึกษาไม่นาน ก็ได้เกิดเหตุการณ์การปฏิวัติฝรั่งเศสขึ้น ซึ่ง แซ็ง-ฌุสต์ก็เป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่สนับสนุนต่อการปฏิวัติที่เกิดขึ้น และสนใจใคร่รู้ในสังคมการเมือง เฉกเช่นเดียวกับคนหนุ่มสาวหัวก้าวหน้ามากมายในตอนนั้น เขาได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกจาโคแบง (Jacobins) สโมสรทางการเมืองที่ส่งอิทธิพลที่สุดในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส และได้ค่อย ๆ มีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงเวลาต่อมา
ภายหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส แซ็ง-ฌุสต์เริ่มเป็นที่รู้จักภายหลังที่เขาอภิปรายเสนอให้ลงมติประหารชีวิตพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 สถานเดียว ในปี 1791 เขาได้เขียนหนังสือเล่มหนึ่งที่มีชื่อว่า ‘วิญญาณของการปฏิวัติและรัฐธรรมนูญ’ ซึ่งสะท้อนแนวความคิดของรุสโซและมองเตสกิเออร์ สองนักปรัชญาการเมืองที่เลื่องชื่อในช่วงเวลานั้นเป็นอย่างมาก
จนในปี 1792 เขาได้รับเลือกให้เข้ามาเป็นสมาชิกสภาคอนเวนชัน ซึ่งมีหน้าที่ในการปกครองและบริหารฝรั่งเศสในช่วงการปฏิวัติ โดยที่เขาเป็นสมาชิกที่มีอายุน้อยที่สุด โดยมีอายุเพียง 25 ปีเท่านั้น นอกจากนี้ แซ็ง-ฌุสต์ยังเป็นแกนนำคนสำคัญของรัฐปฏิวัติของโรแบสปิแยร์ ในการดำเนินนโยบายปราบปรามผู้ที่มีแนวโน้มเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบใหม่ของฝรั่งเศสภายหลังการปฏิวัติอย่างรุนแรง ไม่เว้นแม้แต่ผู้ที่มีบทบาทร่วมปฏิวัติด้วยกันเองก็ตาม โดยการปกครองแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดภายใต้ชื่อ ‘คณะกรรมาธิการความปลอดภัยส่วนรวม’ เขาได้ขึ้นเป็นประธานคลับจาโคแบงเมื่อต้นปี 1793 และได้รับตำแหน่งเป็นประธานสภาคอนเวนชันในเดือนกุมภาพันธ์ปี 1794
ความคิดทางการเมืองในการปฏิวัติฝรั่งเศส
แนวความคิดของแซ็ง-ฌุสต์ได้ขึ้นมามีอิทธิพลต่อผู้คนจำนวนมากที่สนับสนุนระบอบสาธารณรัฐ ในการอภิปรายเพื่อลงมติลงโทษพระเจ้าหลุยส์ และในหนังสือการปฏิวัติและรัฐธรรมนูญ เขาอธิบายว่า กษัตริย์นั้นเป็นทรราชโดยธรรมชาติและโดยตัวของมันเอง เราไม่ต้องพิจารณาเลยว่าการกระทำของกษัตริย์หรือการบริหารราชการแผ่นดินของกษัตริย์มีความผิดทางอาญาหรือไม่ ถ้ากษัตริย์เป็นทรราช นั่นไม่ใช่เพราะความผิดจากการบริหารราชการแผ่นดินของเขา แต่เขาเป็นทรราชก็ด้วยลักษณะของความเป็นกษัตริย์ แซ็ง-ฌุสต์เสนอว่า การที่กษัตริย์ยึดเอาอำนาจสูงสุดของประชาชนไปใช้เอง นั่นแสดงให้เห็นว่าลักษณะของความเป็นกษัตริย์เป็นอาชญากรรมนิรันดร (crime eternal) ต่อประชาชน มนุษย์จึงย่อมมีสิทธิสัมบูรณ์ในการลุกขึ้นสู้และติดอาวุธ เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า ไม่มีกษัตริย์องค์ใดสามารถครองราชย์ได้อย่างบริสุทธิ์หรือชอบธรรม เพราะกษัตริย์ทั้งหลายล้วนแล้วแต่เป็นกบฏ และเป็นผู้แย่งชิงอำนาจของประชาชนไป (ประชาไท: https://prachatai.com/journal/2012/10/42914)
แนวความคิดดังกล่าวของแซ็ง-ฌุสต์ ไม่ได้มีอิทธิพลแค่ในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศสเท่านั้น แต่แนวความคิดของเขายังคงมีอิทธิพลต่อมาแก่ผู้นิยมสาธารณรัฐ (Republicanism) ทั่วโลก ที่มุ่งสถาปนาให้อำนาจสูงสุดในการปกครองเป็นของประชาชนทุกคนอย่างแท้จริง มิใช่ไปรวมอยู่กับบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่อ้างตัวว่ามีความชอบธรรม
อย่างไรก็ตาม การพยายามต่อต้านการปฏิวัติโดยกลุ่มอำนาจเก่าและผู้เห็นแย้ง ได้นำไปสู่การใช้อำนาจเบ็ดเสร็จและการปราบปรามฝ่ายต่าง ๆ อย่างรุนแรงภายใต้คณะกรรมาธิการความปลอดภัยส่วนรวม โดยอาศัยรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นภายหลังการปฏิวัติ ซึ่งได้ทำให้บรรดาสมาชิกสภาเกิดความหวาดระแวง จนนำไปสู่การวางแผนโค่นล้มกลุ่มการเมืองของแซ็ง-ฌุสต์ และโรแบสปิแยร์ จนในที่สุดพวกเขาทั้งหมด 21 คน ก็ถูกตัดสินและลงมติจากสภา ให้ประหารชีวิตด้วยกิโยติน ณ ใจกลางกรุงปารีส ในวันที่ 28 กรกฎาคม 1794 เป็นอันจบบทบาทของเขาด้วยอายุเพียง 26 ปี แต่ความคิดของ แซ็ง-ฌุสต์จะยังคงถูกดึงให้นำขึ้นมาทบทวนขบคิดต่อไปจนถึงปัจจุบัน
เรื่อง: วรินทร์ สิงหเสมานนท์ (The People Junior)
ข้อมูลอ้างอิง:
จรัล ดิษฐาอภิชัย, 2542. การปฏิวัติฝรั่งเศส 1 : จากคุกบาสตีย์ถึงวันรัฐประหารชีวิตพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 1789-1793 กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เบรน เซ็นเตอร์
จรัล ดิษฐาอภิชัย, 2542. การปฏิวัติฝรั่งเศส 2 : จากวันประกาศสงครามกับอังกฤษถึงรัฐประหารของนโปเลียน 1793-1799 กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เบรน เซ็นเตอร์
https://prachatai.com/journal/2012/10/42914
https://www.britannica.com/biography/Louis-de-Saint-Just
https://biography.yourdictionary.com/louis-antoine-leon-de-saint-just
https://www.historytoday.com/miscellanies/french-revolutions-angel-death
ที่มาภาพ:
Photo Josse / Leemage / Contributor
Heritage Images / Contributor