โลธาร์ เครย์ซิก ผู้พิพากษาผู้ต่อต้าน "การุณยฆาต" ของ ฮิตเลอร์

โลธาร์ เครย์ซิก ผู้พิพากษาผู้ต่อต้าน "การุณยฆาต" ของ ฮิตเลอร์
การุณยฆาต หรือการฆ่าด้วยความการุณควรจะเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายหรือไม่? เป็นสิ่งที่มีการถกเถียงกันในหลายสังคม บางสังคมก็ยอมรับว่า "สิทธิที่จะตาย" เป็นสิ่งหนึ่งที่มนุษย์เลือกได้ ซึ่งโดยทั่วไปก็ไม่มีใครคัดค้าน การฆ่าตัวตาย หรือการพยายามฆ่าตัวตาย (คือได้ลงมือแล้วแต่ไม่สำเร็จ) จึงไม่มีกฎหมายที่ไหนเอาผิด   (ที่อินเดียเคยมีกฎหมายที่กำหนดให้การพยายามฆ่าตัวตายให้เป็นความผิดทางอาญาด้วย ก่อนที่ศาลฎีกาจะตัดสินว่ากฎหมายเช่นนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิต ซึ่งรวมถึงสิทธิจะเลือกที่ตายด้วยตัวเอง) แต่ความซับซ้อนมันมาจากการที่ "การุณยฆาต" มี "บุคคลอื่น" เป็นผู้ช่วยเหลือ จึงเข้าลักษณะเป็นการ "ฆ่าผู้อื่น" ซึ่งโดยหลักการทั่วไปแล้วย่อมถือเป็นความผิด ในประเทศที่อนุญาตให้ทำได้จึงต้องมีกฎหมายกำหนดเป็นข้อยกเว้น "หลักการทั่วไป" ขึ้นมา พร้อมกับต้องมีเกราะป้องกันเพื่อมิให้มีการใช้ข้อยกเว้นนี้ในทางที่ไม่ถูกไม่ควร เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในยุคของนาซี ที่มีการฆาตกรรมหมู่โดยอ้าง "ความการุณ" ทั้งที่ผู้ตายมิได้ร้องขอ ทำให้ โลธาร์ เครย์ซิก (Lothar Kreyssig) ผู้พิพากษาในสมัยนั้นออกมาต่อต้าน เครย์ซิกเกิดในแซกโซนี เมื่อ ค.ศ. 1898 ในครอบครัวชนชั้นกลางโปรแตสแตนต์ เขาเป็นนักชาตินิยมเยอรมันคนหนึ่งสมัยเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 เขาจึงสมัครเป็นอาสาสมัครไปรบกับเขาด้วย จากนั้นจึงหันมาเรียนด้านกฎหมาย ผ่านการฝึกฝนวิชาแล้วจึงได้เป็นผู้พิพากษาในปี 1928 ไม่นานก่อนนาซีจะขึ้นมาครองอำนาจ เขานับเป็นนักกฎหมายที่มี "กระดูกสันหลัง" กล้าที่จะยืนยันในหลักการมากกว่าที่จะโอนอ่อนตามผู้มีอำนาจ ในสมัยของรัฐบาลนาซี เครย์ซิกจึงเป็นผู้พิพากษาคนเดียวที่กล้าต่อต้านนโยบายของฮิตเลอร์ โดยในช่วงเวลาที่มีการจับตัวชาวยิวด้วยการยัดเยียดข้อหาต่าง ๆ เครย์ซิกรีบตรวจตราว่าการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังเป็นไปโดยสมควรหรือไม่ และเมื่อเขาได้พิจารณาข้อกล่าวหาด้วยตนเอง เขาก็สั่งยกฟ้องปล่อยตัวผู้ต้องขังไปเกือบหมด เนื่องจากเขาเห็นว่าข้อกล่าวหาทั้งหลายต่อชาวยิวล้วนเลื่อนลอยทั้งสิ้น ขณะที่ผู้พิพากษารายอื่น ๆ ในยุคเดียวกันต่างปฏิบัติในทางตรงกันข้าม ในหมู่ผู้พิพากษา เครย์ซิกได้รับการยอมรับและความชื่นชมอย่างกว้างขวาง เมื่อครั้งที่นาซีขึ้นสู่อำนาจหมาด ๆ เขาแสดงความกระด้างกระเดื่องอย่างชัดเจน ทั้งเดินออกจากห้องประชุมทันทีเมื่อมีการเผยภาพผู้นำคนใหม่ต่อคณะผู้พิพากษา และปฏิเสธที่จะตะโกน "ไฮล์ ฮิตเลอร์" สามครั้งในงานรัฐพิธีทางการ ทำให้เหล่านาซีหงุดหงิดยิ่งนัก พยายามจะเอาเขาออกจากตำแหน่ง แต่กระทรวงยุติธรรมพยายามโต้แย้งช่วยให้เขายังนั่งบัลลังก์ต่อได้ แต่ก็ไม่รับรองว่าหากเขาทำอะไรไม่ถูกใจผู้มีอำนาจซ้ำในภายหลัง ทางกระทรวงจะช่วยอะไรได้อีก ซึ่งสุดท้ายเขาก็ไม่พ้นจะต้องออกจากตำแหน่ง เมื่อเขาไปขวางทางนโยบาย "การุณยฆาต" ของฮิตเลอร์ กรณีนี้เริ่มจากเครย์ซิกรู้สึกระแคะระคายถึงความผิดปกติของการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทางจิตที่เคยอยู่ในการดูแลของเขา ถูกเคลื่อนย้ายและไป "ตาย" ที่สถานควบคุมอื่นมากอย่างผิดสังเกต ทำให้เครย์ซิกเชื่อว่าการสังหารที่เกิดขึ้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เขาปฏิเสธข้ออ้างที่ถูกใช้ในเวลานั้นว่า "กฎหมายคือสิ่งที่มีไว้รับใช้ประชาชน" เพราะมันถูกเอาไปบิดเบือนเพื่อรับใช้ผู้มีอำนาจ การละเลยกฎหมายยังเป็นการละทิ้งเกราะคุ้มกันสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน เครย์ซิกเขียนหนังสือโต้แย้งการกระทำของรัฐบาลไปตามลำดับชั้น ทำให้เขาถูกเรียกมาปรับทัศนคติกับ "โรลันท์ ไฟรส์เลอร์" ตุลาการนาซี รัฐมนตรีช่วยกระทรวงยุติธรรม แต่เมื่อทางกระทรวงไม่อาจให้เหตุผลบนพื้นฐานของกฎหมายได้ เครย์ซิกก็สั่งให้ห้ามเคลื่อนย้ายผู้ต้องขังที่อยู่ในความดูแลของเขาทั้งหมด กระทรวงยุติธรรมซึ่งตอนนั้นน่าจะได้รับคำสั่งลับจากฮิตเลอร์เรื่องอนุมัติการการุณยฆาตมาแล้ว จึงสั่งให้เครย์ซิกยกเลิกคำสั่งดังกล่าวโดยพลัน เขาถูกเรียกตัวเข้ากระทรวงอีกรอบ คราวนี้ ฟรานซ์ เกิร์ตเนอร์ (Franz Gürtner) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นคนลงมาคุยเอง แต่เครย์ซิกก็ยังยืนยันคำเดิมว่าสิ่งที่นาซีเรียกว่า "การุณยฆาต" ต่อบุคคลที่นาซีเห็นว่ามีความบกพร่อง (ตามแผน Aktion T4) เป็นสิ่งที่ขัดต่อกฎหมายของรัฐ ฝ่ายรัฐมนตรีเกิร์ตเนอร์ขี้เกียจจะหาเหตุผลอื่นใดมาอธิบาย จึงบอกว่า "ถ้าคุณไม่ยอมรับว่า เจตนารมณ์ของผู้นำสูงสุดเป็นแหล่งที่มาของกฎหมายแล้ว คุณก็ไม่อาจดำรงตำแหน่งตุลาการต่อไปได้" (สำหรับนักกฎหมายที่เชื่อในสำนักกฎหมายบ้านเมืองถือกันว่า ใครมีอำนาจจะสั่งอะไรก็ได้ เพราะผู้มีอำนาจสูงสุดคือที่มาของกฎหมายทั้งหลายแหล่ การรัฐประหารยึดอำนาจประชาชนล้มล้างรัฐธรรมนูญก็กลายเป็นสิ่งที่ชอบธรรมได้ แต่สำหรับเครย์ซิกเขาเชื่อว่า การตรากฎหมายต้องมีขีดจำกัด ขอบเขตบางอย่างต่อให้คุณมีอำนาจสูงสุดก็ไม่อาจใช้อำนาจก้าวล่วงไปกว่าขอบเขตนั้นได้)   หลังจากได้รับฟังคำอธิบายของรัฐมนตรีฯ แล้ว เครย์ซิกกลับบ้านไปนอนพิจารณาได้สองสามวันก็ตัดสินใจยื่นหนังสือลาออก โดยสงวนสิทธิ์ที่จะได้รับเงินบำนาญในช่วงปลายปี 1940 แต่เขาก็ยังถูกสอบสวนทางวินัยอยู่นาน ก่อนที่กระทรวงยุติธรรมยุติการสอบสวนและมีคำสั่งอนุมัติเงินบำนาญให้ในเดือนมีนาคม ปี 1942 ซึ่งหลังพ้นจากหน้าที่เขาต้องไปทำสวนทำไร่จนสิ้นสุดสงคราม หลังจากนั้นเขาก็หันไปอุทิศตนให้กับการสร้างสันติภาพล้างบาปให้กับชาวเยอรมันตามความเชื่อของเขา ทั้งนี้ การุณยฆาตในยุคของนาซีเป็นการสังหารคนโดยที่บุคคลนั้นไม่ได้ให้ความยินยอมไว้ก่อน แต่อ้างความบกพร่องทางกายหรือจิตใจในการฆ่าเพื่อให้คนเหล่านี้ "ไปสบาย" โดยไม่ได้ถามไถ่ว่าเขาพร้อมจะไปรึยัง? แล้วเรียกว่าเป็น "ความการุณ" ทำให้เครย์ซิกที่เป็นคริสเตียนต่อต้านอย่างรุนแรง ซึ่งในยุคปัจจุบันก็อาจเกิดลักษณะคล้าย ๆ กันกับกรณีผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ แสดงความรู้สึกใด ๆ ไม่ได้ ลูกหลานหรือญาติจึงอาจขอให้หมอทำ "การุณยฆาต" ให้ผู้ป่วยรายนั้น ซึ่งในกรณีนี้ถือว่ามีปัญหาข้อถกเถียงทางศีลธรรมมากกว่าการที่ผู้ป่วยเป็นผู้ร้องขอให้ทำการุณยฆาตด้วยตนเอง   ที่มา https://www.researchgate.net/publication/326693176_Why_Adolf_Hitler_Spared_the_Judges_Judicial_Opposition_Against_the_Nazi_State https://static1.squarespace.com/static/56330ad3e4b0733dcc0c8495/t/56b8eb8562cd94ec072e5111/1454959494141/GLJ_Vol_06_No_02_Legerer.pdf https://static1.squarespace.com/static/56330ad3e4b0733dcc0c8495/t/57634558197aea955e025441/1466123622929/GLJ_Vol_06_No_02.pdf