14 มิ.ย. 2564 | 15:00 น.
นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1945 ความโหดร้ายครั้งนั้นยังคงฝังรากลึกอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์มนุษยชาติ และคงไม่มีเรื่องไหนน่าสะเทือนใจไปกว่าการค้นพบว่าชาวยิวผู้บริสุทธิ์นับล้านราย ถูกพรากชีวิตไปอย่างโหดร้าย เพียงเพราะ ‘คนเบื้องบน’ สั่งการให้กำจัดคนที่มีสายเลือดต่างจากที่พวกเขานิยมให้หายไปในชั่วพริบตา
ภายใต้ความอำมหิตของผู้นำ กลับมีเรื่องราวเล็ก ๆ ที่ช่วยปลอบประโลมจิตใจ เมื่อ ‘เจ้าหญิง’ จากราชวงศ์โรมานอฟของรัสเซียไม่ยอมนิ่งเฉย เธอเลือกที่จะลุกขึ้นมาทำปฏิบัติการลับ ๆ ซึ่งหากถูกเปิดเผย ยศถาบรรดาศักดิ์ก็ไม่อาจช่วยให้มีชีวิตรอด
‘ซอฟกา สกิปวิธ’ (Sofka Skipwith) หรือชื่อเดิมคือ โซเฟีย ดอลโกรูโควา เกิดในปี 1907 เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เป็นบุตรสาวของเจ้าชายปีเตอร์ อเล็กซานโดรวิช ดอลโกรูโควา โดยมีปู่เป็นนายพลระดับสูงของราชสำนัก และทายาทสายตรงของผู้ก่อตั้งอาณาจักรมัสโควี
เธอเกิดมาพรั่งพร้อมไปด้วยทรัพย์สินเงินทอง แถมยังพ่วงมาด้วยสถานะทางสังคมที่สูงส่งเสียจนทั้งชีวิตไม่ต้องกังวลว่าจะตกระกำลำบาก อีกทั้งยังมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสมเด็จพระจักรพรรดินีนาถแคทเธอรีนที่ 2 แห่งรัสเซีย สตรีผู้ทรงอิทธิพลที่สุดแห่งโลกตะวันออก
เจ้าหญิงน้อยซอฟกาไม่เคยรับรู้ถึงความยากลำบากของการใช้ชีวิตในรัสเซีย เธอไม่เคยเห็นภาพความโหดร้ายนอกรั้ววัง แต่แล้ววันหนึ่ง โลกที่งดงามราวกับเทพนิยายกลับเริ่มสั่นคลอน เมื่อสาวใช้เล่าเรื่องความอดอยากของชาวนารัสเซียที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ให้เธอฟัง
ซอฟกาในวัย 7 ขวบ โตพอที่จะรู้ว่าเธอกำลังกดขี่ชาวบ้านตาดำ ๆ และรู้สึกอับอายจนแทบมุดแผ่นดินหนี ครอบครัวที่เธอภาคภูมิใจทำตัวราวกับว่าความอดอยากของชาวบ้านเป็นเรื่องเล็ก หลังจากวันนั้น เธอก็เริ่มกินข้าวน้อยลงเรื่อย ๆ เพราะไม่อยากแตะต้องอาหารที่ได้มาจากการกดขี่ผู้อื่น ในขณะเดียวกัน ยิ่งเธอกินน้อยเท่าไร อาหารส่วนที่เหลือก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น และสิ่งนี้จะเป็นอาหารให้กับอีกหลายชีวิตนอกวังหลวง
แต่ชีวิตการเป็นเจ้าหญิงก็ถึงคราวต้องสิ้นสุดลงในอีก 3 ปีให้หลัง เมื่อวลาดิมีร์ เลนิน ผู้นำพรรคบอลเชวิคทำการปฏิวัติในเดือนตุลาคม 1917 ล้มราชวงศ์โรมานอฟ ปิดฉากระบบกษัตริย์ในหน้าประวัติศาสตร์รัสเซีย
โชคดีที่ซอฟกาและยายหนีเอาชีวิตรอดจากการสังหารหมู่มาได้ ทั้งสองอาศัยอยู่ในฐานะผู้ลี้ภัย ประเทศอังกฤษ ซอฟกาต้องอยู่โดยใช้ตัวตนใหม่ เธอคือคนพลัดถิ่นที่ไม่มีทางหวนกลับสู่บ้านเกิดได้อีกแล้ว แต่ชีวิตยังต้องเดินต่อไป จากเจ้าหญิงรัสเซียเติบโตมาเป็นหญิงอังกฤษ เธอเข้าเรียนที่วิทยาลัยควีนส์ในลอนดอน หลังเรียนจบก็ทำงานหาเงินแทบทุกวิถีทาง ตั้งแต่ทำงานพาร์ตไทม์ ไปจนถึงงานเลขานุการ ซึ่งกลายเป็นงานประจำที่เธอยึดเป็นอาชีพไปอีกหลายปี
ซอฟกาพบรักกับ ‘ลีโอ ซิโนวีฟฟ์’ (Leo Zinovieff) ชายผู้มีเบื้องหลังเป็นผู้ลี้ภัยชาวรัสเซียเช่นเดียวกับเธอ ทั้งคู่มีโซ่ทองคล้องใจด้วยกัน 2 คน คือ ปีเตอร์ และเอียน แต่ชีวิตรักกลับไม่ราบรื่นอย่างที่คิด ในปี 1937 ต้นรักที่ปลูกกลับเริ่มแห้งเหี่ยวและตายลง
เพื่อที่จะเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ เธอตัดสินใจฝากลูกชาย 2 คนจากสามีคนแรกไว้กับแม่นมชาวรัสเซียที่เคยดูแลเธอเมื่อตอนเป็นเด็ก และแต่งงานใหม่กับ ‘เกรย์ สกิปวิธ’ (Grey Skipwith) ชายชาวอังกฤษที่เธอรักอย่างสุดหัวใจ และมีลูกชายด้วยกัน 1 คนในปี 1939 แต่ครอบครัวสกิปวิธกลับมีเวลาด้วยกันเพียงน้อยนิด สามีของเธอถูกสงครามพรากไปในปี 1942 เหลือเพียงลูกชายตัวน้อยที่ยังไม่ทันเข้าโรงเรียนอนุบาล พ่อก็ด่วนจากไปเสียก่อน
หลังจากสมรภูมิรบเปิดฉากขึ้นเป็นเวลา 1 ปีเต็ม ซอฟกาได้รับข่าวดีว่าแม่ของเธอยังมีชีวิตอยู่ เธอจึงตัดสินใจเดินทางไปที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส แต่โชคร้ายที่กองทัพฝรั่งเศสพ่ายแพ้ต่อทหารนาซีในเดือนมิถุนายน 1940 ทำให้เธอต้องตกอยู่ในสถานะจำเลย และถูกนำไปกักขังในค่ายกักกันร่วมกับพลเมืองคนอื่น ๆ ในฐานะ ‘ศัตรูต่างชาติ’
แม้จะตกอยู่ในสถานการณ์ที่สิ้นหวังแค่ไหน แต่เธอมักเลือกที่จะมองหาแสงสว่างเล็ก ๆ อยู่เสมอ ซอฟกาสลัดความกลัวทิ้งและเริ่มทำงานสร้างรอยยิ้มให้แก่คนในค่าย ตั้งแต่การปรับปรุงสภาพแวดล้อมของห้องขัง จัดกิจกรรมสันทนาการ ทำหน้าที่ประสานการแบ่งปันอาหารและแลกเปลี่ยนหนังสืออ่านเล่นระหว่างเชลยด้วยกัน รวมถึงสนับสนุนสิทธิของเชลย
ซอฟกากลายเป็นฟันเฟืองสำคัญของค่ายกักกัน เธอมีโอกาสมากมายที่จะหลบหนีออกจากนรกแห่งนี้ แต่เธอกลับเลือกที่จะ ‘แอบ’ ช่วยชีวิตพลเมืองชาวอังกฤษและชาวยิวให้ได้มากที่สุด ซอฟกากลายเป็นสายลับสาวที่คอยส่งข่าวให้ผู้นำกลุ่มต่อต้านฝรั่งเศสที่ปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์อยู่นอกค่าย
ในปี 1943 ชาวยิว-โปแลนด์ 250 คนถูกส่งมายังค่ายกักกันวิตเทล เนื่องจากถือครองหนังสือเดินทางปลอม ภาพที่เห็นตรงหน้าทำให้เธอตกใจจนแทบสิ้นสติ เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เธอพยายามช่วยให้เชลยหลบหนีออกจากนรก แต่ 250 ชีวิตที่เข้ามาในคราวเดียว กำลังทำให้ใจของเธอแตกร้าว
“พวกเขาดูสับสน งุนงง เดินราวกับคนละเมอ และแทบจะไม่ปริปากพูดออกมา ไม่ยิ้มแย้ม ราวกลับประหม่าทุกการกระทำ”
ซอฟกา และ ‘แมเดลีน ไวท์’ (Madeleine White) เพื่อนร่วมอุดมการณ์ชาวอังกฤษที่ถูกคุมขังอยู่ในค่ายกักกันแห่งเดียวกัน พยายามทุกวิถีทางเพื่อช่วยชีวิตชาวยิวเกือบ 300 ชีวิตให้รอดจากการถูกส่งตัวไปยังเอาช์วิทซ์ โดยเริ่มปฏิบัติการตั้งแต่แอบลักลอบจดรายชื่อชาวยิวทุกคนที่ถูกส่งตัวมาไว้ด้านในหลอดยาสีฟัน บุหรี่ และสิ่งของอื่น ๆ เท่าที่เธอจะสอดแทรกกระดาษเล็ก ๆ พวกนี้ไว้ได้ ไปจนถึงขอร้องอ้อนวอนผู้นำกลุ่มต่อต้านฝรั่งเศสให้จัดหานักการทูต เพื่อเข้าไปเจรจาปล่อยตัวผู้บริสุทธิ์ก่อนที่ชาวยิวทั้งหมดจะถูกส่งเข้าห้องรมควัน
หลายสัปดาห์ผ่านไป ทุกอย่างยังคงเงียบ เงียบราวกับว่าสารที่เธอส่งออกไปไม่เคยมีอยู่จริง เธอและแมเดลีนเริ่มกังวล เพราะหากปฏิบัติการล้มเหลว 250 ชีวิตจะถูกสังหาร!
ราวกับโชคชะตาเล่นตลก ซอฟกาไม่ได้รับการตอบ ไม่มีสัญญาณใด ๆ ส่งกลับมา เธอต้องเฝ้ามองชาวยิวกลุ่มแรกเกือบ 60 ชีวิต เดินต่อแถวเรียงกันขึ้นไปยืนบนรถ เพื่อเดินทางสู่ความตาย...
“พวกเขารู้ดีว่ารถไฟขบวนนั้นหมายถึงอะไร สำหรับเรา ‘การเนรเทศ’ เป็นเพียงคำพูดลอย ๆ... เราไม่สามารถจินตนาการถึงโครงกระดูกจำนวนมหาศาลที่ตายอย่างทรมานในนรกแห่งนั้น แต่พวกเขาเห็นมันแล้ว และนี่คือจุดจบแบบเดียวกับที่พวกเขาต้องเจอ”
แต่ก่อนที่พวกเขาจะขึ้นรถจนหมด มีหญิงชาวยิวคนหนึ่งรีบวิ่งปรี่เข้ามาหาเธอพร้อมกับส่งร่างเล็ก ๆ ไว้ในอ้อมแขนของซอฟกา เธอรับห่อผ้าจิ๋วมาโดยไม่ทันตั้งตัว และรีบวางร่างเล็กลงอย่างเบามือไว้ในหลุมเล็ก ๆ ใต้รั้วค่ายกักกัน จากนั้นจึงส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือจากพันธมิตรนอกค่าย ให้มารับตัวทารกน้อยกลับคืนสู่อิสรภาพ
ซอฟกาได้รับการปล่อยตัวในเดือนกรกฎาคม 1944 ในวาระแลกเปลี่ยนเชลยระหว่างอังกฤษและเยอรมนี เธอต้องแบกรับความเจ็บปวดที่ไม่สามารถช่วยชีวิตชาวยิว 250 คนไว้ได้ มีเพียงทารกน้อยหนึ่งชีวิตเท่านั้นที่รอดพ้นจากค่ายเอาช์วิทซ์
หลังจาก 42 ปีผ่านไป นับตั้งแต่สงครามโลกสิ้นสุดลง เอกสารจำนวนหนึ่งระบุว่าสมาชิกกลุ่มต่อต้านได้นำรายชื่อที่ซอฟกาส่งมา ติดต่อไปยังทางการเยอรมัน เพื่อแลกเปลี่ยนเชลยศึกระหว่างชาวยิว-โปแลนด์ 50 คน แลกกับชาวเยอรมัน 50 คน ซึ่งนี่ทำให้หญิงชาวรัสเซียผู้นี้สามารถช่วยชีวิตชาวยิวได้มากถึง 51 คน โดยไม่เคยรับรู้มาก่อนจนกระทั่งเสียชีวิตลงในปี 1994 ขณะอายุ 87 ปี
ซอฟกาได้รับการเชิดชูเกียรติจากอนุสรณ์สถานการสังหารหมู่ ยาด วาเชม (Yad Vashem) ให้เป็น ‘ผู้ผดุงคุณธรรมแห่งประชาชาติทั้งมวล’ (Righteous Among the Nations) ในปี 1998 แม้ตัวจะจากไป แต่จิตวิญญาณและความรักต่อเพื่อนมนุษย์ยังคงไม่จางหาย
เรื่อง: วันวิสาข์ โปทอง
ภาพ: Yad Vashem
อ้างอิง:
https://www.youtube.com/watch?v=a6IqfBtM02s
https://www.yadvashem.org/yv/en/exhibitions/righteous-women/skipwith.asp
https://www.theguardian.com/lifeandstyle/2007/feb/03/familyandrelationships.family1
https://historyofyesterday.com/the-princess-who-defied-nazis-11150a472352
https://www.ifcj.org/news/fellowship-blog/a-russian-princess-and-righteous-gentile