วินสตัน เชอร์ชิลล์ จาก ส.ส.สอบตก สู่เก้าอี้นายกฯ รัฐบาลแห่งชาติ

วินสตัน เชอร์ชิลล์ จาก ส.ส.สอบตก สู่เก้าอี้นายกฯ รัฐบาลแห่งชาติ
"ไม่มีที่ทำงาน ไม่มีเก้าอี้ ไม่มีพรรค ไม่มีแม้กระทั่งไส้ติ่ง" เซอร์วินสตัน เชอร์ชิลล์ กล่าวภายหลังผ่าตัดไส้ติ่งพร้อม ๆ กับสอบตกในการเลือกตั้งทั่วไปในปี 1922 (Britannica) รัฐบาลแห่งชาติ คืออะไร? ในเมืองไทยมีการพูดถึงรัฐบาลแห่งชาติมานานนับสิบปีนับแต่เกิดความวุ่นวายทางการเมืองเรื่องสีเสื้อ จึงทำให้มีผู้เสนอทางออกในสูตร "รัฐบาลแห่งชาติ" ที่นายกรัฐมนตรีมาจาก "คนกลาง" และมีคณะรัฐมนตรีที่มาจากตัวแทนของพรรคการเมืองทุกพรรค แต่สูตรนี้ยังคงถูกมองข้ามเรื่อยมาด้วยเหตุผลต่าง ๆ นานา แต่หากมองย้อนกลับไป สูตรการตั้งรัฐบาลที่ทุกพรรคเป็นรัฐบาลนั้น มิใช่ไอเดียใหม่ที่เกิดขึ้นภายใต้ลักษณะเฉพาะทางการเมืองของเมืองไทย ในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบรัฐสภาอย่างอังกฤษ ก็เคยเกิดรัฐบาลแห่งชาติมาก่อนแล้ว เช่น รัฐบาลของ เซอร์วินสตัน เชอร์ชิลล์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งนี้ เชอร์ชิลล์ไม่ใช่นายกฯ จากรัฐบาลแห่งชาติคนแรก เพราะก่อนหน้าเขา อังกฤษก็ปกครองโดยรัฐบาลแห่งชาติมานานหลายช่วงหลายตอน ไม่เพียงแต่ในช่วงสงครามเท่านั้น เมื่อคราวเกิดวิกฤตเศรษฐกิจจนรัฐบาลของพรรคอนุรักษนิยม (ที่เชอร์ชิลล์เป็นรัฐมนตรีคลัง) ไปไม่รอด พรรคแรงงานกลายเป็นพรรคที่มีเสียงมากที่สุดในการเลือกตั้งเมื่อปี 1929 แต่เป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยที่ขาดเสถียรภาพ แล้วยังมาเกิดความแตกแยกว่าด้วยนโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ระหว่างฝ่ายหนุนนโยบายรัดเข็มขัด ตัดงบประมาณพร้อมกับขึ้นภาษี กับอีกฝ่ายที่หนุนให้รัฐบาลกระตุ้นการใช้จ่ายด้วยการทุ่มเงินจากภาครัฐ ทำงบประมาณแบบขาดดุล เมื่อ แรมซีย์ แมคโดนัลด์ นายกฯ จากพรรคแรงงานให้การสนับสนุนฝ่ายรัดเข็มขัด สอดคล้องร่วมกับพรรคการเมืองอื่นทั้งอนุรักษนิยม และเสรีนิยม เขาจึงร่วมมือกับอีกสองพรรคตั้ง "รัฐบาลแห่งชาติ" ขึ้นมา โดยได้รับการสนับสนุนจากคิงจอร์จที่ 5 ซึ่งนั่นก็ทำให้แมคโดนัลด์และพวกถูกขับออกจากพรรคแรงงาน พวกเขาจึงรวมตัวกันในชื่อกลุ่ม "แรงงานแห่งชาติ" (The Guardian) รัฐบาลแห่งชาติจึงไม่ใช่ของแปลก หากเป็นสิ่งที่คนคุ้นเคยมาก ก่อนที่เชอร์ชิลล์จะก้าวขึ้นมารับตำแหน่งสูงสุดของฝ่ายบริหาร เดิมทีเชอร์ชิลล์คือนายทหาร (แถมเคยเป็นนักข่าวด้วย ซึ่ง บอริส จอห์นสัน นายกฯ อังกฤษคนปัจจุบันก็เคยเป็นนักข่าวเช่นกัน) ที่หันมาเล่นการเมือง เริ่มจากลงสมัคร ส.ส. ในนามพรรคอนุรักษนิยม ก่อนย้ายฝั่งไปอยู่กับฝ่ายเสรีนิยม จนได้เป็นผู้บังคับบัญชาการสูงสุดของราชนาวีในฟากการเมือง (First Lord of Admiralty) ซึ่งในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่ 1 เขาถูกโจมตีอย่างหนักเมื่อแผนบุกยึดช่องแคบดาร์ดะเนลส์ (Dardanelles) ของเขาล้มเหลวอย่างรุนแรง ทำให้เขาตัดสินใจลาออกจากรัฐบาลในช่วงปลายปี 1915 เชอร์ชิลล์กลับสู่เส้นทางการทหารเป็นระยะสั้น ๆ เอาชีวิตเข้าเสี่ยงในแนวหน้าเพื่อพักรักษาบาดแผลทางการเมือง ก่อนคืนสังเวียนการเมืองอีกรอบ รับหน้าที่ดูแลการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ซึ่งมีบทบาทค่อนข้างจำกัดในรัฐบาล จนกระทั่งปี 1919 เมื่อสงครามจบลงแล้วเขาจึงได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสงคราม แล้วช่องแคบดาร์ดะเนลส์ก็กลับมาหลอกหลอนเขาอีกรอบในปี 1922 เมื่อกองกำลังเติร์กรุกเข้าช่องแคบที่หลังสงครามมีการตกลงให้เป็นพื้นที่เป็นกลาง เชอร์ชิลล์จึงเรียกร้องให้มีการทำสงครามต่อต้านฝ่ายเติร์ก แต่สังคมสมัยนั้นเหนื่อยหน่ายกับสงครามมามาก บวกกับปัญหาภายในต่าง ๆ รัฐบาลผสมของเดวิด ลอยด์ จอร์จ (ซึ่งครองอำนาจมาตั้งแต่ช่วงสงครามโลก และถูกเรียกว่าเป็นรัฐบาลแห่งชาติด้วยเหมือนกัน) ก็ถึงคราวล่มสลาย เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เมื่อจู่ ๆ เชอร์ชิลล์ก็มาล้มป่วยด้วยอาการไส้ติ่งอักเสบในช่วงที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปพอดี กว่าเขาจะมาปรากฏตัวต่อสาธารณะได้ก็เหลือเวลาก่อนลงคะแนนเพียงสองวัน ซึ่งน้อยเกินไปกว่าที่เขาจะเปลี่ยนใจให้สาธารณะหันมาให้การสนับสนุน ทำให้เขา “สอบตก” ในการเลือกตั้งคราวนั้นแบบขาดลอย เชอร์ชิลล์สอบตกอยู่อีกหลายรอบทั้งในนามพรรคเสรีนิยมและผู้สมัครอิสระ แต่ความพยายามตะแบงต่อต้านคอมมิวนิสต์ ขบวนการสังคมนิยมและพรรคแรงงานอังกฤษ ในฐานะ “ผู้ปกป้องรัฐธรรมนูญ” ก็ทำให้เขากลับมาเป็น ส.ส. ได้อีกครั้งในการเลือกตั้งทั่วไปปลายปี 1924 แถมยังได้รับข้อเสนอจากพรรคอนุรักษนิยมที่ชนะการเลือกตั้งในคราวนั้นให้กลับมาเป็นสมาชิกอีกครั้ง พร้อมรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อย่างไรก็ดี ผลงานชิ้นโบว์ดำในฐานะรัฐมนตรีคลังของเขาก็คือการย้อนกลับไปใช้มาตรฐานทองคำ (การผูกค่าเงินกับราคาทองคำ) ส่งผลให้เกิดภาวะเงินฝืด ปัญหาคนตกงานรุนแรงนำไปสู่การนัดประท้วงหยุดงานครั้งใหญ่ในปี 1926 จึงไม่น่าแปลกใจนักที่พรรคอนุรักษนิยมจะพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 1929 ให้กับพรรคแรงงานที่ต้องจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย เนื่องจากยังมีเสียงไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสภา ก่อนรวมทุกพรรคเข้าด้วยกันเป็นรัฐบาลแห่งชาติในปี 1931 ระหว่างที่มีรัฐบาลแห่งชาติราวหนึ่งทศวรรษ เชอร์ชิลล์ไม่ได้มีส่วนร่วมในตำแหน่งบริหารของรัฐบาลเลย เมื่อทุกพรรคต่างไม่วางใจกับพฤติกรรมแปรพักตร์อยู่บ่อย ๆ ของเขา เชอร์ชิลล์จึงเอาเวลาไปสนใจเรื่องงานเขียน ขณะเดียวกันก็ส่งเสียงเตือนให้ระมัดระวัง “นาซีเยอรมัน” อยู่เสมอ แต่เสียงของเขาก็ถูกเพิกเฉยอยู่เรื่อยมา ในปี 1938 เชอร์ชิลล์โจมตีอังกฤษและมหาอำนาจตะวันตกอย่างหนักหน่วง ที่พากันสมยอมให้นาซียึดบางส่วนของเชโกสโลวาเกีย แลกกับคำมั่นของนาซีที่จะไม่รุกรานเพิ่มเติมตามข้อตกลงมิวนิก ซึ่งสุดท้ายนาซีก็ตระบัดสัตย์ดังที่เชอร์ชิลล์เตือน ถึงตอนนี้สาธารณะจึงเริ่มตาสว่างเมื่อเห็นว่า คำเตือนของเชอร์ชิลล์ค่อย ๆ เป็นจริงขึ้นมาทีละอย่าง เนวิล เชมเบอร์ลิน นายกรัฐมนตรีรัฐบาลแห่งชาติจากพรรคอนุรักษนิยม จึงเห็นควรให้เชอร์ชิลล์รับตำแหน่งรัฐมนตรีคุมกองทัพเรือเหมือนเมื่อคราวสงครามโลกครั้งที่ 1 อีกครั้งในวันที่ 3 กันยายน 1939 วันเดียวกับที่อังกฤษประกาศสงครามกับนาซี ความลังเลล่าช้าของเชมเบอร์ลิน ขณะที่กองทัพนาซีรุดหน้าสู่ชัยชนะอย่างรวดเร็ว ทำให้เขาถูกวิจารณ์อย่างหนักจากทุกฝ่าย ก่อนที่เขาจะตัดสินใจลาออกในเดือนพฤษภาคม 1940 เมื่อกองทัพอังกฤษไม่อาจปลดปล่อยนอร์เวย์ได้สำเร็จ   ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีปกติเป็นนักการเมืองคนไหนก็อยากได้ แต่เมื่อลอร์ดฮาร์ลิแฟกซ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้รับข้อเสนอจากเชมเบอร์ลิน เขากลับปฏิเสธ และก็เป็น วินสตัน เชอร์ชิลล์ ผู้มากประสบการณ์ผ่านการรบมาหลายครั้งที่ได้รับความไว้วางใจจากทุกพรรคให้รับตำแหน่งอันมีเกียรติ เพื่อพาอังกฤษพ้นจากสภาวะวิกฤตครั้งสำคัญ ด้วยความเด็ดเดี่ยว มุ่งมั่น เขาสามารถทำให้ชาวอังกฤษเชื่อว่าพวกเขาจะกลับมาได้ชัยชนะแม้จะตกเป็นฝ่ายตั้งรับอยู่นาน และกาลเวลาก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า รัฐสภาอังกฤษเลือกไม่ผิดที่มีมติให้เชอร์ชิลล์เป็นผู้นำรัฐบาลแห่งชาติในสงครามครั้งนั้น