‘มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก’ นักก๊อบปี้ไอเดียที่ดรอปเรียน ก่อนขึ้นเป็นอภิมหาเศรษฐีอายุน้อย

‘มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก’ นักก๊อบปี้ไอเดียที่ดรอปเรียน ก่อนขึ้นเป็นอภิมหาเศรษฐีอายุน้อย

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก CEO Facebook อภิมหาเศรษฐีที่อายุน้อยที่สุดในโลก กับความบ้าบิ่นเบื้องหลังที่กว่าจะมาเป็น Facebook อย่างในปัจจุบัน

เชื่อว่าทุกคนรู้จักเจ้าพ่อแห่ง Facebook อยู่แล้วว่าเป็นใคร ‘มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก’ อภิมหาเศรษฐีที่อายุน้อยที่สุด (38 ปี) และเป็นบุคคลที่ร่ำรวยอันดับ 6 ของโลก ตามการจัดอันดับของ Bloomberg Billionaires Index โดยมีสินทรัพย์ 128,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนมกราคม 2022 แต่จุดเริ่มต้นกว่าจะมาถึงวันนี้ได้ หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าเขาบ้าบิ่นขนาดที่ยอมลาออกเพื่อ Facebook มาแล้วในช่วงที่เป็นนักศึกษา ทั้งยังมีดราม่าที่ต้องเผชิญอยู่หลายเรื่องในระหว่างนั้น

 

เด็กเรียนเก่งความสามารถเยอะ

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เกิดวันที่ 14 พฤษภาคมปี 1984 เติบโตมาในครอบครัวที่มีฐานะดีและการศึกษาดี โดยพ่อของเขาเป็นทันตแพทย์ และแม่ของมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ทำงานเป็นจิตแพทย์ เขามีพี่น้อง 4 คน ซึ่งตอนที่อายุได้ 12 ขวบ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์กมีความสนใจในคอมพิวเตอร์อย่างชัดเจน โดยเขาได้สร้างโปรแกรมสนทนาด้วย Atari BASIC และตั้งชื่อ ‘Zucknet’ ซึ่งประสิทธิภาพของโปรแกรมนี้ทำให้พ่อของเขาเอาโปรแกรมดังกล่าวไปใช้ในที่ทำงานด้วย เพื่อให้พนักงานสามารถสื่อสารกันผ่านโปรแกรมนี้โดยไม่ต้องตะโกนคุยกัน

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก จัดว่าเป็นเด็กที่เรียนเก่งคนหนึ่ง มีความสามารถรอบด้าน เมื่อตอนที่เขาเรียนที่โรงเรียนฟิลลิปส์ เอกเซกเตอร์ อคาเดมี (Phillips Exeter Academy) มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เคยได้รับรางวัลทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งต้องเป็นคนที่เชี่ยวชาญด้านคณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ และฟิสิกส์ ทั้งยังศึกษาด้านศิลปะคลาสสิกด้วย

นอกจากนี้ เขากับเพื่อนร่วมห้องได้เขียนโปรแกรมที่ชื่อว่า Synapse Media Player โดยใช้ machine learning เป็นครั้งแรก เพื่อกำหนดนิสัยการฟังเพลงของผู้ใช้ และต่อยอดการแนะนำเพลง ประเภทของเพลง ศิลปินให้กับผู้ใช้ โดยโปรแกรมนี้ถูกสร้างขึ้นในปี 2000 ซึ่งโปรแกรมสามารถทำงานได้ดีจนไปเข้าตาบริษัทใหญ่ ๆ เช่น Winamp, Microsoft, AOL แต่มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ปฏิเสธที่จะขายโปรแกรมนี้ ยิ่งกว่านั้นยังปล่อยให้ดาวน์โหลดฟรีด้วย

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์กยังปฏิเสธ 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ที่เสนอจะจ้างงานแบบเต็มเวลา (เป็นพนักงานประจำ) และพร้อมจ่ายเงินอย่างเต็มที่ แม้ว่ามาร์ก ซักเคอร์เบิร์กจะยังอยู่ในวัยเรียนมัธยมปลายเท่านั้น

ความสามารถด้านภาษาก็ไม่เป็นรองใคร เพราะเขาสามารถอ่านภาษาต่างประเทศได้หลายภาษาตั้งแต่วัยเรียน ได้แก่ ภาษาฝรั่งเศส, ภาษาฮีบรู, ภาษาละติน และภาษากรีกโบราณ นอกเหนือจากด้านวิชาการ เขายังเป็นกัปตันทีมฟันดาบด้วย ซึ่งเราน่าจะรู้ ๆ กันอยู่แล้วว่ากีฬาโปรดของมาร์ก ซักเคอร์เบิร์กมีอยู่หลายประเภท และการฟันดาบก็เป็นหนึ่งในนั้น เพราะเขาเคยนำกีฬาฟันดาบมาเป็นหนึ่งในตัวอย่างตอนที่พูดถึง Metaverse โลกเสมือนจริง

ความสามารถของมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ฉายแววมากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงช่วงที่เข้ามหาวิทยาลัย เขาเริ่มเขียนโปรแกรมอีกครั้งในปี 2002 ชื่อว่า CourseMatch เป็นโปรแกรมเพื่อช่วยนักศึกษาฮาร์วาร์ดเลือกหลักสูตรที่ต้องการและเหมาะสมได้ในทุกภาคการศึกษา (แต่ถูกทางมหาวิทยาลัยปฏิเสธ เพราะมองว่าเป็นเรื่องยากที่จะรวมข้อมูลนักศึกษาไว้ด้วยกัน) ตอนนั้นมีคนตั้งฉายาให้มาร์ก ซักเคอร์เบิร์กว่าเป็น ‘Programming prodigy’ ประจำฮาร์วาร์ด

จนมาถึงโปรแกรมที่ชื่อว่า ‘FaceMash’ ถูกสร้างขึ้นหลังจากที่ถูกทางมหาวิทยาลัยปฏิเสธได้ไม่นาน (ช่วงมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เรียนอยู่ปี 2) และเป็นโปรแกรมที่ถูกพูดถึงเชื่อมโยงเกี่ยวกับเขามากที่สุด เพราะว่าหลายคนพูดว่ามันคือโปรแกรมที่เป็นจุดเริ่มต้นของ Facebook ในปัจจุบัน

โดยความสนุกของ FaceMash ก็คือ การนำรูปของนักศึกษาหญิง/นักศึกษาชายในรั้วฮาร์วาร์ด แล้วเปิดให้โหวตว่ารูปคนไหนดูดีกว่ากัน (แอบดึงข้อมูลนักศึกษาทั้งหมดมาจากมหาวิทยาลัย) ซึ่งหลังจากที่เปิดตัวโปรแกรมนี้ได้เพียง 4 ชั่วโมง มีนักศึกษาแห่เข้ามาใช้งานอย่างหนักจนทำให้เซิร์ฟเวอร์ล่ม

ซึ่งหลังจากที่โปรแกรมได้แพร่ไปทั่วมหาวิทยาลัย จนเรื่องเข้าหูของคณะกรรมการของทางมหาวิทยาลัย จึงได้สั่งปิดเว็บไซต์ FaceMash.com ทันที เพราะมองว่าทำให้เกิดความวุ่นวายและเป็นโปรแกรมที่มีความเสี่ยงต่อระบบความปลอดภัยด้านข้อมูลของมหาวิทยาลัย ขณะที่มาร์ก ซักเคอร์เบิร์กเองก็ถูกทำทัณฑ์บนไว้ หลังจากที่เริ่มมีนักศึกษาหลายคนเข้ามาร้องเรียนเรื่องการถูกละเมิดสิทธิในการใช้รูปโดยไม่ได้รับอนุญาต

 

จุดเริ่มต้นของFacebook

Facebook.com ที่เราใช้กันทุกวันนี้ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ปี 2004 (ชื่อเดิมคือ TheFacebook.com) ซึ่งจุดประสงค์ลึก ๆ ที่เขียนโปรแกรมนี้ขึ้นมาเพราะเสียดายข้อมูลนักศึกษา มาร์ก ซักเคอร์เบิร์กได้เก็บรวบรวมข้อมูลนักศึกษาฮาร์วาร์ดไว้บนโลกออนไลน์

โดยเว็บไซต์ตัวนี้เปิดกว้างให้นักศึกษาเข้ามาลงทะเบียนกรอกประวัติเอง (ตามความยินยอม) ก็คือถ้าอยากเล่น Facebook ก็ต้องยอมกรอกข้อมูลลงไป ซึ่งการต่อยอดจนมาเป็น Facebook มาร์ก ซักเคอร์เบิร์กได้เขียนโปรแกรมนี้ขึ้นมาพร้อมกับเพื่อนอีก 4 คน นักศึกษาเลือดฮาร์วาร์ดที่ช่วยกันออกไอเดีย คิดวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อทำให้ Facebook ประสบความสำเร็จ

เพื่อนของมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ที่ร่วมพัฒนาโปรแกรมคือ Eduardo Saverin, Andrew McCollum, Dustin Moskovitz และ Chris Hughes (แต่ในระหว่างนั้นก็จะมีนักศึกษาฮาร์วาร์ดคนอื่นอีกหลายคนที่เสนอไอเดียสนุก ๆ ร่วมกับมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก)

ซึ่งในที่สุด Facebook ก็ประสบความสำเร็จจนเกินความคาดหมาย เพราะมาร์ก ซักเคอร์เบิร์กและเพื่อน ๆ ได้ขยายอิทธิพลโลกแห่งการสื่อสารนี้ไปยังมหาวิทยาลัยอื่นที่นอกเหนือจากฮาร์วาร์ดด้วย ด้วยการเจาะกลุ่มผู้ใช้ใหม่ ๆ ไปตามมหาวิทยาลัยทั่วทั้งสหรัฐอเมริกาและแคนาดาในเวลาเพียงไม่กี่เดือน

ซึ่งเวลาแค่ 1 ปีหลังจากที่เปิดตัว Facebook (ปี 2005) มีผู้ใช้งานเว็บไซต์มากถึง 1 ล้านคน ซึ่งในยุคนั้นถือว่าเป็นเว็บไซต์แรก ๆ ที่เป็นเครือข่ายสังคมรูปแบบนี้ สื่อสารกันโดยไม่จำเป็นต้องอยู่ที่เดียวกัน หรือประเทศเดียวกัน และทุกคนในนั้นก็พร้อมใจกันแชร์เรื่องราวของตัวเองด้วย และเหตุการณ์นี้นำมาสู่จุดเปลี่ยนของมาร์ก ซักเคอร์เบิร์กอีกครั้ง

 

ยอมออกจากฮาร์วาร์ดเพื่อตามฝัน

ในปี 2005 มาร์ก ซักเคอร์เบิร์กตัดสินใจดรอปเรียนตอนปี 2 ยุติการเป็นนักศึกษาฮาร์วาร์ดทันทีที่เห็นโอกาสเติบโตของ Facebook (ที่จริงก็คือลาออกเพราะเขาไม่ได้กลับไปเรียนอีกเลย) และมุ่งความสนใจไปที่การก่อตั้งบริษัทอย่างเต็มที่ ซึ่งเขาได้ย้ายไปที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งก็คือ ซิลิคอนแวลลีย์ (Silicon Valley) ในปัจจุบัน

เขาได้รับเงินสนับสนุนจำนวน 500,000 ดอลลาร์สหรัฐจาก Peter Thiel นักลงทุนสายเทคโนโลยีที่ประสบความสำเร็จมากพอ ๆ กับสตีฟ จอบส์ หรือ อีลอน มัสก์

หลังจากนั้นมาร์ก ซักเคอร์เบิร์กมีโอกาสได้เจอกับ Sean Parker ผู้ร่วมก่อตั้ง Napster และอดีตประธานกรรมการบริษัท Facebook โดยเขาเป็นคนที่ 2 ที่ให้เงินลงทุนจำนวน 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ และเป็นคนที่ทำให้มาร์ก ซักเคอร์เบิร์กรู้จักกับระบบการชำระเงินออนไลน์ Paypal (ก่อนที่จะขายให้ eBay)

ศักยภาพของ Facebook เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จนมีนักลงทุนมากหน้าหลายตาแวะเวียนและให้เงินสนับสนุนอยู่หลายครั้ง รวมทั้งมีบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่หลายแห่งที่เข้ามารุมจีบ Facebook ตลอดเส้นทางการเติบโต เช่น Yahoo และ Microsoft ซึ่งเสนอเข้าซื้อเป็นครั้งที่ 2 แล้ว แต่มาร์ก ซักเคอร์เบิร์กก็ปฏิเสธทุกข้อเสนอ เพราะมองว่า Facebook ยังมีอะไรให้เขาพัฒนาอีกมากและก็ยังสนุกกับมัน

เขาเคยให้สัมภาษณ์กับ CNBC ในปี 2013 ซึ่งเขากลายเป็น CEO ที่ประสบความสำเร็จและอายุน้อยที่สุดในโลก ในการจัดอันดับ Fortune 500 มาร์ก ซักเคอร์เบิร์กได้พูดว่า “ผมคิดว่ากฎง่าย ๆ ในการทำธุรกิจในแบบของผมคือ ถ้าคุณทำสิ่งที่ง่ายกว่าก่อนคนอื่น คุณก็จะก้าวหน้าได้มากกว่า (เริ่มก่อนได้เปรียบ)

“ผมมองว่าอำนาจแห่งการแบ่งปัน ทั้งเรื่องราวชีวิตประจำวัน นำไปสู่การแบ่งปันข้อมูลในด้านต่าง ๆ มีส่วนทำให้โลกมีความโปร่งใสมากขึ้น”

 

ถูกฟ้องร้องกล่าวหาเป็นนักก๊อบปี้ไอเดีย

เส้นทางชีวิตและธุรกิจของมาร์ก ซักเคอร์เบิร์กที่เหมือนจะดี และเติบโตมาเรื่อย ๆ แต่ก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้สะดุดอยู่เหมือนกัน ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่ยังมีผลต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เพราะมีเพื่อนนักศึกษาและนักวิเคราะห์อีกหลายคนที่พูดว่า มาร์ก ซักเคอร์เบิร์กเป็นนักเลียนแบบไอเดีย และเบื้องหลังความสำเร็จของเขาหลายอย่างมาจากการปรับเปลี่ยนไอเดียจากคนอื่น

เริ่มตั้งแต่ปี 2008 ที่มีคดีฟ้องร้องจากเพื่อนและรุ่นพี่ของมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก สมัยที่ร่วมพัฒนาด้วยกันจนมาเป็น Facebook อย่างสองพี่น้องฝาแฝด Cameron และ Tyler Winklevoss ที่เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า พวกเขาเป็นคนที่ช่วยคิดและออกไอเดียเกี่ยวกับ Facebook ตั้งแต่ตอนที่ยังเป็น TheFacebook

หลังจากนั้นไม่นานก็มี Divya Narendra รุ่นพี่นักศึกษาที่ฮาร์วาร์ดชาวอินเดียที่ออกมาพูดว่า มาร์ก ซักเคอร์เบิร์กได้ขโมยไอเดียของเขาตั้งแต่ตอนที่ยังเป็นนักศึกษาฮาร์วาร์ด ในตอนนั้นมาร์ก ซักเคอร์เบิร์กและเขา รวมถึงสองพี่น้องฝาแฝดได้หารือและพัฒนาโปรแกรม Harvard Connection (ปัจจุบันคือ ConnectU) ด้วยกัน ซึ่งเป็นเว็บไซต์เครือข่ายสังคมเหมือน Facebook

“ผมกับเพื่อนอีกคน Sanjay Mavinkurve เป็น 2 คนแรกที่เขียนโปรแกรมเครือข่ายสังคมขึ้นมา และหลังจากที่จบการศึกษาก็ได้ทำงานกับ Google จึงทำให้โปรแกรมที่เขียนไว้ต้องส่งต่อไปถึงเพื่อนรุ่นน้อง ซึ่งรวมทั้งพี่น้อง Winklevoss ขณะที่ Victor Gao ที่เป็นเพื่อนร่วมรุ่นได้แนะนำ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์กให้เขียนโปรแกรมต่อ (แต่ Victor Gao ได้เขียนโค้ดบางส่วนก่อนที่จะส่งต่อให้มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก)” Divya Narendra พูดอธิบายต่อศาล

“การส่งต่อโปรแกรมให้กับเขา เท่ากับว่าเราต้องแบ่งปันรายละเอียดและรหัสลับของโปรแกรม Harvard Connection ด้วย ซึ่งมาร์ก ซักเคอร์เบิร์กในตอนนั้นดูค่อนข้างกระตือรือร้นที่จะทำ เพราะเป็นครั้งแรกที่เขารู้จักกับการเขียนโปรแกรมเพื่อสร้างเครือข่ายสังคม”

รุ่นพี่ชาวอินเดียเล่าต่อว่า “ช่วงหลัง ๆ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์กเริ่มเลี่ยงที่จะประชุมความคืบหน้าเกี่ยวกับโครงการ Harvard Connection อ้างว่าชีวิตเขากำลังยุ่งเกินไป งานล้นมือ พอพวกเราไปที่บ้านของเขาก็ยังพูดประโยคเดิมและเลี่ยงที่จะหารือกันต่อ แต่หลังจากนั้นไม่นานเขาทำการเปลี่ยนแปลงโค้ดบางอย่างของ Harvard Connection”

ในวันที่ 11 มกราคม 2004 มาร์ก ซักเคอร์เบิร์กได้จดทะเบียนชื่อโดเมน TheFacebook.com ซึ่งการใช้งาน รูปแบบ ฯลฯ เหมือนกับเว็บไซต์ Harvard Connection และพัฒนาเว็บไซต์มาเรื่อย ๆ จนเป็น Facebook ในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ทางฝั่งของมาร์ก ซักเคอร์เบิร์กปฏิเสธข้อกล่าวหาซึ่งเขาพูดต่อศาลว่า “ไม่ได้ใช้รหัสเดียวกับ Harvard Connection บน Facebook” แต่เขาก็ยอมจ่ายเงินให้กับ Divya Narendra และ Cameron, Tyler Winklevoss คนละ 65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งยังให้ Divya Narendra เป็นหนึ่งในหุ้นส่วนของ Facebook แต่เป็นจำนวนเล็กน้อย (ตามข้อเสนอของศาล)

นอกจากนี้มีนักวิเคราะห์ของ Bloomberg ที่เคยวิเคราะห์เกี่ยวกับฟังก์ชันใหม่บน Facebook และ Instagram โดยเฉพาะคลิปสั้นที่มีความคล้ายกับ TikTok แพลตฟอร์มวิดีโอสั้นจากประเทศจีน ซึ่งเขามองว่าเป็นการโคลนนิ่ง TikTok เกือบจะเป๊ะ ๆ แต่มาร์ก ซักเคอร์เบิร์กก็ออกมาโพสต์ Facebook (เชิงตอบโต้) ว่าคลิปสั้นหรือ Reels บน Instagram เป็นไอเดียที่เกิดขึ้นตามกระแสโลก และเพื่อให้ผู้ใช้งานมีความสนุกมากขึ้น

ไม่ว่าจุดเริ่มต้นของมาร์ก ซักเคอร์เบิร์กจะถูกใครหลายคนวิจารณ์มาก่อน แต่บนเส้นทางความสำเร็จของเขาถือว่ายังเป็นบุคคลที่น่ายกย่อง ในปัจจุบัน Facebook ยังเป็นแพลตฟอร์มที่มีคนใช้งานมากที่สุดในโลก ซึ่งในเดือนเมษายนปี 2022 มีบัญชีผู้ใช้งานต่อเดือนอยู่ที่ 2.93 ล้านคน

ชวนให้นึกถึงประโยคหนึ่งของมาร์ก ซักเคอร์เบิร์กที่พูดว่า “ผู้คนไม่สนใจว่าจะมีคนพูดถึงพวกเขาอย่างไร หรือแม้แต่สิ่งที่พวกคุณพูด แต่ผู้คนจะสนใจมากกว่าในสิ่งที่คุณสร้าง หรือคุณสามารถทำอะไรได้บ้าง หรือทำให้ชีวิตพวกเขาดีขึ้นได้อย่างไร”

ดังนั้นต่อให้การก๊อบปี้ไอเดีย มาร์ก ซักเคอร์เบิร์กจะถูกตราหน้ามากแค่ไหน แต่สิ่งที่จริงที่สุดก็ยังเป็นเรื่องเดิมคือ เขาเป็นบุคคลอัจฉริยะที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย และยังคงเป็นบุคคลที่โลกพูดถึงมากที่สุดคนหนึ่งในปัจจุบัน

 

ภาพ: Getty Images

อ้างอิง:

https://www.bloomberg.com/news/features/2022-05-25/facebook-copies-tiktok-app-to-make-instagram-cool-to-teens

https://www.ndtv.com/indians-abroad/this-indian-origin-man-sued-mark-zuckerberg-for-stealing-his-idea-1838568

https://history-computer.com/mark-zuckerberg-complete-biography/

https://www.cnbc.com/2019/05/24/zuckerberg-reportedly-held-talks-with-winklevoss-twins-about-facebooks-cryptocurrency-plans.html

https://buildd.co/startup/founder-stories/mark-zuckerberg

http://geekhmer.github.io/blog/2016/03/01/4-startups-mark-zuckerberg-created-before-facebook/

https://www.biography.com/business-figure/mark-zuckerberg