25 มิ.ย. 2565 | 20:57 น.
“เราผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก แต่ทุกครั้งจะเป็นแค่ช่วงสั้นๆ ส่วนโควิด-19 เราไม่เคยคิดว่า จะอยู่กับเรานานขนาดนี้ จนเราต้องตัดสินใจทำในสิ่งที่ไม่อยากทำ” พอลล์ กาญจนพาสน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด(มหาชน) เล่าถึงช่วงสถานการณ์กว่า 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งหลายธุรกิจต้องเผชิญกับสึนามิลูกใหญ่ รวมถึงตัวเขาเองและยอมรับว่า เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดนับตั้งแต่เข้ามานั่งบริหารงานบางกอกแลนด์ ย้อนกลับไปเมื่อปี 2516 ‘อนันต์ กาญจนพาสน์’ ได้ตั้งบางกอกแลนด์ขึ้นมา มีวัตุประสงค์หลักเพื่อพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ‘เมืองทองธานี’ ที่ดินย่านแจ้งวัฒนะที่มีพื้นที่กว่า 4,000 ไร่ให้เป็นเมืองแห่งการอยู่อาศัยและการพาณิชย์ โดยปัจจุบันบริษัทดังกล่าวยังมีบริษัทในเครืออีกมากมาย อาทิ ‘บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด’ บริหารศูนย์แสดงสินค้าและจัดประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี , ชาเลนเจอร์ ฮออล์ เป็นต้น ‘บริษัท บางกอกแลนด์ เอเจนซี่ จำกัด’ ให้เช่าพื้นที่สำนักงานในเมืองทองธานี, ‘บริษัท เมืองทอง เซอร์วิสเซส แอนด์ แมเน็จเม้นท์ จำกัด’ ให้บริการด้านบริหารจัดการทรัพย์สิน และในเดือนตุลาคมนี้ จะมีธุรกิจใหม่นั่นคือ Lenôtre Culinary Institute โรงเรียนสอนทำอาหารที่ร่วมมือกับโรงเรียนจากประเทศฝรั่งเศส ถอดบทเรียนกว่า2ปีแห่งการยากลำบาก
“เราอาจจะมองว่าเรามีพนักงาน 3,000 คนที่ต้องดูแล ขณะเดียวกันเราก็มีผู้ถือหุ้นไม่รู้กี่พันกี่หมื่นคนที่เราต้องดูแลรับผิดชอบด้วย สุดท้ายก็ต้องทำสิ่งที่เราไม่อยากทำที่สุด คือต้องให้ลูกน้องมาลำบากพร้อมกับพวกเรา”
อย่างไรก็ตาม วิกฤตแต่ละครั้งที่เกิดขึ้นสอนให้เกิดการเรียนรู้หลายอย่าง แต่หลักๆ จะเป็นเรื่อง flexibility และ Risk Management การบริหารจัดการความเสี่ยงที่ต่อจากนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น โดย flexibility ด้วยการที่บางกอกแลนด์มีงานขึ้นลงไม่แน่นอน เช่น วันนี้มีงานใหญ่ หยุดไป 3 วันก็มีงานเล็ก แล้วมีงานใหญ่อีก ทำให้การบริหารจัดการเรื่องเวลาของพนักงานเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเขาไม่ใช่หุ่นยนต์ที่ทำงานได้ 24 ชั่วโมง 365 วันต่อปี ต้องให้เวลาพักผ่อน มีโอกาสใช้เงินเดือน ให้รู้ว่างานที่ทำมีความหมายกับตัวเองอย่างไร และแน่นอนต้องมีการปรับเรื่องตำแหน่งและผลตอบแทน
“สมัยก่อนเราอาจจะมีโฆษณาว่า เมืองทองธานีติดกับทางด่วน จะมีรถไฟฟ้าเข้ามาในปี 2025 มีความสะดวกในการอยู่อาศัย แต่ในอนาคตการพูดถึงเรื่องดูแลสิ่งแวดล้อม ทำให้พื้นที่ๆ อยู่รอบๆ เมืองทองที่มีผู้คนอาศัยหลายแสนคน ไม่ต้องมาเดือดร้อนเพราะพวกเรา ทำให้หน่วยงานของรัฐที่มาดูแลเราทำงานได้ง่ายขึ้น มันเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และเป็นหน้าที่ที่เราต้องทำ”
ที่ผ่านมาบางกอกแลนด์ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมาตลอด และล่าสุดได้เปิดตัว ‘อิมแพ็คฟาร์ม’ ส่งเสริมเกษตรกรที่มีการปลูกผักผลไม้ด้วยวิธีเกษตรอินทรีย์ ด้วยการได้นำผักผลไม้เหล่านั้นมาจำหน่ายให้กับผู้บริโภคโดยตรง หรือนำไปใช้ในร้านอาหาร สถานที่จัดงานและโรงแรมภายในเครือบางกอกแลนด์
“เมื่อก่อนผมไม่ค่อยสนใจเรื่องวัตถุดิบในการทำอาหารว่ามีวิธีปลูกหรือมาจากที่ไหน แค่มองว่า รับประทานในร้านอาหารมีชื่อเสียง ซื้อจากซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วไปก็เป็นของดีล้ว แต่เมื่อมีลูกก็เริ่มสนใจเรื่องพวกนี้รู้ว่า อาหารที่ฉีดฮอร์โมนสารเร่งโตในสัตว์เป็นอะไรที่ไม่ดี การปลูกพืชด้วยสารเคมีทำให้ดินเสีย กระทบต่อสิ่งแวดล้อม และผมอยากให้คนทั่วไปเห็นความสำคัญด้วย”
นอกจากส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ผ่านโครงการอิมแพ็คฟาร์มแล้ว ตอนนี้บางกอกแลนด์ยังมองถึงการกำจัดขยะ ไม่ว่าจะเป็นขวดพลาสติก เฟอร์นิเจอร์เก่า และอื่นๆ ด้วยกระบวนการที่ถูกต้องและไม่ให้เกิดสูญเปล่า
“การที่เราเข้าไปช่วย มีส่วนร่วมแค่นี้ก็เป็นสิ่งที่เราน่าภูมิใจ ตอนนี้เรากำลังมองถึงเนื้อสัตว์ พวกซีฟู้ดอยากติดต่อชาวประมง แล้วก็ซื้อตรงจากเขา ให้มีรายได้ดีขึ้น เป็นธุรกิจที่ยั่งยืน ส่วนการบริหารจัดการขยะได้อย่างถูกต้อง เหมือนช่วยแก้ปัญหาให้โลกทางอ้อม และไม่ทิ้งภาระให้กับรุ่นต่อไป เรื่องพวกนี้ผมมองเป็นสิ่งสำคัญที่คนทำธุรกิจต้องคำนึงถึงด้วย ณ ปัจจุบัน”
เปิดกว้างผสมผสานความคิด