24 พ.ย. 2565 | 10:51 น.
- ที่มาของรถสกู๊ตเตอร์แลมเบรตตา (Lambretta)
- ที่มาของชื่อแบรนด์
- ที่มาของดีไซน์รถมอเตอร์ไซต์จากวิศวกรเครื่องบิน
ความนิยมของคนไทยที่ใช้รถมอเตอร์ไซค์โดยเฉพาะทรงที่เป็น ‘สกู๊ตเตอร์’ ถือว่าเกิดขึ้นมานานแล้ว และไม่กี่แบรนด์แรก ๆ ที่ทำให้คนไทยรู้จักกับรถรูปทรงแบบนี้ก็คือ เวสป้า (Vespa) กับ แลมเบรตตา (Lambretta) ซึ่งที่ผ่านมามีหลายคนไม่น้อยเลยที่เข้าใจว่ารถสองแบรนด์นี้เป็นแบรนด์เดียวกัน ด้วยรูปทรงที่คล้ายกันมากหากดูจากที่ไกล ๆ
‘แลมเบรตตา’ สำหรับคนไทยบางกลุ่มอาจจะไม่รู้จัก แต่จริง ๆ แล้วแบรนด์ดังกล่าวเข้ามาอวดสายตาคนไทยตั้งแต่เมื่อ 61 ปีก่อน โดยกลุ่มทุนอย่าง บริษัท เบอร์ลี่ยุคเกอร์ แอนด์โก (หรือ BJC ในปัจจุบัน) เป็นผู้นำเข้ามาจำหน่ายในสมัยนั้น ถือว่าเป็นรถทรงสกู๊ตเตอร์ที่เท่บาดใจคนไทยในสมัยนั้น
ก่อนรถสกู๊ตเตอร์เป็นโรงงานเหล็กเจ้าใหญ่
‘แลมเบรตตา’ รถทรงคลาสสิกถือกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่ 100 ปีก่อน (เปิดตัวในปี 1922) โดยผู้ก่อตั้งก็คือ ‘เฟอร์ดินันโด อินโนเซนติ’ (Ferdinando Innocenti) แต่ก่อนที่รถแลมเบรตตาจะถือกำเนิดขึ้น ในตอนนั้นเขาเป็นเจ้าของโรงงานผลิตท่อเหล็กในเขตแลมเบรต (Lambrate) ของมิลานทางตอนเหนือของประเทศอิตาลี ซึ่งในสมัยนั้นถือว่าเป็นโรงงานผลิตท่อเหล็กที่ใหญ่มาก เพราะมีพนักงานมากถึง 6,000 คน (ย้ายโรงงานมาจากกรุงโรมเมื่อปี 1931)
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่มีสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงงาน Innocenti S.A. โชคร้ายเพราะถูกระเบิดทำลายอย่างหนักจนไม่สามารถดำเนินการผลิตท่อเหล็กได้เหมือนเดิม
สิ่งที่อินโนเซนติพอจะทำได้ ณ ตอนนั้นก็คือ พยุงธุรกิจด้วยการผันตัวเองไปเป็นผู้ผลิตรถมอเตอร์ไซค์ราคาถูก (จากเศษเหล็กที่หลงเหลืออยู่) คุณสมบัติของรถมอเตอร์ไซค์ที่จำเป็นในช่วงสงครามหลัก ๆ ที่ควรมีก็คือ ต้องทนทานกับทุกสภาพ, ราคาถูก, รูปทรงที่สามารถขับขี่ในทางแคบ ๆ ได้ดี เป็นต้น
ดีไซน์รถจากวิศวกรด้านการบิน
ในเมื่อแนวคิดการผลิตรถสำหรับอินโนเซนติในตอนนั้น กลุ่มเป้าหมายแรกของเขาก็คือ ‘ทหาร’ ไม่ใช่ประชาชนทั่วไป ซึ่งเหตุผลที่รถจากโรงงานของเขาเป็นทรงสกู๊ตเตอร์เพราะว่า เขาเคยเห็นรถมอเตอร์ไซค์ยี่ห้อหนึ่งจากอเมริกา คือ Crushman เป็นสีเขียวมะกอก เขารู้สึกชื่นชอบทรงรถตั้งแต่ตอนนั้น
นอกจากนี้ รถ Crushman ก็เป็นรถที่ทหารอเมริกันเลือกเพื่อใช้ในการเดินทางลาดตระเวนในหลาย ๆ ประเทศ ทั้งอิตาลีและเยอรมนี จึงทำให้เกิดเป็นไอเดียสร้างรถมอเตอร์ไซค์ที่เป็นดีไซน์คล้าย ๆ กับรถของ Crushman
เริ่มต้นตั้งแต่การใช้เหล็กจากโรงงานที่ยังเหลืออยู่ และชักชวนให้ Cesare Pallavicino และ Pier Luigi Torre Pallavicino ซึ่งเป็นวิศวกรด้านการบินฝีมือดี เป็นผู้ออกแบบรถมอเตอร์ไซค์ทรงสกู๊ตเตอร์ โดยที่มาของชื่อ ‘แลมเบรตตา’ มาจากแม่น้ำแลมโบร (Lambro) ที่อยู่ติดกับโรงงาน และอยู่ในเขต Lambrate โดยนำคำมาผสมกัน
ที่น่าสนใจอีกหนึ่งอย่างก็คือ วิศวกรที่ออกแบบรถมอเตอร์ไซค์แลมเบรตตา เป็นคนที่ไม่ชอบรูปทรงของมอเตอร์ไซค์ในสมัยนั้น เพราะดูคันใหญ่เทอะทะ และมีหลายส่วนประกอบที่ไม่เหมาะกับความเป็นรถมอเตอร์ไซค์ พวกเขาจึงใช้ pain point ตรงนี้มาออกแบบแลมเบรตตาให้กับอินโนเซนติ
คนไทยชอบรุ่นวินเทจมากกว่า
ภิญโญ สิงหเสนี จาก LAMBRETTA THAILAND ได้เปิดเผยกับ The People ด้วยว่า “ในฐานะที่เขาเป็นอีกหนึ่งคนที่คลุกคลีอยู่กับรถแลมเบรตตามานานกว่า 21 ปี ต้องบอกว่า รถแบรนด์นี้เป็นที่นิยมในหลายกลุ่มในไทย เพียงแต่จะเป็นตัววินเทจมากกว่า แต่ก็มีข้อเสียเหมือนกันคือราคาแพง
“ถ้าเทียบกับสมัยก่อน แลมเบรตตาสำหรับคนไทยมีความกังวลมากมายเกี่ยวกับเครื่องยนต์ แต่ตอนนี้เครื่องยนต์พัฒนามาเรื่อย ๆ ดีกว่าเดิมมาก แต่สุดท้ายคนก็ชอบรุ่นวินเทจมากกว่ารุ่นใหม่ แม้ว่าแลมเบรตตาจะผลิตรุ่นใหม่ที่ทำให้ราคาเข้าถึงคนง่ายขึ้น แต่ตัววินเทจยังเป็นรุ่นที่ดีมานด์สูงมาก”
นอกจากนี้ ภิญโญยังพูดอีกว่า “มีคนไทยหลายคนที่ไม่ได้อยู่ในวงการรถสกู๊ตเตอร์อาจจะแยกระหว่างรถเวสป้ากับแลมเบรตตาไม่ออกเพราะคล้ายกันมาก แต่หากสังเกตจะเห็นว่าทรงของแลมเบรตตาใหญ่กว่า ยาวกว่า เครื่องยนต์ดีกว่า และสะดุดตากว่า ถึงแม้ว่าเวสป้าจะเป็นแบรนด์ที่แข็งมาก แต่แลมเบรตตา (วินเทจ) เป็นแบรนด์ที่แข็งกว่า คือความต้องการสูงกว่าเวสป้า”
ไม่ว่าจะแบรนด์ไหนที่เป็นเจ้าตลาดรถสกู๊ตเตอร์ อาจไม่สำคัญเท่าแบรนด์ไหนอยู่ในใจผู้ใช้นานกว่ากัน เชื่อว่าแลมเบรตตาคือหนึ่งในแบรนด์ที่ติดตลาดทั้งคนไทยและทั่วโลกนิยมใช้ แม้ว่าจุดเริ่มต้นจะมาจากความพยายามอยู่รอดของผู้ก่อตั้งโรงงานช่วงสงคราม แต่สุดท้ายการผันตัวเองมาเป็นผู้ผลิตรถมอเตอร์ไซค์แทนผู้ผลิตท่อเหล็กก็สร้างตำนานแห่งรถสกู๊ตเตอร์เพิ่มอีกหนึ่งแบรนด์ในโลก ถือว่าไม่ธรรมดาเหมือนกัน
ภาพ: lambrettaallride, lambrettawatches
อ้างอิง: