“ร่างกายมนุษย์ประกอบด้วยน้ำ 70% แต่ตัวผมประกอบด้วยหนัง 70%”
นี่คือคำพูดของ ฮิเดโอะ โคจิมะ (Hideo Kojima) นักสร้างเกมชื่อดังที่ให้สัมภาษณ์ถึงความคลั่งไคล้ในการชมภาพยนตร์ ถึงขนาดที่ว่า ชีวิตนี้ขาดหนังไม่ได้
สำหรับคนทั่วไปการดูหนังอาจเป็นเพียงการสร้างความบันเทิง แต่สำหรับโคจิมะ การดูหนังเปรียบการเรียนรู้ที่หาไม่ได้จากโรงเรียนหรือครอบครัว มันทำให้เขาเห็นความแตกต่างทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรม มองเห็นโลกผ่านสายตาคนแต่ละเจเนอเรชัน และซึมซับชุดความคิดบางอย่างเสมอ
“ผมเหมือนได้เดินทางไปประเทศใหม่ๆ สถานที่น่าตื่นตาตื่นใจ กระทั่งเดินทางนอกโลก ผมได้เดินทางไปยังอดีตอันไกลโพ้น หรือข้ามเวลาไปยังอนาคต ต่อสู้กับความขัดแย้ง และสวมบทบาทในสงคราม แถมเคยมีประสบการณ์อื่นนอกเหนือจากการเป็นมนุษย์ การเติบโตส่วนหนึ่งในชีวิตผมคือประสบการณ์ผ่านสื่อเสมือนจริงนี้แหละ”
เพราะตั้งแต่เด็ก ด.ช. ฮิเดโอะ โคจิมะ ได้รับอิทธิพลเต็ม ๆ มาจากครอบครัว ที่เปิดภาพยนตร์ชมด้วยกันทุกคืน เขาในวัย 4 ขวบเคยถูกสั่งห้ามขึ้นนอนจนกว่าภาพยนตร์จบ นั่นทำให้โคจิมะฝันอยากเป็นศิลปิน นักวาดภาพประกอบ หรือแม้กระทั่งผู้กำกับ
น่าเสียดายที่คุณพ่อของเขาจากไปก่อนวัยอันควร ทำให้ครอบครัวของโคจิมะค่อย ๆ จนลง คุณลุงของเขาเป็นศิลปินที่ใช้ชีวิตอย่างกระเสือกกระสน หนำซ้ำบรรทัดฐานทางสังคมของญี่ปุ่นสมัยนั้นยังนิยมให้ลูกชายทำงานที่มั่นคง โคจิมะจึงต้องล้มเลิกความฝันของตัวเองอย่างน่าเสียดาย
โคจิมะจึงเลือกเรียนสายเศรษฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัย โดยใช้เวลาว่างในการเขียนเรื่องสั้น เล่นเกม หรือทำหนังสั้นกับเพื่อน และเมื่อถึงปี 4 เขาก็ช็อกเพื่อนเศรษฐศาสตร์ทุกคนด้วยการประกาศว่า “อยากเป็นนักสร้างเกม” เขาจึงเข้าสมัครเป็นพนักงานที่บริษัทผลิตและพัฒนาวิดีโอเกมชื่อดัง KONAMI
อย่างไรก็ดี ความคลั่งไคล้ในการชมภาพยนตร์ก็ยังไม่เคยหายไปจากชีวิต เราจะเห็นตัวละครจากภาพยนตร์แฝงตัวในเกมเขา เช่น ในฉากบาร์เกม Snatcher ที่มีทั้งไอ้มดแดง, เอเลี่ยน, คิงคอง หรือแม้กระทั่งการใส่ตัวเองเป็นตัวละครรับเชิญในเกมที่ตัวเองกำกับเสมอ
[caption id="attachment_8147" align="aligncenter" width="1280"]
โคจิมะใน Metal Gear Solid V: Ground Zeroes[/caption]
ว่าแต่... แล้วภาพยนตร์เรื่องไหน ที่เป็น #หนังโปรดของโคจิมะ บ้าง?
เท่าที่มีบันทึกพบว่า โคจิมะเคยไล่เรียงชื่อภาพยนตร์ไว้อยู่หลายหมวดหมู่ แต่ที่เป็น Top of Mind ของเขาก็คือ The Great Escape (1963), The Guns of Navarone (1961), Escape from New York (1981), North by Northwest (1959), Planet of the Apes (1968), Dawn of the Dead (1978) และแฟรนไชส์ The James Bond Series (โคจิมะเคยทวีตชื่นชมภาพยนตร์ ฉลาดเกมโกง (Bad Genius) ของผู้กำกับ บาส – นัฐวุฒิ พูนพิริยะ ติด 1 ใน 10 หนังที่ชื่นชอบในปี 2018 ด้วย)
“ชีวิตผมหล่อหลอมจากประสบการณ์จริง และประสบการณ์เสมือนจริงจากภาพยนตร์เหล่านี้”
โดยเฉพาะ The Great Escape หนังการหลบหนีของเชลยในค่ายกักกัน ที่เป็นแรงบันดาลใจหลักในการสร้าง Metal Gear เกมสร้างชื่อที่ปฏิวัติการเล่าเรื่องแบบภาพยนตร์ (Cinematic) ที่ไม่เคยมีมาก่อนในเครื่อง PlayStation ทำให้เกมมีเนื้อหาซับซ้อน มีระบบการเล่นลอบเร้นแบบสายลับ และแฝงไปด้วยเรื่องราวเหนือธรรมชาติ กระทั่ง Metal Gear เคยได้รับยกย่องว่าเป็น “เกมที่ดีที่สุดเท่าที่เคยทำมา” ทีเดียว
“มีหลาย ๆ ปัจจัยในการสร้าง Metal Gear แต่หนึ่งอย่างที่มีอิทธิพลที่สุดคือหนัง The Great Escape ผมอยากสร้างเกมที่มีระบบการเล่นคล้ายหนังที่ตัวละครกำลังวิ่งหนี หลบเลี่ยงหรือพยายามไม่ต่อสู้กับศัตรู ผมอยากทำอย่างนั้น แต่ผมไม่สามารถสร้างคอนเซปต์นี้ได้อย่างเดียว จึงต้องใส่องค์ประกอบอื่น ๆ เข้าไป”
ย้อนกลับไปปี 1986 ในการสร้างเกมแรกในชีวิต Lost Warld เขาได้รับคำตอบ “ไม่” จากบริษัทสำหรับแนวคิดนี้ โคจิมะถูกสั่งให้สร้างเกมสงคราม (ชื่อเกมเกิดจากการผสมคำว่า War กับ World) แต่ด้วยข้อจำกัดทำให้เกมออกมายากเกินไป เช่น เจอศัตรูพร้อมกัน 4 ตัว ขณะที่ตัวละครมีกระสุนเพียง 4 นัด โคจิมะจึงนำปัญหานี้มาพัฒนาต่อ ผลลัพธ์ก็ตัวละครสามารถหลบหนีหรือไม่ต่อสู้กับศัตรูโดยตรง ซึ่งสามารถจำกัดจำนวนศัตรูและกระสุนได้ แบบใน Metal Gear นั่นเอง
[caption id="attachment_8088" align="alignnone" width="1280"]
Metal Gear[/caption]
นับตั้งแต่ปี 1987 ซีรีส์เกม Metal Gear ภาคหลักออกมาทั้งหมด 5 ภาค เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งเกมมหากาพย์ที่มีแฟนคลับติดตามทั่วโลก น่าเสียดายหลังจาก Metal Gear Solid V: The Phantom Pain โคจิมะก็ลาออกจากบริษัทคู่บุญ KONAMI ที่ทำงานด้วยกันมาอย่างยาวนาน
ความสัมพันธ์ร้าวฉานระหว่าง KONAMI กับโคจิมะ กลายเป็นประเด็นดรามาครั้งใหญ่ในวงการเกม เพราะ Kojima Productions ถูกถอดชื่อบนปก The Phantom Pain, ยกเลิกโปรเจกต์เกม Silent Hill ที่โคจิมะพัฒนาร่วมกับผู้กำกับ กิเยร์โม เดล โตโร ในนาม P.T. แถมสั่งห้ามโคจิมะขึ้นรับรางวัลในงาน The Game Awards
แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา ไม่นานโคจิมะก็ออกมาสร้างบริษัท Kojima Production ด้วยตัวเอง พร้อมทำเกมแรกของบริษัท Death Stranding นำทีมด้วยนักแสดงดังทั้ง นอร์แมน รีดัส จาก The Walking Dead, แมดส์ มิคเคลเซน จาก Hannibal, เลอา เซย์ดูซ์ จาก Blue Is the Warmest Color (2013), ลินด์เซย์ แว็กเนอร์ ดารารุ่นเก๋าจาก The Bionic Woman หรือแม้กระทั่งผู้กำกับ กิเยร์โม เดล โตโร ก็ยังร่วมเป็นหนึ่งในตัวละครของโปรเจกต์นี้ด้วย
[caption id="attachment_8086" align="aligncenter" width="1024"]
นอร์แมน รีดัส และ โคจิมะ[/caption]
“ผมโชคดีที่มีคอนเน็คชันที่ดี พวกเขาคอยช่วยและสนับสนุนเป็นอย่างดี”
ไม่เพียงทัพนักแสดงที่ทำให้ Death Stranding ได้สร้างความสนใจทั่วโลก แต่ยังมาจากการตลาดที่เปิดเผยเนื้อหาและระบบการเล่นน้อยที่สุด ทำเอาแฟนคลับลุ้นตีความในทุกคลิปสั้น ๆ ที่ปล่อยมาอย่างสนุกสนาน เพราะโคจิมะบอกว่า การรู้เรื่องราวเกี่ยวกับเกมนี้น้อยที่สุด ยิ่งทำให้เกมมีคุณค่ามากขึ้น
กระทั่งเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ปี 2019 Death Stranding ก็ปล่อยตัวอย่างเต็มขนานยาว 8 นาทีเป็นครั้งแรก เปิดเผยเรื่องราวของ “แซม บริดจ์” ที่ต้องออกเดินทางผ่านโลกที่ล่มสลายทั้งสองโลก เพื่อหาทางช่วยมวลมนุษยชาติให้รอดพ้นจากการสูญพันธุ์ พร้อมระบบการเล่นที่เป็น open world เต็มรูปแบบ เน้นการลอบเร้น แต่ก็ยังมีฉากแอ็กชันยิงปืนอยู่
ก่อนหน้านี้ โคจิมะเคยให้สัมภาษณ์ถึงแนวคิดเกม Death Stranding ไว้ว่า เขานำความตายมาตีความใหม่ ภายใต้แนวคิด “ความตายเป็นจุดเริ่มของอีกสิ่งที่แตกต่าง”
“มันมีข้อมูลจำนวนมากและเบาะแสสารพัดซ่อนอยู่ในตัวอย่าง Death Stranding จะเป็นเกมเล่นคนเดียว (single player) แต่จะมีประสบการณ์เล่นคู่ (co-op) ที่ไม่เหมือนใคร ผมอยากผูกผู้คนเข้าด้วยกันด้วยเชือกแห่งความเท่าเทียม ฉะนั้นเรื่องราวของมันจะเกี่ยวกับการเชื่อมโยงถึงกัน ซึ่งนั่นเรียกว่าปรัชญาของเส้นด้าย”
จะว่าไปแล้ว ความที่โคจิมะเป็นคนคลั่งไคล้ในการชมภาพยนตร์ เขาเปลี่ยนความฝันการเป็น “ผู้กำกับหนัง” สู่การเป็น “ผู้กำกับเกม” ทำให้เขาสามารถสร้างเกมที่มีบรรยากาศแตกต่างจากคนอื่น ด้วยกลิ่นอายที่เหมือนชมภาพยนตร์ มีบทสนทนาให้อ่าน เนื้อเรื่องดรามาซับซ้อนชวนติดตาม แถมยังมีความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างระบบเกมใหม่ ๆ อยู่เสมอ ทำให้เขาได้รับการยกย่องว่าเป็น “เทพ” แห่งวงการเกมอย่างไร้ข้อกังขา
“การเล่าเรื่องราวเป็นสิ่งที่ยาก แต่หากเพิ่มรสชาติเข้าไปด้วยมุมกล้องหรือเอฟเฟกต์ จะช่วยถ่ายทอดเรื่องราวและเพิ่มความหมายของคัทซีน คุณสามารถสร้างความรู้สึกให้คนเศร้า มีความสุข หรือหัวเราะก็ได้... และถ้าคุณมีเรื่องราวสองหรือหลายเส้นเรื่อง มันจะทำให้คนอยากกลับมาเล่นซ้ำเมื่อเล่นจบ ถ้าประเด็นนี้สำเร็จ ผมคิดว่าบางทีผมอาจจะนำเสนอวิธีการเล่าเรื่องเกมแบบใหม่มากกว่านี้”
สิ่งที่แฟนเกมคาดหวังสำหรับ Death Stranding คือหมุดหมายใหม่ของวงการเกมที่โคจิมะจะรังสรรค์ผลงานศิลปะชิ้นนี้ออกมาอย่างไร ในเมื่อเขามีอิสระเต็มที่สำหรับการสร้างเกมนี้
โคจิมะจะสร้างเกมในฝันที่เคยถูกปฏิเสธในครั้งแรกหรือไม่? เหมือนที่เขาบอกว่า “ผมอยากสร้างเกมที่มีระบบการเล่นคล้ายหนังที่ตัวละครกำลังวิ่งหนี หลบเลี่ยงหรือพยายามไม่ต่อสู้กับศัตรู”
ทุกคนจะได้คำตอบในเกมเท่านั้น
ข้อมูลจาก
junkerhq
theguardian
gamingdose
sheapgamer
metalbridges
archive
redbull