เคยมีคนบอกว่า การเป็นที่ 1 ว่ายากแล้ว แต่การรักษาตำแหน่งที่ 1 ยากกว่า ความรู้สึกนี้คงเป็นสิ่งที่ COOLfahrenheit สถานีวิทยุอันดับ 1 ของเมืองไทยเผชิญหน้ามาโดยตลอด ด้วยการรักษาตำแหน่งนี้มานานกว่า 19 ปีต่อเนื่อง แถมล่าสุดยังคว้าแชมป์สถานีวิทยุอันดับ 1 ของเอเชีย 2 ปีซ้อนอีกด้วย
ทั้งนี้ COOLfahrenheit เป็นสถานีวิทยุในเครือ COOLISM จาก RS มีรูปแบบการนำเสนอเพลงไทยฟังสบายตลอด 24 ชั่วโมง ปัจจุบันอยู่ภายใต้การบริหารของ ปริญญ์ หมื่นสุกแสง กรรมการผู้จัดการ COOLISM ผู้คลุกคลีอยู่ในวงการวิทยุมาตั้งแต่ยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมฯ ก่อนจะทำงานปลุกปั้นสถานีวิทยุชื่อดังหลาย ๆ คลื่น รวมถึง COOLfahrenheit ที่ยืนหนึ่งมาถึงทุกวันนี้
ด้วยสภาวะการเปลี่ยนผ่านของโลกดิจิทัลที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ฟัง The People จึงชวน ปริญญ์ หมื่นสุกแสง มาคุยถึงชีวิต ความคิด และการทำงานในการยืนหนึ่งของ COOLfahrenheit รวมไปถึงแนวทางต่อไปในอนานคต
[caption id="attachment_9734" align="alignnone" width="1200"]
ปริญญ์ หมื่นสุกแสง[/caption]
The People: คุณเข้ามาทำงานในวงการวิทยุได้อย่างไร
ปริญญ์: เข้าวงการวิทยุมาได้ก็เพราะเราชอบฟังวิทยุ ผมมาจากจังหวัดระยอง พ่อเเม่ส่งมาเรียน ม.1 ในกรุงเทพฯ ตอนนั้นอยู่หอพักซึ่งข้างในไม่มีอะไรเลยนอกจากวิทยุ พ่อแม่ไม่ได้ซื้อทีวีให้เพราะกลัวดูแต่ทีวี กลัวว่าเราจะไม่เรียนหนังสือ เพราะสมัยก่อนความสุขของคนยุคนั้นคือทีวีกับวิทยุ ไม่มีอินเทอร์เน็ตเหมือนสมัยนี้ พอไม่มีทีวี ผมก็เลยฟังแต่วิทยุอย่างเดียว มันเป็นทางเดียวที่คลายเครียดเราได้ และก็เริ่มชอบโทรศัพท์ไปขอเพลงตามรายการวิทยุต่าง ๆ
ยุคนั้นผมฟัง สไมล์ เรดิโอ (Smile Radio) สมัยดีเจอย่างคุณ วินิจ เลิศรัตนชัย นานมากแล้วครับ (หัวเราะ) ก็โทรศัพท์เข้าไปขอเพลง พอขอบ่อย ๆ ก็เริ่มสนิทกับผู้ช่วยดีเจ ก็เลยขอเข้าไปดูการจัดรายการวิทยุที่สถานี
The People: ขอเข้าไปดูการจัดรายการเลยเหรอ?
ปริญญ์: ใช่ครับ สมัยก่อนสถานีวิทยุของสไมล์ เรดิโอ คือกองพลที่ 1 ทหารรักษาพระองค์ เเถวกระทรวงศึกษาธิการ เราก็ใส่ชุดนักเรียนไปนี่แหละ หิ้วกระเป๋านักเรียนเดินเข้าไปในค่ายทหารเลย เพราะเขาจัดรายการกันในนั้น พอเริ่มคลุกคลีตีโมงก็เริ่มสนิทกับผู้ช่วยดีเจ แล้วก็มาสนิทกับดีเจ ต่อมาคลื่น Hot Wave ดัง ก็ขอเข้าไปดูเขาจัดรายการ หลังจากนั้นก็เลยมีความคิดอยากลองทำบ้าง
ผมกลับหอมามีซาวน์เบาท์ Walkman 2 เครื่อง ซื้อไมโครโฟนเอง แล้วเอามาต่อกัน ทำเหมือนเป็นการจัดรายการวิทยุ มีการต่ออุปกรณ์กระจายเสียงที่เรียกว่า “วงจรไมค์ลอย” เชื่อมบัดกรีให้มันกระจายเสียงได้จริง ออกอากาศทาง FM ให้คนในหอฟังถ้าเปิดมาเจอ แล้วผมก็เริ่มอัดเทปรายการวิทยุ
จังหวะประมาณ ม.4 ที่สไมล์ เรดิโอ เปิดโครงการ Smile Radio Announcer Contest Qualification เขาต้องการเด็กมหาวิทยาลัยส่งประกวดเพื่อหาดีเจรุ่นใหม่ เราก็ส่งไป ปรากฏว่าติดรอบแรก แต่พอประกาศชื่อรอบหลัง ๆ เราไม่ติดแล้ว ผมก็ถามพี่ ๆ ว่า “ทำไมผมไม่ติด ผมไม่ดีเหรอ?” เขาตอบว่าเราไม่ตรงตามเกณฑ์ อายุเราไม่ถึง ถ้าเข้ารอบต่อไปจะโดนประท้วง เราก็เสียใจนิดหน่อย แต่ก็รู้สึกว่าเราเด็กกว่าแต่ทำได้ดีเท่าผู้ใหญ่ สุดท้ายก็ต้องยอมรับกติกา หลังจากนั้นเราก็สนิทกับพี่ ๆ ดีเจหลายคน
ตอนนั้นดีเจบุ้ง – ธเนศ แสงโชติกุล เขาเป็นผู้จัดการสถานี แล้วมีกะดีเจ (shift) หนึ่งว่างเสาร์ - อาทิตย์พอดี ผมก็เลยมีโอกาสได้จัดรายการวิทยุจริง ๆ จำได้ว่าทำงานวันแรกคือเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2538 ตอนนั้นยังอยู่ ม.5 เองครับ แต่งชุดนักเรียน ถือกระเป๋านักเรียนเข้าไปจัดรายการเลย มีวันหนึ่งคนในบริษัทเดินสวนกับเราหน้าห้อง เขาก็ตกใจแบบ “นี่เหรอเสียงคนที่ฟังในวิทยุ” เพราะเสียงในวิทยุดูเป็นผู้ใหญ่มาก เสียงเเก่มาก แต่ตัวจริงใส่ชุดนักเรียนกางเกงขาสั้นมาจัดรายการ (หัวเราะ)
ต่อมาจากเเค่จัดเสาร์-อาทิตย์ ก็เริ่มจัดวันจันทร์ถึงศุกร์ พอจบ ม.5 เราก็สอบเทียบเข้า ABAC เลย ไม่เรียนต่อ ม.6 แล้ว จุดพีคที่สุดคือช่วงเทอมหนึ่งของการเรียน ตอนนั้นสไมล์ เรดิโอมี 5 คลื่นใช่ไหมครับ ผมจัดไป 3 คลื่น สุดท้ายก็เลยต้องดรอปทั้งเทอม ไม่ได้เรียน คุณพ่อก็เลยโวยวายใหญ่
The People: เพราะอุตส่าห์ไม่ให้ลูกดูทีวี?
ปริญญ์: ใช่ ไม่ได้เสียเพราะดูทีวี แต่เสียเพราะฟังวิทยุ (หัวเราะ) สุดท้ายก็ค่อย ๆ กู้สถานะการณ์มาเรื่อย ๆ ใช้เวลาอยู่ ABAC 6 ปีก็เรียนจบ พอหมดยุคสไมล์ เรดิโอ ก็ทำงานต่อที่คลื่น Fashion Factory ทำอยู่ 2 ปีแล้วก็ย้ายมา RS
จุดเปลี่ยนหนึ่งคือตอนบริษัท Virgin Radio Thailand เพิ่งเข้ามาใหม่ ๆ มีชาวต่างชาติเข้ามา set up ทีมงาน ตอนนั้นเขาเปิดรับคนเพื่อหา program director ผมอายุ 24-25 ก็เข้าไปสัมภาษณ์ อาศัยเคยเรียน ABAC เลยสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ ผมไปแบบเด็กที่พร้อมจะเปลี่ยนแนวคิด เพราะแนวคิดการทำงานของฝรั่งแตกต่างจากไทยโดยสิ้นเชิง
The People: แนวคิดการทำงานของชาวต่างชาติเป็นอย่างไร
ปริญญ์: วิธีการจัดรายการของไทยคือดีเจจะเป็นศูนย์กลาง ทุกอย่างมาจาก feeling ของดีเจ ว่าวันนั้นเขาจะเลือกเพลงตามอารมณ์อย่างไร ถ้าอารมณ์หงุดหงิดก็อาจเปิดเพลงไม่เพราะ อารมณ์อกหักก็จะเปิดเพลงเศร้าให้คนฟังน้ำหูน้ำตาไหลตาม แต่ระบบฝรั่งไม่ใช่แบบนี้ เขาจะมี music director ที่จะเลือกเพลงไว้ให้ส่วนหนึ่งแล้ว ดีเจคือ presenter ไม่ใช่ disc jockey คุณต้องพรีเซนต์ตามสคริปต์ ตามโจทย์ ตามคอนเซปต์รายการให้ได้
มีระบบ music playlist ที่ music director วางไว้ ซึ่งไม่ต่างจาก director นะ คือคุณต้องไปทำ research มีระบบกระบวนการ มี sampling size กับผู้ฟัง เพื่อหาผลลัพธ์เพลงที่คนฟังมากที่สุด-น้อยที่สุด จากการทดสอบนั้น ๆ
The People: เท่ากับว่ามีการเพลงตามสถิติ มากกว่าการใช้อารมณ์เลือกเพลง?
ปริญญ์: ใช่ครับ no emotional เพลงที่ได้รับความนิยมจากการทดสอบจะอยู่ข้างบนตาราง ซึ่งเราจะ spin บ่อย ๆ เพลงที่อยู่ตรงกลางก็จะ spin รองลงมา เพลงที่คะเเนนไม่ดีก็จะไม่เปิดบ่อย เพราะไม่มีใครอยากฟัง นี่ก็คือระบบที่ Virgin ทำงาน เราทำทั้งหมด 3 เดือน Virgin Soft ก็ขึ้นเป็นอันดับ 1 เเทนเจ้าเดิม พอจบ Virgin Soft เราก็ launch Virgin Hit ผ่านใน 4 เดือน Virgin Hit ก็ขึ้นมาอันดับ 1 ทันที
พอเราหมดสัญญากับ Virgin เรากลับมาคุยกับทาง RS อีกครั้ง พี่ เดียว วรตั้งตระกูล ผู้บริหารในตอนนั้นก็สงสัยว่าฝรั่งทำยังไงแค่ 3-4 เดือนก็โค่นคลื่นอันดับหนึ่งลงได้ ผมก็บอกไม่มีอะไรมาก แค่ทำทุกอย่างที่คนฟังอยากฟัง ไม่ใช่เราอยากทำ เพราะที่ผ่านมาการจัดรายการขึ้นอยู่กับดีเจหมด ฉันอยากฟังเพลงนี้ ฉันนำเสนอเพลงนี้ เเต่เคยถามคนฟังว่าอยากฟังหรือเปล่า?
ยกตัวอย่าง มี 10 เพลงที่ดีเจบอกว่าเพราะ แต่คนฟังอาจบอกว่ามีแค่ 5 เพลงเท่านั้น ซึ่งระบบเเบบใหม่ไม่ใช่เเบบนั้น คุณจะต้องไปทำการทดสอบมาก่อนว่าคนฟังอยากฟังอะไร
The People: พอเจอโมเดลใหม่แบบนี้ คุณรู้สึกต่อต้านหรือไม่ เพราะมันขัดกับแนวทางเดิม ๆ ของการจัดวิทยุในไทย
ปริญญ์: ตัวผมไม่ต่อต้านเลยครับ เเต่สิ่งที่ถูกต่อต้านก็คือดีเจด้วยกันเอง เพราะเขาคิดว่าแนวทางนี้ทำให้ดีเจกลายเป็นหุ่นยนต์ ทำหน้าอ่านสคริปต์ แต่ผมกลับมองว่ามันคล้ายอาชีพนักแสดง เพราะนักแสดงก็ไม่ได้เขียนบทเอง ผู้กำกับก็เหมือน program director ที่ดูภาพรวม คนเขียนบทก็เหมือนกับ music director วาง playlist เเล้วก็มีคนในอีกหลาย ๆ ตำแหน่ง เช่น ตากล้อง ช่างเทคนิค ฯลฯ ทุกคนทำหน้าที่แยกกันหมด
หากนักเเสดงมีบทเเบบนี้ นักแสดงถ่ายทอดมันออกมายังไง ตีบทเเตก เหมือนกันกับดีเจครับ ถ้า playlist ถูกวางไว้แล้ว คุณจะถ่ายทอดหรือนำเสนออารมณ์ออกมาอย่างไร คุณจะพูดเชื่อมเพลงแต่ละเพลงอย่างไร เอาประเด็นไหน ดึงจุดไหนมาพูด ทำอย่างไรก็ได้ให้เพลงต่อไปที่คุณเปิดแม่งโคตรเพราะเลย
จนมาถึงยุคนี้ เราพิสูจน์ได้ว่า music steaming มันไม่สามารถกินวิทยุได้ ทั้ง ๆ ที่ digital disruption ทุกวงการเกือบ 100เปอร์เซ็นต์แล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ music steaming ทำไม่ได้คือเสน่ห์ของวิทยุที่มีดีเจพูดเชื่อมต่อร้อยอารมณ์ music steaming มี playlist ที่ดี แต่ขาด emotional engagement ระหว่างผู้ฟัง
มันก็พิสูจน์แล้วว่า ดีเจไม่ใช่หุ่นยนต์นะ คุณเปลี่ยนหน้าที่จากเดิมที่เป็นทั้งนักเเสดง คนเขียนบท ผู้กำกับ วันนี้คุณโฟกัสอย่างเดียวคือการเป็นนักแสดง เป็น presenter เพลง พูดออกมาด้วย feeling ที่ดีตามโจทย์แต่ละชั่วโมง เช่น ชั่วโมงเช้าคนฟังกำลังเร่งรีบ สิ่งที่เขาต้องการความสดชื่นในตอนเช้าเพื่อ refresh ให้พร้อมต่อการทำงาน ขณะที่ตอนเย็นคนทำงานล้าหมดแล้ว คุณต้องใส่ความสนุกสนาน ความขำ ความตลก ฉะนั้นดีเจต้องเปลี่ยนวิธีคิดไปจากเดิม
The People: ถ้าอย่างนั้น ดีเจในยุคปัจจุบันต้องการทักษะอะไรบ้าง
ปริญญ์: ณ วันนี้นะครับ เราเรียก COOL J เเล้วด้วย เรามองว่าดีเจต้องทำตัวเหมือน connecter เพราะทุกวันนี้ทุกอย่างมัน connect หมดเเล้วอะ มันไม่เหมือนเเต่ก่อนที่ดีเจพรีเซ็นต์แค่เสียงเท่านั้น แต่ทุกวันนี้ 24 ชั่วโมง คุณมีโทรศัพท์เชื่อมต่อกับคนฟังหรือแฟนคลับตลอดเวลา คุณยังเป็นดีเจ 3 ชั่วโมง คุณต้องทำได้ดีเหมือนเดิม นอกจากนั้นคุณจะต้องมี engagement และบริหารฐานผู้ฟังของคุณเอง
ทุกวันนี้ดีเจนอกจากจะพรีเซ็นต์รายการเเล้ว บริษัทเรายังมีพาร์ท MPC (Multi-platform commence) ซึ่งเป็นการขายสินค้า online radio shopping สร้างคอมมูนิตี้ใหม่บน LINE@ COOL Anything ให้ศื้อสินค้าทั้งแบรนด์ในเครือ และสินค้าของพาร์ทเนอร์ ฉะนั้นดีเจของเราต้องมีการพูดขายของ เเต่ก็ต้องมีศาสตร์เเละศิลป์ในการขายด้วยครับ
[caption id="attachment_9751" align="alignnone" width="1200"]
ปริญญ์ หมื่นสุกแสง[/caption]
The People: อีกหนึ่งกลยุทธ์ของ COOLfahrenheit คือการเปิดเพลงเพราะต่อเนื่อง 50 นาทีเต็ม ๆ แนวคิดนี้มาจากอะไร
ปริญญ์: ตอน launch Virgin Soft เราเปิดเพลงต่อเนื่อง 30 นาที พอมา RS เราคิดว่า 30 นาทีมันไม่เต็มอิ่มหรอก เราเปิด 50 นาทีเลยดีกว่า แล้วเอาโฆษณาอยู่ 10 นาทีสุดท้าย
แน่นอนแนวคิดนี้ฝ่ายขายมองเหมือนเอาสิ่งที่คนไม่อยากฟังไปอัด ๆ ไว้ 10 นาทีสุดท้าย ลูกค้าบ่นแน่ ๆ แต่เราบอกว่าเดี๋ยวก่อน สิ่งที่เราต้องทำก่อนคือการดึงคนฟังมาอยู่คลื่นเรามากที่สุด ผ่านไป 3 เดือน COOLfahrenheit ก็ขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งแทน Virgin Soft เขาเปิด 30 นาที เราเปิด 50 นาที เยอะกว่า (หัวเราะ)
การเปิดเพลง 50 นาทีเพราะเราต้องการให้คน stay tune พอเขา stay tune มาถึง 50 นาทีเนี่ย 10 นาทีสุดท้ายเขาจะไม่ยุ่งกับคลื่นวิทยุหรอก แล้วเราก็ทำ research ซึ่งผลลัพธ์ก็ออกมาแบบนั้นจริง ๆ คนไม่ลุกไปเปลี่ยนคลื่น เพราะเขารู้ว่า หลังโฆษณา 10 นาทีจบ เขาก็จะมีเพลง 50 นาทีอีกล็อตหนึ่งรอเขาอยู่
เราทำ research ละเอียดมากนะครับ เราสามารถบอกได้ว่าหลังจากยิง spot โฆษณาตัวแรก turnout rate เท่าไร? spot ตัวที่สอง turnout rate เท่าไร? สิ่งที่เราพบก็คือ ไม่ว่าจะเป็นคลื่นวิทยุไหนในประเทศไทย spot ตัวเเรกจะมี turnout rate 30 เปอร์เซ็นต์ แล้วมันจะค่อย ๆ ลดลง จนกระทั่งตัวที่ 4-5 ก็เริ่มคงที่แล้ว
พอมีข้อพิสูจน์ว่า คนฟังครบ 50 นาที อีกแค่ 10 นาทีคนฟังรอได้ ลูกค้าก็จะชื่อใจโมเดลของ COOL ซึ่งทำให้เราประสบความสำเร็จขึ้นมา
แต่ก็มีจุดหนึ่งที่คนฟังวิทยุหายไป เป็นเหตุผลทางเทคนิคเอง ถ้าย้อนกลับไปสัก 4 ปีที่เเล้วเราฟังวิทยุในรถแทบไม่ได้เพราะมีคลื่นแทรกจากวิทยุชุมชนค่อนข้างมาก ช่วงเวลาตรงนั้นทำให้การฟังเพลงแบบ steaming มันเเทรกเข้ามา ทำให้ช่วงนั้น rating ตก แต่ตอนนี้เหมือนดีขึ้นเเล้วครับ ทางรัฐเข้ามากำกับดูแล ไม่ให้ใช้คลื่นความถี่ตีกัน
The People: ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านดังกล่าว คุณปรับตัวเองอย่างไรบ้าง
คุณปริญญ์: เราโฟกัสในเรื่องของเเบรนด์ COOLISM ให้แข็งแรง แล้วเราทำยังไงให้แบรนด์แข็งแรง หนึ่งคือ presenter สองคือ playlist ที่จะเล่นในรายการต้องมาจากการ research ว่าเพลงไหนที่คนอยากฟัง นอกจากองค์ประกอบเรื่องเพลง ที่สำคัญคือ feature รายการที่เปรียบเสมือนคอลัมน์ต่าง ๆ เช่น คอลัมน์กินโดย หม่อมหลวงภาสันต์ สวัสดิวัตน์ คอลัมน์เที่ยวโดย กาญจนา หงส์ทอง นอกจากนั้นยังมีกิจกรรม on ground คอนเสิร์ตต่าง ๆ เกม โปรโมชัน ทั้งหมดเราต้องทำให้ดีที่สุด พอทุกเส้นมารวมกันก็จะกลายเป็นแบรนด์ที่เเข็งเเรง
ในส่วนของ event ปีนี้เรามี คอนเสิร์ต 25 ปี Raptor Evolution Concert ที่ sold out ภายใน 20 นาที ซึ่งเปิดรอบแสดงใหม่เป็นที่เรียบน้อย ความสำเร็จนี้เกิดจากอย่างเเรกเลย RS ไม่ทำคอนเสิร์ต 90s เกลื่อนกลาด คอนเสิร์ต 90s ครั้งสุดท้ายคือปี 2016 ส่วนการขึ้นเวทีในฐานะคอนเสิร์ตเดี่ยวของ Raptor ก็ปี 2012 เท่ากับว่า หนึ่ง - เป็นศิลปินหาดูยาก สอง - เเฟนคลับเหนียวเเน่น สาม – คือการโปรโมทผ่านช่องทางของ COOLfahrenheit ที่คนฟังเยอะสุด เป็นคลื่นวิทยุอันดับหนึ่ง เเละการผสานสื่ออย่างช่อง 8 ทำให้เกิดปรากฏการณ์ขายหมดภายใน 10 นาทีเเรก
แต่ก่อนที่เราทำวิทยุ บ่อน้ำของเราคือโฆษณา ตอนนี้น้ำไม่เพิ่มเเล้ว บางช่วงลดลงไปด้วย ตอนนี้เราเลยขุดบ่อใหม่ ขายของของเรา หรือ MPC ใช้พื้นที่โฆษณาที่เหลืออยู่ เปิดท่อใหม่เป็นช่องของ event เราทำทุกเส้นเพื่อต่อยอดของแบรนด์ให้แข็งแรง ต่อยอดจากสิ่งที่เรามองเห็นโอกาสเดินต่อไป เพราะในวันนี้การสร้างธุรกิจใหม่เป็นเรื่องยาก ทุกคนสร้างอะไรเองได้หมด ฉะนั้นวิธีการของเราคือต่อยอดความเเข็งเเรง กิ่งไหนที่เเข็งเเรงก็ต่อกิ่งนั้นไปอีก
The People: ทำไมเทรนด์ 90s ถึงกลับมาในช่วงเวลานี้
ปริญญ์: nostalgia มันขายได้ตลอดเวลา ทุกคนจะมี good memory สมัยช่วงวัยรุ่น ถามคนที่ทำงานแล้วก็ได้ว่าชีวิตวัยรุ่นมันมีความสุขมากใช่ไหม แล้วช่วงนั้นเป็นช่วงที่ดนตรีไทยเติบโตมากที่สุด ถ้าพูดถึงยอดขาย เราจะได้ยินล้านตลับ สมัยนี้เเสนตลับก็จุดพลุฉลองทั้งตึกเเล้ว ยุคนั้นคือยุคเฟื่องฟูที่สุด ผ่านไปประมาณ 20 ปี คนยุคนั้นก็อายุ 30-40 มีกำลังซื้อเรียบร้อย มันก็เลยทำให้ดีพร้อม demand เเละ supply คนจึงอยากกลับไปมีความสุขเเบบสมัย good old days
[caption id="attachment_9733" align="alignnone" width="1200"]
คอนเสิร์ต 25 ปี Raptor Evolution Concert[/caption]
The People: ครองแชมป์สถานีวิทยุอันดับหนึ่งมานาน ปัจจุบันตลาดการฟังเพลงบนวิทยุเป็นอย่างไรบ้าง
คุณปริญญ์: ภาพรวมบนสถานีวิทยุ FM ยังนิ่ง ๆ ครับ เเต่ของ COOL เพิ่มขึ้นเรื่อง ๆ ยกตัวอย่างปีที่เเล้ว reach บน FM อยู่แถว ๆ 1.2 ล้านคน เเต่มาปีนี้มาอยู่ที่สัก 1.5 ล้านคน ช่วงต้นปีมีทะลุไป 1.9 ล้านคน เพราะฉะนั้นคนฟังวิทยุไม่ลด ส่วนออนไลน์ก็โตขึ้นเรื่อย ๆ ตามที่คนเข้าถึงโทรศัพท์ราคาถูกลงได้มากแค่ไหน สัญญาณ 4G ไปถึงต่างจังหวัดมากเเค่ไหน มันก็ยิ่งมีเปอร์เซ็นต์คนฟังวิทยุผ่านทางออนไลน์มากขึ้นเท่านั้น
ถ้าถามว่ามีถูก steal ไปอยู่บน music steaming บ้างไหม? ก็ต้องตอบว่ามีบ้าง แต่ไม่มีทางหมด 100 เปอร์เซ็นต์หรอก อย่างที่บอกครับ คนฟังไม่ได้ฟังเพลงอย่างเดียว แต่ฟังดีเจด้วย
The People: COOLfahrenheit ล่ะ มีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงอย่างไร
คุณปริญญ์: จริง ๆ ไม่ได้เปลี่ยนมากนะ คือเราเปลี่ยนตัวตามคนฟัง เช่น พฤติกรรมคนที่เปลี่ยนการฟังบน FM มาบนออนไลน์ เราก็มีทั้งเเอปพลิเคชัน เว็บไซต์
เราสามารถดู rating online ได้นะครับ เป็นกราฟนาทีต่อนาทีเลย สิ่งที่เกิดขึ้น 24 ชั่วโมงก็คือ ช่วง 05.00 – 06.00 น. กราฟโตขึ้นบน mobile เราตั้งสมมติฐานว่าคนเพิ่งตื่นนอน เปิดฟังตอนอาบน้ำ พอ 08.00 – 09.00 น. กราฟ mobile ลดลงแต่ไปขึ้นในเว็บไซต์แทน สูงสุดจนถึง 12.00 น. หลังจาก 12.00 น. กราฟตกลงมาใหม่ และกลับมาสูงสุดอีกครั้งตอน 14.00 – 17.00 น. จากนั้นกราฟเว็บไซต์จะตกลงมา และกราฟ mobile ขึ้นมาแทน ก่อนช่วง 21.00 น. กราฟหายไปสักพัก คาดว่าคงไปดูโทรทัศน์ พอ 22.00 – 23.00 น. กราฟก็ขึ้นมาอีกครั้ง ผมคิดว่ากราฟก้อนสุดท้ายเป็นช่วงเวลาเปิดฟังก่อนนอน เพราะเพลงของเราคือ easy listening เป็นเพลงผ่อนคลาย ทั้งหมดนี้ทำให้เราเห็นพฤติกรรมของการฟังเเบบนาทีต่อนาที แล้วเราก็จะตอบสนองได้ตรงตามกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด
The People: มอง COOLfahrenheit ในอีก 3 ปีข้างหน้าเป็นอย่างไร
คุณปริญญ์: เเผนระยะยาวคือการรักษาการเป็นสถานีวิทยุ FM อันดับหนึ่งให้ได้ต่อไป สองคือเราต้องเติบโตทางวิทยุออนไลน์ เพราะคลื่น FM มันอยู่แค่กรุงเทพฯ แต่ออนไลน์มันยังเติบโตไปในต่างจังหวัดได้อีก ซึ่งระหว่างนี้เราโฟกัส MPC ทุกอย่างมันอยู่ในโมเดลเดิม เป้าหมายเดิม เเต่ tactic เปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ปี 2562 นี้ เรามองเห็นโอกาสรายได้จะโตขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์จากปี 61 ซึ่งโตจาก MPC เเละ event
ทั้งหมดทั้งมวลมาจากเเนวคิดของ CEO คุณสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ (เฮียฮ้อ) ที่คิดต่างและคิดนอกกรอบตลอดเวลา หา opportunity ใหม่อยู่เสมอ เรามีเเบรนด์ที่เเข็งเเรง มีฐานคนฟังที่เเข็งเเรง แล้วเราสามารถต่อยอดอะไรได้อีกบ้าง
The People: คิดถึงช่วงเวลาการเป็นดีเจไหม
คุณปริญญ์: โหย คิดถึงเรื่อย ๆ ครับ เเต่มันผ่านไปเเล้ว เก็บไว้เป็นความทรงจำดี ๆ
[caption id="attachment_9752" align="alignnone" width="1200"]
ปริญญ์ หมื่นสุกแสง[/caption]
ภาพโดย: สกีฟา วิถีกุล (The People Junior)