บารอนเฮลแชม ผู้เผยแพร่วาทกรรม “เผด็จการรัฐสภา”
เผด็จการเป็นคำพูดที่แสลงหู ความน่ารังเกียจของคำคำนี้ ทำให้แม้แต่ผู้นิยมเผด็จการทหารในบางประเทศใช้ประณามรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งซึ่งครองเสียงข้างมากในรัฐสภาว่าเป็น “เผด็จการรัฐสภา” เพื่อทำลายความชอบธรรมของรัฐบาลเช่นนั้น (แม้รูปแบบการปกครองที่ตัวเองชื่นชอบจะไม่มีความชอบธรรมมากกว่าแม้เพียงนิดเดียวก็ตาม)
ตัวอย่างชัด ๆ คงหนีไม่พ้นประเทศไทยที่คำว่า “เผด็จการรัฐสภา” หรือ เผด็จการที่มาจากการเลือกตั้ง (elective dictatorship) กลายเป็นคำที่มีพลังทำลายล้างสูงมาก ระดับที่เจตจำนงของประชาชนที่มาจากการเลือกตั้งก็ยังถูกลบล้างได้ง่าย ๆ ด้วยคำคำนี้ เปิดทางให้เผด็จการเสียงข้างน้อยกลาย (เผด็จการเต็มรูปแบบ) เป็นผู้ครองอำนาจมาตลอดในระยะหลัง ซึ่งผิดไปจากเจตนาของผู้ที่พยายามผลักดันคำนี้ให้แพร่หลาย
คำนี้เริ่มเป็นที่แพร่หลายในช่วงปลายทศวรรษที่ 70s เมื่อ ควินติน ฮอก (Quintin Hogg) หรือ บารอนเฮลแชมแห่งเซนต์มารีลบอน (Baron Hailsham of St Marylebone) จากพรรคอนุรักษนิยม เอามาใช้โจมตีรัฐบาลของพรรคแรงงานในยุคนั้น (บารอนรายนี้เคยสละฐานันดร จึงได้เล่นการเมืองทั้งในสภาสูงและสภาล่าง และเกือบ ๆ จะได้ไปถึงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาแล้ว)
ทั้งนี้ รัฐบาลอังกฤษอยู่ในระบบรัฐสภาเหมือนกับสภาบ้านเรา โดยหลักการแล้ว พรรคที่รวมเสียงข้างมากในสภาได้มากที่สุด หัวหน้าพรรคก็จะได้เป็นหัวหน้ารัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรี ต่างจากระบบประธานาธิบดีที่ประชาชนเลือกหัวหน้ารัฐบาลโดยตรง แล้วมาเลือกตัวแทนไปทำหน้าที่นิติบัญญัติต่างหาก
ผลก็คือในระบบรัฐสภานั้น เมื่อรัฐบาลมีเสียงข้างมากในสภาแล้ว การผ่านกฎหมายก็แทบจะเป็นแค่รูปแบบพิธีการ แม้จะมีการอภิปรายคัดค้านโต้แย้งอย่างไร ถ้าพรรครัฐบาลเสียงข้างมากมีธงอยู่ก่อนแล้ว ยังไงก็ผ่านสภาได้สบาย ๆ
ขณะที่ในระบบประธานาธิบดีนั้น ไม่จำเป็นที่พรรคเสียงข้างมากในสภาจะเป็นพรรคเดียวกับรัฐบาล ซึ่งหากพรรคฝ่ายค้านครองเสียงข้างมากในสภาก็จะกลายเป็นว่า การผ่านกฎหมายของรัฐบาลก็มีโอกาสที่จะถูกฉุดรั้งตามขั้นตอนการพิจารณาได้ อันเป็นลักษณะหนึ่งของการ “ถ่วงดุลอำนาจ” ของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งขาดหายไปในระบบรัฐสภา เนื่องจากรัฐบาลในระบบนี้จะครองเสียงข้างมากในรัฐสภาเสมอ
และอังกฤษยังเป็นประเทศที่ไม่มีรัฐธรรมนูญเป็นลายลักษณ์อักษร ที่เป็นตัวกำหนดขอบเขตการใช้อำนาจของรัฐบาลและรัฐสภา ทำให้เฮลเชมซึ่งเคยครองตำแหน่งลอร์ดแชนเซลเลอร์ (Lord Chancellor, สมัยนั้นถือเป็นประมุขของฝ่ายตุลาการ) 2 สมัยระหว่างปี 1970 ถึง 74 และ 1979 ถึง 87 เห็นแล้วก็ไม่ค่อยปลื้มเท่าใดนัก (โดยเฉพาะเมื่อเขามิได้อยู่ในตำแหน่ง และพรรคอนุรักษนิยมไม่ได้เป็นพรรคที่จัดตั้งรัฐบาล)
"เราไม่มีเกราะคุ้มกันเหมือนรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ" เฮลแชมกล่าว (The New York Times) "เราไม่มีองค์กรเช่นศาลฎีกา [แบบสหรัฐฯ] ไม่มีบัญญัติว่าด้วยสิทธิพื้นฐานพลเมือง รัฐสภายังมีอำนาจที่ไร้ขีดจำกัด นี่คือระบบเผด็จการที่มาจากการเลือกตั้ง"
สิ่งที่เฮลเชมต้องการก็คือการตรวจสอบและการถ่วงดุลอำนาจ เนื่องจากรัฐธรรมนูญแบบไม่มีลายลักษณ์อักษรของอังกฤษให้อำนาจกับรัฐสภามากจนเกินไป เขาจึงเรียกร้องให้อังกฤษต้องร่างรัฐธรรมนูญขึ้นเป็นลายลักษณ์อักษร
"สิ่งที่ผมคาดหมายก็คือรัฐธรรมนูญฉบับลายลักษณ์อักษรสำหรับสหราชอาณาจักร ซึ่งมันจะเป็นเครื่องจำกัดอำนาจของรัฐสภาและมอบเครื่องมือสำหรับบังคับใช้ข้อจำกัดเหล่านั้นไม่ว่าจะโดยกระบวนการทางการเมืองและทางกฎหมาย นี่คือหัวใจสำคัญ" ลอร์ดเฮลแชมกล่าวเมื่อปี 1976 (PSU)
อย่างไรก็ดี อีกหกปีต่อมาเมื่อพรรคอนุรักษนิยมได้กลับมาเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของ “หญิงเหล็ก” มากาเร็ต แทตเชอร์ (ซึ่งเป็นรัฐบาลที่เข้มแข็งยิ่งกว่ารัฐบาลของพรรคแรงงานก่อนหน้า) และเขาได้กลับมาเป็นลอร์ดแชนเซลเลอร์อีกสมัย ท่าทีของเฮลเชมก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
เขาเห็นว่าระบบรัฐสภาแบบอังกฤษดีกว่าระบบประธานาธิบดีแบบอเมริกัน เพราะระบบรัฐสภาอังกฤษมักจะใช้งานนักการเมืองอาชีพในภาครัฐบาล ซึ่งมีประสบการณ์ทางการเมืองและเข้าใจการจัดการของระเบียบการทำงานของรัฐมากกว่า ผู้สืบทอดทางการเมืองจึงหาตัวได้ง่ายกว่า ในขณะที่คณะทำงานของประธานาธิบดีสหรัฐฯ มักเป็นคนของประธานาธิบดีโดยตรง ซึ่งอาจไม่เคยนั่งทำงานในสภามาก่อน หากประธานาธิบดีเป็นอะไรไปกลางคัน เบอร์สองที่ก้าวขึ้นมาทำหน้าที่แทนก็อาจไม่มีประสบการณ์สูงเหมือนนักการเมืองอาชีพในระบบรัฐสภา
และคราวนี้ก็ยังบอกว่า รัฐธรรมนูญแบบไม่มีลายลักษณ์อักษรของอังกฤษนั้นดีกว่า เพราะมีความยืดหยุ่นกว่า!
แต่เฮลเชมก็ยังคงวิพากษ์วิจารณ์อำนาจฝ่ายบริหารที่สามารถควบคุมฝ่ายนิติบัญญัติได้เบ็ดเสร็จ โดยบอกว่า สมัยก่อน การพิจารณากฎหมายที่มีงบประมาณไม่ได้มากมายและมีเอกสารประกอบไม่กี่ร้อยหน้ายังต้องใช้เวลาอภิปรายกันเป็นสัปดาห์ แต่พอมาสมัยนี้การพิจารณากฎหมายที่มีเอกสารประกอบเป็นพัน ๆ หน้าเกี่ยวพันกับงบประมาณเป็นแสนล้านปอนด์กลับใช้เวลาเพียงสองวันเท่านั้น ทำให้การ “อภิปราย” เพื่อให้สาธารณะเห็นถึงความจำเป็นและสมควรของร่างกฎหมายนั้น ๆ กลายเป็นเพียงพิธีกรรมที่ไร้ความหมาย
และปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเช่นนั้นก็คือ การที่สภาสูงหรือสภาขุนนางถูกลดบทบาทลงไปมาก จากที่เคยมีอำนาจตีตกกฎหมายได้โดยสิ้นเชิง กลายมาเป็นเพียงมีอำนาจยับยั้งการผ่านกฎหมายเท่านั้น
เขามองว่า สภาสูงควรมีประโยชน์มากกว่านี้ แต่จำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีการสรรหา ซึ่งในมุมมองของเขา สภาสูงควรมีสถานะเป็นสภาลำดับที่สองที่มาจากการเลือกตั้ง โดยไม่มีขุนนางตลอดชีพ บิชอป หรือตำแหน่งที่สืบทอดโดยสายเลือดอีกต่อไป แต่ถึงแม้สภาขุนนางจะยังคงสภาพเดิมต่อไปมันก็ยังพอมีประโยชน์ที่จะช่วยลดข้อบกพร่องของสภาสามัญลงได้บ้าง (The Hamlyn Lectures, 1982)
เมื่อฟังคำอธิบายถึงตรงนี้ สำหรับเฮลเชมการใช้วาทกรรม “เผด็จการรัฐสภา” จึงเป็นไปเพื่อเรียกร้องให้มีการเพิ่มบทบาทของภาคการตรวจสอบและถ่วงดุลรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น (แม้ถึงคราวที่พรรคของเขาขึ้นมามีอำนาจจะเสียงอ่อนลงก็เถอะ) จะบอกว่าเพื่อให้ระบบมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นก็ได้ (เห็นได้จากการเรียกร้องให้สภาสูงมาจากการเลือกตั้ง) ขณะที่ในบางประเทศ การโจมตีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งว่าเป็น “เผด็จการรัฐสภา” ก็เพียงเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของระบบเสียงข้างมาก (แล้วหันไปหาระบบเผด็จการเสียงข้างน้อย “คนดี”) โดยมิได้มีความประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงระบบที่บกพร่องมีการถ่วงดุล และตรวจสอบได้ดีขึ้นแต่อย่างใด