12 ก.ค. 2565 | 10:12 น.
CEO วัย 52 ปีพูดถึงในยุคหนึ่งที่เคยมีคนมองว่าความฝันของเธอเป็นเรื่องน่าขัน เธอต้องการที่จะก่อตั้งสายการบินโลว์คอสต์ขึ้นมา ทั้งที่ในเวลานั้นเวียดนามมีสายการบินเวียดนามแอร์ไลน์ที่เป็นของรัฐบาลอยู่แล้ว จนในที่สุด ‘เวียตเจ็ทแอร์’ สามารถแซงหน้าขึ้นเป็นสายการบินที่ครองมาร์เก็ตแชร์สูงสุดในประเทศ
นักธุรกิจเงินล้านตอนอายุน้อย
แนวคิดการทำธุรกิจของ เหงียน ที เฟือง เถา เรียกว่าไม่ธรรมดา เพราะเธอมีหัวใจอยากเป็นนักธุรกิจตั้งแต่อายุยังน้อย จุดเริ่มต้นเล็ก ๆ เกิดขึ้นตอนที่เธออายุได้ 17 ปี ตอนไปเรียนปริญญาตรีใบที่ 2 ที่กรุงมองโก ประเทศรัสเซีย
ความที่ไปเรียนต่อด้านการจัดการเครดิตทางการเงินและเศรษฐศาสตร์แรงงานที่มหาวิทยาลัยพลีคานอฟ (Plekhanov Russian University) พูดว่าเป็นแรงผลักดันอย่างแรกที่ทำให้เหงียน ที เฟือง เถา อยากเริ่มทำธุรกิจ เพราะอยากรวย อยากเปิดโลกของตัวเองให้กว้างขึ้น จากการที่เธอเห็นวัฒนธรรม วิธีการบริหารเงินต่าง ๆ ที่รัสเซีย
แต่จุดปลดล็อกความคิดสิ่งสุดท้ายคือ สงครามที่ไม่เคยจบสิ้นในอัฟกานิสถาน ทำให้เธอเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความขาดแคลนสิ่งของมากแค่ไหน ซึ่งโอกาสตรงนี้แหละที่เป็นจุดเปลี่ยนของเหงียน ที เฟือง เถา
ช่วงปลายปี 1980 ซึ่งตอนนั้นเธอกำลังเรียนอยู่ปี 2 เธอเริ่มศึกษาและลองทำธุรกิจนำเข้าสินค้าที่ขาดแคลน เช่น เครื่องแฟกซ์, ยาง, พลาสติก, นาฬิกา, สินค้าเกษตร และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จากเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และฮ่องกง แล้วก็ส่งออกไปที่เวียดนามด้วย
“ตอนนั้นฉันทำงานอย่างบ้าคลั่ง ตื่นตั้งแต่ตี 5 เพื่อมาดีลธุรกิจก่อนไปเรียนตอน 8 โมงเช้า จากนั้นก็ดูแลธุรกิจอีกรอบช่วงบ่ายดูความเรียบร้อย ติดตามสินค้าให้กับลูกค้า และจากนั้นก็เรียนต่อ ทำการบ้านไปจนถึงตี 2
“ถ้าอยากรวยก็ต้องขยัน ขยายกรอบความคิดของตัวเอง ฝึกเป็นผู้นำ และต้องคำนวณการรับความเสี่ยงให้ได้ ฉันไม่ได้มาจากครอบครัวที่ร่ำรวย แต่เราพยายามที่จะเป็น”
เธอยังแชร์คำขวัญในการทำธุรกิจด้วยว่า “อย่าทำเรื่องเล็ก แต่ให้ทำเรื่องใหญ่” ซึ่งเพียง 3 ปีเท่านั้น เธอพิสูจน์ตัวเองได้สำเร็จด้วยการแตะเงินล้านเป็นครั้งแรกตอนเธออายุแค่ 21 ปี กลายเป็นเศรษฐีอายุน้อยคนแรก ๆ ของเวียดนาม
จากนั้น เหงียน ที เฟือง เถา ขยายไลน์ธุรกิจนำเข้าเป็นสินค้าที่ใหญ่ขึ้น อย่าง ปุ๋ย เครื่องจักร เหล็ก และเหล็กกล้า
ในช่วงที่เธอจบปริญญาเอกที่รัสเซีย เหงียน ที เฟือง เถา ได้พบรักกับสามีจึงทำให้เกิดจุดเปลี่ยนอีกครั้ง เพราะเธอและสามีตัดสินใจเดินทางกลับเวียดนามอย่างถาวร
จากผู้นำเข้าเป็นนักลงทุนรายใหญ่ในเวียดนาม
การกลับมาที่เวียดนามครั้งนี้เธอลงทุนในธุรกิจหลายอย่าง ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัท Sovico Holdings (ปัจจุบันเรียกว่า Sovico Group บริษัทลงทุนรายใหญ่ของเวียดนาม) โดยครั้งแรกเธอและสามีลงทุนใน Techcombank ธนาคารเอกชนแห่งแรกของเวียดนาม
และในปี 1996 เธอได้ลงทุนใน VIB ซึ่งเป็นธนาคารเอกชนแห่งที่ 2 ของเวียดนาม แต่เธอมองว่าทุกการลงทุนมีความเสี่ยง ดังนั้นจึงเลือกที่จะกระจายความเสี่ยงไปที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ด้วย โดยลงทุนใน Dragon City ตึกระฟ้าในไซ่ง่อนซึ่งเป็นแลนด์มาร์กแห่งหนึ่งของเมืองนี้ ทั้งยังทุ่มเงินไปกับการสร้างรีสอร์ตริมชายหาด 3 แห่งในเวียดนาม
จุดเริ่มต้นเวียตเจ็ทเพื่อคนรากหญ้าบินได้
แต่ก็ยังมีความฝันสุดท้ายของ เหงียน ที เฟือง เถา เธอแชร์ไอเดียกับคนในครอบครัวว่าอยากจะลงทุนในธุรกิจการบิน อยากสร้างสายการบินระดับ 5 ดาว แต่ feedback ที่ได้กลับมาทำให้เธอต้องคิดหนัก เพราะพวกเขากลับตั้งคำถามว่า “ตั๋วใบหนึ่งเท่ากับข้าวกี่ตัน? ฉันจะได้ซื้อตั๋วเครื่องบินก่อนตายมั้ย?”
เพราะถ้าอ้างอิงจาก fact ในสมัยนั้น พูดง่าย ๆ คือมีคนเวียดนามแค่ 1% เท่านั้นที่จะซื้อตั๋วเครื่องบินได้ เพราะมันแพงมาก และมีแค่เวียดนามแอร์ไลน์เท่านั้น
ซึ่งคำถามนี้มีอิทธิพลถึงขั้นทำให้เธอเปลี่ยนความคิด ตัดสินใจลงทุนสร้างสายการบินโลว์คอสต์แห่งแรกขึ้นมา และตั้งปณิธานเอาไว้ว่า ชาวนาต้องบินได้ คนรากหญ้าต้องบินได้!
ในปี 2011 เหงียน ที เฟือง เถา ตัดสินใจเปิดตัวสายการบินเวียตเจ็ทขึ้นด้วยทุนตัวเอง (หลังถูกรัฐบาลเวียดนามสั่งห้ามไม่ให้สายการบินแอร์เอเชียของมาเลเซียเข้ามาร่วมทุนในปี 2010 เพราะพยายามบีบให้เวียตเจ็ทผูกขาดกับสายการบินเวียดนามแอร์ไลน์)
ด้วยความพยายามอย่างหนักของเหงียน ที เฟือง เถา ทั้งควักเงินตัวเองและโน้มน้าวนักลงทุนคนเวียดนามอื่น ๆ ต่อสู้กับอุปสรรคจากกฎหมายของเวียดนามนานถึง 4 ปี สุดท้ายเวียตเจ็ทก็กลายเป็นที่รู้จักในฐานะสายการบินเอกชนแห่งแรกของประเทศได้สำเร็จ
สร้างการรับรู้แบบความเร็วแสงในตลาดได้สำเร็จจากไวรัลที่เปิดตัววันแรก ‘แอร์โฮสเตสสวมบิกินี’ เพื่อดึงดูดความสนใจ แม้ว่าจะเจอดราม่าในช่วงนั้น แต่สุดท้ายแบรนด์ของเวียตเจ็ทก็ติดตลาดไปตั้งแต่วันแรก ๆ ที่เปิดตัว
ปี 2013 รุกตลาดต่างประเทศครั้งแรกโดยเปิดรูทบินเส้นทางเวียดนาม - สิงคโปร์ ปี 2014 เวียตเจ็ทสั่งซื้อเครื่องบิน A320 จำนวน 60 ลำจากแอร์บัส ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เวียตเจ็ทประกาศตัวชัด ๆ ว่าจากนี้จะรุกตลาดแบบ ‘ม้าเร็ว’ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ซึ่งเวียตเจ็ทใช้เวลาเพียง 1 ปีเท่านั้นเพื่อฉลองจำนวนผู้โดยสารแตะ 25 ล้านคนเป็นครั้งแรก ถ้าเทียบกับสายการบินโลว์คอสต์ในประเทศอื่น ถือว่าการเติบโตและเป็นที่รู้จักของเวียตเจ็ทเร็วมาก
ในปี 2016 ถือว่าเป็นปีทองของสายการบินเวียตเจ็ทอีกครั้ง เพราะสามารถครองส่วนแบ่งตลาดได้ 26% ขณะที่สายการบินของรัฐเริ่มมีปัญหา ทั้งเรื่องโครงสร้าง, ระบบภายใน และราคาที่แพงเกินกำลังที่คนเวียดนามจะซื้อไหว ซึ่งการเติบโตของเวียตเจ็ทเรียกว่าบี้เวียดนามแอร์ไลน์แบบหายใจรดต้นคอมาเลย จนปัจจุบันกลายเป็นสายการบินที่ครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดในประเทศที่ 45%
ตั้งแต่ปี 2017 เวียตเจ็ทกลายเป็นสายการบินที่มีมูลค่าตลาดสูงแตะ 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งก็เป็นปีแรกที่ทำให้ เหงียน ที เฟือง เถา กลายเป็นมหาเศรษฐีในเวียดนามครั้งแรก และก็เป็นผู้หญิงคนเดียวที่ขึ้นสู่ตำแหน่งนี้จนถึงปัจจุบัน
ทุกวันนี้สายการบินเวียตเจ็ทให้บริการเที่ยวบินมากกว่า 400 เที่ยวบินต่อวัน และมีพนักงานมากกว่า 6,000 คนทั่วโลก อีกทั้งบริษัทยังมีเครื่องบินมากกว่า 100 ลำ และเวลาที่จะสั่งซื้อเพิ่มแต่ละทีก็สั่งอย่างน้อย 200 ลำ สะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจนี้ของเหงียน ที เฟือง เถา รุ่งมากแค่ไหน
สิ่งหนึ่งที่เห็นจาก DNA ของหญิงแกร่งแห่งเวียตเจ็ทคนนี้คือ การพยายามคิดรอบด้านและพยายามอย่างหนักมาตลอด อย่างวิกฤตการระบาดที่กระทบอุตสาหกรรมการบินอย่างหนักทำให้ เหงียน ที เฟือง เถา เลือกที่จะกระจายความเสี่ยงอีกครั้งด้วยการลงทุนในธุรกิจที่ต่างไปจากเดิม เช่น การสร้างโรงงานผลิตก๊าซ LNG, ลงทุนในบริการขนส่งสินค้าทางอากาศ
เธอย้ำเสมอเวลาที่ให้สัมภาษณ์ว่า “การบริหารที่เก่งคือการรู้จังหวะในการขยับตัวให้เร็ว และคำนวณการกระจายความเสี่ยงเป็น เพราะถ้าคุณพลาด คุณอาจจะเดินช้าลงเพราะขาบาดเจ็บ แต่อย่างน้อยคุณต้องไม่หยุดเดิน ถ้ารักที่จะเป็นนักธุรกิจ”
ภาพ: vietnam business insider
อ้างอิง:
https://auresnotes.com/nguyen-thi-phuong-thao-billionaire/
https://www.forbes.com/profile/nguyen-thi-phuong-thao/?sh=62de012c2653