‘ยูจีน รอชโก’ ผู้พัฒนา Mastodon โซเชียลมีเดียทางเลือกใหม่ คู่แข่งคนสำคัญของทวิตเตอร์

‘ยูจีน รอชโก’ ผู้พัฒนา Mastodon โซเชียลมีเดียทางเลือกใหม่ คู่แข่งคนสำคัญของทวิตเตอร์

มาสโตดอน (Mastodon) แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียทางเลือกใหม่ที่เปิดตัวในปี 2016 กำลังได้รับความสนใจจากผู้ใช้งานที่เบื่อหน่าย 'อีลอน มัสก์' ผู้บริหารคนใหม่ของทวิตเตอร์

ขณะที่ทวิตเตอร์กำลังระส่ำระส่ายเต็มที ‘มาสโตดอน’ (Mastodon) แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียทางเลือกใหม่ (แต่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2016) กลับได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงขนาด ‘ยูจีน รอชโก’ (Eugen Rochko) ผู้พัฒนาแอพฯ ออกมากล่าวถึงปรากฏการณ์ที่เจ้าชายนักปั่นอย่างอีลอน มัสก์ ทำให้แพลตฟอร์มของเขา มีผู้สมัครเข้าใช้งานเพิ่มขึ้นกว่า 7 หมื่นคนในเวลาไม่ถึงสัปดาห์

หากให้อธิบายโดยย่อ ‘มาสโตดอน’ คือแพลตฟอร์มที่ดูเผิน ๆ มีวิธีการใช้งานไม่ต่างจากทวิตเตอร์มากนัก ตั้งแต่ปุ่มรีโพสต์ การกดถูกใจ ไปจนถึงการกดติดตามความเคลื่อนไหวระหว่างกันได้ แต่สิ่งที่แตกต่างคือเจ้าบรรพบุรุรษช้างตัวนี้ (มาสโตดอน คือสัตว์ขนาดใหญ่สูญพันธุ์ไปราว 3,000 ปีก่อน มีลักษณะคล้ายช้างสมัยใหม่ และยังเกี่ยวข้องกับแมมมอธ - ผู้เขียน) สามารถพิมพ์ข้อความได้ไม่เกิน 500 ตัวอักษร อีกทั้งยังไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือถูกควบคุมโดยบริษัทใด ดังนั้นเจ้าช้างตัวนี้จึงเป็นอิสระ มีเสรีภาพในการเขียนข้อความแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่

จากความเป็นอิสระนี่เอง ที่ทำให้ผู้ใช้ใหม่หลายคนเริ่มสนใจแพลตฟอร์มตัวนี้เพิ่มขึ้น เพราะแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ล้วนมี ‘เจ้าของ’ เป็นบริษัท องค์กร หรือผู้ถือหุ้นคอยควบคุมทั้งสิ้น ทำให้ ‘บุคคล’ เหล่านี้สามารถเปลี่ยนแพลตฟอร์มที่พวกเขาคุ้นตา ให้กลายเป็นสิ่งที่เขาอาจชอบหรือไม่ชอบได้ในอนาคต (คล้ายกับกรณีของทวิตเตอร์)

และนี่คือเรื่องราวของ มาสโตดอน และ ยูจีน รอชโก ผู้ปลุกช้างดึกดำบรรพ์ให้ฟื้นจากการจำศีล หลังจากหลับใหลไปนานกว่า 6 ปี

เริ่มพัฒนาแพลตฟอร์มตั้งแต่ยังเรียนยังไม่จบ

ยูจีน รอชโก เกิดปี 1993 ในครอบครัวชาวยิวเชื้อสายรัสเซีย เขาใช้ชีวิตอยู่ที่รัสเซียจนกระทั่งอายุ 11 จึงย้ายไปอยู่เยอรมนีพร้อมกับครอบครัว หลังจากจบการศึกษาจากโรงเรียนมัธยมที่รับเฉพาะนักเรียนหัวกะทิ ณ เมืองเยนา ประเทศเยอรมนี และเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยฟรีดริช-ชิลเลอร์ สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์

เส้นทางชีวิตของเขาราบเรียบไม่ต่างจากเด็กเรียนดีทั่วไป แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้เขาแตกต่างคือ เขามีอุดมการณ์อันแรงกล้าที่จะผลักดันแพลตฟอร์มที่สร้างขึ้นมาเพื่อ ‘คน’ โดยเฉพาะ ซึ่งคนเหล่านี้ย่อมมีสิทธิ์มีเสียงที่จะแสดงออกทางความคิดเห็นได้อย่างเสรี

มาสโตดอน (รอชโกตั้งชื่อตามวงดนตรีร็อกเฮฟวีเมทัลจากรัฐจอร์เจีย - ผู้เขียน) จึงกำเนิดขึ้นในปี 2016 ขณะที่รอชโกกำลังเรียนมหาวิทยาลัย

“ผมคิดว่าการแสดงตัวตนผ่านทางโลกออนไลน์กับเพื่อน ๆ ด้วยข้อความสั้น ๆ นั้นมันเป็นอะไรที่สำคัญมากสำหรับผม แล้วก็สำคัญกับโลกด้วย เมื่อมันสำคัญมากถึงขนาดนี้ ผมก็ยิ่งรู้สึกไม่พอใจว่าทำไมทวิตเตอร์ถึงต้องอยู่ภายใต้บริษัทเดียว ทำไมเราไม่กระจายอำนาจให้ทุกคนมีอำนาจอย่างเท่าเทียม มันเหมือนกับเรากำลังถูกควบคุมจากบนลงล่างยังไงยังงั้น”

 

แนวคิดค่อนข้างสุดโต่งของรอชโก ผลักดันให้มาสโตดอนกลายเป็นช้างที่โค่นไม่ล้ม เขายังคงวางแนวทางให้มาสโตดอนก้าวต่อไปบนเส้นทางแห่งเสรีภาพ แม้ว่าจะมีคนเข้ามาเสนอซื้อกันอย่างไม่หวาดหวั่น แต่รอชโกยังคงยืนยันว่า เขาจะไม่ยอมขายเด็ดขาด

“ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่ผลงานของผมได้รับคำชื่นชมและเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ผมทำงานหนักเพื่อแสดงให้เห็นว่าบนโลกนี้ไม่ได้มีวิธีการทำงานรูปแบบเดียว เราไม่จำเป็นต้องขึ้นตรงต่อบริษัทเชิงพาณิชย์อย่าง ทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก”

พื้นที่แห่งเสรีภาพ

แม้รอชโกจะยืนยันว่ามาสโตดอนจะเป็นการกระจายอำนาจอย่างเท่าเทียม โดยไม่รวมศูนย์อำนาจไว้ที่บริษัทหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง (decentralization) แต่ก็ยังมีคำถามตามมาว่าเขาจะทำได้จริงอย่างหรือเปล่า ซึ่งรอชโกก็ได้ตอบคำถามนี้ผ่านบทสัมภาษณ์ในนิตยสาร Time ไว้อย่างน่าสนใจว่า เขาคิดว่าแพลตฟอร์มบนโลกนี้ก็ไม่ต่างจากรถยนต์ ที่ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของได้ แต่จะใช้งานอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับผู้ถือกรรมสิทธิ์

“นี่เป็นการแบ่งขั้วอำนาจที่ค่อนข้างประหลาด มาสโตดอนไม่ได้มีเซิร์ฟเวอร์ที่บริษัท หรือบุคคลใดเป็นเจ้าของเพียงคนเดียว แต่ผู้คนสามารถสร้างเซิร์ฟเวอร์เป็นของตัวเองได้อย่างอิสระ แต่ละคนก็จะสามารถควบคุม ดูแลและตั้งกฎเกณฑ์ของตัวเองขึ้นมาได้ (ยกเว้นการกระทำใดก็ตามที่ละเมิดกฎหมาย)

“ดังนั้นข้อดีของเราคือเราเป็นแพลตฟอร์มที่ทุกคนสามารถแสดงออกทางความคิดเห็นได้อย่างอิสระที่สุดเท่าที่เคยมีมา แต่มันก็เหมือนกับรถยนต์ ทุกอย่างมีข้อดี-ข้อเสีย เพราะนี่คือเครื่องมือที่ทุกคนสามารถใช้ได้ ทุกคนใช้รถยนต์ คนดีคนเลวเขาก็ใช้กันหมด คุณไม่สามารถทำอะไรกับสิ่งที่เหนือการควบคุมได้

“อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าปัจจัยที่ทำให้มาสโตดอนแตกต่างจากทวิตเตอร์ หรือเฟซบุ๊ก คือมาสโตดอน มีเซิร์ฟเวอร์เป็นของตัวเอง คุณสามารถตั้งกฎของตัวเองขึ้นมาได้ และที่สำคัญมาสโตดอนไม่แทร็กข้อมูลการใช้งาน เพื่อนำไปขายโฆษณาให้กับบริษัทโฆษณาต่าง ๆ”

สรุปง่าย ๆ ก็คือผู้ที่เข้ามาใช้บริการมาสโตดอน สามารถแสดงความคิดเห็นในเรื่องอะไรก็ได้จริง แต่มีเงื่อนไขว่าต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดของเจ้าของเซิร์ฟเวอร์ และที่สำคัญคือ หากเป็นเซิร์ฟเวอร์ไหนที่แสดงออกถึงความเกลียดชังหรือมีเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย รวมถึงการล่วงละเมิดทางเพศ เจ้าของเหล่านั้นสามารถลบออกได้ (แต่ไม่เสมอไป)

ความท้าทายอีกอย่างที่มาสโตดอนต้องเผชิญคือ ‘เงินทุน’ เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รอชโกใช้วิธีการเปิดรับบริจาค ระดมทุน และขอสปอนเซอร์เพื่อให้ช้างตัวนี้ยังคงมีชีวิตอยู่ เนื่องจากแพลตฟอร์มนี้ไม่เรียกเก็บค่าบริการ ทุกคนสามารถเข้ามาใช้งานได้แบบฟรี ๆ แต่เจ้าของสามารถเรียกเก็บค่าสมาชิกได้แม้ว่าส่วนใหญ่จะเปิดฟรีก็ตาม

นี่จึงเป็นปัญหาที่มาสโตดอนต้องแก้ไขต่อไป หากช้างยักษ์ตัวนี้จะฟื้นคืนชีพและก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มทรงอิทธิพลในอนาคต

ก่อนจะแสดงความคิดเห็นปิดท้ายถึงกรณีที่ทวิตเตอร์เปลี่ยนมาอยู่ในมือของเจ้าของคนใหม่ว่า เขาไม่เห็นด้วยกับจุดยืนของทวิตเตอร์ที่เปิดกว้างให้ทุกคนแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี เพราะหากมีการอนุญาตให้พูดทุกอย่างอย่างที่คิด ความเกลียดชังคงจะปะทุขึ้นมาจนล้นโลกออนไลน์

“ผมคิดว่านั่นเป็นแนวคิดค่อนข้างจะอเมริกันสุด ๆ ที่บอกว่าทุกคนมีอิสระที่จะพูดทุกอย่างที่คิด แต่สำหรับเราชาวเยอรมัน สิ่งที่รัฐธรรมนูญของเราให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่งคือ การปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

“ผมจะยกตัวอย่างนี้ให้คุณเห็นนะ พวกคำพูดที่สร้างความเกลียดชัง ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเสรีภาพในการพูดของเยอรมัน ดังนั้นการที่อีลอน มัสก์บอกว่าจะอนุญาตให้พูดทุกอยาง หรือว่าอะไรก็ตาม ผมไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้เลยสักนิด”

 

ภาพ: Courtesy of Eugen Rochko/Mastodon

 

อ้างอิง

https://www.bbc.com/news/technology-63534240

https://www.nytimes.com/2022/11/07/technology/mastodon-twitter-elon-musk.html?

https://mashable.com/article/eugen-rochko-mastodon-interview

https://techcrunch.com/2022/11/07/boosted-by-twitter-drama-mastodon-reaches-1-million-active-monthly-users/

https://www.forbes.com/sites/rashishrivastava/2022/11/04/mastodon-isnt-a-replacement-for-twitterbut-it-has-rewards-of-its-own/?sh=427bae7ea6eb

https://www.reuters.com/technology/mastodon-what-is-social-network-hailed-twitter-alternative-2022-11-07/

https://time.com/6229230/mastodon-eugen-rochko-interview/

https://www.bangkokbiznews.com/tech/1036382