06 มิ.ย. 2565 | 13:00 น.
“สมัยก่อนอาจจะไม่มีอุปกรณ์ชั่งตวงวัดแบบสมัยนี้ แต่แกจะยึดหลักง่าย ๆ อย่างชามตราไก่ ใช้น้ำตาลกี่ถ้วย กะทิกี่ถ้วย แล้วจดเป็นสูตร จากนั้นสัก 60 ปีเริ่มต้นสร้างแบรนด์ใช้ชื่อว่า หมีบินไอสครีม เนื่องจากยุคนั้นตราสินค้าจะเป็นกระต่ายบิน ช้างบิน อะไรสารพัดบินที่เกิดขึ้น จนเมื่อประมาณ 20 ปีต่อมา รีแบรนด์จากหมีบินมาเป็นไผ่ทองไอสครีม ซึ่งมาจากคำว่า ‘กิมเต็ก’ ในภาษาจีน ที่มีความหมายว่า ไอศกรีมคุณธรรมดั่งทอง ตอนแรกพ่อพี่จะใช้ชื่อนี้ แต่ชื่อยาวไปเลยใช้ไผ่ทองแทน” คุณรตาย้อนอดีตให้ฟังฟังเสียงลูกค้าให้มากแล้วปรับให้ทัน จากร้านสาขาแรกบนถนนเจริญรัถ มีการขยายสาขาอื่น ๆ และมีคนมาซื้อแฟรนไชส์ไปขายที่จรัญสนิทวงศ์ 46 ทำให้ไผ่ทองเริ่มทำในรูปแบบอุตสาหกรรม มีการตั้งโรงงานที่สะพานขาว และขยายสาขาเพิ่มขึ้น จน ณ ปัจจุบันมีสาขาอยู่ทั้งหมดราว ๆ 360 แห่ง โดยเคล็ดลับความสำเร็จ นอกจากมาตรฐานและคุณภาพของรสชาติที่คุณรตายืนยันว่า ตลอด 71 ปีที่ผ่านมายังคงรักษาไว้อย่างเสมอต้นเสมอปลาย อีกปัจจัยก็มาจากการปรับตัวและฟังเสียงลูกค้าให้มากขึ้น
“ต้องเข้าใจก่อนตอนนี้บริบทของโลกและคนเปลี่ยนไป เราเองก็จะต้องปรับตัวไปด้วย ธุรกิจไผ่ทองเป็นอะไรที่พวกเราค่อย ๆ สร้างขึ้นมา ไม่อยากให้หายไป และอยากให้มันเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของคนไทย”ยกตัวอย่าง ยุคเริ่มแรกไผ่ทองไอสครีมจะตั้งเป็นตู้ขายตามร้าน แต่เมื่อลองสังเกตพฤติกรรมลูกค้าจะพบว่า ส่วนใหญ่จะอยากกินไอศกรีมเมื่อเห็น ไม่ใช่อยากกินแล้วเดินหา จึงปรับรูปแบบมาเน้นขายด้วยรถเข็นหรือรถพ่วง ซึ่งเป็นวิธีที่เป็นจุดเริ่มต้นให้ไผ่ทองเข้าไปอยู่ในใจของคนไทย และชัดเจนมากขึ้นเมื่อ 4 ปีที่ผ่านในช่วงส่งไม้ต่อจาก Gen 2 ไป Gen 3 ด้วยการปรับทุกอย่างให้เป็นระบบ มีการเช็กสถิติและฟังเสียงลูกค้ามากขึ้น เพื่อจะรักษาฐานลูกค้าเก่า และปรับตัวเข้าถึงคนรุ่นใหม่
“เราฟังเสียงผู้บริโภคค่ะ ไม่ว่าจะ complain หรือ comment บางคนบอกโอ้ยรถไผ่ทองเขาไม่เน้นขาย เน้นขับโชว์ เราได้ยินหมด แล้วนำเรื่องเหล่านี้มาแก้ไขปรับปรุงไปทีละจุด”จากการฟังและเช็กสถิติต่อเนื่อง สิ่งที่พบคือ สาขาเมืองชั้นในมียอดขายตกลง ขณะที่สาขาต่างจังหวัดยังดีอยู่ เนื่องจากไผ่ทองมีคู่แข่งทางอ้อม นั่นก็คือ เหล่าบรรดาไรเดอร์ที่ให้บริการเดลิเวอรี เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคปลายทางเริ่มเปลี่ยนไป เช่น ในอดีตช่วงพักกลางวันคนจะลงมาหาอะไรกินข้างล่าง ตอนนี้ทุกคนควักโทรศัพท์ขึ้นมาสั่ง แล้วให้ไปส่งถึงที่ ไม่ยอมลงมาเจอรถไผ่ทองอีกต่อไป ทั้ง ๆ ที่ยังขายอยู่ที่เดิม และนั่นเป็นจุดกำเนิดของ ‘ไผ่ทองสเตชั่น’ การเปิดร้านขายไผ่ทองที่มีโมเดลหลากหลาย ทั้งบูธ, Truck food และเดลิเวอรี ที่นอกจากจะมีรสชาติพื้นฐานแล้ว ยังมีไอศกรีมพรีเมียมที่ไผ่ทองไม่เคยทำ เช่น รสทุเรียน, บราวนี่ ฯลฯ โดยปัจจุบันมีประมาณ 50 สาขา เพื่อมาแก้โจทย์นี้ รวมไปถึงการเปิด Vending machine ที่เริ่มโปรเจกต์นำร่องที่ปั๊มบางจาก สาขาสุขุมวิท 62 ซึ่งสร้างกระแส Talk of the town ให้ชื่อของไผ่ทองไอสครีมได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก VendingMachineห้องทดลองขนาดย่อม คุณรตาเล่าว่า Vending machine ใช้เวลาพัฒนานาน 3 ปี และเป็นเหมือนห้องทดลองขนาดย่อมให้ศึกษาในหลาย ๆ เรื่อง อาทิ การหาตู้อุณหภูมิติดลบ เพราะในไทยไม่มีมาก่อน การคิดไซซ์ของไอศกรีมที่ขายในตู้ให้เหมาะสมกับการรับประทาน การเรียนรู้ความนิยมของลูกค้าว่าชอบรสชาติอะไรจากสถิติการขายผ่านตู้ ปัญหาที่เจอ เป็นต้น เพื่อนำมาปรับปรุงพัฒนาตัวโปรดักต์และบริการต่อไป
“ตู้จะมีระบบ AI คอยส่งมาที่ส่วนกลางถึงข้อมูลต่าง ๆ เราก็ค่อย ๆ เรียนรู้ไป ตอนตั้งอยู่โรงงานไม่งอแงนะ อาจเพราะการสั่งไม่เยอะ ตอนนี้ได้ยินมาจาก Blogger หลายที่ว่าตู้มีปัญหา เพราะมีการใช้จำนวนมากและต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง ส่วน Vending machine เครื่องที่ 2 จะวางในอีกไม่นาน ตัวนี้มีท็อปปิ้งในเครื่องด้วย”เมื่อถามว่า ไอศกรีมรสชาติไหนขายดีสุด แน่นอน Top hit ของไผ่ทอง อันดับ 1 หนีไม่พ้น ‘รสกะทิ’ ตามมาด้วย ‘รสโกโก้’ และ ‘ชาเขียว’ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายใด ถ้าเป็นเด็ก จะเน้นสีสัน เช่น ‘รสมะนาว’ โดยรสชาติของไอศกรีมทั้งหมดมาจากตัวสินค้าจริง ๆ เช่น รสกะทิ ทำจากกะทิคั้นสด ไม่ใช่กะทิผง รสเผือก จะเป็นการนำเผือกไปต้มแล้วบดผสมกับไอศกรีม หรือรสมะนาว ก็ทำมาจากมะนาวแท้ เตรียมส่งออกไอศกรีมวิถีไทยให้คนทั่วโลก ดูเหมือนว่า ไผ่ทองพยายามปรับตัวเพื่ออัปเกรดตัวเองเข้าสู่ตลาดพรีเมียม คำถามนี้คุณรตาตอบว่า ไผ่ทองรู้ positioning ของตัวเองชัดเจนว่า เป็นสินค้าสำหรับตลาดกลางถึงล่าง ส่วนจะขยับไปตลาดบนหรือไม่ วันหนึ่งน่าจะทำ แต่ไม่ใช้ตราสินค้าไผ่ทอง เพราะรู้ดีว่าจุดยืนและฐานลูกค้าของตัวเองที่แข็งแรงมาตลอด 71 ปีอยู่ที่ไหน โดยสิ่งที่ไผ่ทองทำมาทั้งหมด เป็นการปรับตัวเพื่อเข้าถึงคนยุคใหม่
“ไผ่ทองมีมานาน เป็นสินค้าที่เติบโตมาพร้อมกับใครหลายคนที่ตอนนี้อายุมากขึ้น แต่กับคนรุ่นใหม่บางคนเริ่มไม่รู้จักเราแล้ว เราเลยต้องมาเรียนรู้ทำความเข้าใจกับลูกค้ากันใหม่”สำหรับเส้นทางต่อไปของไผ่ทอง ยังยืนยันในเรื่องมาตรฐานและคุณภาพของรสชาติ บวกกับการพัฒนาด้านต่าง ๆ เพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิม ควบคู่กับขยายเข้าถึงคนรุ่นใหม่ และตอนนี้ไผ่ทองไปเติบโตในต่างประเทศแล้ว โดยมีสาขาในกัมพูชาประมาณ 25 สาขา เป็นรูปแบบของแฟรนไชส์ และในอนาคตหวังว่าประเทศเพื่อนบ้านจะมีไผ่ทองไอสครีมไปวางจำหน่าย รวมถึงตลาดต่างประเทศอื่น ๆ ด้วย
“วันนี้ตัวไผ่ทองพัฒนาเป็นลักษณะของ dropship ใคร ๆ ก็ขายสินค้าเราได้ ขอแค่มีมือถือ และเราเองมีทีมงานแข็งแรงมาก ดังนั้นในวันหนึ่งชาวโลกค่ะ ใช้คำว่าชาวโลกอาจจะมีสิทธิ์ได้กินไอศกรีมวิถีไทย ๆ ที่ based on กะทิ น่าจะเป็นอนาคตอันใกล้ ตอนนี้เราเตรียมการไว้แล้ว”สุดท้ายคุณรตาย้ำว่า ไผ่ทองไอสครีมยังต้องเดินทางอีกไกล และจะพัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไปไม่หยุด เพื่อส่งต่อความสุขถึงผู้คนแบบรุ่นต่อรุ่นผ่านไอศกรีม และยังยืนคำเดิมว่าจะยังคงรักษาเรื่องของคุณธรรมในการทำการค้า และคุณธรรมของการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสู่ผู้บริโภค เช่นเดียวกับที่ทำมาตลอด 71 ปี