ผ่าจิตวิญญาณพังก์ จากยุค ‘ทรงอย่างแบด’ ย้อนไปถึงต้นกำเนิด ทำไมพังก์มักได้ใจเด็ก-เยาวชน?

ผ่าจิตวิญญาณพังก์ จากยุค ‘ทรงอย่างแบด’ ย้อนไปถึงต้นกำเนิด ทำไมพังก์มักได้ใจเด็ก-เยาวชน?

เพลง ‘ทรงอย่างแบด’ โดย Paper Planes มีส่วนทำให้ดนตรีพังก์-ป็อปพังก์ ฮิตอีกครั้ง บทความนี้จะพาไปดูพัฒนาการของพังก์จากยุคต้นกำเนิด มาถึงทศวรรษ 2020 พร้อมคำถามว่า ทำไมพังก์มักได้ใจเด็ก-เยาวชน?

  • เพลง ‘ทรงอย่างแบด’ โดย Paper Planes วงป็อปพังก์ โด่งดังในกลุ่มวัยเด็กอนุบาลโดยไม่ได้คาดหมาย ผลที่ตามมาอีกอย่างคือ กระแสของดนตรีป็อปพังก์ที่กลับมาฮิตอีกครั้งตามไปด้วย
  • ดนตรีป็อปพังก์พัฒนาต่อมาจากดนตรีพังก์ที่เคยเป็นวัฒนธรรมย่อยและดนตรีกระแสรอง ก่อนกลายมาเป็นดนตรีกระแสหลักได้
  • ขณะที่พังก์จากยุคดั้งเดิมในช่วง 70s กลับมีส่วนเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมต่อต้าน ท่ามกลางสภาพสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมในยุคสมัยนั้นที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตวัยรุ่น

‘ทรงอย่างแบด’ คือหนึ่งในภาพสะท้อนของกระแสการรื้อฟื้นจิตวิญญาณความเป็นพังก์ (Punk) ขึ้นมาใหม่ในโลกตะวันตกที่มีมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 2020

บทความนี้ไม่เน้นการวิเคราะห์ตัวบททางดนตรีที่เกิดขึ้นเพียงแค่ช่วงท่อนหนึ่งของบทเพลง หากแต่เป็นการเล่าถึงที่มาและความหมายของวัฒนธรรมดนตรี Punk กับเยาวชน ที่ปรากฏเป็นความขัดแย้งระหว่างดนตรีของร็อก (Rock) ที่เคยผูกอำนาจไว้กับรสนิยมของผู้ใหญ่หรือต้องการใช้มันเพื่อเป็นเครื่องทางการเมืองเท่านั้น หากแต่เป็นดนตรีที่มาจากการเข้าใจถึงจิตวิญญาณแห่งความขบถในตัวตนของเหล่าเยาวชนที่เป็นต้นทุนสำคัญให้ดนตรี Punk ยังไม่ตายไปจากโลกนี้

 

ต้นกำเนิด

ภาพจำและความเข้าใจของคนทั่วไป ปรากฏการณ์พังก์ที่สำคัญทั้งภาพลักษณ์และเสียงดนตรีได้เริ่มต้นขึ้นที่อังกฤษช่วงกลางทศวรรษที่ 1970 ช่วงเวลาเดียวกันกับที่เศรษฐกิจถดถอยในอังกฤษ พังก์พยายามต่อต้านวัฒนธรรมดนตรีร็อกหลังยุค Hippy ที่เป็นดนตรีของเหล่ากลุ่มคนที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่จากปลายยุค 60s ที่เป็นที่นิยมตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 1970 อย่างดนตรีที่เรียกว่า stadium rock หรือ A.O.R. (Album-oriented rock)

โดยพังก์ส่วนหนึ่งมีรากฐานมาจากดนตรีแบบ Garage ในอเมริกาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1960 โดยเป็นวงดนตรีที่เกิดขึ้นแบบวัฒนธรรม D.I.Y. หรือวัฒนธรรมทำด้วยตัวเอง

ย้อนกลับไปที่รากฐานของวงดนตรีแบบ Garage ในสหรัฐอเมริกาช่วงทศวรรษที่ 1960 เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสนิยมหลักอย่าง The Beatles และ The Rolling Stone ที่เป็นการบุกยึดโดยกระแสดนตรีจากวงฝั่งอังกฤษ (British invasion) กับดนตรี Rock ที่เกิดขึ้นในย่าน San Francisco ถือได้ว่าเป็นจุดเชื่อมต่อของพัฒนาการดนตรี Rock ‘n’ Roll

ในห้วงเวลาดังกล่าวก่อให้เกิดดนตรี Garage ดนตรีที่เยาวชนระดับมัธยมปลายซุ่มซ้อมกันในโรงจอดรถ เพื่อไปแข่งขันทั้งดนตรีและสร้างภาพจำที่ประทับใจให้กับเพศตรงกันข้ามในโรงเรียน วง The Kingsmen, The Sandells และ Swingin’ Medallions สะท้อนภาพของดนตรีที่เป็นภาพแทนของดนตรี Garage อันเป็นตัวแทนของเสียงจากเยาวชนชั้นมัธยมปลายในเวลานั้นได้อย่างชัดเจน

ซึ่งต่อมาได้สลายหายไปในช่วงปลายทศวรรษที่ 1960 ดนตรี Rock กลับกลายเป็นสิ่งขับเน้นประเด็นทางการเมือง และถูกใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมต่อต้าน (counter-culture) ส่งผลให้เกิดดนตรีที่พัฒนาวงดนตรี Rock กระแสหลักในทศวรรษที่ 1970 ในเวลาต่อมา

ท่ามกลางเกิดเติบโตขึ้นของทั้งดนตรีและกลุ่มผู้ฟังเพลงที่ก่อให้เกิดดนตรีแบบ stadium rock ซึ่งต้องเล่นในพื้นที่ขนาดใหญ่และมีผู้เข้าร่วมจำนวนมาก วงดนตรีสำคัญอย่าง Genesis, Pink Floyd และ Emerson เป็นวงดนตรีที่สะท้อนให้เห็นภาพของการแสดงดนตรีที่มีระดับทั้งขนาดของพื้นที่การแสดงที่ต้องพึ่งพาระบบขยายเสียงและขับเคลื่อนไปด้วยทุนสนับสนุนเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนวงดนตรีให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างและกลายเป็นกระแสหลักได้

วงดนตรีแนวนี้ได้ครอบงำพื้นที่กระแสหลักในดนตรีจนถึงช่วงกลางทศวรรษที่ 1970 จนกระทั่งเกิดการต่อต้านจากกระแสดนตรี Punk ที่ต้องการต่อต้านปรากฏการณ์นี้ โดยนำจิตวิญญาณของดนตรีแบบ Garage กลับมาทบทวนใหม่อีกครั้ง

ในช่วงกลางทศวรรษที่ 1970 จิตวิญญาณของดนตรี Garage ได้ถูกรื้อฟื้น (revival) ขึ้นใหม่อีกครั้งในแถบ New York วงดนตรีอย่าง Patti Smith, Richard Hell and the Voidoids และวง Talking Heads เป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนภาพการต่อต้านลักษณะดนตรีร็อกกระแสนิยมที่มีความซับซ้อนทางดนตรีและต้องใช้ทรัพยากรหรือต้นทุนในด้านต่าง ๆ ที่จะพัฒนาหรือสามารถเล่นตามวงเหล่านั้นได้

พวกเขาเลยสร้างพื้นที่ใหม่ที่ปฏิเสธรูปแบบดนตรี stadium rock โดยเล่นในพื้นที่ขนาดเล็กอย่างคลับผับบาร์ และเป็นดนตรีที่ลดทอนความซับซ้อนของเนื้อหาทางดนตรีลง อย่างการเล่นคอร์ดวนทั้งเพลงเพียง 3 คอร์ด แทนที่โครงสร้างดนตรีที่มีความซับซ้อนของดนตรีร็อกสำหรับผู้ใหญ่ฟังอย่างแนว Progressvie Rock ที่ซับซ้อนทั้งเนื้อหาทางดนตรีและคำร้อง

ซึ่งจะเห็นได้จากวงอย่าง The Velvet Underground ที่สร้างดนตรีแบบที่ทำให้ผู้คนทึ่งได้ด้วยการร้องแบบเกรี้ยวกราด ประกอบเสียงกีตาร์ที่คำรามเป็นโน้ตยาว

วัฒนธรรมดนตรีต่อต้านดนตรีร็อกกระแสหลักใหม่ที่ได้เกิดขึ้นในพื้นที่ของเมือง New York ส่งอิทธิพลสำคัญต่อ มัลคอล์ม แม็กลาเรน (Malcolm McLaren) เจ้าของห้องเสื้อ Sex ที่เปิดกิจการร่วมกับนักออกแบบเสื้อผ้าชื่อดังอย่าง วิเวียน เวสต์วูด (Vivienne Westwood) เมื่อครั้งที่เขาได้ไปเยือนเมื่อช่วงปี 1974 และนำกลับมาพัฒนาจิตวิญญาณดนตรี Garage ที่เป็นวัฒนธรรมต่อต้านที่มีรากฐานแบบ D.I.Y. ในการกระทำสิ่งที่ปรารถนาด้วยศักยภาพหรือเครื่องมือที่มีอยู่

คลิกอ่านเรื่อง ‘วิเวียน เวสต์วูด’ สตรีที่แหวกกรอบสังคมอังกฤษ ส่งอิทธิพลต่อวัฒนธรรมพังก์-โลกแฟชั่น

 

Sex Pistols

Malcolm McLaren มีส่วนสำคัญต่อการปลุกปั้นและสร้างสรรค์วงดนตรี Sex Pistols ที่เป็นแม่แบบของภาพจำของ Punk ในยุคแรกเริ่ม พวกเขาได้ผลิตภาพลักษณ์ที่เป็นอัตลักษณ์ของความเป็นพังก์ที่ถือว่าเป็นการสร้างมาตรฐานความเป็นพังก์ที่ต้องกระทำตามในเวลาต่อมา

McLaren ใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์ห้องเสื้อของเขาที่อยู่บนถนน Kings กลางกรุง London เขารวบรวมสมาชิกวง Sex Pistols จากกลุ่มลูกค้าประจำร้านของเขาคือ John Lydon นักร้องนำ, Steve Jones มือกีตาร์, Paul Cook มือกลอง และ Glen Matlock มือเบส ที่ภายหลังได้เปลี่ยนเป็น Sid Vicious ซึ่งสร้างแรงบัลดาลใจครั้งสำคัญในกับฉากทัศน์ทางดนตรีที่เกิดขึ้นในผับดนตรี London เวลานั้น โดยได้แรงบัลดาลใจมาจากกระแสดนตรีใน New York ที่รวมตัวกันเล่นดนตรีที่ต้องการในผับขนาดเล็กเพื่อสร้างพื้นที่และตัวตนของเยาวชนขึ้นมาใหม่ ไม่แยแสกระแสหลักของดนตรี Rock สำหรับผู้ใหญ่วัยกลางคนในเวลานั้น

จึงกล่าวได้ว่าภาพจำของความ Punk ที่เกิดขึ้นในอังกฤษได้กลายเป็นแม่แบบที่เยาวชนทั้งโลกเลือกรับและสวมใส่ได้ง่าย เหมือนเสื้อผ้า ดนตรีที่ไม่ต้องอาศัยต้นทุนมากมายนักจากทั้งวัฒนธรรมและเวลามากมายนักในการรวมวงเพื่อที่จะเล่นมันออกมา จึงก่อให้เกิดเป็นทางเลือกใหม่หรือหน่ออ่อนของความเป็นดนตรี Alternative ในอเมริกาต่อมา

จนกระทั่งช่วงทศวรรษที่ 1990 จนถึงช่วงต้นศตวรรษที่ 21 นั้น Punk ได้กลายร่างจากวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่มที่เป็นกระแสรอง (subculture) ได้สถาปนากลายเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมกระแสหลักหรือที่เรารู้จักกันดีว่าป็อปพังก์ (Pop Punk)

วงที่เป็นรู้จักอย่าง Green Day, Blink-182 และ Sum 41 ได้กลายเป็นภาพแทนชุดใหม่ของความเป็น Punk ที่เยาวชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย และสวมใส่ความ Punk โดยเริ่มจากใช้หูฟังวงเหล่านี้ และจากนั้นใช้สายตาสอดส่องการแต่งกายเพื่อเป็นการเข้ารหัสเพื่อบ่งบอกอัตลักษณ์ความชอบจากวงเหล่านี้ ด้วยผลิตภัณฑ์ที่สามารถหาซื้อสวมใสได้ง่ายตั้งแต่รองเท้า Vans กางเกง Dickies รวมถึงโซ่ที่ห้อยกระเป๋า

ปรากฏการณ์เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความเรียบง่ายในการเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์จากเยาวชนที่อยู่ภายใต้กำกับของผู้ปกครองที่เคยจัดหาเครื่องนุ่งหุ่มให้สวมใส่ และบีบบังคับให้พวกเขาต้องฟังเพลงที่บุพการีชื่นชอบ มาสู่ก้าวใหม่ที่เขาสามารถค้นหาตัวตนได้ด้วยตนเองตามมโนทัศน์ของดนตรี Punk ตั้งแต่แรกเริ่มที่มุ่งสู่การกระทำในสิ่งที่ปรารถนาได้ด้วยตนเอง หรือ D.I.Y. ซึ่งสะท้อนให้เห็นอิสรภาพหรือสิทธิแรก (autonomy) ที่พวกเขาเข้าสู่วัยรุ่น

 

ป็อปพังก์ และ ‘ทรงอย่างแบด’

ในห้วงเวลาที่โลกหยุดชะงักด้วยโรคโควิด-19 แต่ในโลกของดนตรีนั้นกลับไปหยุดนิ่ง เหล่า Gen Z ได้พยายามรื้อฟื้น Pop Punk ขึ้นมาใหม่อีกครั้ง จากภาพลักษณ์ Pop Punk ที่เคยเป็นตัวแทนของกลุ่มชายผิวขาวเป็นใหญ่ ในปัจจุบันตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นมา Punk ได้เคลื่อนที่เป็นการแสดงเชิงอัตลักษณ์ (Performativity) ที่ผู้คนใน Gen เหล่านี้ผสานดนตรีแบบ Hip-Hop เข้ามาร่วมกับดนตรีแบบ Pop Punk และไม่ได้จำกัดสีผิวหรือเพศ

ดังเห็นได้จาก Olivia Rodrigo เพลง Good 4 ที่เป็นการกลับมาอีกครั้งของกระแส Pop Punk จากฐานความนิยมเดิมของเธอในบทบาทการแสดงซีรีย์เรื่อง High School Musical: The Musical มาสู่บทบาทนักร้องที่สามารถแต่งเพลงเองได้ ดังปรากฏในเพลง Pop Punk ที่มีส่วนผสมของดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ในท่อน verse ​และกีตาร์ไฟฟ้าในแบบฉบับดั้งเดิมของความเป็น Punk รวมถึงการใช้เสียงประสานที่ดูออกจะไปทางโทน Pop ที่พบเห็นได้ทั่วไป

หรืออย่าง Machine Gun Kelly บุตรชายของผู้ประกาศศาสนา (missionary) ที่ตระเวนไปหลายพื้นที่ทั่วโลก แต่มีความชื่นชอบเพลงแรป (rap) และผันตัวสู่ศิลปิน Punk ในปัจจุบัน เพลง my ex’s best friend เป็นอีกภาพสะท้อนของการผสมผสานกันระหว่างดนตรี Punk กับดนตรี Trap ที่เป็นหนึ่งในแขนงสำคัญในโลกปัจจุบันของ Hip Hop ดังจะเห็นได้จากท่อน verse และ pre-hook ที่มีลักษณะคล้ายกับการ rap โดยเข้าสู่ท่อน hook แบบ Pop Punk มาตรฐาน

ซึ่งส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ดังกล่าวมีส่วนมาจากการเชื่อมต่อโลก Hip Hop กับ Punk ผ่านมือกลองอย่างทราวิส บาร์เกอร์ (Travis Barker) สมาชิกคนสำคัญของวง Blink-182 ที่เป็นบุคคลสำคัญในการเชื่อมระหว่างสองโลกดนตรีเข้าไว้ด้วยกันอย่างแนบเนียน

จากกระแสการกลับมาของ Pop Punk ที่ผสานกับรูปแบบดนตรี Trap ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 2020 เป็นต้นมา สะท้อนให้เห็นถึงรูปแบบของปรากฏการณ์ในไทยผ่านบทเพลง “ทรงอย่างแบด (Bad Boy)” ที่เผยแพร่สู่สาธารณะตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2022

เป็นที่น่าเสียดายที่ผู้คนโดยทั่วไปกลับจดจำบทเพลงนี้ได้เพียงแค่ท่อน Hook ที่เป็นที่รู้จักในหมู่เยาวชนฟันน้ำนมที่เป็น Viral ในโลกออนไลน์ ทั้งที่บทเพลงนี้นั้นเป็นหนึ่งในหมุดหมายครั้งสำคัญของพัฒนาการดนตรีในสังคมไทยที่ปลุกกระแสการรื้อฟื้นดนตรี Pop Punk ขึ้นมาใหม่โดยผสมผสานกับดนตรี Trap

ดังจะเห็นได้จากในท่อน verse ที่มีลักษณะการร้องคล้ายกับการ rap และผ่านเสียง Hi-Hat บนกลองไฟฟ้า ที่มีอัตราจังหวะเร่งกว่าท่อน Hook 1 เท่าจนกระทั่งเข้าสู่ท่อน Hook ที่เป็นความ Pop Punk แบบดั้งเดิม บนทำนองและทางเดินคอร์ดที่มีความเรียบง่ายชัดเจนและติดหู

 

มองโครงสร้างทางดนตรี

ความน่าสนใจของวิธีการสร้างกระบวนการรับรู้ (​cognitive) ในบทเพลง ‘ทรงอย่างแบด’ มีองค์ประกอบที่สามารถนำมาแยกพิจารณาได้หลายชิ้นส่วนจากที่ปรากฏขึ้นตลอดช่วงเวลา 3:26 นาที

ดังที่ได้กล่าวไปว่าบทเพลงนี้มีส่วนผสมของความเป็นดนตรี Pop Punk และ Trap ซึ่งส่งผลให้ลักษณะของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อบ่งชี้ว่าจุดไหนของบทเพลงต้องการนำเสนออัตลักษณ์อะไรออกมาส่งอิทธิผลให้การสร้างท่อน Hook เปรียบเสมือนการรอคอยหรือจุดที่คนฟังต้องการนั้นทำงานออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถแบ่งประเด็นการวิเคราะห์ได้เป็น 3 ส่วนประกอบพอสังเขปเพื่อให้เห็นภาพว่าบทเพลงทำงานอย่างไรกับการรับรู้ของคนฟัง

ประเด็นแรก การออกแบบการใช้อัตราเร่งของชีพจรหรือจังหวะ (tempo) ในบทเพลง ที่เปรียบเสมือนอัตราจังหวะการเต้นของหัวใจนั้น บทเพลงเลือกใช้ความเร็วในบทเพลงแบบ 2 ระดับคือเริ่มต้น จงใจให้คนฟังเข้าใจว่าบทเพลงนี้มีอยู่บนความเร็วที่ 83 จังหวะเคาะตกต่อนาที (Beat per minute: BPM) ดังจะเห็นได้จากตอนท่อนนำของบทเพลงที่ขึ้นต้นด้วยการเกากีตาร์ไฟฟ้าที่อยู่ในทางเดินคอร์ดวนเพียง 4 คอร์ด 

จนกระทั่งเมื่อเข้าสู่ท่อน Verse กีตาร์ยังคงดำเนินเปลี่ยนคอร์ดตามอัตราเร่งเดิม แต่จังหวะกลองนั้นกลับมีอัตราเร่งขึ้นไปอีก 1 เท่า ของจังหวะที่เริ่มต้นบทเพลง ทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่าอยู่บนอัตราเร่งของชีพจรที่ 166 จังหวะเคาะตกต่อนาที สอดคล้องกับเนื้อร้องที่กำลังเล่าถึงความตื่นเต้นที่ได้แอบส่องกับให้กำลังใจตัวเองว่าให้สู้หน่อย

แต่เมื่อเข้าสู่ท่อน Pre-Hook จนถึง Hook นั้นกลับสู่อัตราเร่งของจังหวะเดิมที่ใช้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่แรกในบทเพลงนั้นคือการถอยไปสู่ 83 จังหวะเคาะตกต่อนาที ซึ่งเป็นธรรมเนียมปกติที่สามารถพบได้โดยทั่วไปในบทเพลง Pop Punk แต่สร้างผลกระทบต่อการสื่อสารเนื้อหาที่ต้องการให้ผู้ฟังลุ้นตามไปด้วย

ประเด็นต่อมา การออกแบบจังหวะของวลีในแต่ละท่อนของบทเพลง ทั้งการวางทำนองและเนื้อเพลงสอดคล้องกันกับสิ่งที่ต้องการจะนำเสนอออกมาอย่างน่าสนใจ

จะเห็นได้ว่าในท่อน Verse แรก บทเพลงปูเรื่องด้วยการเล่าเรื่องเหมือนบทเพลงทั่วไป โดยใช้วลีที่ประกอบไปด้วยสิ่งที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกัน 8 พยางค์ หากนับในรูปแบบของภาษาพูด โดยจะซ้ำอยู่บนกลุ่มจังหวะที่เหมือนกันไปเรื่อย ๆ 4 ครั้ง ติดต่อกัน

ในท่อนต่อมา Pre-Hook ได้ตัดเหลือกลุ่มจังหวะที่เกิดขึ้นต่อเนื่องดังปรากฏเป็นชุด 3 พยางค์ในภาษาพูด ที่มีลักษณะคล้ายกับจังหวะขัด (syncopation) แต่ในช่วง 2 วลีสุดท้ายของท่อนดังกล่าวกลับใช้วิธีการผ่อนคลายจังหวะขัดด้วยการสร้างวลีที่มีความต่อเนื่อง เพื่อทำให้ผู้ฟังรู้สึกรอคอยเหตุการณ์ของจังหวะในวลีที่จะเกิดขึ้นต่อไป

จนกระทั่งเมื่อเข้าสู่ท่อน Hook ในครึ่งแรกนั้นเป็นการเริ่มวลีที่มาก่อนจังหวะหนักของท่อนคือมาจังหวะที่ 4 ของท่อนเดิม โดยใช้จังหวะซ้ำที่อยู่บนคำร้องแบบ 3 พยางค์ในภาษาพูด ที่เกิดขึ้นบนจังหวะหนักต่อเนื่องถึงสองครั้ง และสลับกับวลียาวแบบ 8 พยางค์ในภาษาพูดที่ในตอนท้ายเหมือนเร่งจังหวะให้วลีมีรูปแบบเป็นประโยคที่มีความสมบูรณ์

จากนั้นในวรรคที่ 3 ของเนื้อเพลง เปิดด้วยวลีที่ประกอบขึ้นจากจังหวะที่มีบีบตัวลงให้คล้ายกับการส่งกลองในจังหวะที่ 4 เพื่อชี้นำไปสู่การว้ากแบบ Fry Scream หรือเทคนิค Vocal Fry พร้อมกับวิธีการออกเสียงที่หนักแน่นจริงใจ อีกทั้งเป็นลักษณะการว้ากที่ตรงกับช่องเสียงของเยาวชนฟันน้ำนมที่สามารถร้องเสียงในลักษณะนี้ออกมาได้ไม่ยาก จึงเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของบทเพลงนี้ทำให้ผู้ฟังจดจำและติดตาม

ประการสุดท้าย การออกแบบระดับเสียงที่เกิดขึ้นในแต่ละท่อนเพลง โดยเริ่มต้นที่ลักษณะของท่อน Verse ใช้ระดับท่วงทำนองที่คล้ายกับกึ่งร้องกึ่งพูดที่เป็นการปูเรื่องและวิ่งเข้าหาโน้ตที่มีระดับเสียงชัดเจนในปลายวลีของแต่ละชุด 

เมื่อเข้าสู่ท่อน Hook โน้ตแรกที่ปรากฏใช้ระดับเสียงตั้งแต่ D5 ขึ้นจนถึง A5 ซึ่งนับว่าเป็นเสียงที่มีความสูงมากสำหรับผู้ชายในวัยหนุ่มร้อง แต่ในเยาวชนฟันน้ำนมนั้น ช่วงเสียงดังกล่าวเป็นช่วงเสียงที่เหมาะสมสำหรับพวกเขา จึงทำให้ร้องตามได้อย่างง่ายดาย อีกทั้งลักษณะของชุดเสียงที่เกิดขึ้นในท่วงทำนองของบทเพลง ยังสอดคล้องกับทำนองเพลงไทยที่คุ้นเคยเพราะอยู่บนบันไดเสียงแบบ Major Pentatonic ซึ่งเป็นอีกสูตรสำคัญในเพลง Pop ทั่วไปที่จะทำให้ผู้ฟังจดจำระดับเสียงที่เกิดขึ้นในบทเพลงได้เป็นอย่างดี

จากกลไกของบทเพลงที่มีทั้งการทบทวนและนำองค์ประกอบเดิมที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่เริ่มต้นบทเพลงกลับมาผสมผสานร่วมกันใหม่ ทำให้บทเพลงมีความเป็นเอกภาพและสามารถสร้างความทรงจำได้เพียงระยะสั้นเมื่อได้ฟังเพลงนี้เพียงไม่กี่ครั้ง โดยในท่อน Verse ที่สองเป็นการเขียนวลีที่มีรูปแบบที่เกิดขึ้นในดนตรี trap ที่วลีมีอาการจังหวะขัดและฟังไม่เป็นประโยคยาวเหมือนกับวลีในบทเพลง pop ทั่วไป และโครงสร้างที่บังคับให้ทุกอย่างเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งตั้งแต่ Pre-Hook ไปจนถึง Hook 

นับเป็นบทเพลงที่สมบูรณ์แบบตามกลไกทางดนตรีตะวันตกที่ต้องมีการเล่าเรื่องที่น่าสนใจ ราวกับเป็นการเล่านิทานให้เด็ก ๆ ฟัง

เมื่อถึงเหตุการณ์สำคัญหรือตื่นเต้น ผู้เล่าต้องออกแบบเสียงให้สอดคล้องกับเรื่องเล่าเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว บทเพลงดังกล่าวจึงไม่ต่างจากนิทานเรื่องใหม่ของเหล่าเยาวชนฟันน้ำนมที่พวกเขาสนใจฟังจนจดจำและสามารถร้องตามได้

หากเยาวชนเป็นสภาวะหนึ่งของห้วงเวลาชีวิตมนุษย์ ที่โหยหาและต้องการสร้างสรรค์ตัวตนของตนเองขึ้น เพื่อต่อต้านพลังทางวัฒนธรรมที่ถูกผู้ใหญ่กดขี่หรือบังคับให้ปฏิบัติทำตาม ไม่แปลกใจที่ปรากฏการณ์ “ทรงอย่างแบด (Bad Boy)” วง Paper Planes ส่วนหนึ่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมาจากกระแสการรื้อฟื้นวัฒนธรรม Pop Punk ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 และก็ยากที่ปฏิเสธได้ว่าบทเพลงมันเป็นเครื่องมือสำคัญของเหล่าเยาวชนที่จะแสดงตัวตนและมีพื้นที่ของพวกเขาผ่านเสียงเพลง

ทว่ากลุ่มเป้าหมายของดนตรี Punk ตั้งแต่แรกเริ่มนั้นคือกลุ่มเยาวชนที่เป็นวัยรุ่น แต่ไม่น่าจะลงไปได้ถึงเยาวชนชาวฟันน้ำนมได้ ปรากฏการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับภาพที่เราพบเห็นทั่วไปจากคลิป Viral ขนาดสั้นที่ปรากฏบนพื้นที่สื่อออนไลน์ต่าง ๆ บทเพลงนั้นอาจเปรียบเสมือนสิ่งที่ติดต่อกันผ่านผัสสะที่ใช้ทั้งสายตาและหูในการรับชม โดยที่ผู้ปกครองมอบอำนาจให้กับเหล่าเยาวชนฟันน้ำนมได้มีสิทธิเข้าถึงสื่อเหล่านั้น

ดังที่เรามักจะเห็นทุกเมื่อเชื่อวันตามร้านอาหารที่บุพการีหยิบยื่นโทรศัพท์ Smart Phone ให้ลูกนั้นได้กดและเข้ารับชมในสิ่งที่พวกเข้าสนใจได้...

 

เรื่อง: กุลธีร์ บรรจุแก้ว อาจารย์ประจำสาขาวิชาดนตรีสร้างสรรค์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา

ภาพ: The People / Getty Images