Paul Is Dead: ทฤษฎีสุดแปลกว่าด้วยความตายของ ‘แม็กคาร์ตนีย์’ ที่เปลี่ยนบีเทิลส์แฟนให้เป็นนักสืบกำมะลอ

Paul Is Dead: ทฤษฎีสุดแปลกว่าด้วยความตายของ ‘แม็กคาร์ตนีย์’ ที่เปลี่ยนบีเทิลส์แฟนให้เป็นนักสืบกำมะลอ
ข่าวคราวฉาวโฉ่เป็นสิ่งที่มาคู่กับชื่อเสียง โดยเฉพาะวงดนตรีอย่าง ‘เดอะบีเทิลส์’ ผู้ที่ในวันวานเคยต้องรับมือกับข่าวปลอมสุดแปลก ที่แปลงร่างเป็นทฤษฎีสุดปั่น อันเปลี่ยนคนทั้งเมืองให้แทบจะสวมหมวกทรงนักสืบพลางส่องแว่นขยาย พร้อมสรุปอย่างมั่นอกมั่นใจว่า ‘พอล แม็กคาร์ตนีย์ ตายแล้ว’ กันให้วุ่น ถึงแม้ในวันนี้ทฤษฎี ‘Paul Is Dead’ จะกลายเป็นเรื่องขำขันที่ไม่มีเค้าความจริง ด้วยก็เห็น ๆ กันอยู่ว่า ‘เซอร์พอล’ ในวัย 79 ย่าง 80 ปีนั้นยังมีชีวิตอยู่ดีและรักดนตรีไม่ต่างจากวัยหนุ่ม แต่เมื่อห้าสิบกว่าปีที่แล้วนั้น ข่าวลือถึงความตายของเขานับเป็นเรื่องฉาวที่คนพูดถึงกันทั้งเมือง - ทั้งประเทศ หรืออาจจะเกือบทั้งโลกด้วยซ้ำไป เรื่องมันเริ่มตรงไหนล่ะ? เหตุใด ‘พอล แม็กคาร์ตนีย์’ ที่เรารู้จักจึงถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวปลอม ส่วนตัวจริงนั้นตายไปแล้วด้วยอุบัติเหตุบนท้องถนนในปี 1966   ย้อนรอยมหากาพย์ข่าวลือ ข่าวลือแปลก ๆ นั้นเริ่มขึ้นอย่างไรไม่มีใครรู้ชัด แต่เมื่อเดือนมกราคม 1967 ใน ‘The Beatles Book’ นิตยสารแฟนบุ๊กฉบับออฟฟิเชียลของสี่เต่าทอง ในนั้นระบุเพียงว่าวันที่ 7 มกราคม 1967 เป็นวันที่สภาพอากาศเลวร้ายเหลือทน และท้องถนนก็วุ่นวาย ก่อนตบท้ายว่า “ช่วงค่ำของวันมีหนึ่งข่าวลืออื้ออึงไปทั่วลอนดอนว่า พอล แม็กคาร์ตนีย์เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ บนรถ M1 ของเขา แต่แน่นอนว่าข่าวลือนั้นไม่มีมูลความจริง”  ข่าวลือเริ่มต้นอีกครั้งในฤดูใบไม้ร่วงปี 1969 ด้วยเสียงกระซิบลึกลับเผยแพร่โดยเหล่านักศึกษาไปทั่วมหาวิทยาลัยเดรก ในเมืองเดส โมนส์ รัฐไอโอวา สหรัฐอเมริกา ว่า ‘พอลตายแล้ว’ ข่าวลือที่เล่าต่อกันมามีรายละเอียดว่า พอล แม็กคาร์ตนีย์ สมาชิกคนสำคัญแห่งสี่เต่าทองนั้นจากโลกใบนี้ไปเมื่อ 3 ปีที่แล้ว หรือในปี 1966 ด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์อันน่าสลดใจ ส่วนเดอะบีเทิลส์ที่เหลือหลังทราบข่าวร้ายก็ตัดสินใจกันว่า ‘the show must go on’ พร้อมจ้างชายหนุ่มผู้หนึ่งที่รูปร่างหน้าตาเหมือนพอลราวกับแกะมาสวมรอย ว่ากันว่าเดอะบีเทิลส์อีก 3 สามคนรู้สึกผิดและเสียใจที่ไม่สามารถเปิดเผยการตายของพอลตัวจริงแก่สาธารณะได้ จึงได้แต่แอบแย้มพรายความลับสุดยอดของวงไว้อย่างเป็นปริศนาผ่านปกอัลบั้มและเสียงเพลง… ไม่รู้ว่าเหล่านักศึกษาเหล่านั้นซุบซิบกันท่าไหน ในที่สุดข่าวลือก็แพร่กระจายจนใครต่อใครในเมืองที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปีต่างก็รู้ข่าวนี้กันทั่ว ตามมาด้วยปฏิบัติการตามหาเบาะแสที่ทึกทักกันเองว่าสี่เต่าทอง (ที่บัดนี้เหลือสามเสียแล้ว) ต้องทิ้งไว้ในเพลงแน่ๆ 12 ตุลาคม 1969 เรื่องราวนี้สะพัดไปถึงรายการวิทยุสถานี WKNR แห่งเมืองดีทรอยต์ สหรัฐอเมริกา เมื่อดีเจเปิดแผ่นนาม ‘รัสส์ กิบบ์’  (Russ Gibb) ได้รับสายจากทางบ้านที่โทรฯ มาเพื่อเมาท์ข่าวซุบซิบเกี่ยวกับความตายอันน่าอดสูของพอลโดยเฉพาะ โดยแรกเริ่มนั้นกิบบ์รับฟังด้วยความสงสัย แต่ทันใดนั้นผู้โทรฯ  เข้ามาก็เริ่มชี้ว่ามีเบาะแสบางประการซ่อนอยู่ในเพลงของเดอะบีเทิลส์ ตลอดชั่วโมงนั้นจึงกลายเป็นช่วงเวลาสนทนาหาความจริงจากข่าวลวง ที่พรั่งพร้อมด้วยการคาดคะเนฉบับเวิร์บทูเดา โดยมีผู้ฟังนั่งอ้าปากค้างอย่างสนอกสนใจอยู่ทางบ้านนับพันคน… โชคดีหรือร้ายอย่างไรไม่ทราบ ผู้ฟังท่านหนึ่งที่เกาะติดการพูดคุยอันยาวนานนั้นอยู่นานคือ ‘เฟร็ด เลเบอร์’ (Fred LaBour) นักเขียนรวยอารมณ์ขันประจำ Michigan Daily ผู้ได้รับมอบหมายให้เขียนรีวิว ‘Abbey Road’ อัลบั้มล่าสุดของเดอะบีเทิลส์ในยามนั้นอย่างพอดิบพอดี เลเบอร์จึงเริ่มงานด้วยการเอาแผ่นเสียงสี่เต่าทองเท่าที่เขามีมาวางเรียงรายบนโต๊ะ ก่อนลงมือเขียนรีวิวที่ประหลาดพิสดารและทรงอิทธิพลที่สุดเท่าที่เคยมี เช้าวันที่ 14 ตุลาคม 1969 หนังสือพิมพ์ Michigan Daily จึงมีคอลัมน์พาดหัวตัวโต ๆ ว่า “ความตายของแม็กคาร์ตนีย์; หลักฐานใหม่ที่ถูกเปิดเผย” (McCartney dead; new evidence brought to light.) “พอล แม็กคาร์ตนีย์เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน ปี 1966” เขาเริ่มหน้าข่าวของเขาอย่างนั้น “หลังออกจากสตูดิโอบันทึกเสียงแห่ง EMI อย่างเหน็ดเหนื่อย แสนเศร้า และหดหู่ แม็กคาร์ตนีย์ถูกพบในอีก 4 ชั่วโมงถัดมา ติดอยู่ในรถซึ่งจมในท่อระบายน้ำ ศีรษะของเขาถูกตัดขาด ตายคาที่” เลเบอร์เขียนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งหลักฐานที่พบได้จากเพลงในอัลบั้มราวกับว่ามันไม่ใช่ข่าวลือ แต่คือเรื่องจริง ทั้งยังโยงพล็อตเรื่องไปถึงจอห์น เลนนอน ผู้เคยกล่าวว่าเขาโด่งดังกว่าพระเยซู ทำนองว่าหรือจอห์นนั้นจะประกาศศาสนาใหม่ โดยมีแม็กคาร์ตนีย์คนใหม่เป็นสัญลักษณ์แห่งการ ‘เกิดใหม่’ อยู่ข้างกาย แถมยังบอกว่าพอลคนใหม่ - พอลที่สอง - หรือคนหน้าเหมือนที่ถูกจ้างมารับบทพอลนั้นมีชื่อว่า ‘วิลเลียม แคมป์เบลล์’ (William Campbell) เสียด้วย ข่าวลือที่ค่อย ๆ ถูกแต่งเติมโครงเค้าจนคล้ายข่าวจริงนั้นโลดแล่นจากมิชิแกนสู่มหานครนิวยอร์ก สู่รัฐอินดีแอนา ดังไกลไปถึงประเทศจอร์เจีย ไม่มีใครฟังคำปฏิเสธอย่างเป็นทางการจากสตูดิโอแอปเปิล ในลอนดอน หัวข้อ ‘พอลตายแล้ว’ ลุกลามเหมือนไฟไหม้ป่าจนดับไม่ได้ แก้ข่าวไม่ทันอีกต่อไป บีเทิลส์แฟนทั่วโลกมีหลักฐานอะไรถึงเชื่อว่าความตายของพอลเป็นเรื่องจริง?   แกะปมปริศนาที่(ถูกเชื่อว่า)อยู่ในเพลง ว่ากันว่าหากนำแผ่นเสียงอัลบั้มปกขาวของเดอะบีเทิลส์มาเปิดฟัง เมื่อแผ่นหมุนไปถึงเพลง ‘Revolution 9’ ในท่อน ‘number nine, number nine’ แล้วลองเล่นย้อนหลัง เสียงย้อนกลับนั้นจะฟังจับใจความได้ว่า ‘Turn me on, dead man’ นั่นคือหนึ่งในเบาะแสที่บีเทิลส์แฟนยุค 60s เชื่อกันว่าเกี่ยวพันกับความตายของพอล แม็กคาร์ตนีย์ เช่นเดียวกับช่วงท้ายของเพลง ‘Strawberry Fields Forever’ ที่มีเสียงจอห์นดังขึ้นมาว่า ‘I buried Paul.’ มันจะเป็นอะไรไปได้อีกล่ะ ถ้าไม่ใช่รหัสลับจากเต่าทองทั้งสามที่กำลังบอกเป็นนัยว่าเพื่อนร่วมวงผู้น่าสงสารของเขาตายแล้ว!? ไหนจะภาพอันโด่งดังบนปกอัลบั้ม ‘Abbey Road’ อีกเล่า ภาพการย่างก้าวแถวหนึ่งเรียงสี่บนทางม้าลายของเดอะบีเทิลส์ก็ถูกตีความว่าแท้จริงแล้วนั่นคือ ‘ขบวนแห่ศพ’ จอห์นใส่ชุดสีขาวเพื่อสื่อว่าเขาเป็นบาทหลวงผู้ทำพิธี ริงโกในชุดดำสื่อว่าเขาคือสัปเหร่อ จอร์จในชุดยีนส์สีน้ำเงินนั้นก็เข้าเค้าว่าเห็นทีเขาจะเป็นคนขุดหลุมศพแน่ ๆ ส่วนพอล… แน่นอนว่าตามทฤษฎีนี้เขาคือศพ ไม่อย่างนั้นไหนเลยเขาจะเป็นคนเดียวที่เดินเท้าเปล่า แถมมีบุหรี่ในมือขวาทั้งที่โลกก็รู้กันอยู่ว่าพอล แม็กคาร์ตนีย์นั้นถนัดซ้าย? ยังไม่นับรวมเบาะแสจากอัลบั้ม ‘Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band’ อัลบั้มแรกของเดอะบีเทิลส์ที่มีการพิมพ์เนื้อเพลงวางขายในแพ็กเกจด้วยนั้นปรากฏภาพของสี่เต่าทอง ที่ขณะบีเทิลส์คนอื่น ๆ หันหน้ามองกล้อง พอลกลับเป็นคนเดียวที่หันหลัง ทั้งข้าง ๆ ศีรษะของเขาปรากฏคำ ‘without you’ จากเนื้อเพลง ‘Within You Without You’ ของจอร์จ แฮร์ริสันด้วย ผู้คนยังกล่าวอีกว่าอัลบั้มนี้เต็มไปด้วยเบาะแส ไม่ว่าจะเป็นการจัดดอกไม้คล้ายรูปกีตาร์ หรือป้ายรีดติดชุดตัวอักษร O.P.D ที่พอลสวมนั้นก็น่าจะย่อมาจาก ‘Officially Pronounced Dead’ เป็นแน่แท้ และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งในปัจจุบัน สิ่งที่เคยถูกเรียกว่า ‘เบาะแส’ เหล่านี้ล้วนถูกตีตกไปแล้วว่าไม่เป็นความจริง เช่น ท่อนเจ้าปัญหาในเพลง ‘Revolution 9’ หรือบางท่อนใน ‘Here Comes The Sun’ ที่ว่ากันว่าฟังกลับหลังแล้วจะได้ยินว่า ‘Woe is Paul’ รวมทั้งเพลงจากปลายปากกาของจอห์นอย่าง ‘I’m So Tired’ ที่ฟังกลับหลังจะได้ยินท่อน ‘Paul is dead, man, miss him, miss him.’ ก็ถูกโต้ด้วยคำตอบง่าย ๆ ของจอห์นที่บอกว่า “ผมไม่รู้ว่าเพลงของเดอะบีเทิลส์เล่นกลับหลังแล้วเป็นยังไงอะ ผมไม่เคยเล่นมันแบบนั้น” ส่วนท่อน ‘I buried Paul.’ ใน ‘Strawberry Fields Forever’ นั้นก็เป็นจอห์นที่พูดขึ้นมาในความหมายว่า “ฉัน (เล่นดังเกินไปจน) ฝัง (เสียงเครื่องดนตรีของ) พอลว่ะ” ข้อสังเกตมากมายบนปกอัลบั้ม ‘Abbey Road’ นั้นเป็นไปได้มากกว่าว่าเป็นเพียงความช่างวิเคราะห์ที่ไม่มีมูลความจริงอะไร สิ่งที่ตาเราเห็นล้วนเป็นการจัดวางองค์ประกอบทางศิลปะ ที่จอห์นก็ได้ตอบประเด็นชุดบาทหลวงของเขาไว้เช่นกันว่า “พวกเขาบอกว่าผมใส่ชุดนักบวชสีขาว งั้นผมขอถามว่าฮัมฟรีย์ โบการ์ต (นักแสดงชาวอเมริกัน) ใส่ชุดนักบวชปะ? ผมว่าผมมีแค่ชุดเก๋ ๆ ของฮัมฟรีย์ โบการ์ตนะ” เช่นเดียวกับการจัดวางองค์ประกอบทางศิลปะที่ถูกวิเคราะห์เป็นตุเป็นตะใน ‘Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band’ พอลบอกว่าตัวรีดติดแขนเสื้อที่ผู้คนมองเห็นเป็นอักษร O.P.D และแปลกันมั่วซั่วว่า ‘ซี้แหงแก๋’ นั้น อันที่จริงเป็นตราตำรวจ และตัวอักษรที่ถูกต้องก็คือ O.P.P ต่างหาก หรือแม้แต่คำว่า ‘Walrus’ ในเพลง ‘I Am The Walrus’ นั้นก็ไม่ได้มีความหมายในภาษากรีกว่า ‘ศพ’ แต่อย่างใด แม้จะมีการล้อหยอกโดยจอห์นภายหลัง ใน ‘Glass Onion’ ว่า ‘Here’s another clue for you all. The Walrus was Paul.’ ก็ตาม แล้วพอลเป็นอย่างไรบ้างในวันที่ข่าวลือลุกลามถึงขีดสุด? คำตอบคือเขากำลังใช้ชีวิตแสนสงบในฟาร์มที่สกอตแลนด์ กับ ‘ลินดา’ เมียแสนสวย วุ่นอยู่กับการเลี้ยง ‘แมรี่’ ลูกสาววัยทารก และไม่มีเวลามาอาทรร้อนใจกับข่าวใหญ่สุดแปลกที่โด่งดังไปทั่วข่าวนั้นเลย   ปิดตำนานข่าวลือ “พวกเขาบอกว่า ดูนี่สิ ทำไงดีล่ะ มีข่าวใหญ่ในอเมริกาว่านายตายแล้ว และผมก็บอกว่า ช่างพวกเขา จะพูดอะไรก็พูดไป นี่อาจเป็นการโฆษณาทางอ้อมที่เยี่ยมที่สุดโดยที่เราไม่ต้องลงแรงเลยก็ได้ และผมจะไม่ทำอะไรนอกจาก ‘มีชีวิตอยู่ต่อไป’” แรกเริ่ม ทีมงานของสี่เต่าทองนึกว่าข่าวลือลวงโลกชิ้นนี้จะคลี่คลายโดยง่าย เพียงแค่พวกเขารับโทรศัพท์ที่ติดต่อมาและปฏิเสธไปหลายวันหน่อย แต่อย่างไรเสียข่าวลือก็ต้องซา ทว่าไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อพอลยังไม่ทุกข์ไม่ร้อนอยู่ พวกเขาจึงทำได้แค่หัวหมุนผลัดกันรับโทรศัพท์มือเป็นระวิง ‘ดีเรก เทย์เลอร์’ (Derek Taylor) เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของเดอะบีเทิลส์พูดซ้ำเป็นนกแก้วนกขุนทองด้วยความสุภาพเหลือประมาณว่า “พอล แม็กคาร์ตนีย์ คนที่เขียนเพลงเพราะสุดซึ้ง ‘และผมรักเธอ (And I Love Her)’ ยังรักคุณอยู่ และยังมีชีวิตอยู่อย่างสุขีดีครับ เขายังมีเพลงอีกมากให้เขียน และอีกมากที่กำลังเขียน”  ขณะที่นิตยสารหัว ‘Life Magazine’ นั้นอดรนทนไม่ไหว ถึงกับส่งนักข่าวกลุ่มหนึ่งไปดักรอพอลถึงฟาร์มของเขาเลยทีเดียว หลังจากสาดน้ำไล่แล้วยังไม่ไป พอลจึงยอมให้สัมภาษณ์เพื่อตัดรำคาญอย่างเสียไม่ได้ และกลายเป็นการขึ้นปกนิตยสารอันเผยแพร่วันที่ 9 พฤศจิกายน 1969 ฉบับ ‘พอลยังอยู่กับเรา’ หรือ ‘Paul McCartney Is Still With Us’ โดยในเนื้อความฉบับนั้นพอลได้กล่าวถึงเรื่องราวที่เป็นความจริงและยิ่งใหญ่ยิ่งกว่าความตายปลอม ๆ ของเขา “เดอะบีเทิลส์จบเห่แล้ว” พอลกล่าว แต่อนิจจา… ไม่มีใครสนใจ ทุกคนพุ่งประเด็นไปที่ความเป็นความตายของเขาจนไม่ทันสังเกตว่าพอลเพิ่งจะยืนยันถึงการแยกวงแห่งสี่เต่าทองที่จะถูกประกาศอย่างเป็นทางการในเวลาถัดมา “ผมคิดว่าสิ่งที่แย่ที่สุดของข่าวปลอมนั้นคือ มันทำให้ผู้คนสังเกตสังกาผมอย่างใกล้ชิด และซุบซิบกันว่า ‘ดูเขาสิ นี่หูเขาเป็นอย่างนั้นมาตลอดเลยเรอะ?’ น่ะ” พอล แม็กคาร์ตนีย์ ที่ยังมีลมหายใจ ให้สัมภาษณ์กับ Mojo ในปี 2009 อย่างไรก็ตาม พอลก็ก้าวข้ามข่าวลือทั้งหลายแหล่มาด้วยการมีชีวิตอยู่จริงอย่างที่เขาเคยพูด เมื่อเวลาผ่านไปก็แทบไม่มีใครเชื่อข่าวลือนั้นอีก คงเหลือเพียงตำนานในหน้าประวัติศาสตร์โลกดนตรีว่า ครั้งหนึ่งผู้คนเคยโหมกระพือเรื่องเล่าปากเปล่าไร้มูลให้กลายเป็นเรื่องใหญ่ระดับลงหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ และแปลงร่างเป็นนักสืบเพื่อเสาะหาเบาะแสกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา ส่วนพอล แม็กคาร์ตนีย์ ก็ตั้งชื่อไลฟ์อัลบั้มชุดหนึ่งของเขาว่า ‘Paul Is Live’ (1993) ปิดตำนานข่าวลวงแห่งความตายไปในที่สุด   ที่มา:  https://www.rollingstone.com/feature/beatles-sgt-pepper-artwork-10-things-you-didnt-know-107812/ https://www.rollingstone.com/music/music-features/paul-mccartney-is-dead-conspiracy-897189/ https://www.cjr.org/analysis/misinformation-paul-mccartney-dead.php https://michigantoday.umich.edu/2009/11/11/a7565/ https://allthatsinteresting.com/paul-is-dea https://www.radiox.co.uk/artists/beatles/is-paul-mccartney-dead-conspiracy-theory/ https://www.thisdayinmusic.com/liner-notes/when-paul-was-declared-dead/