03 พ.ย. 2564 | 14:08 น.
W.Eugene Smith,1954,NY,Photograh taken by Jun Miki
สู่แดนอาทิตย์อุทัย จนกระทั่งเดือนสิงหาคม ปี 1970 แดดยามสายค่อย ๆ ลอดหน้าต่างเข้ามาทักทายยูจีน พร้อมกับเสียงเคาะประตูของ ‘ไอลีน’ (Aileen) หญิงสาวจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เธอรับจ็อบเป็นนักแปลและคนประสานงานให้กับบริษัทโฆษณาของญี่ปุ่นซึ่งจ้างยูจีนทำโฆษณาโปรโมตฟิล์มสี Fuji (ทั้งที่เขาถ่ายภาพขาว-ดำมาทั้งชีวิต) ไอลีนสัมผัสได้ถึงความหดหู่และเปล่าเปลี่ยวของยูจีน ซึ่งความรู้สึกไม่ได้โกหกเธอแต่อย่างใด เพราะในช่วงเวลานั้นยูจีน สมิธตั้งใจว่าเขาจะจัดนิทรรศการภาพถ่าย แล้วปลิดชีวิตอันว่างเปล่าของตัวเองให้รู้แล้วรู้รอด แต่อะไรบางอย่างในวันนั้น กลับทำให้ทั้งคู่รู้สึกถึงความเชื่อมโยงต่อกันอย่างรวดเร็ว และความรู้สึกนั้นก็ค่อย ๆ ซึมลึกลงในหัวใจราวกับอ้อมกอดที่ฉุดรั้งยูจีนให้อยากใช้ชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ต่อไป ความเปลี่ยนแปลงในชีวิตของยูจีน มิใช่เพียงการกลับมาศรัทธาในความรักอีกครั้ง เพราะสองเดือนหลังจากพวกเขาพบกัน ยูจีนและไอลีนได้ยินข่าวคราวเกี่ยวกับโรคมินามาตะในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเกิดจากการปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนสารปรอทของบริษัท Chisso Corporation ลงสู่อ่าวมินามาตะ ขณะที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ในบริเวณนั้นดำรงชีพด้วยการจับปลาในอ่าวมาประกอบอาหาร “ทันทีที่ได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับมินามาตะ เราก็ตัดสินใจไปทันที” ไอลีนย้อนความถึงวันที่ยูจีน สมิธตัดสินใจรับงานถ่ายภาพที่เมืองมินามาตะให้กับนิตยสาร LIFE พวกเขาเก็บกระเป๋าออกเดินทางมาถึงเมืองมินามาตะ ในเดือนกันยายน 1971 ด้วยความตั้งใจว่าจะอยู่ที่นี่เพียง 3 เดือน (แต่ความจริงกลับกลายเป็น 3 ปี) ซึ่งระหว่างนั้นยูจีน สมิธยังไม่หายดีจากบาดแผลในช่วงสงคราม เขาต้องกินอาหารอ่อน ๆ และจิบวิสกี้อยู่เป็นประจำ ซึ่งอาจเป็นเพราะช่วยบรรเทาอาการปวดเรื้อรังของเขาก็เป็นได้W. Eugene Smith and Aileen, 1974, Photo by Brooklyn Museum
เผยให้โลกรู้ถึงโรคมินามาตะ แม้ยูจีนจะเคยผ่านสมรภูมิรบมานักต่อนัก หากการถ่ายภาพผู้ป่วยโรคมินามาตะ ไม่ใช่โจทย์ง่ายสำหรับเขาแต่อย่างใด เพราะด่านแรกคือความเต็มใจของผู้คนในหมู่บ้าน ซึ่งหลายคนไม่เต็มใจให้ถ่ายภาพ หรือไม่กล้าเปิดเผยตัวตนต่อสาธารณชน แม้ว่าสิ่งที่ยูจีนทำจะช่วยให้เสียงของพวกเขาดังขึ้นก็ตาม ข้อจำกัดดังกล่าวถูกถ่ายทอดออกมาอย่างงดงามในภาพยนตร์ Minamata ตอนที่ยูจีนเข้าไปในโรงพยาบาล และต้องการถ่ายภาพที่เห็นใบหน้าของผู้ป่วย เพราะเขามองว่าแววตาจะสื่อสารความหมายและพลังอันลึกซึ้งให้ผู้คนที่พบเห็นได้ ‘เข้าอกเข้าใจ’ (empathy) ความทุกข์ทนของพวกเขา แต่ไอลีนกลับกระซิบข้างหูยูจีนด้วยถ้อยคำหนักแน่นว่า “พวกเขา (ผู้ป่วยมินามาตะ) ก็ต้องการความเข้าอกเข้าใจ (empathy) เช่นเดียวกัน” นั่นทำให้ยูจีนถอยออกมาหนึ่งก้าวและค่อย ๆ ร่วมใช้ชีวิตกับคนในหมู่บ้าน มากกว่ามาเพื่อหันกล้องถ่ายภาพพวกเขาเพียงเท่านั้น แม้ว่าท้ายที่สุดผู้คนในหมู่บ้านจะสนับสนุนและช่วยเหลือยูจีนให้ถ่ายภาพได้สะดวกยิ่งขึ้น แต่อุปสรรคด่านต่อมาคือความโหดร้ายในปี 1972 เมื่อเกิดเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างชาวบ้านและพนักงานบริษัท Chisso ยูจีนถูกทำร้ายร่างกายซ้ำจากแผลเดิมที่ยังไม่หายดี จนเขาบาดเจ็บสาหัสและตาข้างหนึ่งได้สูญเสียการมองเห็นไปชั่วคราว แต่ในที่สุด เขาก็สามารถนำภาพถ่ายเกี่ยวกับเรื่องอื้อฉาวของพิษสารปรอทใน Minamata ส่งมาตีพิมพ์ในนิตยสาร LIFE ได้สำเร็จ ตามมาด้วยหนังสือที่ชื่อว่า ‘Minamata: The Story of the Poisoning of a City’ ในเวลาต่อมา ซึ่งภาพถ่ายดังกล่าวทำให้ผู้คนทั่วโลกเริ่มหันมาสนใจ ‘โรคมินามาตะ’ มากยิ่งขึ้น “ในภาพถ่ายเพียงหนึ่งเฟรม ยูจีน สมิธสามารถถ่ายทอดให้คุณเห็นทั้งด้านที่น่ากลัวและงดงามที่สุดของความเป็นมนุษย์” แอนดรูว์ เลวีทัสกล่าวถึงผลงานของยูจีน “เขาสามารถสะท้อนถึงความมืดมิดและแสงสว่างในภาพเดียวกัน” ประโยคข้างต้นคงไม่ผิดนักหากคุณได้เห็นภาพถ่ายอันโด่งดังของยูจีน นั่นคือรูปของ คามิมูระ โทโมโกะ (Kamimura Tomoko) ขณะที่แม่ประคองเธอไว้ในอ่างอาบน้ำ ซึ่งโทโมโกะคือหนึ่งในเด็กที่ได้รับพิษจากสารปรอทเข้าสู่กระแสเลือดผ่านทางรก ทำให้เธอตาบอด หูหนวก และมีขาที่ใช้งานไม่ได้มาตั้งแต่กำเนิด ภาพถ่ายชุดนั้นกลายเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนทั่วโลกได้รู้จักโรคมินามาตะ และหันมาสนใจปัญหามลพิษมากขึ้น รวมทั้งช่วยให้ศาลตัดสินให้บริษัท Chisso Corporation จ่ายเงิน 937 ล้านเยน ชดเชยสำหรับเหยื่อที่ได้รับผลกระทบ ทว่าหลายคนกลับไม่ได้รับการชดเชยตามคำพิพากษาของศาล เพราะไม่นานหลังจากนั้น นายกรัฐมนตรีอาเบะ ชินโซ ของญี่ปุ่น อ้างว่าญี่ปุ่นได้ ‘ฟื้นตัว’ จากมลพิษจากสารปรอทแล้ว แม้จะยังมีผู้ป่วยที่ต้องทนทุกข์โดยไม่ได้รับการเยียวยาก็ตาม เรื่องราวทั้งหมดจึงควรค่าแก่การถ่ายทอดออกมาเป็นภาพยนตร์เรื่อง Minamata เพราะมากกว่าการถ่ายทอดชีวิตของช่างภาพคนหนึ่งที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังนับเป็นการส่งเสียงบอกเล่าถึงความโหดร้ายและความเจ็บปวดจากปัญหามลพิษให้คนทั่วโลกได้รับฟังอีกครั้ง อย่างที่ แอนดรูว์ เลวีทัส ผู้กำกับภาพยนตร์ Minamata กล่าวว่า “ในฐานะพลเมืองโลก ผมคิดว่ามินามาตะเป็นเรื่องที่ต้องบอกเล่า เพราะสถานที่อื่น ๆ ทั่วโลกพบปัญหาที่คล้ายคลึงกันในด้านมลพิษทางอุตสาหกรรม ความโลภขององค์กร และการกระทำที่ผิดกฎหมาย “ชีวิตที่ดำเนินไปในแต่ละวัน มีคนจำนวนมากที่พยายามดิ้นรนเพื่อให้เสียงของเขาถูกรับฟัง เพื่อให้ปัญหาของเขาถูกมองเห็น ...สำหรับผมมันเป็นสิ่งที่เกี่ยวพันและเชื่อมโยงกัน เป็นสิ่งที่เราทุกคนทั่วโลกมีร่วมกันในขณะนี้ นั่นคือการต่อสู้เพื่อให้มีชีวิตที่ปราศจากมลพิษและมีสุขภาพที่ดี” ที่มา: https://www.magnumphotos.com/photographer/w-eugene-smith/ https://www.icp.org/browse/archive/constituents/w-eugene-smith?all/all/all/all/0 https://iphf.org/inductees/william-eugene-smith/ https://www.nippon.com/en/images/i00051/minamata-homage-to-w-eugene-smith.html https://www.blind-magazine.com/en/stories/3522-revisiting-minamata-w-eugene-smiths-final-photo-series-en http://www.documentingmedicine.com/minamata-the-story-of-the-poisoning-of-a-city/ ที่มาภาพ: https://www.imdb.com/title/tt9179096/mediaviewer/rm1488692481/ https://commons.wikimedia.org/wiki/File:W.Eugene_Smith,1954,NY,Photograh_taken_by_Jun_Miki.jpg