26 มิ.ย. 2565 | 16:00 น.
รวมถึงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (แบรด พิตต์) และนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (โจนาห์ ฮิลล์)
Moneyball (2011) บอกเล่าเรื่องราวของชายชื่อ บิลลี บีน (Billy Beane) ผู้จัดการทั่วไป (GM) ของทีมโอ๊คแลนด์ แอธเลติกส์ ในเมเจอร์ลีกเบสบอล (MLB) ของสหรัฐฯ ผู้พาต้นสังกัดฟันฝ่าวิกฤตในปี 2002 หลังสามนักกีฬาตัวหลักของสโมสรถูกทีมใหญ่ที่มีเงินทุนมหาศาลดูดออกจากทีมไป
“ปัญหาที่เราพยายามแก้ไขก็คือ มันมีทีมที่รวยและทีมที่จน ถัดมาคือกองขยะสูง 50 ฟุต และถัดลงมาก็คือพวกเรา”
บิลลี บีน ที่รับบทโดยแบรด พิตต์ กล่าวย้ำสถานะอันต่ำต้อยของทีมตนเอง ก่อนตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยการดึงนักวิเคราะห์สถิติมาเป็นผู้ช่วยข้างกาย และใช้วิชา data analytics (วิเคราะห์ข้อมูล) เฟ้นหานักกีฬาฝีมือดีที่ทีมอื่นมองข้ามมาช่วยกู้วิกฤต
วิธีดังกล่าวถูกเรียกขานว่า Moneyball นอกจากจะทำให้ทีมรองบ่อนอย่างโอ๊คแลนด์สามารถต่อกรกับทีมยักษ์ใหญ่จนเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวงการกีฬา ยังทำให้บิลลี บีน มีชื่อเสียงโด่งดังจนในชีวิตจริงต่อมาได้เข้าร่วมกับกลุ่มทุน RedBird ซื้อหุ้นสโมสรฟุตบอลชื่อดังในยุโรปอย่างเอซี มิลาน และลิเวอร์พูล
***คำเตือน: เนื้อหาต่อไปนี้อาจเปิดเผยข้อมูลบางส่วนในหนัง Moneyball***
สร้างจากผลงานนักเขียนคนเดียวกับ The Big Short
Moneyball สร้างจากเรื่องจริงที่ไมเคิล ลูอิส (Michael Lewis) นักเขียนชาวอเมริกันบันทึกไว้ในหนังสือชื่อ Moneyball: The Art of Winning an Unfair Game ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2003 โดยนักเขียนผู้นี้ยังเป็นเจ้าของผลงานหนังสือแนวสารคดีชื่อ The Big Short: Inside the Doomsday Machine (2010) ซึ่งถูกนำไปสร้างเป็นหนังรางวัลออสการ์ที่ใช้ชื่อตามหนังสือดังกล่าวเช่นกัน
เรื่องราวใน Moneyball อ้างอิงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในปี 2002 เมื่อโอ๊คแลนด์ แอธเลติกส์ ต้องสูญเสีย 3 สตาร์ดังของทีมอย่างเจสัน จิอัมบี, เจสัน อิสริงเฮาเซน และจอห์นนี เดมอน (ลูกครึ่งไทย-อเมริกัน) ให้กับทีมยักษ์ใหญ่อย่างนิวยอร์ก แยงกีส์ และบอสตัน เรดซ็อกซ์
MLB แตกต่างจากลีกกีฬาชนิดอื่นในอเมริกาตรงที่ไม่มีกฎควบคุมเพดานเงินเดือน ทำให้ทีมที่มีทุนหนาและพร้อมทุ่มค่าเหนื่อยมหาศาลให้นักกีฬามีความได้เปรียบทีมเล็กในการดึงตัวซูเปอร์สตาร์มาร่วมทีม
การสูญเสียสตาร์ดังไปพร้อมกันทีเดียว 3 คน ทำให้บิลลี บีน ในฐานะ GM ของสโมสรที่มีทุนจำกัดจำเขี่ยต้องพยายามหาผู้เล่นมาทดแทนให้ทันก่อนเปิดฤดูกาลใหม่ จนไปพบกับปีเตอร์ แบรนด์ (รับบทโดยโจนาห์ ฮิลล์) นักวิเคราะห์หนุ่มร่างท้วมท่าทางคงแก่เรียน เขาจึงชักชวนมาร่วมงานในตำแหน่งผู้ช่วยจนทำงานเข้าขากันเป็นอย่างดี
บิลลี บีน และปีเตอร์ แบรนด์ นำวิธีเฟ้นหานักกีฬาใหม่เข้าทีมด้วยการวิเคราะห์ข้อมูลและสถิติของนักกีฬาแต่ละคนที่เรียกว่า ‘sabermetrics’ โดยใช้ฐานข้อมูลจากสมาคม Society for American Baseball Research (SABR) มาช่วยเพิ่มความแม่นยำจนเกิดความขัดแย้งกับทีมแมวมอง (scouts) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้รับงานค้นหาผู้เล่นหน้าใหม่โดยอาศัยประสบการณ์ตามกระบวนการแบบดั้งเดิม
แม้ sabermetrics จะไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการเบสบอล เพราะวิธีวิเคราะห์สถิติแบบนี้เคยมีทีมอื่นนำมาใช้บริหารจัดการสโมสรมาก่อนแล้วนับสิบปี แต่บิลลี บีน คือผู้ทำให้มันมีชื่อเสียงจนคนเรียกขานว่า Moneyball เพราะเขานำมาใช้อย่างจริงจังและสร้างผลงานได้เป็นที่ประจักษ์
การเน้นวิชา data analytics ทำให้ทีมโอ๊คแลนด์สามารถค้นพบผู้เล่น ‘เพชรในตม’ ที่ตอบโจทย์ความต้องการแต่ละตำแหน่งได้อย่างลงตัวด้วยราคาค่าตัวที่ถูกกว่าท้องตลาด จนบิลลี บีน สามารถเสริมทีมได้ตามเป้าและพาทีมรองบ่อนสร้างสถิติใหม่จนเป็นที่ฮือฮาด้วยการเก็บชัยชนะ 20 เกมติดต่อกันเป็นทีมแรกในประวัติศาสตร์อเมริกันลีก พร้อมผ่านเข้าไปเล่นรอบเพลย์ออฟได้สำเร็จ
ชีวิตจริงที่หนังไม่ได้เล่า
บิลลี บีน เป็นชาวอเมริกัน เกิดวันที่ 29 มีนาคม ค.ศ. 1962 เขาเป็นอดีตนักกีฬาเบสบอลอาชีพ เคยเล่นอยู่กับทีมนิวยอร์ก เมตส์ และอีกหลายทีมแต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ จนกระทั่งปี 1990 เขาตัดสินใจเลิกเล่นเบสบอลและหันมารับงานแมวมองให้กับโอ๊คแลนด์ แอธเลติกส์
โอ๊คแลนด์แต่งตั้งบีนเป็น GM ในปี 1997 ก่อนเกิดเหตุการณ์ในปี 2002 ที่พลิกชีวิตของชายผู้นี้จนโด่งดังและกลายเป็นหนัง Moneyball
แม้ภาพยนตร์เรื่องนี้จะโฆษณาว่าสร้างจากเรื่องจริง แต่เหตุการณ์บางช่วงบางตอนมีการดัดแปลงเพื่อเพิ่มความดราม่าและอรรถรสในการรับชม โดยเฉพาะฉากความขัดแย้งระหว่างบิลลี บีน กับทีมแมวมอง และความตึงเครียดระหว่างเขากับอาร์ต ฮาว (Art Howe) ผู้จัดการทีมโอ๊คแลนด์ที่รับบทโดยฟิลิป เซย์มัวร์ ฮอฟฟ์แมน ซึ่งเรื่องจริงไม่ได้รุนแรงอย่างในหนัง เพราะทุกฝ่ายล้วนเห็นพ้องถึงข้อดีของ data analytics
การตัดสินใจปรับบทหนังเพิ่มความขัดแย้งและดราม่าลงไป ส่งผลให้พอล เดโพเดสตา (Paul DePodesta) ผู้ช่วยตัวจริงของบิลลี บีน ต้องร้องขอให้เบนเนตต์ มิลเลอร์ ผู้กำกับหนังเรื่องนี้ หลีกเลี่ยงใช้ชื่อจริงของเขาในภาพยนตร์ จนมีการสร้างตัวละครใหม่ขึ้นมาใช้ชื่อว่าปีเตอร์ แบรนด์
ปีเตอร์ แบรนด์ มีคาแรคเตอร์แตกต่างจากผู้ช่วยของบิลลี บีนในชีวิตจริงอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากพอล เดโพเดสตาไม่ใช่เด็กเนิร์ดร่างท้วมที่จบจากมหาวิทยาลัยเยล แต่เป็นศิษย์เก่าฮาร์วาร์ด และเคยเป็นนักกีฬามหาวิทยาลัยทั้งเบสบอลและอเมริกันฟุตบอลมาก่อน
นอกจากนี้ เดโพเดสตายังทำงานอยู่ในทีมแมวมองของโอ๊คแลนด์มาตั้งแต่ปี 1999 ไม่ใช่นักวิเคราะห์น้องใหม่ที่เพิ่งถูกดึงตัวมาร่วมทีมในปี 2002 หลังเผชิญวิกฤตนักกีฬาชื่อดังแห่ย้ายออกอย่างที่ปรากฏในหนังแต่อย่างใด
ข้อมูลคือขุมทรัพย์แห่งโลกยุคใหม่
แม้ Moneyball จะถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์มากถึง 6 สาขาในปี 2012 และไม่ได้รางวัลชนะเลิศชิ้นใดติดมือกลับมา แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับเสียงชื่นชมอย่างล้นหลาม และเป็นหนัง box office ที่สามารถทำเงินให้กับผู้สร้างได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ
Moneyball กลายเป็นหนังขึ้นหิ้งที่ถูกยกย่องให้เป็นตัวอย่างสำหรับผู้ที่อยู่ในสถานะด้อยกว่า หรือที่เรียกว่า underdog ในโลกแห่งการแข่งขัน ไม่ว่าโลกนั้นจะเป็นวงการกีฬาหรือธุรกิจทั่วไป นอกจากนี้ยังเป็นหนังที่ช่วยตอกย้ำความสำคัญของการเก็บรวบรวมข้อมูลสถิติในฐานะขุมทรัพย์ของโลกยุคใหม่ดังคำกล่าวที่ว่า “Data is the new oil.”
แม้ในตอนท้ายของภาพยนตร์ บิลลี บีน เจ้าของทฤษฎี Moneyball จะยืนหยัดปักหลักอยู่กับทีมเล็ก ๆ อย่างโอ๊คแลนด์ แอธเลติกส์ต่อไป โดยไม่สนใจข้อเสนอของทีมบอสตัน เรดซ็อกซ์ ที่ต้องการซื้อตัวเขาไปร่วมงานกับทีมยักษ์ใหญ่ไม่ต่างจากนักกีฬาซูเปอร์สตาร์คนอื่น ๆ
การตัดสินใจดังกล่าวทำให้บิลลี บีน ได้เลื่อนขั้นจาก GM เป็นรองประธานของทีมโอ๊คแลนด์ในเวลาต่อมา นอกจากนี้ชื่อเสียงและทฤษฎี Moneyball ของเขาในชีวิตจริงยังดังกระฉ่อนไปไกลและไม่ได้หยุดอยู่แค่วงการเบสบอลเท่านั้น
ปัจจุบัน บิลลี บีน ถือหุ้นเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลบาร์นสลีย์ (Barnsley) ในอังกฤษ และอาแซด อัลค์มาร์ (AZ Alkmaar) ในลีกดัตช์ และเข้าร่วมกับกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่อย่าง RedBird ของมหาเศรษฐีเจอร์รี คาร์ดินัล (Gerry Cardinale) เข้าเทคโอเวอร์ทีมฟุตบอลชื่อดังในอิตาลีอย่างเอซี มิลาน พร้อมซื้อหุ้นอีก 10 เปอร์เซ็นต์จากเฟนเวย์ สปอร์ตส์ กรุ๊ป เจ้าของทีม ‘หงส์แดง’ ลิเวอร์พูล
การรุกคืบเข้าสู่วงการฟุตบอลยุโรปของบิลลี บีน ถือเป็นการตอกย้ำความสำคัญของการนำข้อมูลเชิงสถิติมาใช้บริหารจัดการทีมกีฬายุคใหม่ และในอนาคตอันใกล้ อาจเข้ามาพลิกโฉมหน้าวงการกีฬา ช่วยแก้ปัญหาการผูกขาดความสำเร็จของทีมยักษ์ใหญ่ประเภท ‘เจ้าบุญทุ่ม’ ไม่ให้เกิดเหตุการณ์ ‘ปลาใหญ่กินปลาเล็ก’
ขณะเดียวกันยังอาจเป็นแรงบันดาลใจให้องค์กรขนาดเล็ก รวมถึงคนตัวเล็ก ๆ ทั่วไป กล้าลุกขึ้นมาแข่งขันกับคนตัวใหญ่เงินหนาโดยใช้ข้อมูลที่หามาและมันสมอง เหมือนกับที่บิลลี บีน และทีมโอ๊คแลนด์ แอธเลติกส์ เคยทำสำเร็จมาแล้วในภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ชื่อว่า Moneyball
ภาพ: บิลลี บีน หลังจากงานดราฟต์ตัวผู้เล่นเมื่อ 7 มิ.ย. 2010 Getty Images
ข้อมูลอ้างอิง:
https://www.washingtonpost.com/sports/nationals/moneyball-is-compelling-but-leaves-out-much-of-the-real-story/2011/10/11/gIQAMA1cdL_story.html
https://www.looper.com/382129/why-moneyball-got-so-much-of-the-true-story-wrong/
https://www.theatlantic.com/entertainment/archive/2011/09/the-many-problems-with-moneyball/245769/
https://imaginesports.com/news/revolutionary-baseball-gm-billy-beane
https://milanreports.com/2022/05/31/redbird-gerry-cardinale-moneyball/
https://www.grunge.com/677723/the-true-story-that-inspired-moneyball/
https://www.yardbarker.com/mlb/articles/20_facts_you_might_not_know_about_moneyball/s1__37080302#slide_