‘คนใต้หยัดได้ #3’ เมื่อ ‘ปัญหาวัยรุ่นไม่ใช่เพราะวัยรุ่นเป็นปัญหา’

‘คนใต้หยัดได้ #3’ เมื่อ ‘ปัญหาวัยรุ่นไม่ใช่เพราะวัยรุ่นเป็นปัญหา’

‘คนใต้หยัดได้ #3’ เมื่อ ‘ปัญหาวัยรุ่นไม่ใช่เพราะวัยรุ่นเป็นปัญหา’ ทำไมการสร้างความเข้าใจต้องให้คนทุกวัยเป็น Change Agents ไปด้วยกัน

การจับกลุ่มมั่วสุม, หัดริลองยาเสพติด, แก้ปัญหาด้วยความรุนแรง หรือ ท้องก่อนวัยอันควร เป็นตัวอย่างของประเด็นที่หลายคนมองว่าเป็นปัญหาของวัยรุ่น ซึ่งมีต้นเหตุมาจากความอยากรู้อยากลอง หรือฮอร์โมนที่พลุ่งพล่านของวัยคะนอง
แต่ความจริงแล้วเรื่องเหล่านี้อาจไม่ได้เกิดจากวัยรุ่นเพียงฝ่ายเดียว เพราะพวกเราทุกช่วงวัยต่างก็มีส่วนรับผิดชอบ รวมทั้งได้รับผลกระทบจากปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ร่วมกัน ดังนั้นการแก้ไขต้องเริ่มจากการสร้างความเข้าใจเพื่อเปิดให้ทุกวัยมาเป็น Change Agents สร้างการเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน

เมื่ออุปสรรคระหว่างทางเป็นผู้ใหญ่ไม่ใช่เรื่องง่าย ในงานสัมมนาวิชาการระดับภาคเรื่อง ‘คนใต้ หยัดได้ ครั้งที่ 3 - Change Agent Forum’ เมื่อวันที่ 21-22 กรกฏาคม 2565 ณ โรงแรมกรีนเวิลด์พาเลซ อ.เมืองสงขลา จ.สงขลา เลยได้ยกวาระนี้ขึ้นมาเป็นประเด็นพูดคุยหลัก 

‘คนใต้ หยัดได้ ครั้งที่ 3 - Change Agent Forum’ เป็นเวทีที่ขับเคลื่อนด้านสุขภาวะเยาวชนมาอย่างยาวนาน ที่เริ่มจากจังหวัดสงขลา แล้วขยายไปยังจังหวัดอื่น ๆ จนถึงปัจจุบันมี 6 จังหวัดเข้าร่วมโครงการ คือ สงขลา นครศรีธรรมราช ประจวบคีรีขันธ์ พังงา สุราษฎร์ธานี และปัตตานี ซึ่งทาง บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เป็นผู้สนับสนุนการดำเนินงานในครั้งนี้ ร่วมกับมูลนิธิแพธทูเฮลท์ (P2H) รวมถึงสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด, สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตัวแทนเยาวชน และภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ที่จับมือช่วยกันสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับเยาวชนและสังคม

‘คนใต้หยัดได้ #3’ เมื่อ ‘ปัญหาวัยรุ่นไม่ใช่เพราะวัยรุ่นเป็นปัญหา’

วัยรุ่นวันนี้คือรัฐมนตรีในวันหน้า

คุณยูซบ โต๊ะวัง ประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตัวแทนในฝั่งชุมชนและภาคประชาชน ได้พูดในเสวนาเปิดวง ‘คนใต้ หยัดได้ ในมุมแกนนำ Change Agents’ ว่าภาคประชาชนต้องมามีส่วนในการผลักดันยุทธศาสตร์ แล้วทำให้เห็นว่าปัญหาเด็กและเยาวชนเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกคน เพราะเด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในอนาคตที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศของพวกเรา

“เยาวชนในวันนี้เป็นว่าที่นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีในวันข้างหน้า แต่สังคมเราตอนนี้กำลังประสบปัญหา โดยเฉพาะเรื่องท้องก่อนวัยอันควรเป็นจำนวนมาก ผู้ใหญ่เองเลยต้องเป็นส่วนหนึ่งในการรับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้น เราต้องมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ต้องมีทิศทางไม่อย่างนั้นจะขาดสุขภาวะที่ดี เราจำเป็นต้องจับมือร่วมกัน ถ่ายทอดความรู้ให้คนรอบข้างที่มีความคิดใกล้เคียงกัน เพื่อเป็นการขยายเครือข่ายความช่วยเหลือ ที่นำไปสู่การทำให้สังคมเราเป็นสังคมแห่งสุขภาวะที่ทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้น” 

ประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ยังได้เสนออีกว่าการขับเคลื่อนจำเป็นต้องมีตัวชี้วัดที่เหมาะสม เพราะข้อมูลที่ถูกต้องจะเป็นกระดุมเม็ดแรกที่มีความสำคัญ ที่ผ่านมาการทำงานเรื่องเยาวชนใช้ข้อมูลทุติยภูมิ หรือแม้แต่จากแหล่งข้อมูลตติยภูมิ ที่เก็บข้อมูลจากการสำรวจของหน่วยงานต่าง ๆ บางแหล่งเป็นข้อมูลที่ค่อนข้างเก่าและไม่มีตัวชี้วัดที่ครอบคลุมกับปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้การนำไปใช้เกิดความคาดเคลื่อนทั้งในเรื่องจำนวนเยาวชนและปัจจัยเสี่ยงที่เปลี่ยนไปจากเดิม 

การก้าวไปยังเป้าหมายข้างหน้าจึงต้องมีกระบวนการในการเก็บข้อมูลปฐมภูมิที่เป็นจริงได้มาตรฐาน เพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการทำงานขั้นต่อไป 
‘คนใต้หยัดได้ #3’ เมื่อ ‘ปัญหาวัยรุ่นไม่ใช่เพราะวัยรุ่นเป็นปัญหา’

นวัตกรรมที่สร้างการเปลี่ยนแปลง 

ทางด้านตัวแทนฝั่งครอบครัว คุณชัชวาล เกิดมาก องค์การบริหารส่วนตำบล เขาล้าน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนบนเวทีเสวนา ‘ทำงานกับศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน (ศพค.) = ทำงานกับรากฐานสังคม’ ซึ่งเขาได้เล่าประสบการณ์ตรงที่ได้ใช้นวัตกรรมเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมที่ประสบความสำเร็จ อย่าง ค่ายผัวเมีย เติมรักล้นใจ ห้องเรียนพ่อแม่ ที่ช่วยสร้างความเข้าใจระหว่างคนในครอบครัวที่มีช่วงวัยแตกต่างกัน

“เราต้องสร้างนวัตกรรมเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคม จากการทำโครงการใหม่ ๆ ตลอดเวลา แล้วส่งเสริมให้คนเก่ง ๆ ในชุมชนเป็น active citizen ที่สร้างการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นเรื่องที่พวกเราต้องทำงานตลอดเวลา เพื่อสร้างการไว้ใจให้ทุกคนกล้าที่เข้ามาขอความช่วยเหลือ”

คุณชัชวาล ย้ำว่าความท้าทายของการนำนวัตกรรมมาพัฒนามนุษย์อยู่ที่การต้องทำความรู้จักคน ในชุมชนเป็นอย่างดี เพื่อที่จะสามารถเข้าถึงความทุกคนได้อย่างใกล้ชิด แล้วเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของผู้คน

“เราเลือกวิธีการที่เหมาะสมกับคนในชุมชน เพราะเรารู้จักคนที่นี่ดีที่สุด เราเลยคิดกิจกรรมใหม่ ๆ ที่ไม่ซ้ำกัน ที่ปรับในบริบทของเราให้เข้ากับพวกเขา แล้วให้คนในชุมชนที่เก่ง ๆ ช่วยกันทำ เป็นการสะสมทุนทางสังคมที่จะทำให้ทุกคนอยากเข้ามามีส่วนร่วม อย่างงานหนึ่งมีช่างตัดผมมาร่วมโครงการเพื่อจะช่วยตัดผมให้เด็กฟรี ๆ เพราะเขาอยากเห็นเยาวชนของชุมชนดูดี”

แม้การที่เขาไม่หยุดนิ่งอยู่กับวิธีการเดิม ๆ แล้วนำผลลัพธ์ที่ได้มาต่อยอดแนวคิดออกมาเป็นโครงการใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา จะใช้เวลาและพลังในการดำเนินงานมากกว่าปกติหลายเท่า  แต่เมื่อโครงการที่เสนอได้รับเสียงตอบรับที่ดีแล้วได้มีผู้นำไปใช้ต่อก็เขารู้สึกหาย  เหนื่อยได้ในทันที 

“รู้สึกหายเหนื่อยเวลาที่เห็นคนเอางานเราที่เราทุ่มเทไปใช้ต่อ”
‘คนใต้หยัดได้ #3’ เมื่อ ‘ปัญหาวัยรุ่นไม่ใช่เพราะวัยรุ่นเป็นปัญหา’
เพื่อนที่เป็นผู้นำ

“เด็กอยากได้พ่อแม่ที่เป็นเพื่อนผู้นำ เป็นทั้งเพื่อนและผู้นำไปพร้อมกัน ให้เขาสามารถตัดสินใจและมีส่วนร่วมได้ด้วย เป็นจุดตรงกลางที่พ่อแม่สามารถเป็นที่พึ่งพาให้กับเขาได้ เวลาที่ปรึกษาเด็กจะเชื่อมั่นว่าพ่อแม่จะเข้าใจ แล้ววันที่มีปัญหาก็จะสร้างความอุ่นใจให้รู้สึกปลอดภัยได้” 

คุณปราชญา ศิริ์มหาอาริยะโพธิ์ญา ตัวแทนในฐานะแกนนำเยาวชน ผู้ก่อตั้ง Mental Me และเยาวชนดีเด่นของกรมกิจการเด็กและเยาวชน ได้แลกเปลี่ยนในประเด็นเรื่องปัญหาสุขภาพจิต ความเครียดในวัยรุ่น บนเวทีเสวนา ‘คลายทุกข์ครอบครัว เรื่องส่วนตัวหรือต้องช่วยกัน’ ว่าตอนนี้เรากำลังเผชิญปัญหาหลายด้าน ทำให้ผู้ปกครองเกิดความเครียด ส่งผลให้ครอบครัวขาดพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชน พอพื้นที่ตรงกลางที่เป็นเกาะป้องกัน เป็นเบาะที่รองรับการร่วงหล่นของเด็กหายไปปัญหาต่าง ๆ ก็เลยตามมา

“ปัญหาต่าง ๆ ที่มีในตอนนี้ทั้งปัญหาโควิด ปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้เกิดความเครียด เด็กที่กำลังต้องเติบโต อยู่ในบ้านที่มีความเครียด พ่อแม่คนรอบข้างก็เครียด ทำให้พื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยน้อยลง การสื่อสารกับผู้ปกครองก็เริ่มมีปัญหาเพราะเด็กไม่รู้สึกปลอดภัยเวลาอยู่กับพ่อแม่ ที่เลวร้ายคือเด็กหลายคนคิดว่าพ่อแม่เป็นคนนอกที่ไม่สามารถรับฟังให้คำปรึกษาพวก เขาได้” 

ความเครียดและการสื่อสารที่ผิดพลาด นำไปสู่การต่อต้านและปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่เพิ่มมากขึ้น ที่เรียกว่าประสบการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ในวัยเด็ก (Adverse Childhood Experiences: ACE) 

โดยตัวแทนในฐานะแกนนำเยาวชนได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าปัญหาความเครียดสะสม ส่วนหนึ่งมาจากความคาดหวังที่กลายเป็นความกดดัน ทางแก้ไขคือต้องหันกลับมาใช้ความเข้าใจ ใช้ภาษากายในการพูดคุยเพิ่มมากขึ้น เช่น การโอบกอดเพื่อสื่อสารด้วยการส่งผ่านความอบอุ่นให้แก่กัน 

“เราอาจหันมาเริ่มด้วยการสร้างพื้นที่ปลอดภัยสำหรับพ่อแม่ ด้วยการส่งความรู้สึกและความต้องการให้เขารับรู้ทีละเล็กละน้อย จนกระทั่งเกิดพื้นที่ตรงกลางที่สามารถแลกเปลี่ยนกันได้”
‘คนใต้หยัดได้ #3’ เมื่อ ‘ปัญหาวัยรุ่นไม่ใช่เพราะวัยรุ่นเป็นปัญหา’

ปรับที่ mindset เริ่มเปลี่ยนที่ระบบ

ถ้าสิ่งที่ทุกคนอยากได้คือระบบสวัสดิการสังคมที่ทุกคนได้รับการดูแลอย่างเพียงพอและทั่วถึง คำถามคือเราจะเริ่มต้นสร้างสังคมที่ดีนี้ขึ้นมาได้อย่างไร

การจะสร้างผลกระทบในวงกว้างให้เกิดขึ้นในสังคมขนาดใหญ่ได้ บางครั้งต้องเริ่มจากจุดเล็ก ๆ อย่างการปรับ mindset ของตัวเราเองก่อน เมื่อเราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เราต้องผลักดันต่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบ

โดยการขับเคลื่อนงานในแต่ละประเด็นมีบริบทที่ไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่คล้ายกันก็คือทุกคนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงโดยมีบทบาทเป็น Change Agents ในการเข้าหาเยาวชนและการแก้ไขปัญหาในช่วงวัยหัวเลี้ยวหัวต่อสู่วัยผู้ใหญ่

การขับเคลื่อนผ่าน Change Agents จำนวนมากจะช่วยขยายผลสู่โมเดลระดับประเทศต่อไปเพื่อส่งเสริมสุขภาวะเยาวชน ไทยให้เข้มแข็งต่อไป ซึ่งเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน เป็นอีกหนึ่งพันธกิจและความมุ่งมั่นของ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ที่ดำเนินนโยบายทางด้านสังคม ควบคู่ไปกับการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศมาอย่างต่อเนื่อง

ความมุ่งเสริมสร้างศักยภาพและความเข้มแข็งของชุมชนในทุกพื้นที่ที่เชฟรอน เข้าไปปฏิบัติงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างความเข้าใจวัยรุ่น และพยายามหาทางออกให้กับอุปสรรคระหว่างทางเป็นผู้ใหญ่ของเยาวชน จะนำไปสู่การพัฒนาและสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต 

เพราะเยาวชนไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นกำลังสำคัญในพรุ่งนี้ของพวกเราทุกคน