พระยากัลยาณไมตรี แก้ข่าวฝรั่งลือ ร.7 อยู่เบื้องหลังปฏิวัติ 2475

พระยากัลยาณไมตรี แก้ข่าวฝรั่งลือ ร.7 อยู่เบื้องหลังปฏิวัติ 2475

การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย (หรือที่สมัยนั้นยังเรียกว่า "สยาม") นั้น เป็นที่กล่าวขวัญและชื่นชมไม่น้อยในต่างประเทศ เพราะ ณ ชั่วเวลาแห่งการปฏิวัตินั้นเกิดขึ้นอย่างสงบราบเรียบแทบไม่มีการต่อต้านด้วยกำลัง ต่างจากในนานาประเทศที่การล้มล้างระบอบเก่าล้วนแต่ต้องมีการเผชิญหน้าและต้องเสียเลือดเสียเนื้อด้วยกันทั้งสิ้น

ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้ตั้ง "ทฤษฎีสมคบคิด" ว่า การปฏิวัติในครั้งนั้น คณะราษฎรหาได้เป็นผู้นำที่แท้จริงไม่ หากเป็นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 นั่นเองที่ทรงต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองอยู่ก่อนแล้ว จึงทำให้ไม่มีการต่อต้านจากเหล่าขุนนางในระบอบเก่าเกิดขึ้นเลย

แต่นั่นเป็นความเข้าใจผิดอย่างร้ายแรง ทำให้พระยากัลยาณไมตรี หรือ ฟรานซิส บี. แซร์ (Francis B. Sayre) ลูกเขยอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ วูดโรว์ วิลสัน และอดีตขุนนางสยามพาร์ตไทม์ที่รับใช้ราชสำนักทั้งสมัยรัชกาลที่ 6 และ 7 ต้องออกมาแก้ความเข้าใจผิดดังกล่าว หลังข่าวลือถูกเผยแพร่ในสื่อใหญ่ของสหรัฐฯ เป็นเวลาหลายเดือน

การตั้งทฤษฎีดังกล่าวน่าจะเกิดขึ้นด้วยหลายปัจจัย นอกจากจะไม่เกิดเหตุรุนแรงแล้ว ก่อนหน้าการปฏิวัติหนึ่งปี รัชกาลที่ 7 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังสหรัฐฯ และได้ทรงให้สัมภาษณ์ถึงการเมืองภายในประเทศ ซึ่งรายงานของ The New York Times ฉบับวันที่ 25 มิถุนายน 1932 (2475) ระบุว่า

"พระองค์ทรงมีแผนที่จะให้มีรัฐบาลปกครองตนเองของประชาชนอย่างค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากการให้สิทธิเลือกตั้งอย่างจำกัด แล้วค่อย ๆ เพิ่มเสียงของประชาชนในรัฐบาลเมื่อประชาชนคุ้นชินแล้ว"

ทั้งอุปทูตอเมริกันประจำกรุงเทพฯ เคนเนตต์ เอฟ. พอตเตอร์ (Kennett F. Potter) ยังรายงานถึงเหตุการณ์ในการปฏิวัติกลับมายังกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ว่า รัชกาลที่ 7 ทรงรับเงื่อนไขของฝ่ายคณะราษฎรอย่าง "enthusiastically" (หรือ กระตือรือร้น) อีกด้วย (The New York Times - June 26, 1932)

และวันที่ 14 สิงหาคม ปีเดียวกันกับที่เกิดการปฏิวัติสยาม ก็ได้มีบทความชิ้นหนึ่งลงใน The New York Times ขึ้นพาดหัวว่า "King Who Rebelled Against Himself" ซึ่งกลายเป็นรายงานที่สร้างความเข้าใจผิดจนพระยากัลยาณไมตรีต้องออกมาแก้ข่าว

ในรายงานชิ้นนี้ (มิได้ระบุผู้เขียน) อ้างว่า รัชกาลที่ 7 และข้าราชบริพารใกล้ชิดอีกสองคนเท่านั้นที่ทราบแผนการล่วงหน้า และพูดถึงประกาศคณะราษฎรซึ่งมีเนื้อหาค่อนข้างรุนแรง (จนผู้ที่อ่านภาษาไทยออกย่อมมั่นใจว่าสถาบันกษัตริย์ไม่มีทางเห็นชอบกับเนื้อหานี้แน่) ว่า ประกาศดังกล่าวจริง ๆ ที่ถูกโจมตีเป็นหลักก็คือ "รัฐบาล" มิใช่องค์กษัตริย์โดยตรง และได้แปลคำประกาศบางส่วนขึ้นอ้างประกอบเช่น

"The favorites were left to do as they wished in their own aristocratic ways, satisfying their greed and desires, accepting bribes in construction undertakings, profiting from the recent rise in the pound sterling and spending lavishly from the country's funds"

[แต่การแปลข้างต้นตกคำบางคำที่มีนัยสำคัญลงไป เพราะท่อนดังกล่าวตามประกาศในภาษาไทยใช้คำว่า "ทรงแต่งตั้งญาติวงศ์และคนสอพลอไร้คุณความรู้ให้ดำรงตำแหน่งที่สำคัญ ๆ ไม่ทรงฟังเสียงราษฎร ปล่อยให้ข้าราชการใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริต มีการรับสินบนในการก่อสร้าง ซื้อของใช้ในราชการ หากำไรในการเปลี่ยนราคาเงิน ผลาญเงินของประเทศ"]

ฝ่ายพระยากัลยาณไมตรีเมื่อได้เห็นข่าวนี้ จึงเขียนจดหมายไปชี้แจงกับบรรณาธิการของ The New York Times ถึงความเข้าใจผิดที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน  (ลงตีพิมพ์ในฉบับวันที่ 13 พฤศจิกายน) มีความตอนหนึ่งว่า

"ผมอยากขออนุญาตแก้ไขความเข้าใจผิดซึ่งได้ถูกแพร่กระจายไปอย่างกว้างขวางนี้หน่อยได้ไหม? ผมเองมีเหตุปัจจัยบางอย่างที่ทำให้รู้ถึงสถานการณ์ในสยามว่ามันมิได้ถูกวางแผนหรือส่งเสริมโดย คิงประชาธิปก (รัชกาลที่ 7) เลย และพระองค์ก็มิได้เขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของสยามด้วย (หมายถึงฉบับชั่วคราวของคณะราษฎร) ผมยังได้รับรู้ข้อมูลจากผู้รู้จริงที่เชื่อถือได้ว่า ข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิวัติสยามในรายงานลงวันที่ 14 สิงหาคม ในหัวเรื่อง 'กษัตริย์ผู้ปฏิวัติตนเอง' ซึ่งมีการอนุมานว่า พระองค์ทรงส่งเสริมหรืออนุญาตให้ทำการรัฐประหารนั้นไม่ถูกต้องและไม่มีหลักฐาน พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และพระพิจารณ์พลกิจก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร ที่ปรึกษาการคลังชาวอังกฤษ เอ็ดมุนด์ ฮอลล์-แพตช์ (Edmund Hall-Patch) ที่ถูกบรรยายถึงว่า 'เป็นผู้ล่วงรู้ความลับร่วมกับผู้ก่อการในพระราชูปถัมภ์' ก็ได้เดินทางออกจากกรุงเทพฯ ไปก่อนหน้านั้นแล้ว"

พระยากัลยาณไมตรีกล่าวต่อไปว่า “ถึงมีข่าวลือถึงความพยายามที่จะทำการปฏิวัติมานานเป็นปีแล้ว แต่ผู้ก่อการในคราวนี้ได้ลงมือโดยที่ทุกฝ่ายไม่ทันได้ตั้งตัว พระองค์มิได้ทรงทราบเลยจนกระทั่งได้รับแจ้งจากทางกรุงเทพฯ

"แม้พระองค์จะทรงให้ความสนใจในการปรับเปลี่ยนรัฐบาลสยามให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นตั้งแต่เมื่อครั้งที่พระองค์ขึ้นครองราชย์ใหม่ ๆ แต่เมื่อครั้งพระองค์ประทับที่หัวหิน และในขณะที่พระองค์ทรงศึกษาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น พระองค์เองไม่ทรงทราบว่ารัฐธรรมนูญที่ถูกร่างและนำถวายพระองค์จะเป็นรัฐธรรมนูญแบบใด

"และในความเป็นจริง รัฐธรรมนูญที่พระองค์ทรงรับไว้โดยได้สงวนสิทธิ์โต้แย้งนั้น ถูกร่างขึ้นบนหลักการที่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจากฉบับที่พระองค์ได้ทรงตระเตรียม พระองค์ถูกบังคับให้ต้องเลือกระหว่าง ยอมรับข้อเสนอของฝ่ายปฏิวัติ หรือจะปฏิเสธและทำการต่อสู้ ซึ่งในข้อหลังย่อมหมายถึงการเกิดสงครามกลางเมือง ทำให้ประชาชนมากมายต้องสูญเสียชีวิต รวมถึงเชื้อพระวงศ์ที่ถูกจับตัวเป็นประกันในกรุงเทพฯ พระองค์จึงเลือกที่จะรับข้อเสนอนั้น"

เหตุที่พระยากัลยาณไมตรีล่วงรู้ถึงพระราชประสงค์ที่แท้จริงของรัชกาลที่ 7 ก็เนื่องจากเขาเป็นที่ปรึกษาที่รัชกาลที่ 7 ทรงไว้วางพระราชหฤทัย และทรงขอให้เขากลับมาช่วยเหลือพระองค์ หลังจากที่เขาได้พ้นจากหน้าที่ราชการไปแล้ว และกลับไปเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และเรื่องที่พระองค์ทรงปรึกษาเขาก็คือเรื่องของ “รัฐธรรมนูญ” ซึ่งทั้งพระยากัลยาณไมตรี และรัชกาลที่ 7 ต่างเห็นตรงกันว่า ชาวสยามยังไม่พร้อมกับ “ประชาธิปไตย”

นอกจากนี้แล้ว พระยากัลยาณไมตรีก็ยังเป็นผู้ร่างเค้าโครงธรรมนูญการปกครองถวายให้พระองค์โดยมีใจความสำคัญคือ “อำนาจสูงสุดในราชอาณาจักรเป็นของพระมหากษัตริย์” และ “พระมหากษัตริย์เป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีผู้มีความรับผิดชอบโดยตรงต่อพระมหากษัตริย์ในการบริหารงานของรัฐบาล และเป็นผู้ซึ่งอาจถูกถอดจากตำแหน่งได้ทุกเวลาโดยพระมหากษัตริย์” [อ่านรายละเอียดได้ที่:  พระยากัลยาณไมตรี เจ้าของร่างธรรมนูญการปกครองสมัย ร. 7 (ที่ไม่ได้ใช้งาน)]

ขณะที่ มาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญฉบับของคณะราษฎรระบุว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” ด้วยเหตุนี้พระยากัลยาณไมตรีจึงกล่าวได้อย่างมั่นใจว่า “รัฐธรรมนูญที่พระองค์ทรงรับไว้โดยได้สงวนสิทธิ์โต้แย้งนั้น ถูกร่างขึ้นบนหลักการที่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจากฉบับที่พระองค์ได้ทรงตระเตรียม