read
politics
23 พ.ค. 2565 | 19:25 น.
3 ทศวรรษ พฤษภามหาโหด: เหลียวมองอดีต ถกหาบทเรียนในเดือนพฤษภาคม
Play
Loading...
30 ปีผ่านไปนับจากเหตุการณ์การปราบปรามการชุมนุมในช่วงวันที่ 18 - 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 หรือเหตุการณ์ ‘พฤษภา 2535’ โดยมติชนสุดสัปดาห์ร่วมกับศูนย์ข้อมูลมติชน ได้ร่วมกันจัดงานเสวนานามว่า ‘3 ทศวรรษ พฤษภามหาโหด People Power ฝันไกลที่ไปไม่ถึง’ โดยมีการเชิญผู้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์มาเสวนา แลกเปลี่ยนความคิด เหลียวมองอดีต และถกหาบทเรียนที่จะสามารถนำไปปรับใช้ในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงเป็นโอกาสในการรำลึกถึงเหตุการณ์ที่สำคัญของการเมืองไทยในอดีตเมื่อกาลเวลาได้เคลื่อนผ่านไปกว่า 3 ทศวรรษ
รัฐประหาร เรื่องของวันวาน วันนี้ และวันข้างหน้า
ข้อความข้างต้นกล่าวโดยผู้เสวนาท่านแรก รศ. ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตเคยเป็นแกนนำนักศึกษาคนสำคัญในเหตุการณ์เดือนพฤษภาฯ หลังจากบอกเล่าความรู้สึกของสังคมไทย ณ ขณะนั้นที่มีต่อรัฐประหารผ่านหนังสือพิมพ์วิเคราะห์ข่าวรายสัปดาห์นามว่า ‘ข่าวพิเศษ’ ฉบับเดือนธันวาคม ปี 2533 ที่พาดหัวหน้าปกว่า ‘ลาที รัฐประหาร’ ภายหลังการวางมือของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และมีการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2529 นับเป็นจุดที่สังคมไทยเชื่อว่าเป็นการเปลี่ยนผ่านจากประชาธิปไตยครึ่งใบสู่ประชาธิปไตยเต็มใบ วัฒนธรรมการแก้ปัญหาด้วยรถถัง ด้วยอาวุธ ด้วยกองทัพคงจะมลายหายไปเหลือไว้เพียงตำนานเล่าขาน และ ‘รัฐธรรมนูญ’ จะเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง
“นี่คือเหตุการณ์ที่เป็นเหมือนกับความรู้สึกของสังคมในปลายปี พ.ศ. 2533 มันหมดไปแล้ว มันจบไปแล้ว ไม่มีแล้ว”
แต่ผ่านไปเพียง 2 เดือน สิ่งที่ใครหลายคนมองว่าลาแล้วลาลับกลับหวนคืนกลับมา เพราะในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 การรัฐประหารก็เกิดขึ้นอีกครั้ง…
ปริญญากล่าวว่า ณ ตอนนั้นตัวเขาคิดว่าเป็นข้อผิดพลาดของรัฐธรรมนูญ แต่จากคำให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ว่า “บ้านเมืองจะถอยหลังเพียงแค่ก้าวเดียว แต่จะเดินหน้าไปสิบก้าว แล้วจะให้มีเลือกตั้งภายใน 6 เดือน” จึงทำให้ในตอนแรกคนในสังคมคิดว่าการรัฐประหารที่เกิดขึ้นจะเป็นการแก้ไขปัญหาเพื่อผลลัพธ์เพื่อให้บ้านเมืองกลับคืนสู่ครรลองของประชาธิปไตยดังเดิม
แต่หลังจากการรวมตัวของมหาวิทยาลัยรัฐทั้ง 24 แห่งที่มาคอยติดตามความคืบหน้าของการร่างรัฐธรรมนูญและความคืบหน้าของโปรเจกต์ที่จะทำให้ ‘บ้านเมืองก้าวหน้า’ กลับพบว่ามีหนึ่งในมาตราที่มอบอำนาจให้ ส.ว. มีอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้นจึงเกิดการประท้วงต่อมาตราดังกล่าว และทำให้มาตรานั้นถูกถอดไปในที่สุด ส่วน พล.อ.สุจินดา คราประยูร ก็ให้สัมภาษณ์ว่าตนจะไม่ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ท้ายที่สุดวันที่ 7 เมษายน ในปี พ.ศ. 2535 สุจินดาก็ตระบัดสัตย์และขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 19 ของประเทศไทย และการประท้วงนี้นำไปสู่เหตุการณ์พฤษภา ’35
“แล้วผมก็ไม่เชื่อว่าการที่ทหารเอาปืนมายิงใส่ผู้ชุมนุมมันจะเกิดอีก ก็ไม่เชื่อ แต่มันก็เกิด ทุกอย่างที่เราไม่อยากให้มันเกิดและไม่คิดว่ามันจะเกิด”
ปริญญาตั้งคำถามว่า แม้ว่าเวลาจะล่วงผ่านมากว่า 3 ทศวรรษ แต่บ้านเมืองเราก้าวเดินมาข้างหน้า ย่ำอยู่กับที่ หรือว่าถอยหลัง? ในปี พ.ศ. 2533 ประชาชนคนไทยอาจมองว่ารัฐประหารเป็นเรื่องของวันวาน แต่กลับกลายเป็นว่าในวันนี้ 30 ปีถัดมา รัฐประหารคือเรื่องของวันนี้ และใครอีกหลายคนก็ยังคาดเดาและหวาดระแวงว่ามันจะเป็นเรื่องของอนาคตเสียด้วยซ้ำ
อีกประการหนึ่งที่สามารถบอกเราได้ว่าประเทศไทยไม่ได้ก้าวไปไหนเลยคือชื่อของคณะรัฐประหารที่คล้ายคลึงกันเสมอมาและการร่างรัฐธรรมนูญอยู่บ่อยครั้ง จนมีการใส่กลไกให้แก้ยากมากขึ้นผ่านกฎที่ว่าการแก้รัฐธรรมนูญครั้งหนึ่งต้องมีเสียง ส.ว. หนึ่งในสามที่ลงมติเห็นชอบด้วย จึงทำให้ปัจจุบันนี้แก้ไขรัฐธรรมนูญยากมาก ไม่ว่าความพยายามแก้เหล่านั้นเพื่อประโยชน์ของความเป็นธรรมหรือไม่ โดยปริญญาชี้ให้เห็นว่าการมี ส.ว. แต่งตั้งเป็นการทำลายหลักการ ‘หนึ่งคนหนึ่งเสียง’ ตามครรลองของประชาธิปไตยที่ ‘ประชา’ เป็นเจ้าของ ‘อธิปไตย’ นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับแรกในปี พ.ศ. 2475
“มาตราหนึ่ง (ของรัฐธรรมนูญฉบับแรก) บัญญัติว่า ‘อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย’”
ปริญญากล่าวว่าการเห็นต่างกันในสังคมนับเป็นเรื่องธรรมดา แต่สิ่งที่สำคัญคือการตัดสินเหล่านั้นต้องจบที่ผลของการเลือกตั้ง เพราะมันคือการแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมที่เป็นธรรมที่สุด เพราะทุก ๆ คนมีเสียงเท่ากัน แต่ตัดภาพมาที่การเลือกตั้งครั้งล่าสุดในปี พ.ศ. 2562 ที่มี ส.ว. จำนวน 250 คนมาร่วมเสนอชื่อผู้ที่จะดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี โดยที่ ส.ว. เหล่านั้นไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงเหมือน ส.ว. (ส.ส. หรือเปล่า) จากในรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 ด้วยเหตุนี้ปริญญาชี้ให้เห็นว่าเลือกตั้งไปอย่างไรก็ไม่จบ เพราะท้ายที่สุดก็มี ส.ว. ที่ไม่ได้ถูกเลือกมาจากประชาชนโดยตรงกลับมีเสียงที่ดังกว่าประชาชนมาเลือกอีกอยู่ดี
ปริญญาเชื่อว่าประเทศไทยต้องกลับสู่จุดที่การที่ทุกคนเคารพกติกา โดยทุกคนมีหนึ่งเสียงอย่างเท่าเทียมกัน และให้การตัดสินจบที่การเลือกตั้งอย่างแท้จริง กว่า 30 ปีที่ครบรอบเหตุการณ์พฤษภา ’35 และกว่า 90 ปีที่ครบรอบประชาธิปไตยของประเทศไทย ถึงเวลาแล้วที่การปฏิวัติรัฐประหารจะเป็นเรื่องที่เราจะทิ้งไว้ในวันวานไม่ให้เกิดขึ้นอีก ‘จริง ๆ’
“ผมเปรียบประชาธิปไตยเหมือนต้นไม้ ต้นไม้ต้นนี้ไม่มีทางที่จะออกราก เติบโตให้เข้มแข็ง และเป็นร่มเงาของประชาชนให้ใช้ประโยชน์ได้เลย เพราะมันถูกโค่นอยู่เรื่อย ๆ แล้วก็ปลูกใหม่ ถูกโค่นแล้วปลูกใหม่ แล้วต้นไม้ประชาธิปไตยจะเติบโตได้อย่างไร”
การเคลื่อนไหวในวันนั้นกับการเปลี่ยนไปในวันนี้
ผู้เสวนาท่านต่อมาอย่าง สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บ.ก. ลายจุด นักกิจกรรมทางการเมืองที่เคลื่อนไหวมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 จนถึงปัจจุบัน ก็เล่าย้อนถึงบรรยากาศการชุมนุมในช่วงปี ’35 ว่าเขาเองก็เคยเล่นละครใบ้นามว่า ‘อำนาจ’ จนถูกจับและถูกแปะป้ายห้ามเข้าอาคารที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยหลังจากเกิดเหตุการณ์รัฐประหารปี ’34 เบื้องหลังเวทีการชุมนุมประท้วงก็เต็มไปด้วย NGOs และอดีตฝ่ายซ้ายมากมายหลายคน แม้กระทั่งบริษัทออกแบบก็ยังปิดบริษัทมาร่วมประท้วงด้วย
ในส่วนของนักศึกษาก็ริเริ่มที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยมีนักศึกษาถูกจับกุมกว่า 15 ราย สมบัติจำได้แม่นเพราะเขากำเงินเก็บของตัวเองกว่าหนึ่งหมื่นบาทไปช่วยจ่ายค่าประกันตัว โดยในช่วงปี 2534 - 2535 สมบัติก็สิงอยู่ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยเขาเคยเชิญชวนรุ่นน้องให้แสดงออกทางสัญลักษณ์ผ่านการทาตึกเป็นสีดำ
นอกจากนั้นสมบัติก็เล่าถึง Youth Training Program หรือ YT ที่เป็นองค์กรจัดตั้งโดยหนุ่มสาวที่เคลื่อนไหวต้านเผด็จการอย่างขันแข็ง โดย YT ก็เดินสายไปตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนให้กลุ่มนักศึกษาต่อต้านการยึดอำนาจของ รสช.
“อย่าให้การรัฐประหารนั้นสำเร็จ!”
สมบัติกล่าวว่าข้อความข้างต้นเป็นชุดความคิดในยุคสมัยช่วงปี 2535 โดยคู่มือการต้านรัฐประหารของ ‘ยีน ชาร์ป’ (Gene Sharp) นับว่าเป็นที่นิยมและถูกเผยแพร่อย่างมาก องค์กรเอ็นจีโอต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นในด้านของสันติภาพ ด้านของศาสนา หรือสังคมก็เผยแพร่งานเขียน มีการฝึกอบรม มีการ Workshop ต่าง ๆ นานาจากงานเขียนของยีน ชาร์ป วิธีการประท้วงโดยสันติ เครื่องมือในการต่อต้านอำนาจรัฐ และประเด็นต่าง ๆ ถูกให้ความสนใจและศึกษาอย่างเข้มข้น
อย่างไรก็ตามก็เป็นที่น่าเสียดายที่บทเรียนและความรู้ต่าง ๆ ที่คนในยุคนั้นได้รับจากเหตุการณ์ปี 2535 กลับไม่ได้ถูกนำมาปรับใช้เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์วนกลับมาซ้ำรอย สมบัติกล่าวว่าเหตุเพราะเราแตกแยกกัน โดยหลาย ๆ คนก็กลับยืนอยู่ฝั่งที่สนับสนุนหรือนิ่งเฉยต่อการยึดอำนาจรัฐประหาร ด้วยเหตุนี้ แม้ว่าจะได้รับบทเรียนมาแล้ว แต่ภาคประชาสังคมที่น่าจะมีบทบาทในการต่อต้านการรัฐประหารก็อ่อนแอลง และไม่สามารถนำบทเรียนที่เรียนรู้แล้วมาใช้ไม่ให้หกล้มกับหลุมเดิมที่เคยสร้างบาดแผลให้เรามาก่อนแล้ว
“ในปี 2549 หลังจากยึดอำนาจได้ 4 วัน มีพี่คนหนึ่งโทรศัพท์ไปบอกพรรคพวกผมว่า ‘บอกไอ้หนูหริ่งหน่อย อย่าเพิ่งใจร้อน’ ผมนี่ตกใจนะ เพราะผมคิดว่าตอนผมออกมาต้านรัฐประหาร ผมจะเจอพวกพี่ ๆ ปี 2535 เต็มไปหมด…แต่ไม่ใช่”
สมการพีชคณิตที่ซับซ้อนของทหารและการเมืองไทย
ในด้านของผู้เสวนาลำดับสุดท้ายอย่าง พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์ นายทหารนักเขียน ผู้สนใจประวัติศาสตร์การเมืองไทย ก็ได้ทำการยกตัวอย่างประวัติศาสตร์ไทยและการพัฒนาของแนวคิดทหารไทยนับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ. 2475 ที่เริ่มจากทหารนักคิดแล้วต่อมาก่อเกิดทหารการเมืองในยุค พ.ศ. 2490 และจบลงในยุค 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 โดยที่นายทหารจาก จปร. รุ่นที่ 5 ที่ดำรงตำแหน่งสำคัญ ณ ขณะนั้นก็เริ่มถูกแทนที่ด้วยนายทหารจาก จปร. รุ่นที่ 7 โดยต่อมาก็เกิดกลุ่มทหารยังเติร์กในปี พ.ศ. 2521 และเกิดกบฏเมษาฮาวาย แต่ท้ายที่สุดเหตุการณ์การจะรัฐประหารรัฐบาลของ พล.อ.เปรมนั้นก็ล้มเหลว ต่อมาในปี พ.ศ. 2426 หลังจากที่นายทหารจาก จปร. รุ่นที่ 7 ด้อยอำนาจหายไป นายทหารเดิมที่เคยเรืองอำนาจในอดีตอย่าง จปร. 5 ก็กลับขึ้นมาแทนที่ แล้วก็นำพากองทัพไทยสู่แนวคิดแบบเก่าก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ในปี พ.ศ. 2535
โดยที่กล่าวมาทั้งหมด พล.อ.บัญชรพยายามจะชี้ให้เห็นว่านับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 การเมืองไทยได้พัฒนาความซับซ้อนขึ้นเรื่อย ๆ เสมอมา จากที่เมื่อก่อนเป็นแค่การต่อสู้ของราษฎรและระบอบเก่า แต่หากกล่าวถึงในปัจจุบัน มีตัวแปรที่เราไม่รู้เกี่ยวโยงข้องแวะกันมากมายไปหมด และแน่นอนว่าทหารก็เป็นหนึ่งในสมการที่ยุ่งเหยิงนี้ด้วย
“ถ้าในภาษาพีชคณิตที่ผมพอจะจำได้นิดหน่อย ในปัจจุบันตัว Unknown มากมายมหาศาล พีชคณิตชั้นเดียวก็ตัว x ซึ่งง่าย ไขว้เสียก็จบ ถ้าสองชั้นก็ x และ y พอมาสามชั้นก็เริ่มเหนื่อยแล้วครับ เพราะว่ามีทั้ง x y และ z บ้านเมืองเราทุกวันเป็นอย่างนี้”
ท้ายที่สุด พล.อ.บัญชรเสนอว่าวิธีง่าย ๆ ที่จะแก้ไขสมการนี้ได้ แต่ก็ยากมากที่จะทำได้จริง ก็คือการที่ทหารถอนตัวออกจากการเมือง เพราะอย่างน้อยจะทำให้สมการการเมืองที่ยุ่งเหยิงในประเทศไทยได้ลดตัวแปรไปสักตัวหนึ่ง
Lessons (Hopefully) Learned
ช่วงท้ายที่สุดของการเสวนาเป็นการถกหาว่าจากเหตุการณ์พฤษภา ’35 ผู้ร่วมเสวนาแต่ละท่านสามารถถอดบทเรียนอะไรจากเหตุการณ์ครั้งนี้ได้บ้าง เราจะสามารถนำข้อคิดอะไรมาปรับใช้กับปัจจุบันเพื่อให้ก้าวเดินไปข้างหน้าในทางที่จะไม่กลับไปสะดุดแล้วหกล้มรอยเดิม
“ทหารมีหน้าที่ปกป้องประเทศไม่ใช่ปกครองประชาชน”
ปริญญาตั้งคำถามที่น่าสนใจว่าทำไมในคราวของสุจินดาถึงดำรงตำแหน่งได้เพียง 47 วัน แต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถึงลากยาวนานมากว่า 8 ปี ขนาดพล.อ.ประยุทธ์ที่เคยกล่าวไว้ในวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2558 หนึ่งปีภายหลังการรัฐประหารว่าจะไม่สืบทอดอำนาจ แต่ในปัจจุบันก็ยังดำรงอยู่ดังเดิม
นอกจากนั้นปริญญายังชี้ให้เห็นว่าเมื่อยุคสมัยผ่านไป เทคโนโลยีต่าง ๆ ก็วิวัฒน์ตาม ในอดีตการที่จะประท้วงครั้งหนึ่งก็ต้องเขียนผ้าใบ หาสถานที่ที่เป็นแลนด์มาร์คที่น่าสนใจแล้วไปยืนประท้วงเพื่อหวังว่าจะมีสำนักสื่อนำไปทำข่าว แต่ตัดกลับมาในยุคปัจจุบันทุกวันนี้ไม่ต้อง เพราะเราสามารถประท้วงหรือแสดงความคิดเห็นผ่านโซเชียลมีเดียได้ทันที การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะทำให้ประชาธิปไตยแบบตัวแทนนั้นถดถอยลง แต่ก็จะทดแทนด้วยประชาธิปไตยผ่านสมาร์ตโฟนของเรานี้เอง
ท้ายที่สุดเขาได้ยกตัวอย่างถึงกรณีของเขาที่เคยได้สนทนากับนายทหารท่านหนึ่งว่าเวลาจะผ่านไปหรือสภาพแวดล้อมจะเปลี่ยนไป ความคิดของการยึดอำนาจยังมีอยู่เสมอ รอเพียงโอกาสให้มันปะทุเท่านั้น โดยจะบรรลุได้หลาย ๆ ส่วนต้องช่วยกัน ศาลต้องสร้างบรรทัดฐานใหม่ว่าจะไม่รับรองการรัฐประหาร ส่วนประชาชนก็ต้องกำหนดอนาคตตัวเองผ่านการเลือกตั้งและเคารพหลักการของประชาธิปไตย
“อย่ารอให้ปฏิวัติแล้วค่อยมาต่อต้าน ต้องหาทางป้องกัน”
ในด้านของสมบัติกล่าวว่าการมีรัฐประหารอย่างต่อเนื่องจะทำให้ทหารหนุ่มมองว่าพวกเขามีโอกาสถูกหวยรางวัลที่หนึ่งในการเป็นนายกรัฐมนตรีได้ แนวคิดทำนองนี้ถูกบ่มเพาะและส่งต่อ ช่วงภายหลังปี 2535 มีเอ็นจีโอไปบรรยายให้นักเรียนทหารให้เห็นโลกกว้างขึ้น แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าอะไรเหล่านี้กลับถดถอยลงในปี 2549 และ 2553
พล.อ.บัญชรกล่าวทิ้งท้ายในประเด็นเดิมว่าการจะแก้โจทย์ปัญหานี้ให้ง่ายขึ้น ทหารต้องถอนตัวจากการเมืองเพื่อลดตัวแปรให้น้อยลง แต่อย่างไรก็ตาม ทหารเพียงตัวแปรเดียวที่จะถอนตัวเองออกไปคงเป็นเรื่องยาก คงต้องอาศัยความช่วยเหลือของตัวแปรอื่น ๆ ร่วมด้วยที่ทำให้เรื่องนี้เป็นไปได้
“อย่างน้อยที่สุด ถอดตัว x ของทหารออก โจทย์มันก็จะหายไปบรรทัดหนึ่ง”
ท้ายที่สุดสมบัติได้กล่าวว่า ตั้งแต่เหตุการณ์ในปี 2535 จนมาถึงปัจจุบัน มันทำให้เขาได้ตกผลึกความคิดออกมาว่าการเชื่อในหลักการเป็นสิ่งที่มั่นคงที่สุด แม้เขาจะถูกจำกัดความว่าเป็นพวกลัทธิคัมภีร์ แต่อย่างน้อยหลักการก็เป็นสิ่งที่ยืนยงกว่าการยึดถือในตัวบุคคลที่ผันแปรไปตามการเคลื่อนไหวของกาลเวลาอยู่เสมอ ๆ
“อย่าเดินตามคน ยึดถือหลักการ”
ภาพ: มติชน
ที่มา: งานเสวนา ‘3 ทศวรรษ พฤษภามหาโหด People Power ฝันไกลที่ไปไม่ถึง…’
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
พลรพี เหรียญชัยวานิช (แซม โอเดนย่า) : มิตรภาพ ความฝัน ความทรงจำยุค 90
29 ต.ค. 2567
128
แซม โอเดนย่า : มิตรภาพ ความฝัน ความทรงจำยุค 90 | Inspiring Story
26 ต.ค. 2567
10
Platinum Fruits ปักธงผลไม้พรีเมียมจากไทยในใจผู้บริโภคทั่วโลก
14 ส.ค. 2567
29
แท็กที่เกี่ยวข้อง
พฤษภา35