20 ต.ค. 2565 | 15:14 น.
หลังจากวันที่ 20 ต.ค. 2565 กสทช. ไฟเขียวให้ ‘บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) และ ‘บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ ดีแทค’ ควบรวมกิจการกัน ล่าสุดวันนี้ (12 มกราคม 2566) ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทของทรูฯ เตรียมเสนอให้ทั้งสองมีการประชุมผู้ถือหุ้นร่วมกันในวันที่ 23 ก.พ. 2566 เพื่อพิจารณาและอนุมัติชื่อของบริษัทใหม่ คือ ‘บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)’
โดยการควบรวมกันครั้งนี้ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาสแรกของปี 2566 และทั้งสองบริษัทยังคงแยกแบรนด์ในการให้บริการเป็นระยะเวลา 3 ปี
ดีลการควบรวมระหว่างสองบริษัทใหญ่ ถือว่าเป็นข้อตกลงที่หลายคนจับตามองอย่างมาก เพราะอย่างน้อย ๆ อาจกระทบต่อบรรยากาศของตลาดโทรคมนาคมในไทยให้ยิ่งแข่งขันดุเดือดมากขึ้น
วิสัยทัศน์ที่ยิ่งใหญ่นี้ส่วนหนึ่งมาจาก ‘เจ้าสัวศุภชัย เจียรวนนท์’ ประธานกรรมการบริหารของทรู คอร์ปอเรชั่น และประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่พยายามสร้างความแข็งแรงให้กับองค์กร และเพิ่มข้อได้เปรียบในการแข่งขัน โดยมีเป้าหมายใหญ่ก็คือ การเป็นบริษัทเทคโนโลยีขั้นสูง
ยังมีอีกหลายมุมคิดของเจ้าสัวศุภชัยที่ทำให้เรานึกย้อนไปถึงหลักปรัชญาของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งสานต่อหลักคิดเดียวกับเจ้าสัวธนินท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ มาจนทุกวันนี้ โดยความเชื่อที่ว่า “ทำธุรกิจต้องเริ่มจากศูนย์”
ทำธุรกิจต้องเริ่มจากศูนย์
เจ้าสัวศุภชัย ได้พูดในขณะที่ให้สัมภาษณ์กับสื่อหลาย ๆ ที่เกี่ยวกับหลักปรัชญาของคุณพ่อ ก็คือ เจ้าสัวธนินทร์ ซึ่งกลายมาเป็นหลักคิดหลักของเครือเจริญโภคภัณฑ์จนถึงปัจจุบัน
“คนในตระกูลห้ามเข้ามาทำธุรกิจที่ถือว่าสำเร็จอยู่แล้ว จะเข้ามาทำงานในเครือฯ ได้ต้องเป็นกิจการใหม่ คือ เริ่มจากศูนย์ นี่คือหลักปรัชญาของเครือฯ ที่ท่านประธานธนินท์วางเอาไว้”
ซึ่งความท้าทายแรกของเจ้าสัวศุภชัยก็คือ ‘แม็คโคร’ จากนั้นก็เปลี่ยนไปทำบริษัท วีนิไทย จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายคลอร์อัลคาไลรายสำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และถึงขยับมาเป็นธุรกิจโทรคมนาคม ก็คือ ‘ทรู’ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องใหม่ ธุรกิจใหม่ในเครือฯ ทั้งสิ้น
เจ้าสัวศุภชัย ยังได้พูดถึงปรัชญาในมุมของตัวเองว่า “สำหรับลูก ๆ ผมก็พยายามไม่ให้คอมฟอร์ตโซนเขา เราให้ความรัก เราให้ความรู้ เราให้อะไรหลาย ๆ อย่าง เราให้ความปลอดภัย แต่สิ่งที่เราไม่ควรให้เขาก็คือ การที่เราไปบอกว่าต่อไปเขาจะเป็นอะไร”
“สำหรับผมเขาต้องเป็นคนค้นพบเรื่องนั้นด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้นผมจะบอกเขาตั้งแต่เด็กว่า ไม่ต้องคิดเลยนะว่าจะมาทำงานกับเครือฯ ไม่ต้องคิดเลยนะว่าจะมาทำงานที่รุ่นพ่อทำอยู่ ผมจะบอกเขาว่าให้ไปทำธุรกิจของเขาเอง”
เจ้าสัวศุภชัย ยังได้พูดถึงลูก ๆ ทั้งลูกสาวและลูกชายว่า ให้ความอิสระในการคิดการทำเพราะอย่างลูกสาวไม่ได้มีแพสชั่นในการทำธุรกิจ แต่เขากลับมีแพสชั่นในการช่วยเหลือสังคม ซึ่งสิ่งเดียวที่จะทำได้ก็คือการส่งเสริมลูก ๆ อย่างเต็มที่
“จริง ๆ เด็กทุกคนเกิดมาไม่เหมือนกัน เขามีคาแรกเตอร์ มีเคมีในร่างกายทุกอย่างไม่เหมือนกัน และก็ไม่เหมือนเราด้วย เราก็ต้องเคารพและต้องเรียนรู้ด้วยว่าพวกเขาเป็นยังไง และส่งเสริม ซึ่งการจะสร้างคนก็เหมือนกันเราต้องให้ความรักและความมั่นใจกับเขา แต่ไม่ใช่การสปอยล์”
ไม่จำเป็นต้องทำงานในเครือเจริญโภคภัณฑ์
เมื่อถามถึงการที่ลูกหลานจะเข้ามาทำงานในเครือฯ ว่ามีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน สำหรับเจ้าสัวศุภชัยพูดย้ำว่า “ถ้าเรามีมืออาชีพ มีผู้บริหารที่เก่งอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องใช้คนในครอบครัว หรืออย่างมากก็สามารถเป็นตัวแทนผู้ถือหุ้นก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมาบริหารเอง”
“แต่ถ้าคนนั้นมีศักยภาพที่ตรงกับคุณสมบัติของเครือฯ และก็เป็นที่ยอมรับ หลังจากพิสูจน์ตัวเองมาระดับหนึ่งแล้ว สำหรับผมไม่มีแผนตายตัว ขึ้นอยู่กับโชคชะตามากกว่า”
ทั้งนี้ การบริหารงานของเจ้าสัวศุภชัย เรียกว่าเป็นที่ยอมรับกันในระดับโลก ซึ่งที่ผ่านมามีสื่อจากต่างประเทศมากมายที่ให้ความสนใจ อย่างเช่น CNN, People Matter ของสิงคโปร์ โดยส่วนใหญ่จะมุ่งไปที่การปูทางให้เครือเจริญโภคภัณฑ์ปรับเปลี่ยนไปสู่การเป็นองค์กรดิจิทัล
โดยเขาบอกว่า “ทุกวันนี้เทคโนโลยีมีความสำคัญต่อการพัฒนาธุรกิจและการลงทุนในอนาคต เครือเจริญโภคภัณฑ์กำลังเดินตามยุทธศาสตร์และโรดแม๊ปที่วางไว้ ซึ่งจะทำให้ธุรกิจของเครือฯ เติบโตบนพื้นฐานของความยั่งยืน”
ขณะเดียวกัน ริชาร์ด เควสท์ ผู้สื่อข่าวสายธุรกิจที่มีชื่อเสียงของ CNN เคยมาสัมภาษณ์เจ้าสัวศุภชัยที่ True Digital Park เมื่อปี 2564 ยังได้พูดถึงสถานที่ที่เพียบพร้อมสำหรับการบ่มเพาะสตาร์ทอัพในไทย ตามเป้าหมายของเจ้าสัวศุภชัยด้วย
ซึ่งได้ชื่นชมแนวคิดของเจ้าสัวศุภชัยเกี่ยวกับการสร้างระบบนิเวศ เพื่อให้เครือฯ จับมือกับสตาร์ทอัพ และมีส่วนช่วยให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีในภูมิภาคได้
ทั้งนี้ ในแง่ของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่กำลังจะเปลี่ยนหน้ามือไปเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยี ไม่ใช่แค่เป็นผู้เล่นในด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม ดังนั้น เราจะพาไปดูอาณาจักรของ ‘ทรู’ ว่ามีอะไรบ้าง
เปิดอาณาจักรทรู
สินค้าและบริการภายใต้การบริหารของทรู กว่า 10 ประเภท น่าจะเป็นเครื่องยืนยันได้อย่างหนึ่งว่า ทรู ไม่ได้ต้องการให้ตัวเองเป็นแค่บริษัทโทรคมนาคม แต่เป็นมากกว่านั้นในทุกๆ ไลฟ์สไตล์ของคนไทย ซึ่งสินค้าและบริการของทรู มีดังนี้
True Move H – เครือข่ายโทรศัพท์มือถือ, True Online – บริการอินเทอร์เน็ต, True Visions – บริการสตรีมมิ่ง, True Money – บริการทางการเงินออนไลน์, TrueID – บริการสมาชิกรายเดือนแพลตฟอร์มดิจิทัลไลฟ์สไตล์, True Shopping – โฮมช็อปปิ้งและทางออนไลน์
True Digital Park – ศูนย์การค้าและแหล่งรวมสตาร์ทอัพ, True Coffee – ร้านกาแฟและเบเกอรี่, True Food – บริการเดลิเวอรี่, True Digital Academy – สถาบันการศึกษาด้านดิจิทัล, TruePlookpanya – เว็บไซต์ด้านการศึกษา, True HEALTH – แพลตฟอร์มดูแลสุขภาพและปรึกษาแพทย์ทางออนไลน์, True Virtual World – แพลตฟอร์มโลกเสมือนจริงพื้นที่ทำงาน-เรียนทางออนไลน์, True Analytics – บริการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก, True Vitamin Water - เครื่องดื่มวิตามิน
ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นดีลการควบรวมระหว่างทรูและดีแทค หรือแผนอื่น ๆ ที่ส่งผลดีต่อธุรกิจในเครือฯ เชื่อว่าเจ้าสัวศุภชัยพร้อมที่จะเดินหน้าตามเป้าหมายในทันที และเป็นไปได้ว่าเราอาจจะเห็นไทยเป็นฮับในการบ่มเพาะสตาร์ทอัพก็ได้ หากระบบนิเวศทุกอย่างพร้อมแล้ว
อ้างอิง:
https://www.true.th/true-corporation/site/about_true
https://www.wearecp.com/re62-2204-00001/
https://www.wearecp.com/cpg-08122021/
https://www.wearecp.com/cpg-15122021-2/
https://www.youtube.com/watch?v=SEJW5uv61TQ