การแต่งงานของควีนอิซาเบลที่ 1 แห่งกัสติยา (1451-1504) และคิงเฟร์นันโดที่ 2 แห่งอารากอน (1452-1516) ทำให้สองอาณาจักรใหญ่แห่งไอบีเรียรวมกันเป็นปึกแผ่นภายใต้การปกครองของทั้งคู่ ซึ่งถือเป็นการวางรากฐานของการรวมอาณาจักรสเปนในภายหน้า (ทั้งคู่ยังเป็นสปอนเซอร์ให้คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส นักสำรวจและนักเดินเรือ ซึ่งเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากสำหรับสเปน)
แต่เมื่อควีนอิซาเบลสวรรคตลง การเมืองในราชอาณาจักรก็ตกอยู่ภายใต้ความวุ่นวาย ด้วยควีนฆัวนา (1479-1555) ผู้สืบทอดบัลลังก์โดยชอบธรรมของควีนอิซาเบล ถูกฉุดชิงอำนาจโดยคนใกล้ตัวอย่างพ่อ สามี หรือแม้กระทั่งลูกชาย ด้วยข้อหา "สัญญาวิปลาส" ทั้งยังถูกขนานนามว่า "Juana la Loca" หรือ “ฆัวนาผู้บ้าคลั่ง” สืบมาเป็นเวลาหลายร้อยปี
เดิมที ควีนฆัวนาไม่ได้ถูกคาดหมายว่าจะได้รับสืบทอดอำนาจมาก่อน เนื่องจากพระองค์เป็นทายาทลำดับที่สามของควีนอิซาเบลและคิงเฟร์นันโด แต่เมื่อควีนอิซาเบลครองราชย์ยาวนานถึง 3 ทศวรรษ ทายาทลำดับต้นของพระองค์จึงพากันลาโลกไปเสียก่อน เจ้าหญิงฆัวนาที่ถูกมองข้ามจึงได้มาเป็นควีนแห่งกัสติยาตามคำสั่งเสียของควีนอิซาเบล
ก่อนที่จะได้ขึ้นครองราชย์ เมื่ออายุได้ราว 16 พรรษา เจ้าหญิงฆัวนาทรงสมรสกับเจ้าชายฟิลิปแห่งเบอร์กันดี ผู้เป็นโอรสของเจ้าหญิงแมรีแห่งเบอร์กันดี และเจ้าชายแมกซิมิเลียนแห่งออสเตรีย (ซึ่งภายหลังได้ขึ้นเป็นจักรพรรดิแมกซิมิเลียนแห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์) ซึ่งเจ้าชายองค์นี้ยังมีฉายาว่า "ผู้หล่อเหลา" หรือ the Handsome ด้วย
ตามประวัติเล่ากันสืบมาว่า เจ้าหญิงฆัวนาหลงพระสวามีมาก และยังแสดงความหึงหวงเป็นอย่างหนัก จึงถูกพระสวามีจอมเจ้าชู้เอาคืนด้วยการละทิ้งไม่ยอมเข้าหายามค่ำคืน ทั้งยังให้มหาดเล็กช่วยบันทึกพฤติกรรมของพระชายา แล้วส่งให้ควีนอิซาเบลและคิงเฟร์นันโดผู้เป็นพ่อตาและแม่ยายทราบเรื่อง พร้อมปล่อยข่าวกล่าวหาว่าพระองค์ขี้หึงจน "บ้าคลั่ง" ซึ่งเป็นการประจานสร้างความอับอายให้กับควีนฆัวนาและครอบครัว
และครั้งหนึ่งหลังการมีปากเสียงครั้งใหญ่ เจ้าชายฟิลิปก็ทรงหนีกลับไปอยู่บ้านเกิดที่แฟลนเดอร์ส เจ้าหญิงฆัวนาก็พยายามจะติดตามพระสวามีไป แต่ถูกควีนอิซาเบลขัดขวางและจับพระองค์กักบริเวณ เนื่องจากขณะนั้นราชอาณาจักรของพระองค์ยังอยู่ในภาวะระหองระแหงกับทางฝรั่งเศส ทำให้เจ้าหญิงฆัวนาถึงกับไม่ยอมกินยอมนอน ได้แต่ร้องไห้ตึงตังคร่ำครวญถึงคนรัก
ฝ่ายควีนอิซาเบลนอกจากจะกังวลกับเรื่องที่ลูกสาวเอาใจออกห่างความเชื่อแบบคาทอลิกไปฝักใฝ่ลัทธิโปรแตสแตนต์แล้ว พระองค์ก็ชักไม่ไว้ใจลูกเขยรูปหล่อ เนื่องจากเกรงว่าลูกสาวของพระองค์จะตกเป็นเครื่องมือของพระสวามีจนลืมผลประโยชน์ของราชอาณาจักร ด้วยเหตุนี้ก่อนสวรรคต นอกจากพระองค์จะสั่งเสียให้พระธิดาขึ้นครองกัสติยาต่อแล้ว พระองค์ยังเปิดช่องให้คิงเฟร์นันโดผู้เป็นพระสวามีถืออำนาจบริหารราชอาณาจักรต่อไปได้ในนามของพระธิดา หากว่าเจ้าหญิงฆัวนาไม่สามารถหรือไม่มีความประสงค์ที่จะเป็นผู้ใช้อำนาจนั้น
เมื่อควีนอิซาเบลสวรรคตในปี 1504 คิงเฟร์นันโดซึ่งมิได้มีสถานะเป็นคิงแห่งกัสติยาแล้ว จึงพยายามแย่งอำนาจจากลูกสาว โดยอาศัยข้อกล่าวหาของลูกเขยที่มีต่อลูกสาวตัวเองเป็นเครื่องมือ เพื่อแสดงให้เห็นว่า “ควีนฆัวนา” ไม่เหมาะสม ขาดคุณสมบัติที่จะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครอง
เรื่องนี้ทำให้เกิดการแย่งชิงอำนาจกันระหว่าง คิงเฟร์นันโดขั้วอำนาจเก่า กับควีนฆัวนาผู้รับสืบทอดบัลลังก์ที่แท้จริง และพระสวามีที่คราวนี้พลิกพระชิวหากลับมาให้การยืนยันว่าพระชายาของพระองค์ทรงมีสติดี ก่อนที่คิงเฟร์นันโดจะทำพลาด เมื่อไปสมรสใหม่กับเจ้าหญิงแห่งฝรั่งเศสด้วยหวังว่าจะได้ขั้วอำนาจใหม่ช่วยค้ำจุน แต่นั่นกลับทำให้ชนชั้นนำของกัสติยาไม่พอใจ หันไปหนุนควีนฆัวนากับเจ้าชายฟิลิปแทน
เมื่อความตึงเครียดขมวดปมจนจะกลายเป็นสงครามกลางเมือง จู่ ๆ คิงเฟร์นันโดก็นัดเจรจากับเจ้าชายฟิลิป ตกลงกันลับหลังควีนฆัวนา ยอมยกอำนาจปกครองแห่งกัสติยาให้เจ้าชายฟิลิป โดยทั้งสองคิงอ้างว่าควีนฆัวนาขาดความพร้อมและความสามารถในการปกครอง จึงเห็นควรให้พระสวามีเป็นผู้ใช้อำนาจนั้นแทน
“คิงฟิลิป” ได้ใช้อำนาจที่โดยสิทธิควรเป็นของพระชายาดังปรารถนา แต่ระยะเวลาก็เพียงสั้น ๆ พระองค์ได้เสวยสุขในฐานะกษัตริย์ราวสองเดือนก็ล้มป่วยด้วยไข้ไทฟอยด์ และสวรรคตลงในเดือนกันยายน ปี 1506
ความตายของพระสวามี ทำให้ควีนฆัวนาโศกเศร้ายิ่งนัก เล่ากันว่า ระหว่างการเดินทางไปยังสุสานหลวงที่กรานาดา ควีนฆัวนาไม่ยอมอยู่ห่างร่างพระสวามี และยังสั่งให้เปิดหีบพระศพเพื่อให้พระองค์ได้จุมพิตร่างที่ไร้วิญญาณของพระสวามีอยู่หลายครั้ง ซึ่งเป็นข้อใหญ่ที่ทำให้นักประวัติศาสตร์ร่วมสมัยเชื่อตามข้อกล่าวหาว่าพระองค์สัญญาวิปลาสจริง
เมื่อไร้คู่แข่งสำคัญทางการเมือง คิงเฟร์นันโดพระบิดาควีนฆัวนา จึงย้อนกลับมาชิงอำนาจจากลูกสาวอีกรอบ ควีนฆัวนาพยายามขัดขืนและต่อต้านด้วยการไม่ลงพระนามในเอกสารราชการใด ๆ ซึ่งกลายมาเป็นข้ออ้างให้พระบิดาว่าร้ายได้อีกว่าพระองค์ไม่ใส่ใจกิจการบ้านเมือง จึงได้ยึดอำนาจเป็นผู้สำเร็จราชการแทน โดยได้รับความเห็นชอบจากเหล่าขุนนาง และสั่งให้กักบริเวณควีนฆัวนา
ถึงปี 1516 คิงเฟร์นันโดจึงสวรรคต พระโอรสของควีนฆัวนาที่ไม่ได้พบหน้านานนับสิบปี ได้ขึ้นครองราชย์เป็น “คิงคาร์ล” สืบต่อมา (ภายหลังยังได้ขึ้นเป็นจักรพรรดิแห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์) โดยมิได้ปลดปล่อยให้พระมารดาของพระองค์เป็นอิสระ และมิได้ลบล้างข้อกล่าวหา “สัญญาวิปลาส” ของพระมารดา เนื่องจากการกระทำเช่นนั้นย่อมทำให้การใช้อำนาจปกครองของพระองค์มีปัญหาขึ้นมาได้
อย่างไรก็ดี จากการค้นคว้าของ จิลเลียน เฟลมิง (Gillian Fleming) ในวิทยานิพนธ์เรื่อง Juana I and the Struggle for Power in an Age of Transition (1504-1521) พบว่าข้อหาสัญญาวิปลาสของพระองค์นั้น นักประวัติศาสตร์ยุคหลังเริ่มตั้งข้อสงสัยว่าจริงดังที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ เช่น กุสตาฟ อดอล์ฟ เบอร์เก็นรอธ (Gustave Adolf Bergenroth, 1813-1869) นักประวัติศาสตร์จากปรัสเซียตะวันออก ซึ่งได้มีโอกาสเข้าถึงเอกสารในหอจดหมายเหตุแห่งซิมังกัส (ซึ่งเป็นหอจดหมายเหตุของราชสำนักกัสติยา) กล่าวว่า
"ไม่เคยมีนักประวัติศาสตร์ผู้ทรงเกียรติรายใดตั้งข้อสงสัยในความสัญญาวิปลาส [ของควีนฆัวนา] ... แต่ตอนนี้ผมได้พบเอกสารกองหนึ่งซึ่งก่อนหน้าไม่อาจเข้าถึงได้ เป็นหลักฐานชี้ว่า พระองค์ไม่เคยสัญญาวิปลาสเลย...เรื่องราวความบ้าของพระองค์ล้วนเป็นเรื่องที่พระบิดา พระมารดา พระสวามี ไปจนถึงพระโอรสที่สร้างเรื่องขึ้นมาเพื่อประโยชน์ของตัวเองทั้งนั้น"
เบอร์เก็นรอธซึ่งเป็นโปรแตสแตนต์อ้างว่า ความบ้าของพระองค์เป็นข้อสำคัญที่คนใกล้ตัวของพระองค์ใช้เป็นข้ออ้างในการยึดอำนาจปกครอง และเหตุสำคัญที่ทำให้พระองค์ถูกกดขี่กีดกันจากวงอำนาจ ก็เนื่องจากพระองค์มีความเชื่อที่ไม่สอดคล้องกับแนวคิดคาทอลิก และยังไปเห็นตรงในบางเรื่องกับความเชื่อในนิกายลูเธอแรน
ส่วนอันโตนิโอ โรดริเกซ บียา (Antonio Rodriguez Villa, 1843-1912) นักประวัติศาสตร์สเปน พยายามตีความใหม่ว่า พฤติกรรมของควีนฆัวนาไม่อาจเรียกได้ว่า "บ้า" ตามความหมายทางการแพทย์ แต่เป็นเพราะความลุ่มหลงในความรักที่ทำให้พระองค์หลงลืมจารีตทางศาสนา ผลประโยชน์ในทางการเมือง ขนบธรรมเนียมทางสังคม ขัตติยมานะ หรือแม้กระทั่งความเป็นแม่
ด้าน เบธานี อาราม (Bethany Aram) นักประวัติศาสตร์อเมริกัน ที่ทำการศึกษาเอกสารต้นฉบับโดยเทียบเคียงลายมือจากเอกสารหลายชิ้นของควีนฆัวนา พบว่า เอกสารฉบับหนึ่งที่ควีนฆัวนาส่งไปถึงทูตของคิงเฟร์นันโดพระบิดา เพื่อโต้แย้งสิทธิในการปกครองกัสติยาให้กับสามี (ซึ่งพระบิดาของพระองค์ใช้เป็นหลักฐานหนึ่งในการกล่าวอ้างว่า ควีนฆัวนาขาดคุณสมบัติของนักปกครอง) นั้น แท้จริงเป็นเอกสารปลอม
นอกจากนี้ อารามยังวิเคราะห์ว่า การที่ควีนฆัวนาแห่ศพพระสวามีอย่างเอิกเกริก และแสดงความรักอย่างล้นเกิน จริง ๆ เป็นวิธีการหนึ่งที่พระองค์ใช้เพื่อสร้างความมั่นใจว่าโอรสของพระองค์ที่มีกับคิงฟิลิปจะได้สืบอำนาจต่อ ด้วยขณะนั้นพระองค์ยังสาว จึงไม่แปลกที่จะถูกราชสำนักกดดันให้สมรสใหม่ การแสดงออกถึงความรักอย่างทุ่มเทให้กับพระสวามีที่เสียชีวิตไปแล้ว จึงเป็นกลยุทธ์ทางการเมืองเพื่อปฏิเสธการมีคู่ครอง เนื่องจากหากพระองค์มีคู่ครองใหม่ และมีทายาทกับคู่ครองคนใหม่ โอกาสที่โอรสที่พระองค์มีกับคิงฟิลิปจะได้ขึ้นครองราชย์ต่อก็อาจลดน้อยลงได้
ขณะเดียวกัน นักประวัติศาสตร์ในศตวรรษที่ 20 ที่ยังเชื่อว่าพระองค์มีอาการทางจิตจริงก็ยังมี มีการวิเคราะห์ว่าพระองค์อาจเป็นโรคจิตเภทหลงผิด ซึ่งอาจสืบทอดทางพันธุกรรมภายในครอบครัว โดยอ้างจากอาการใกล้เคียงกันที่พบในพระญาติของพระองค์
อย่างไรก็ดี ในระยะหลังงานวิชาการทางประวัติศาสตร์ในยุคศตวรรษที่ 21 เริ่มอ้างถึงควีนฆัวนาว่า “the Mad” กันน้อยลง เนื่องจากคำว่า “บ้า” มันมีความหมายที่ออกจะกว้าง และกำกวมมากเกินไป แถมยังถูกใช้เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของผู้แย่งชิงอำนาจในสมัยนั้นอย่างล้นเกินจนยากจะแยกแยะว่า พระองค์ทรงมีสัญญาวิปลาสจริงในทางการแพทย์ หรือเป็นแค่ข้ออ้างของเหล่าชนชั้นนำ ที่ต้องการกีดกันพระองค์จากวงอำนาจกันแน่