จากร้านขายน้ำแข็งสู่ 7-Eleven 42 ปีที่ ‘มาซาโตชิ อิโตะ’ พลิกวิกฤตในอเมริกาจนมาไทย

จากร้านขายน้ำแข็งสู่ 7-Eleven 42 ปีที่ ‘มาซาโตชิ อิโตะ’ พลิกวิกฤตในอเมริกาจนมาไทย

‘เซเว่น-อีเลฟเว่น’ (7-Eleven) ร้านสะดวกซื้อที่คนไทยคุ้นหน้าคุ้นตากันเป็นอย่างดี เพราะเข้ามาในไทย 33 ปีแล้ว ส่วนหนึ่งมาจากการก้าวเดินของ ‘มาซาโตชิ อิโตะ’ พลิกวิกฤตในอเมริกาจนมาไทย

ปัจจุบันในไทยมีสาขาร้าน ‘เซเว่น-อีเลฟเว่น’ (7-Eleven) อยู่ประมาณ 12,743 แห่ง ซึ่งจากวันแรกที่เราได้รู้จักกับร้านนี้เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2532 ในย่านพัฒน์พงศ์ โดยบริษัท ซีพี ออลล์ จํากัด (มหาชน) ซึ่งก่อตั้งบริษัทได้เพียง 1 ปี (เปลี่ยนชื่อจากบริษัทเดิมคือ ซีพี เซเว่น-อีเลฟเว่น)

การขยายสาขาของ ‘เซเว่น-อีเลฟเว่น’ (7-Eleven) ในไทย เห็นการเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่สาขาแรกที่อยู่ในโลเคชั่นทอง กลุ่มคนทำงาน, โรงพยาบาล, ใกล้โรงเรียน, นักท่องเที่ยว

จนในปี 2545 ที่ซีพี ออลล์ ได้วางกลยุทธ์เจาะการขยายร้านไปที่ปั๊มปตท.มากขึ้น ซึ่งสินค้าก็มีให้เลือกมากขึ้นด้วยเช่นกัน

จากสโลแกน ‘เพื่อนที่รู้ใจใกล้ ๆ คุณ’ เพื่อสร้างความรู้สึกใกล้ชิด เป็นมิตร คอยอยู่ข้างๆ ลูกค้า จนถึงวันที่เซเว่น-อีเลฟเว่นเปลี่ยนสโลแกนอีกครั้งมาเป็น ‘หิวเมื่อไรก็แวะมา’ อาจเป็นเพราะคู่แข่งในตลาดเริ่มมากขึ้น ทำให้เซเว่น-อีเลฟเว่นในไทยต้องปรับตัวเปิดจุดยืนใหม่เป็น ‘ร้านอิ่มสะดวก’ เข้ามาแทน

จากที่มีสินค้าแค่ของใช้จำเป็นก็กลายมาเป็นสินค้าที่หลากหลาย มีครบให้เลือกในหลายประเภท จนทุกวันนี้เราได้เห็นร้านสะดวกซื้อชื่อนี้อยู่ในทุก ๆ ที่ และไทยก็กลายเป็นประเทศที่มีเซเว่น-อีเลฟเว่นมากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากญี่ปุ่น

เซเว่น-อีเลฟเว่น (7-Eleven) เป็นร้านขายน้ำแข็งมาก่อน

มีหลายคนที่เข้าใจว่าเซเว่น-อีเลฟเว่นเป็นร้านสะดวกซื้อมาจากญี่ปุ่น ซึ่งก็ไม่ผิด แต่มีส่วนจริงอยู่เพียงครึ่งเดียว เพราะจริง ๆ แล้วจุดเริ่มต้นมาจากบริษัท เซาท์แลนด์ ไอซ์ ที่เมืองดัลลัส รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา

ในปี 2470 จอห์น เจฟเฟอร์สัน (John Jefferson) ได้เปิดร้านขายน้ำแข็งในย่านนั้น ซึ่งเสียงตอบรับการขายแค่น้ำแข็งดีเกินคาด จอห์น เจฟเฟอร์สัน จึงเพิ่มสินค้าใหม่ ๆ พวกของใช้ประจำวัน ขนมขบเคี้ยว จนไปถึงแป้ง ไข่ ขนมปัง เพราะหวังจะขยายกลุ่มลูกค้าเพิ่มขึ้น ซึ่งไอเดียนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาตัดสินใจเปลี่ยนชื่อร้านครั้งแรกโดยชื่อว่า ‘Tote’m Store’

“การที่มีสินค้าหลาย ๆ อย่างในร้านเดียวจะทำให้ลูกค้าติด กลับมาซื้อซ้ำ เพราะพวกเขาไม่ต้องเดินทางไกล ลดเวลาในการซื้อของได้อีกเยอะ” จอห์น เจฟเฟอร์สัน พูดไว้ตั้งแต่วันแรก ๆ ที่เขาเปิดร้าน

แต่ความคิดของ จอห์น เจฟเฟอร์สัน เขาต้องการให้ธุรกิจร้านสะดวกซื้ออยู่ได้ไปอีกนาน และต้องการสร้างกิมมิคให้เป็นที่จดจำมากขึ้น ในปี 2489 เขาตัดสินใจเปลี่ยนชื่อร้านอีกครั้ง ก็คือ ‘เซเว่น-อีเลฟเว่น’ (7-Eleven) โดยอิงเหตุผลมาจากช่วงเวลาในการเปิดร้าน คือ 7 โมงเช้าถึง 5 ทุ่ม (ซึ่งเวลาตามภาษาอังกฤษคือ 7am - 11pm) เลยเป็นที่มาของชื่อร้านว่า เซเว่น-อีเลฟเว่น นั่นเอง

 

จุดเริ่มต้นของเซเว่น-อีเลฟเว่น (7-Eleven) ญี่ปุ่น

สถานการณ์ของร้านเซเว่น-อีเลฟเว่นที่เท็กซัสที่ดูเหมือนกำลังไปได้สวย จนในช่วงปลายทศวรรษ 1980 (ประมาณปี 2523) บริษัท เซาท์แลนด์ ไอซ์ เริ่มมีปัญหาหลายด้าน ทั้งปัญหาการเงิน, ดราม่าจากกระแสข่าวการบริหารธุรกิจและการซื้อกิจการของ จอห์น เจฟเฟอร์สัน ในยุคนั้น

ในเดือนตุลาคมปี 2533 บริษัทเกิดภาวะหนี้ท่วมจนทำให้ต้องยื่นล้มละลาย และนี่ก็เป็นที่มาของการเปลี่ยนมือไปที่บริษัทญี่ปุ่น

อิโต-โยคะโดะ (Ito-Yokado) ธุรกิจแบบเครือและเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นได้เข้ามาซื้อหุ้นของบริษัท เซาท์แลนด์ ไอซ์ ในสัดส่วน 70% กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่สุดของบริษัท และเป็นผู้ได้สิทธิในการบริหารกิจการทั้งหมดต่อ

ซึ่งในปี 2548 อิโต-โยคะโดะ ได้ก่อตั้งบริษัทเซเว่น แอนด์ ไอ โฮลดิงส์ (Seven & i Holdings) และทำให้ร้านเซเว่น-อีเลฟเว่นในเท็กซัสทั้งหมด (บางสื่อบอกมีอยู่หลายสิบสาขา) กลายเป็นบริษัทลูก และอยู่ภายใต้การบริหารของคนเพียงคนเดียว ซึ่งก็คือ ‘มาซาโตชิ อิโตะ’ (Masatoshi Ito)

 

ร้านสะดวกซื้อญี่ปุ่นควรเปิด24ชั่วโมง

มาซาโตชิ อิโตะ นักธุรกิจชาวญี่ปุ่น ปัจจุบันอายุ 98 ปี เป็นผู้ก่อตั้งและผู้บริหารซูเปอร์มาร์เก็ตอิโต-โยคะโดะ กลุ่มค้าปลีกใหญ่อันดับ 2 ของโลก และเป็นคนตัดสินใจที่จะเปิดร้านเซเว่น-อีเลฟเว่นในญี่ปุ่น

จุดต่างอย่างหนึ่งจากความคิดระหว่างจอห์น เจฟเฟอร์สัน กับมาซาโตชิ อิโตะ คือวิธีการเรียกลูกค้าและตอบสนองความต้องการของลูกค้า เพราะมาซาโตชิ อิโตะ มองว่า “ทำไมร้านสะดวกซื้อต้องมีเวลาเปิด-ปิด?” ซึ่งก็เป็นเหตุผลที่ทำให้เซเว่น-อีเลฟเว่นในญี่ปุ่นนำร่องร้านสะดวกซื้อที่เปิด 24 ชั่วโมงในยุคแรก ๆ

ส่วนสินค้าที่ขายในเซเว่น-อีเลฟเว่นเรียกว่าครบ เพราะลูกค้าสามารถหาซื้อได้แม้แต่หลอดดูดน้ำ หรือช้อนส้อม ดังนั้น ความใส่ใจในการบริหาร การจัดระเบียบคลังสินค้า และคุณภาพของสินค้าที่คัดมา ทำให้เซเว่น-อีเลฟเว่น กลายเป็นคอนวีเนี่ยนสโตร์ที่มีสาขามากที่สุดในโลก จากเป้าหมายแรกที่พยายามขยายแฟรนไชส์ให้ได้ปีละ 100 แห่ง

ความสำเร็จของเซเว่น-อีเลฟเว่น ดูได้จากการขยายสาขา เพราะในปัจจุบันเปิดให้บริการแล้วมากกว่า 70,200 สาขา ใน 17 ประเทศทั่วโลก อ้างอิงตัวเลขจาก statista ในปี 2564

กว่าเส้นทางของร้านเซเว่น-อีเลฟเว่นจะประสบความสำเร็จได้ขนาดนี้ เราต้องหันมาดูตั้งแต่วิธีคิด วิธีการบริหารธุรกิจของมาซาโตชิ อิโตะ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้กอบกู้ชื่อเสียงและฟื้นฟูธุรกิจจนเป็นเบอร์หนึ่งในวงการคอนวีเนี่ยนสโตร์

สิ่งหนึ่งที่เขามักจะพูดเสมอถึงวิธีคิดเพื่อบริหารธุรกิจให้ดี ซึ่งเป็นคำแนะนำมาจาก ‘ปีเตอร์ ดรักเกอร์’ (Peter Drucker) ในฐานะเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจคือ “อย่ามัวแต่เร่งขยายสาขา แต่ให้ดูแลแต่ละสาขาทำให้รากฐานแข็งแรงก่อน” คงคล้ายกับสุภาษิตไทยที่บอกว่า “ช้า ๆ ได้พร้าเล่มงาม” ดูจะจริงมาก

อัปเดต: วันที่ 14 มีนาคม 2023 (ตามเวลาในไทย) มีรายงานว่า Masatoshi Ito เสียชีวิตลงในวัย 98 ปี 

 

ภาพ: Getty Images, Forbes

อ้างอิง:

BBC

Wikipedia/7-Eleven

Linkedin

Wikipedia/Masatoshi_Ito

www.cgu.edu

cpall.co.th

elluminatiinc.com

statista.com