Shinkanzen Sushi ความสำเร็จที่เกิดขึ้นได้ เพราะ Passion และลงมือทำ

Shinkanzen Sushi ความสำเร็จที่เกิดขึ้นได้ เพราะ Passion และลงมือทำ

จากเงินลงทุนหนึ่งแสนบาทเปิดสาขาแรกที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต ตอนนี้ Shinkanzen Sushi มีสาขาอยู่ราว 38 แห่ง มียอดขายแตะ 1,000 ล้านบาท ซึ่งการประสบความสำเร็จถึงจุดนี้ได้ เพราะมี Passion และกล้าลงมือทำ

ย้อนกลับไปเมื่อ 8 ปีที่ผ่านมา ตอนศุภณัฐเรียนอยู่ปี 2 ขึ้นปี 3 ของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นคณะที่ทำให้เขาได้เรียนรู้ด้านธุรกิจ และเห็นรุ่นพี่ทำธุรกิจ จึงอยากทำธุรกิจของตัวเองขึ้นมาบ้าง โดยสนใจทำร้านซูชิ เนื่องจากอาหารเป็นสิ่งที่คนต้องรับประทานทุกวัน ประกอบกับ ณ ตอนนั้นแถวมหาวิทยาลัยที่เรียนรู้ไม่มีร้านอาหารญี่ปุ่นเลย และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของ Shinkanzen Sushi

“ตอนคุยกับหุ้นส่วนจะทำร้านอะไรกันดี เลยมาคุยกันว่า เราชอบกินซูช เป็น Passion เป็นอาหารที่ชอบ น่าจะเริ่มจากตรงนี้จะดีกว่า”

ความสำเร็จที่เริ่มต้นจากมองตัวเองเป็น ‘ลูกค้า’

ส่วนชื่อ Shinkanzen Sushi ก็มาจากคอนเซ็ปต์ของแบรนด์ที่ต้องการทำร้านอาหารให้เปรียบเสมือนรถไฟ Shinkanzen ที่เป็นรถไฟที่มีคุณภาพดี รวดเร็ว คุ้มค่า คุ้มราคา โดยมาจากเอา ‘ลูกค้า’ เป็นตัวตั้ง คิดว่าหากตัวเองเป็นลูกค้าต้องการอะไร อยากรับประทานอย่างไร 

ณ วันนั้น ศุภณัฐโฟกัสกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัย ซึ่งต้องการของที่ราคาไม่แพง แต่มีคุณภาพ เขาจึงเริ่มโปรเจกต์ทำร้านซูชิ ใช้เวลาประมาณครึ่งปีในการเริ่มคิดโมเดลธุรกิจ ทดสอบตลาด ด้วยการทำซูชิแล้วไปวางขายที่ตลาดนัดอยู่ประมาณ 1 เดือน ให้ลูกค้า feed back มาว่ารสชาติเป็นอย่างไร โอเคหรือไม่ จากนั้นก็เริ่มต้นเปิดร้านจริง 

“ร้าน Shinkanzen แทบไม่ทำการตลาดอะไรเลย ไม่ได้ซื้อโฆษณา เน้นลูกค้าบอกปากต่อปาก ด้วยบอกว่า อาหารเราคุ้มค่า ราคาซูชิเริ่มต้นที่คำละ 11 บาท การเลือกวางราคานี้ เพราะตอนนั้นราคาซูชิที่มีอยู่ ถ้าถูกจะถูกเลย อยู่ที่คำละ 5 บาท แต่ถ้าแพงก็จะแพงเป็นระดับพรีเมียม ยังไม่มีตลาดตรงกลาง ใช้ของคุณภาพดี ในราคาสบายกระเป๋า เลยมองเป็นโอกาส นั่นคือ Key success ของเรา”

ตั้งแต่เปิดวันแรกก็ได้รับผลตอบรับดีจนทำให้ศุภณัฐมองว่า ร้านซูชิแห่งนี้คือเป็นโอกาสและเป็นอาชีพของตัวเองในอนาคต จากที่เคยตั้งใจจะทำอะไรเล็ก ๆ จึงเริ่มเซตระบบและวางแผนการขยายสาขา

ด้วยการวางกลุ่มเป้าหมายเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย จากสาขาแรกที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต ขยายไปที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากนั้นเริ่มขยายเข้าห้างและศูนย์การค้า เพื่อบาลานซ์ยอดขาย

“ตอนเราขายแถวมหาวิทยาลัย จะมีซีซันช่วงนักศึกษาปิดเทอม ยอดขายเราจะตก เราเลยต้องพยายามบาลานซ์ยอดขาย และห้างก็เป็นกลุ่มที่มีลูกค้าหลากหลาย น่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมายของเรา เลยเริ่มมองถึงการเข้าห้าง”

ณ ปัจจุบัน ร้านซูชิแบรนด์นี้เปิดมาแล้ว 8 ปี มีสาขา 38 แห่ง มีด้วยกัน 3 รูปแบบ 1. ร้านแบบนั่งรับประทาน 2. รูปแบบ Take Away และ 3. ในรูปแบบเป็นโอมากาเสะ โดยในอนาคตจะมีการขยายไปต่างจังหวัดให้ครอบคลุมทั่วประเทศไทย และขยายไปยังต่างประเทศภายใน 3 ปีต่อจากนี้

ความท้าทายของคนรุ่นใหม่ในฐานะนักธุรกิจ

ณ ตอนเริ่มต้นธุรกิจ Shinkanzen Sushi ศุภณัฐยังอยู่ในวัย 20 ต้น ๆ แน่นอนความท้าทายในการเป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่อายุยังน้อย นั่นคือการควบคุมคน ทำอย่างไรให้พนักงานเชื่อฟัง ซึ่งเขาบอกว่า ‘ต้องใช้ใจ แลกใจ’ ดูแลทุกคนแบบเพื่อนร่วมงานที่ดี และพูดคำไหนคำนั้น

นอกจากนี้ยังต้องเรียนรู้ตลอดเวลาที่ถือเป็นสิ่งสำคัญ และต้องหาคนมาช่วย ทั้งพนักงาน ไปจนถึงพาร์ทเนอร์ต่าง ๆ เพื่อจะเข้ามาช่วยให้สามารถเติบโตมากขึ้น 

“จากคนที่ไม่ได้ทำอะไรมาเลย แล้วไม่ได้ทำงานด้วย เหมือนเริ่มจากศูนย์เลยดีกว่า ก็เรียนรู้มาเรื่อย หลัก ๆ มาจากพนักงานที่ช่วยเหลือกันมา และการโตด้วยเราคนเดียวทำไม่ได้อยู่แล้ว ทุกฝ่ายต้องทำงานร่วมกันเป็นทีมเวิร์กพร้อมโตไปด้วยกัน” 

การมีพาร์ทเนอร์ใหม่

ที่ผ่านมาธุรกิจของ Shinkanzen Sushi เดินไปด้วยดีและเติบโตต่อเนื่อง กระทั่งเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากเคยคิดว่าธุรกิจมั่นคง กลับไม่มั่นคงอีกต่อไป

“สถานการณ์ที่เราเจอ Cash Flow เราเกือบจะติดขัดเหมือนกัน เราเลยมองว่าควรหาพาร์ทเนอร์ที่จะทำให้เรามั่นคง สามารถเติบโตไปกับเราจริง ๆ ทำให้สามารถขยายสาขาได้ครอบคลุมทั่วไปและไปต่างประเทศ ซึ่งเป็นความฝันของเรา”

นั่นจึงเป็นที่มาของการให้ CRG เข้ามาลงทุนถือหุ้น 51% ในบริษัท เดอะ ฟู้ด ซีเล็คชั่น กรุ๊ป จำกัด เจ้าของร้าน Shinkanzen Sushi ด้วยเงินลงทุน 520 ล้านบาท 

“เราไม่ได้มองว่า ระหว่างเราโตด้วยตัวเองหรือมีคนมาถือหุ้นจะแตกต่างกัน เรามองว่าสุดท้ายร้านเติบโต พนักงานก็โต แฮปปี้ด้วยกันทุกฝ่ายมากกว่าจะมองความเป็นเจ้าของ เรื่องของตัวเงิน เราก็มีมากพอแล้ว เลยมองมุมอื่น ๆ จะทำยังไง และอันนี้เป็นดีลที่ดีที่จะตอบโจทย์สิ่งที่เราต้องการได้”

ลงมือทำอย่ามัวแต่คิด

สำหรับคนรุ่นใหม่ที่อยากมีธุรกิจของตัวเอง ทางศุภณัฐแนะนำว่า สิ่งที่ต้องเริ่มคือหาว่าตัวเองมี Passion ในด้านใด มีความชอบในด้านไหน แล้วนำ Passion หรือความชอบนั้นมาทำเป็นธุรกิจ 

เพราะเมื่อใดที่ได้ทำในสิ่งที่ชอบ เราจะมีความตั้งใจทำ ไม่เหนื่อย ไม่ทิ้งมันกลางทาง สำคัญมากไปกว่านั้น ‘ต้องลงมือทำ’ อย่ามัวแต่คิด ไม่ว่าจะเริ่มจากเล็กหรือเริ่มจากใหญ่ ขอให้เริ่มไว้ก่อน

อย่างตัวเขาเองที่ประสบความสำเร็จมาถึงจุดนี้ เพราะลงมือทำ และทำในจังหวะที่เหมาะ ซึ่งหากมาเริ่มทำตอนนี้ อาจจะไม่ประสบความสำเร็จก็เป็นได้ 

“ก่อนจะทำร้านซูชิ หุ้นส่วนทำร้านไอศกรีม แรก ๆ ขายดี แต่พอคู่แข่งเยอะขึ้น และด้วยความเป็นของหวาน ลูกค้าไม่ได้กินทุกวัน ก็ทำให้ยอดขายเริ่มตกลง เราเลยมองว่า ถ้ามาทำเป็นซูชิซึ่งเป็นของคาว ลูกค้าสามารถกินได้ทุกวัน ตอนนั้นมันอยู่ที่จังหวะเวลาด้วย แต่ละจังหวะและโอกาสมันเข้ามาไม่เหมือนกัน ถ้าถามว่า ณ วันนี้ไปทำเหมือนตอนนั้นจะสำเร็จไหม ก็อาจไม่สำเร็จ ดังนั้นคิดแล้วต้องทำ”