read
interview
09 พ.ค. 2565 | 15:00 น.
เบญจ์ บุษราคัมวงศ์: อำนาจ-ความเหลื่อมล้ำ-ความสับสน เมื่อการศึกษาไทยผลักให้เด็กต้องติดอยู่ในกรอบ
Play
Loading...
“การศึกษามันเป็นปัญหาที่หยั่งรากลึกมานาน ถ้ามันเหมือนต้นไม้ก็คงเป็นต้นไม้ที่รากมันเน่าไปแล้ว แต่เราเห็นแค่เอฟเฟกต์ที่มันเกิดขึ้นในใบ ในลำต้น ในผลของมัน โดยที่เราไม่รู้เลยว่าปัญหาที่แท้จริงมันอยู่ข้างใน ซึ่งมันเป็นอะไรที่ซับซ้อน ทุกอย่างมันเกี่ยวพันกันอยู่ข้างล่าง แล้วเราไม่มีอำนาจที่จะรื้อโครงสร้างของมันขึ้นมาดูและแก้ไขมันได้ด้วยซ้ำ”
พูดถึงการศึกษาไทย หลายคนคงรับรู้และเข้าใจว่านี่คือสิทธิขั้นพื้นฐาน ที่รัฐบาลต้องจัดหาและมอบสิทธิขั้นพื้นฐานเหล่านี้ให้ประชาชนชาวไทยทุกคนได้รับอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และมีคุณภาพ ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะอยู่ในพื้นที่ห่างไกล หรือมีฐานะยากจนข้นแค้นเพียงใด
แต่การศึกษายังคงเป็นสิ่งที่ถูกปรามาสจากสังคม และถูกตั้งคำถามอยู่เสมอว่ามีคุณภาพจริง ๆ หรือเป็นเพียงหลักสูตรที่ออกแบบมาเพื่อหล่อหลอมให้เด็กกลายเป็นเพียงหุ่นยนต์ที่มีกระบวนการคิดและทัศนคติไปในทิศทางเดียวกันทั้งประเทศกันแน่?
The People จึงชวน ‘
ครูเบน - เบญจ์ บุษราคัมวงศ์
’ ครูกระบวนการ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โรงเรียนที่มักตกเป็นข้อพิพาททางสังคมในการออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอนที่ผิดแผกไปจากขนบนิยม มาร่วมถอดโครงสร้างการศึกษาไทยออกทีละขั้น เพื่อมองหาต้นเหตุของปัญหาที่แท้จริง โดยเริ่มจากการตั้งคำถามสั้น ๆ อย่าง ‘เราจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อย่างไร?’ คำถามที่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังคงไม่สามารถหาคำตอบได้จนถึงปัจจุบัน
The People: ทำไมถึงอยากสร้างการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา
เบญจ์:
จริง ๆ ก่อนหน้าที่จะมาเป็นครูที่โรงเรียนสาธิตฯ เราเคยเป็นศิลปิน เป็นนักการละคร ทำละครเวทีอยู่กับกลุ่มละครพระจันทร์เสี้ยว แล้วก็มีกลุ่มละครเล็ก ๆ ของตัวเองชื่อ For WhaT theatre ทำงานเกี่ยวกับประเด็นทางสังคม การเมือง เพศ ศาสนา แล้วเราก็วิพากษ์โดยใช้วิภาษวิธีมาโดยตลอด แต่พอเราศึกษา เราทำงานมาสักพักหนึ่ง เราก็เริ่มรู้สึกว่าเรามีเครื่องมือละครแล้ว เราพร้อมที่จะถ่ายทอดสิ่งที่เราศึกษาออกสู่สังคม
แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้รู้สึกว่าเราตัดสินใจเข้ามาในระบบการศึกษา จริง ๆ แล้วมันเริ่มมาจากการที่ว่าเราจบครุศาสตร์ แต่เราไม่ได้ทำงานเป็นครู แล้วเราก็วิพากษ์การศึกษาในฐานะที่เป็นคนนอก แล้ววันหนึ่งเราก็ตัดสินใจว่า ในเมื่อเวทีนี้เรามีความรู้ เราสามารถเข้ามาขับเคลื่อนมันได้ แต่เราทำได้แค่วิพากษ์มันจากข้างนอก ทำไมเราไม่ลองกระโดดลงไปอยู่ในวงโดยตรง เราอยากจะอยู่เป็นคนวงในบ้างที่จะทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนระบบการศึกษาดูบ้าง ซึ่งเราเห็นว่าโรงเรียนสาธิตฯ ธรรมศาสตร์ มีวิสัยทัศน์ที่ค่อนข้างใกล้เคียงกับมุมมองความคิดที่เราเคยทำงานมาก่อนหน้านี้ เราก็เลยตัดสินใจสมัครเข้ามาทำงานที่นี่
ส่วนแรงบันดาลใจที่ทำให้เราอยากเข้ามาเป็นครู เกิดขึ้นหลังจากอ่านมังงะเรื่อง ‘Great Teacher Onizuka’ ตอนมัธยมฯ เราชอบมาก ๆ เพราะเราได้เห็นการยอมรับข้อผิดพลาดในอดีตของตัวเอง แล้วพยายามจะกลับไปแก้ไขมัน ในเรื่องตัวเอกเขาเป็นครูที่มีความพยายามและเอาใจใส่ของคุณครูคนหนึ่งที่ก่อนหน้านี้ เพราะเขาเองก็เคยทำเรื่องผิดพลาดในชีวิตเยอะมาก แต่เขาก็พยายามเข้าใจเด็ก ๆ ในวัยเดียวกับเขาเมื่อก่อน
อีกเรื่องหนึ่งคือ ‘Dead Poets Society’ เราดูเรื่องนี้ตอนเรียนมหาวิทยาลัย แล้วรู้สึกว่าเราชอบความกล้าของคุณครูที่จะพาเด็กออกไปเรียนรู้โลกภายนอก เรียนรู้นอกห้องเรียน ออกนอกขนบบ้างก็ไม่เป็นไร นี่คือทั้ง 2 เรื่องที่ทำให้เราอยากเป็นครู และอยากจะเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างให้มันเกิดขึ้นในระบบการศึกษา
The People: ปัญหาของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานอยู่ตรงไหน
เบญจ์:
หลักสูตรของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. จริง ๆ แล้วเป็นหลักสูตรที่ดี เราไม่อยากไปด้อยค่าสิ่งที่เขาวางเอาไว้ เพราะเนื้อหาสาระ หรือวิธีการออกแบบหลักสูตรขึ้นมานั้นล้วนมีมาตรฐาน และเขาทำออกมาได้ดีมากจริง ๆ ซึ่งเราในฐานะครูของโรงเรียนสาธิตฯ ก็ได้หยิบยืมเอาหลักสูตรของ สพฐ. นำมาปรับใช้ เอามารื้อมาตรฐานการเรียนรู้ออกมา เพื่อดูว่าสามารถนำมาบูรณาการอย่างไรให้เข้ากับการเรียนรู้ของผู้เรียน ซึ่งจริง ๆ แล้วมันก็คือการปรับโครงสร้างหลักสูตรใหม่ รื้อโครงสร้างของมันออกมา แล้วลองปรับย้าย ถ้าเราเห็นอะไรที่มันสามารถเชื่อมโยงกันได้ เราก็เอามารวมกัน เพื่อที่จะได้ลดเวลาเรียนในห้องเรียนของเด็กลง จากนั้นเราก็สร้างรายวิชาใหม่ขึ้นมาแทน
เราทำงานกันหนักมาก ก่อนที่เราจะสร้างหลักสูตรที่มีความเฉพาะและเหมาะสำหรับเด็กจริง ๆ เราได้เชิญอาจารย์คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญหลากหลายศาสตร์ หลากหลายสาขา เข้ามาช่วยกันดูแล และระดมความคิด เพื่อออกแบบหลักสูตรของโรงเรียนสาธิตฯ ขึ้นมา เพราะอย่างในหลักสูตรของ สพฐ. เราต้องพูดกันตรง ๆ ว่าเด็กหลายคนเขาไม่รู้ว่าการเรียนวิชาเป็นก้อน ๆ เขาเรียนไปเพื่ออะไร แล้วสิ่งที่เขาเรียนตรงนี้จะเอาไปใช้ประโยชน์ในชีวิตได้อย่างไร
เรายังคงมองว่าตัวหลักสูตร สพฐ. ไม่ได้มีปัญหาอะไร เพียงแค่ไม่สอดคล้องกับบริบทสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และอาจจะไม่สอดคล้องกับความสนใจของเด็กในแต่ละยุคก็เท่านั้น แต่ถ้าถามว่าการศึกษามันย่ำแย่ขนาดไหน อย่าให้ต้องพูดเลยว่ามันย่ำแย่ขนาดไหน (หัวเราะ) เราไม่อยากให้มันออกมาจากปากเลย เพราะทุกคนคงรู้กันอยู่แล้วว่ามันอยู่ในขั้นไหน
The People: ในฐานะคุณครูคนหนึ่ง คิดว่าเราจะมีวิธีการใดที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้
เบญจ์:
ในความคิดของเรา การศึกษามันเป็นปัญหาที่หยั่งรากลึกมานาน ถ้ามันเหมือนต้นไม้ก็คงเป็นต้นไม้ที่รากมันเน่าไปแล้ว แต่เราเห็นแค่เอฟเฟกต์ที่มันเกิดขึ้นในใบ ในลำต้น ในผลของมัน โดยที่เราไม่รู้เลยว่าปัญหาที่แท้จริงมันอยู่ข้างใน มันเป็นอะไรที่ซับซ้อน ทุกอย่างมันเกี่ยวพันกันอยู่ข้างล่าง แล้วเราไม่มีอำนาจที่จะรื้อโครงสร้างของมันขึ้นมาดูและแก้ไขมันได้ด้วยซ้ำ
การจะแก้ปัญหา อันแรกเลยที่เรารู้สึกว่าเราจะเข้ามาแก้ปัญหาตรงนี้ ก็คือเราต้องสร้าง ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ให้กับผู้เรียน แล้วคืนอำนาจในการเรียนรู้ของเขา ให้เขาสามารถเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตัวเองได้ เราไม่ได้เริ่มจากสิ่งที่มันใหญ่โต เราเริ่มจากเล็ก ๆ จากครูเรา จากในห้องเรียน แล้วเราเชื่อว่าถ้าห้องเรียนมันเปลี่ยน ผู้เรียนก็จะเปลี่ยน แล้วถ้าผู้เรียนเปลี่ยน คนที่อยู่รอบ ๆ ผู้เรียน ครอบครัวเขา สังคมที่อยู่รอบเขา บางครั้งมัน ‘อาจจะ’ ค่อย ๆ เปลี่ยนจากตัวเขาไปเรื่อย ๆ มันไม่สามารถแก้ปัญหาทางด้านการศึกษาอย่างเร่งด่วนได้ เพราะว่ามันต้องค่อย ๆ ทำ ค่อย ๆ ปรับ มันอาจจะต้องมีข้อผิดพลาดบ้าง แต่เราก็ต้องเอาข้อผิดพลาดนั้นมาแก้ไข ยอมรับมัน แล้วก็ไปต่อ
การจะสร้างพื้นที่ปลอดภัยในห้องเรียนขึ้นได้นั้น ต้องเล่าย้อนกลับไปก่อนว่าในหลาย ๆ ห้องเรียน คุณครูในห้องจะมีอำนาจในการควบคุมชั้นเรียน อำนาจในการถ่ายทอดความรู้ อำนาจในการถือครององค์ความรู้จะอยู่กับแค่ผู้สอนคนเดียวเท่านั้น แต่การที่ให้ผู้เรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ เราต้องมีพื้นที่ปลอดภัยที่จะทำให้เขามีเสรีภาพในการที่จะกล้าตั้งคำถาม มีเสรีภาพในการแสดงออกความคิดเห็น ทำให้เขารู้จักที่จะรับฟัง และยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างจากเพื่อน ๆ ที่อยู่ในห้องได้
ซึ่งในห้องเรียนของเรา เรายอมที่จะให้เกิดความแตกต่างทางความคิดเห็น เพราะเราต้องการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้พวกเขา แล้วเด็ก ๆ เขาก็จะพร้อมที่จะเปิดกว้างในการรับฟัง และเรียนรู้ในมุมมองที่มันมากกว่ามุมมองของผู้สอนเพียงผู้เดียว เป็นการเชื่อมโยงกันระหว่างนิเวศการเรียนรู้ทั้งกระบวนการ ตั้งแต่คุณครู นักเรียน และครอบครัวของผู้เรียน
The People: เราจะนำเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา เข้ามาอยู่ในระบบได้อย่างไร
เบญจ์:
เด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา เรามองว่าเขาเริ่มรู้สึกว่าเขาไม่ fit in กับมัน เนื่องจากว่าระบบการศึกษาของประเทศไทย ไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วของผู้เรียน ที่พบเจอยุคสมัยของเขาที่มันรวดเร็วมาก ๆ แต่การศึกษาของไทยยังอยู่กับที่ไม่เปลี่ยนแปลงตามโลกที่เปลี่ยนไป
สำหรับวิธีการแก้ปัญหา เรามองว่าหนึ่งก็คือต้องมีการกระจายอำนาจ อำนาจทางการศึกษามันต้องไม่ถูกรวมศูนย์อยู่ที่เดียว บัญชาการจากที่เดียว ต้องเปิดโอกาสให้แต่ละพื้นที่ แต่ละสถานศึกษา สามารถออกแบบ เปลี่ยนแปลง ปรับปรุง แก้ไขวิธีการสอน หรือหลักสูตรของเขาเพื่อให้ทันกับผู้เรียน เพราะหลักสูตรมันล้าหลัง แล้วมันไม่ทันกับโลกที่มันเปลี่ยนแปลงไป นักเรียนเขาก็เริ่มรู้สึกว่าเขามาเสียเวลาเรียนอยู่ในนี้ทำไม เขาเอาเวลาไปเรียนรู้อาชีพ หรือว่าหาเงินอย่างอื่นที่มันจะเลี้ยงปากเลี้ยงท้องของเขา เลี้ยงครอบครัวของเขาได้ไม่ดีกว่าเหรอ
หลาย ๆ คนก็เริ่มหลุดออกจากระบบการศึกษาไป เรารู้สึกว่ามันน่าเสียดาย ขณะที่หลาย ๆ คนเขามีศักยภาพพอที่จะเรียนจบมหาวิทยาลัย หรือว่าทำงานดี ๆ ได้เลย แต่เขาเลือกที่จะออกไปใช้ชีวิตข้างนอกมากกว่า ผมว่าสิ่งที่เราจะช่วยได้ก็คือพัฒนาระบบการศึกษานอกโรงเรียนให้มันได้มาตรฐานมากยิ่งขึ้น แล้วก็เปิดโอกาสให้แหล่งการเรียนรู้ หรือศูนย์การเรียนรู้ที่ทำงานนอกระบบการศึกษาโรงเรียนสามารถสร้างหลักสูตร สามารถสร้าง certificate ที่ได้รับการยอมรับ ได้รับมาตรฐานจากกระทรวงศึกษาฯ เพื่อที่จะให้เด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาเขามีโอกาส มีชอยซ์ที่มากขึ้นกว่าเดิม
เด็กจำนวนมากที่หลุดออกจากระบบ ไม่ได้มีปัจจัยเรื่องที่เขาเรียนหนังสือไม่ได้ หรือว่าเขาไม่พร้อมที่จะเรียน จริง ๆ แล้วเขาพร้อมที่จะเรียน แต่ปัจจัยภายนอกหลาย ๆ อย่าง เช่น ความยากจน สถานการณ์การเรียนออนไลน์ บางคนเขาก็ไม่ fit in กับวิธีการ หรือการนั่งเรียนเลคเชอร์ปกติหน้าคอมพ์ออนไลน์ หรือแม้กระทั่งว่าบางคนไม่มี channel ไม่มีอินเทอร์เน็ตที่จะเข้าไปเรียนออนไลน์ ซึ่งตรงนี้เด็กหลายคนเขาไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเท่าที่ควร
เราใช้งบประมาณที่มาจากส่วนกลาง แต่มันกระจายไปไม่ถึงโรงเรียนย่อย ๆ ในเขตทุรกันดารในต่างจังหวัด ทำให้เราต้องยุบโรงเรียนหลาย ๆ โรงเรียนที่เป็นโรงเรียนขนาดเล็กทิ้ง มันก็เลยทำให้มีเด็กที่หลุดออกจากระบบเยอะมาก เรารู้สึกว่าถ้ามันจะแก้ มันต้องแก้ด้วยการกระจายอำนาจ มันต้องแก้ด้วยการจัดการย่อย ๆ ในแต่ละพื้นที่ แล้วก็ให้งบประมาณที่เหมาะสมกับในแต่ละพื้นที่ เพราะว่าตอนนี้งบประมาณส่วนใหญ่มันมากระจุกอยู่ที่ส่วนกลาง ไปกระจุกอยู่ที่โรงเรียนประจำจังหวัด แต่โรงเรียนเล็ก ๆ โรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล เขาเข้าไม่ถึงทรัพยากรในส่วนนี้ แล้วมันก็ทำให้เด็กที่ขาดโอกาสเหล่านี้หลุดออกจากระบบได้ง่ายดายกว่าเดิมมาก ๆ
The People: สิ่งที่ทำให้การศึกษาไทยยังคงติดอยู่ใน ‘กรอบ’ คืออะไร
เบญจ์:
กรอบของการศึกษาในที่นี้ ผมรู้สึกว่ามันแบ่งออกได้เป็นหลายอย่าง
เรื่องที่ 1 คือกรอบของทัศนคติที่มองคนที่อยู่ในระบบการศึกษา เพราะนักเรียนส่วนใหญ่ที่เข้ามาเรียนในสถานศึกษา เราได้กำหนดกรอบความรู้ไว้อยู่แค่ในห้องเรียน เด็กต้องเรียนรู้เฉพาะตอนที่เข้ามาอยู่ในห้องเรียน แต่การเรียนรู้ในห้องเรียนกลับไม่ fit in แล้วก็ไม่ได้ตอบโจทย์อะไรกับชีวิตเขา เขาต้องออกไปเรียนพิเศษอยู่ดี เพื่อที่จะเอาสิ่งนี้กลับมาใช้ในการเข้ามหาวิทยาลัย
เรื่องที่ 2 คือกรอบเรื่องของการประเมิน ถ้าเราเชื่อในความแตกต่างหลากหลายของมนุษย์ เราก็จะไม่ได้เอาเกณฑ์เดียว พิมพ์คนออกมาให้เหมือนกันหมด แต่เราจะเห็นสิ่งที่เขาแสดงออก เขามีวิธีการ เขามีความถนัด หรือเขาจะใช้วิธีไหนเพื่อแสดงศักยภาพของเขาออกมาให้เราเห็น เขาสามารถเลือกได้
เรื่องที่ 3 คือกรอบของการมองเห็นและยอมรับความแตกต่าง เพราะเราไม่เคยเปิดพื้นที่ให้ผู้เรียนได้มีอิสรภาพในการแสดงออก เราไม่เคยเปิดให้ผู้เรียนรู้สึกปลอดภัยกับการที่มีมุมมองที่แตกต่าง หรือมองในมุมที่แตกต่างออกไป เรามองว่าเด็กสายวิทย์คือเด็กเก่ง เด็กที่ต้องได้รับการดูแลอย่างดี เรามองว่ามันเห็นคุณค่าไม่เท่ากัน เราก็รู้สึกว่าอันนี้มันเป็นการติดกรอบ แต่เป็นกรอบเชิงทัศนคติซะมากกว่า
ซึ่งคำว่า ‘เรา’ ในที่นี้หมายรวมถึงคนที่เกี่ยวข้องกับระบบการศึกษาทั้งหมด ตั้งแต่คุณครู นักเรียน ไปจนถึงผู้ปกครอง มันเชื่อมโยง มันเกี่ยวข้องกันไปหมด แม้กระทั่งว่าผู้กำหนดนโยบายเองก็ตาม เราทำให้มันเกิดสิ่งนี้ขึ้น เราร่วมมือกันทำให้มันเกิดสิ่งนี้ขึ้นมา แล้วคราวนี้มันจะแก้ปัญหายังไง มันก็ต้องกลับมาร่วมมือกันอีกอยู่ดี แต่สิ่งที่เราต้องการก็คือกลับมาร่วมมือกัน แล้วทำให้มันเกิดความหลากหลายเกิดขึ้น มีชอยซ์ให้ผู้เรียนได้เลือกมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่มาร่วมมือกัน แล้วมาพิมพ์คนออกมาแบบเดียวกันทั้งหมด
The People: เราสามารถแก้ทัศนคติของคนหรือกรอบการศึกษาเหล่านี้ได้ไหม
เบญจ์:
เราแก้ทัศนคติใครไม่ได้หรอกครับนอกจากตัวเราเอง (หัวเราะ) เราเปลี่ยนแปลงความคิดใครไม่ได้เลยจริง ๆ เราแค่ทำในสิ่งที่เรารู้สึกว่ามันน่าจะช่วยให้เขาเปลี่ยนได้ แต่สิ่งที่เขาจะเปลี่ยนได้มันก็ต้องเปลี่ยนจากตัวเขาเอง
The People: เด็กไทยในระบบการศึกษาอยู่ในภาวะสับสนเยอะขนาดไหน
เบญจ์:
เยอะ ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่สับสนเมื่อก่อน อันนี้ไม่อยากยกตัวอย่างอะไรไกล อยากยกแค่ตัวเองว่าตัวเองเนี่ยกว่าจะมายืนอยู่จุดนี้ ตัวเองสับสนมาเยอะมาก คือเป็นนักเรียนสายวิทย์เพราะเชื่อว่าเรียนวิทยาศาสตร์ไว้ก่อนมันเข้าได้ทุกคณะ
แต่จริง ๆ แล้วชอบเรียนศิลปะ ชอบวาดรูป ตอน ม.ปลายก็คิดว่าโอเค เดี๋ยวมหาวิทยาลัยจะไปเรียนต่อด้านศิลปะแล้วกัน ปรากฏว่าก็สับสนอีกว่าจะเข้าที่ไหน ไม่รู้ว่าจะเรียนอะไร แต่รู้ว่าชอบศิลปะ เข้าคณะครุศาสตร์มาด้วยโควตานักกีฬา ก็เข้าใจผิดคิดว่าจะได้เรียนศิลปะ ปรากฏว่าเขาให้ไปเรียนสายสังคมกับเทคโนโลยีทางการศึกษา เพราะว่าการเข้าโควตานักกีฬาไม่สามารถข้ามไปเรียนศิลปะได้
ชีวิตเราสับสนไปหมดเลย เราไม่รู้ว่าเราจะเจออะไร แต่สิ่งหนึ่งที่มันพาเรามาถึงจุดนี้เพราะว่าเราได้ไปทำกิจกรรมในมหาวิทยาลัย เราได้ค้นพบตัวเองตอนไปทำกิจกรรมว่าเราชอบอะไร เราไม่ชอบอะไร แล้วเราก็เพิ่งจะรู้ว่ามันมีวิธีการเรียนรู้อยู่นะ
เมื่อก่อนนี้ตอนเราเรียนอยู่ในโรงเรียนมัธยมฯ ไม่มีใครมาสอนวิชาเรียนเรา เขาแค่ให้เราเรียน แต่เขาไม่บอกว่าเราต้องเรียนยังไง พอเราได้มาเรียนคณะครุศาสตร์ เราเลยถึงมารู้ว่า “อ๋อ! การเรียนมันก็ต้องมีวิธีการนะ” แล้วเราก็เลยกลับมาเจอความชอบ เราก็เลยได้เลือก เราก็เลยได้ทดลอง แล้วเราก็เรียนรู้จากการได้ลงมือทำจริง ๆ ซึ่งทำให้อย่างน้อยผู้เรียนเขาได้เจอตัวเองว่าเขาชอบไม่ชอบอะไร จากนั้นเขาถึงจะสามารถเลือกได้ว่าเขาจะไปในทิศทางไหน การเลือกมันเลยสำคัญ มันจะไม่สร้างความสับสน ถ้าตัวเลือกนั้นชัดเจนทุกอย่างก็จบ
The People: เด็กที่จบการศึกษาจากโรงเรียนสาธิตฯ จะสามารถอยู่ในโลกความเป็นจริงได้ไหม
เบญจ์:
เอาจริง ๆ เราไม่กล้าจะเคลม หรือว่าไม่กล้าคอนเฟิร์มว่า โอ๊ย! เด็กที่เราสร้างมาจะออกไปสู่สังคมแล้วเขาจะมีชีวิตรอด ประสบความสำเร็จในชีวิตทุกคน แต่สิ่งหนึ่งที่เรารู้ว่าเด็กเราจะออกไป อย่างน้อยเขาได้เลือกอะไรบางอย่างให้กับชีวิตตัวเองของเขาเองเป็น ถ้าเขารู้สึกว่าเขาไม่ fit in กับสังคมนี้ เขาก็รู้ว่าเขาจะเลือกไปอยู่ในสังคมไหนที่เหมาะกับเขาแน่นอน เรารู้สึกว่าการเลือกของเด็กสำคัญ ถ้าเขารู้จักเลือกตั้งแต่เลือกว่าเขาสนใจอะไร ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร มันทำให้การตัดสินใจ และการเลือกที่มันสำคัญ ๆ มากขึ้นในชีวิตของเขา ให้เขาสามารถเลือกในสิ่งที่เขาสนใจ ให้เขาได้มีประสบการณ์จริง กล้าลงมือปฏิบัติ และเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งเขาอาจจะกลับมาเป็นคนคนหนึ่งที่ลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างให้กับสังคม เมื่อเขากล้า และสามารถตัดสินใจได้ เขาจะไม่สับสน ซึ่งเป็นสิ่งที่เรารู้สึกว่าเป็นเรื่องสำคัญในการที่เขาจะออกไปใช้ชีวิตในสังคม
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3487
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
6940
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
818
แท็กที่เกี่ยวข้อง
เบญจ์ บุษราคัมวงศ์
โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์