29 ก.ค. 2565 | 17:00 น.
นับตั้งแต่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ได้ค้นพบและนำ ‘กระบวนจินตภาพคอมพิวเตอร์’ หรือที่เราหลายคนอาจคุ้นหูเวลาที่เราเรียกว่า ‘CGI’ (Computer Generated Imagery) ขอบเขตของเนื้อหาและการสร้างภาพยนตร์ก็ได้ถูกตีแผ่ขยายไปมากกว่าเดิมหลายเท่าตัว โดยเฉพาะกับหนังสัตว์ประหลาดยักษ์ ไม่ว่าจะเป็นงูยักษ์ ฉลามยักษ์ หนอนยักษ์ จระเข้ยักษ์ หรือแม้แต่ไดโนเสาร์นานาชนิด
แต่การที่เราสร้างสัตว์ประหลาดผ่านคอมพิวเตอร์นั้นเป็นเพียงคลื่นการเปลี่ยนแปลงที่ขยายขอบเขตลำดับที่หลัง ๆ แล้ว เพราะคลื่นลูกแรกนั้นเกิดขึ้นกว่าร้อยปีที่แล้ว การสรรสร้างสัตว์ประหลาดรูปร่างและการเคลื่อนไหวต่าง ๆ มากมายผ่านการ ‘ทำมือ’ ด้วยวิธี ‘Stop Motion’ ซึ่งนับเป็นเทคนิคการทำแอนิเมชันลำดับแรก ๆ ที่เป็นการนำสัตว์ประหลาดยักษ์มาสู่จอภาพยนตร์
หากจะกล่าวถึงสัตว์ประหลาด แน่นอนว่าภาพจำที่เข้ามาในหัวของใครหลายคนก็คงเป็นฉลามยักษ์หรือไม่ก็อสุรกายอย่าง ก็อดซิลลา (Godzilla) แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าอีกหนึ่งภาพจำของสัตว์ประหลาดยักษ์ที่อยู่คู่ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์และความทรงจำของผู้คนจนกลายเป็นป๊อปคัลเจอร์ไปโผล่ในหนังเรื่องอื่น ๆ มากมายคือ ‘คิงคอง’ (King Kong) กอริลลายักษ์ที่จับนางเอกแล้วไต่ตึกที่สูงที่สุดในตอนนั้นอย่างเอ็มไพร์สเตท (The Empire State Building) ในขณะที่มีเครื่องบินหลายลำบินล้อมยิงเพื่อควบคุมสถานการณ์
ไม่เพียงแค่ภาพฉากดังกล่าวจะถูกจารึกไว้เป็นซีนไอคอนนิก แต่ด้วยตัวภาพยนตร์เอง (ในเวอร์ชันแรกปี 1933) ก็ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีแอนิเมชันในวงการการสร้างภาพยนตร์ เพราะมันได้กลายเป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจให้ผู้สร้างมากมายหลายคนในเวลาต่อมา ซึ่งผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างสรรค์อสุรกายยักษ์ในยุคนั้น และถือเป็นคนที่บุกเบิกแนวทางในการใส่สัตว์ประหลาดยักษ์เข้าไปในหนังก็คือ ‘วิลลิส โอ’ไบรอัน’
นักมวย นักปั้น
วิลลิส แฮโรลด์ โอ’ไบรอัน (Willis Harold O’Brien) หรือที่ใครหลาย ๆ คนเรียกเขาว่า ‘โอบี’ (Obie) เกิดเมื่อปลายศตวรรษที่ 19 ในยุคที่รายล้อมไปด้วยความวิเศษและการค้นพบสิ่งต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการแสดงของค่าย พี. ที. บาร์นัม (P.T. Barnum), การค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์ และเป็นช่วงเวลาที่ไม่นานก่อนทอมัส เอดิสัน (Thomas Edison) นักประดิษฐ์ที่ใครหลายคนคุ้นหูจะก่อตั้งสตูดิโอภาพยนตร์
ย้อนกลับไปในตอนวัยรุ่น โอบีได้ประกอบอาชีพหลายอย่างมากเพื่อหาเลี้ยงชีพตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเด็กดูแลฟาร์ม บาร์เทนเดอร์ นักมวย นักปั้น นักวาดการ์ตูน ไปจนถึงผู้ช่วยการขุดหาซากดึกดำบรรพ์ การทำงานของเขา โดยเฉพาะอย่างหลัง ช่วยก่อร่างให้ความสร้างสรรค์ของเขาได้เติบโต และได้ลองทำอะไรต่าง ๆ มากมาย
โดยในวันที่งานไม่หนักมาก ด้วยความที่เคยเป็นนักมวย โอบีและเพื่อนร่วมงานของเขาก็จะเอาเวลาว่างเหล่านั้นมาปั้นดินเหนียวมาทำเป็นนักมวยและสร้างเป็นแมตช์เล็ก ๆ เล่นกับเพื่อน ผสานกับความที่เขาเป็นนักปั้นที่ชอบใส่โครงยางไปในตัวละครที่เขาปั้น เพื่อทำให้มันมีการเคลื่อนไหวที่ไหลลื่นมากขึ้น จึงทำให้เขาเริ่มสนใจศาสตร์แห่งการถ่ายทำสต็อปโมชัน เพราะเขาอยากลองเห็นว่าสิ่งเหล่านี้มันจะเคลื่อนไหวได้หรือไม่
“เขาถือเป็นคนแรกในสหรัฐอเมริกาเลยนะที่ทดลองทำแบบจริง ๆ จัง ๆ กับศาสตร์การถ่ายภาพแบบสต็อปโมชันน่ะ"
เรย์ แฮร์รีเฮาเซน (Ray Harryhausen) แอนิเมเตอร์ชาวอเมริกันชื่อดังผู้เป็นศิษย์ของโอบีกล่าว แต่ตัวโอบีก็ไม่ได้ถือว่าเป็น ‘ผู้คิดค้น’ เสียทีเดียว เพราะการถ่ายทำประเภทนี้ได้เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว เพียงแต่มันยังไม่เป็นที่นิยมมากนักเท่านั้น แต่ผลงานของตัวเขาในอนาคตจะทำให้เขาถูกขนานนามว่า ‘ผู้บุกเบิก’ เพราะมันจะทำให้ศาสตร์การสร้างแอนิเมชันแบบสต็อปโมชันเป็นที่นิยมไปอย่างกว้างไกล และภาพยนตร์ที่ก่อให้เกิดแรงสั่นสะเทือนนั้นจะเป็นเรื่องใดไปไม่ได้นอกเสียจาก ‘King Kong’
จากไดโนเสาร์สู่คิงคอง
ผลงานชิ้นแรก ๆ ที่จะปูทางไปสู่เส้นทางสายแอนิเมเตอร์ผู้มีคุณูปการต่อวงการภาพยนตร์คือโปรเจกต์การทดลองทำหนังใบ้เรื่องแรกในปี 1915 ซึ่งมีนามว่า 'The Dinosaur and the Missing Link: A Prehistoric Tragedy' โดยเป็นเรื่องราวของมนุษย์ถ้ำและไดโนเสาร์ในยุคดึกดำบรรพ์ โดยทุกอย่างในเรื่องล้วนขยับเขยื้อนด้วยเทคนิคสต็อปโมชันด้วยงบ 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการดึงเอาประสบการณ์กับการที่เขาเคยทำงานเป็นผู้ช่วยในการขุดหาซากดึกดำบรรพ์มาตีแผ่ผ่านแอนิเมชันเรื่องแรกนี้
หากย้อนกลับไปในยุคนั้น การได้เห็นทั้งมนุษย์ถ้ำและสัตว์ในยุคดึกดำบรรพ์มาโลดแล่นอยู่บนจอภาพยนตร์และถูกร้อยเป็นเรื่องราวให้น่าสนใจนับเป็นมิติใหม่แห่งการชมภาพยนตร์มาก ๆ และด้วยความสามารถของโอบีนี้เอง ทำให้ผลงานของเขาไปเตะตาโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์อย่างเอดิสันที่มีสตูดิโอเป็นของตัวเองเข้า เขาจึงได้มีโอกาสก้าวเข้าสู่เส้นทางการทำงานในสายสเปเชียลเอฟเฟกต์อย่างเต็มตัว
ก่อนจะมาเป็นศิลปินผู้อยู่เบื้องหลังงานสร้างที่บุกเบิกและปูทางให้หนังสัตว์ประหลาดยักษ์ในปี 1933 ก่อนหน้านั้น โอบีได้มีโอกาสโชว์ฝีมือในภาพยนตร์ยาวหนึ่งเรื่องชื่อว่า ‘The Lost World’ ซึ่งเป็นภาพยนตร์ที่อิงมาจากนวนิยายของอาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์ แต่ในคราวนี้ไม่ได้มีเพียงสต็อปโมชันเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะในหนังมีการตัดสลับกับคนจริง ๆ ด้วย นั่นจึงทำให้เป็นที่ฮือฮาในหมู่ผู้ชมเป็นอย่างมาก เพราะสเปเชียลเอฟเฟกต์ที่อยู่ในหนังนั้นถือว่าทำออกมาดีและสมจริงมาก ๆ ในยุคสมัยดังกล่าว แต่ก้าวถัดไปของเขาถือเป็นหนึ่งในก้าวที่ใหญ่ สำคัญ และทรงพลังที่สุดในบรรดาผลงานทั้งหมดที่โอบีได้สร้างมากับ ‘คิงคอง’
การสร้างอสุรกายยักษ์
“เขาอาจจะไม่ได้เป็นที่รู้จักมากในสาธารณชนมากนะ แต่สำหรับคนที่อยู่ในวงการสเปเชียลเอฟเฟกต์ที่ทำงานในฮอลลีวูดในช่วง 50 ปีให้หลัง (นับจากปี 2005) ใคร ๆ ก็รู้จักเขาทั้งนั้น แล้วเชื่อไหมว่าแทบทุกคนเลยนะ ถ้าคุณลองไปถามน่ะ เขาเข้ามาทำสเปเชียลเอฟเฟกต์ก็เพราะหนังเรื่อง ‘คิงคอง’ กันทั้งนั้นแหละ”
ความพิเศษประการแรกของภาพยนตร์อสุรกายเรื่องดังกล่าวคือความละเอียดของการสร้างกอริลลายักษ์อย่างคิงคองขึ้นมา ซึ่งก่อนที่โอบีจะลงมือออกแบบและสร้างตัวละครคิงคองขึ้นมา เขาได้ไปทำการศึกษาท่าทางและการเคลื่อนไหวของกอริลลาในสวนสัตว์เป็นวัน ๆ นอกจากนั้นเขายังต้องแวะเวียนไปดูมวยปล้ำควบคู่กันไปด้วย ไม่ใช่ว่าเขาอยากดูใครสักคนโดน Suplex แต่เป็นเพราะเขาต้องหาไอเดียว่าเวลาที่คิงคองต้องต่อสู้กับอสุรกายตัวอื่น ๆ ท่าทางของมันควรเป็นอย่างไร ซึ่งการต่อสู้ของนักมวยปล้ำคงเป็นอะไรที่ใกล้เคียงที่สุดในมุมมองของเขา
เมื่อเก็บเกี่ยวข้อมูลมาได้มากพอที่จะเห็นภาพอสุรกายยักษ์ในจินตนาการแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะนำมันออกมาสร้างให้ดูสมจริงที่สุด โดยโอบีเริ่มจากวางโครงเหล็กที่มีความสูง 18 นิ้ว จากนั้นก็ทำข้อต่อระหว่างแขน ขา เข่าให้เหมือนสิ่งต่าง ๆ ในร่างกาย โดยข้อต่อเหล่านั้นก็จะมีลักษณะที่ฝั่งหนึ่งเป็นกลม ๆ อีกฝั่งหนึ่งเป็นเต้ารับ เหมือนกับฟิกเกอร์ของเล่นในยุคสมัยนี้ หลังจากนั้นเขาก็เริ่มหุ้มโครงกระดูกเหล็กเหล่านั้นด้วยยางและสำลี แล้วหุ้มซ้ำอีกทีด้วยขนกระต่ายให้ดูเหมือนสัตว์จริง ๆ
นอกจากจะมีหุ่นคิงคองแบบทั้งตัวที่เราได้บรรยายไปแล้ว โอบีก็ได้สร้างคิงคองอีกรูปแบบไว้ด้วย ซึ่งจะเป็นการเน้นที่ครึ่งตัวบนให้เห็นรายละเอียดมากขึ้นไปกว่าเดิม ซึ่งมันถูกสร้างด้วยโลหะ ไม้ แล้วหุ้มด้วนขนหมี ซึ่งเราจะเห็นได้ในฉากโคลสอัพที่มันจะยิ่งเพิ่มความสมจริงเข้าไปอีกหลายเท่าตัว
ความพิเศษประการถัดมาคือเทคนิคการถ่าย หนึ่งในนั้นคือสต็อปโมชัน แต่อีกสิ่งหนึ่งที่พิเศษของภาพยนตร์เรื่องคิงคองคือการที่ผสมควบรวมระหว่างงานสต็อปโมชันและไลฟ์แอคชั่นของคนจริง ๆ ให้มาอยู่ในเฟรมเดียวกัน ฉากเดียวกัน แถมยังขยับไปพร้อม ๆ กัน โดยอาศัยเทคนิคการนำฟิล์มมาซ้อนกันเป็นเลเยอร์ให้เกิดภาพที่ดูมีความลึกและยังสามารถทำให้ภาพที่เคลื่อนไหวในประเภทที่ต่างกันมาอยู่ในฉากเดียวกันได้
จากที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเพียงแค่เศษเสี้ยวความพยายามของนักทำหนังสมัยก่อนในการที่จะนำเสนอเรื่องราวต่าง ๆ ให้ ‘สมจริง’ ที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยการพยายามขยายกรอบแบบเดิมและลองทำสิ่งใหม่อยู่แบบไม่หยุดยั้ง ซึ่งความพยายามเหล่านั้นก็บรรลุผลสำเร็จจนทำให้ผู้ชมได้สนุก ตื่นเต้น ระทึก และเร้าใจ เพียงแค่นั่งอยู่บนเก้าอี้แล้วชมภาพยนตร์เพียงเท่านั้น นับว่าเป็นความสำเร็จที่เบื้องหลังเต็มไปด้วยความมุมานะของผู้สร้างภาพยนตร์ และแน่นอน วิลลิส ‘โอบี’ โอ’ไบรอัน คือผู้ที่สร้างสรรค์มันขึ้นมา
นับจนถึงวันนี้ กาลเวลาได้ผ่านไป เทคโนโลยีต่าง ๆ ก็ก้าวหน้าทันสมัยมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว สัตว์ประหลาดชนิดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นนก ปลา จระเข้ คน เอเลียน หรืออะไรก็แล้วแต่ก็สามารถนำมาสู่จอภาพยนตร์ได้ แม้จะไม่ได้ง่าย แต่ก็สะดวกสบายและสมจริงขึ้นกว่าในยุคสมัยของโอบีมาก
แม้ว่าความรู้ในยุคสมัยก่อนอาจจะล้าสมัยและปรับใช้ได้น้อยลงกับภาพยนตร์ในยุคสมัยนี้ไปมากแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่เราทุกคนสามารถหยิบยกมาใช้จากเรื่องราวเบื้องหลังการสร้างงานของโอบีคือ ‘ความพยายามที่จะทำ’ และ ‘ความกล้าที่จะลอง’
เพราะหากไม่พยายามก็คงไม่มีคิงคองที่ดูสมจริงปานนั้น และถ้าหากไม่ลองก็คงไม่มีอสุรกายที่เป็นหมุดหมายสำคัญแห่งประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ที่ทำให้เราจำกันมาถึงทุกวันนี้…
ภาพ: IMDb
อ้างอิง:
https://biography.yourdictionary.com/willis-o-brien
https://www.looper.com/375982/the-untold-truth-of-king-kongs-creators/
https://www.youtube.com/watch?v=K4ViuqIdsJg