JD.com อาณาจักรแสนล้านที่ ‘ริชาร์ด หลิว’ สร้างขึ้นจากความล้มเหลว สู่จุดที่ถอยจากไทย

JD.com อาณาจักรแสนล้านที่ ‘ริชาร์ด หลิว’ สร้างขึ้นจากความล้มเหลว สู่จุดที่ถอยจากไทย

JD.com หนึ่งในเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซชื่อดังของจีน ก่อตั้งโดย ‘ริชาร์ด หลิว’ ซึ่งเขาก้าวลงจากตำแหน่งซีอีโอในภายหลัง ขณะที่ต้นปี 2023 JD Central ที่เป็นความร่วมมือกับเซ็นทรัล กรุ๊ป ประกาศยุติให้บริการในไทย

  • JD.com เป็นเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซชื่อดังของจีนที่มีมูลค่ากว่าแสนล้านบาท ซึ่ง ‘ริชาร์ด หลิว’ เป็นผู้ก่อตั้ง
  • ด้วยสภาพเศรษฐกิจถดถอย มีกระแสข่าวว่า JD.com จะถอนตัวออกจากตลาดไทยและอินโดนีเซีย รวมถึงที่อื่น ๆ
  • วันที่ 30 ม.ค. 2023 แพลตฟอร์ม JD CENTRAL ประกาศหยุดให้บริการในไทย มีผลตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2023

ปลายปี 2022 มีกระแสข่าวว่า JD.com หนึ่งในเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซชื่อดังของจีนที่มีมูลค่ากว่าแสนล้านบาท มีแผนจะถอนตัวออกจากตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า รวมถึงไทยและอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นการร่วมทุนกับผู้ประกอบการในประเทศ ด้วยสาเหตุมาจากสภาพเศรษฐกิจที่กระทบต่อกำลังซื้อ ส่งผลฉุดการเติบโตของบริษัท 

กระทั่งวันที่ 30 มกราคม 2023 เพจ JD Central โพสต์ข้อความแถลงว่า “แพลตฟอร์ม JD CENTRAL จะหยุดการให้บริการโดยมีผลนับตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2566...”

ทั้งนี้ JD Central คือ E-Marketplace (แพลตฟอร์มสินค้าออนไลน์) เป็นความร่วมมือระหว่างเซ็นทรัล กรุ๊ป (Central Group) กับ JD.com จากจีน แพลตฟอร์มเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2018

แม้ JD.com กำลังเผชิญสถานการณ์ลำบากไม่ต่างจาก Tech Company หลายแห่ง แต่ต้องยอมรับว่า กว่าจะก้าวมาถึงจุดนี้ได้ ‘ริชาร์ด หลิว’ ผู้ก่อตั้งบริษัท JingDong Mall เจ้าของ JD.com  ต้องเรียนรู้สร้างความสำเร็จจากความล้มเหลวหลายต่อหลายครั้ง 

เส้นทางชีวิตที่เริ่มต้นจากศูนย์

ชีวิตช่วงต้นของ ริชาร์ด หลิว หรือ หลิว เฉียงตง ถือว่า มีฐานะลำบาก โดยเขาเกิดในปี ค.ศ. 1974 ณ เมืองซู่เชียน มณฑลเจียงซู ในครอบครัวที่ประกอบอาชีพขนส่งถ่านหิน ขณะที่ตัวเขาเป็นคนหัวดี  จึงสอบเข้าเรียนระดับปริญญาตรีด้านสังคมวิทยา ที่มหาวิทยาลัย Renmin ได้สำเร็จ และระหว่างเรียนเขาได้ฝึกเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นเรื่องใหม่มาก ๆ ในยุคนั้น

ต่อมาหลิวเริ่มรับงานเขียนโปรแกรม ซึ่งงานนี้สร้างรายได้ให้เป็นกอบเป็นกำ สามารถสร้างบ้านใหม่ให้กับพ่อแม่ รวมถึงนำเงินไปลงทุนเปิดร้านอาหารได้ แต่ด้วยขาดประสบการณ์ในการบริหารจัดการ บวกกับไว้วางใจพนักงานมากเกินไป จึงถูกพนักงานโกง จนกิจการร้านอาหารต้องปิดตัวไปในเวลาไม่ถึงปี

อย่างไรก็ตาม ด้วยความมุ่งมั่นในการมีธุรกิจของตัวเอง หลังจากสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Renmin ในปี 1996 หลิวได้เรียนหลักสูตร EMBA จาก China Europe International Business School และเพื่อจะได้เรียนรู้ ตลอดจนสร้างประสบการณ์ด้านบริหารจัดการธุรกิจ เขาได้เริ่มทำงานที่ Japan Life ยักษ์ใหญ่ด้านผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสมุนไพร ในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายคอมพิวเตอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ และผู้ดูแลด้านโลจิสติกส์

การทำงานที่นี้ทำให้เขาตระหนักถึงความล้มเหลวของร้านอาหารว่า เป็นความผิดของตัวเองที่ไม่ได้สร้างระบบการบริหารจัดการให้ดี พร้อมกับเรียนรู้จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้น และให้ความสำคัญกับการบริหารธุรกิจอย่างเป็นระบบ

กำเนิด JD.com 

ปี 1998 หลิว ได้ตัดสินใจลาออกจาก Japan Life มาทำธุรกิจของตัวเองอีกครั้ง นั่นคือ Jingdong Century ร้านขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ตั้งอยู่ที่ Zhongguancun ในกรุงปักกิ่ง ด้วยทุนเริ่มต้นเพียง 12,000 หยวน

Jingdong Century เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2003 มีสาขา 12 สาขาทั่วปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และเสิ่นหยาง สามารถทำรายได้ต่อปีประมาณ 9 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ต้องสะดุดจากการระบาดของโรคซาร์ส ในประเทศจีน เพราะผู้คนหวาดกลัวไม่กล้าออกจากบ้าน พนักงานเองก็ไม่กล้ามาทำงานที่ร้าน ทำให้จำเป็นต้องปิดร้านค้าทั้ง 12 สาขา และยอดขายลดลงเหลือ 0 ทันที

แทนที่จะมองเป็นอุปสรรค หลิวกลับใช้เป็นโอกาสในการขยายธุรกิจในรูปแบบใหม่ นั่นคือ อีคอมเมิร์ซ ด้วยการเริ่มโพสต์ผลิตภัณฑ์ขายบนเว็บไซต์หรือเว็บบอร์ด และแม้ต่อมาจะสามารถเปิดหน้าร้านได้ แต่ด้วยความสำเร็จจากอีคอมเมิร์ซ ทำให้เขามาลุยธุรกิจนี้อย่างเป็นทางการในปี 2004 ด้วยการเปิดตัว Jingdong Mall หรือ JD.com ซึ่งเป็นธุรกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว

 โดยเฉพาะในปี 2014 เมื่อ Tencent คู่แข่งรายสำคัญของ ‘อาลีบาบา’ อย่าง Tencent เข้าร่วมลงทุนกับ JD.com ด้วยเงินลงทุน 214.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเข้าถือหุ้น 15%ใน JD.com

หลังจากการ Tencent  เข้ามาถือหุ้น หลิวได้พา JD.com เข้าตลาดหุ้น Nasdaq มีการขายหุ้น IPO ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2014 ซึ่ง ณ วันที่เข้าตลาดหุ้นนั้น JD ยังคงไม่มีกำไร และหลิวได้กล่าววลีสะท้านใจนักลงทุนทันทีว่า Growth First, Profits Second

การทำงานอย่างมีระบบ และให้ความสำคัญกับความเร็วในการส่งสินค้าไปถึงมือผู้บริโภค บวกกับการให้การสนับสนุนของ Tencent ทำให้ JD.com เติบโตอย่างรวดเร็ว ติดอันดับ Fortune Global 500 โดยปี 2021 ทำรายได้ไป 149.325 พันล้านเหรียญสหรัฐ มีธุรกิจครบคลุมทั้งอีคอมเมิร์ซ โลจิสติกส์ รีเทล และอื่น ๆ ขณะที่หลิว ติดอันดับเศรษฐีอันดับ 188 ของโลกประจำปี 2022 จากการจัดอันดับของนิตยสารชื่อดัง Forbe ด้วยมูลค่าทรัพย์สิน 12.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ปัจจุบันหลิวได้ประกาศก้าวลงจากตำแหน่งซีอีโอของ JD.com (หลิวพยายามลดบทบาทของตัวเองในบริษัทลงมาตั้งแต่ปี 2018 หลังถูกตั้งข้อกล่าวหาล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งเขาปฏิเสธข้อหา) และ ซู เลย ประธานของ JD.com จะเข้ารับตำแหน่งนี้แทน 

ปักธงธุรกิจในไทย

สำหรับในไทย JD.com ได้เข้ามาดำเนินธุรกิจประมาณเดือนกันยายน 2018 ด้วยการร่วมทุนกับกลุ่มบริษัทเซ็นทรัล ของตระกูล ‘จิราธิวัฒน์’ ใช้เงินลงทุนกว่า 17,500 ล้านบาท ตั้งกิจการร่วมค้า ‘บริษัท เซ็นทรัล เจดี คอมเมิร์ซ จำกัด’ เปิดให้บริการภายใต้ชื่อ ‘JD Central’ 

บริษัทแห่งนี้ทั้งสองฝ่ายถือหุ้นฝ่ายละ 50% เป้าหมายต้องการเป็นเว็บอีคอมเมิร์ซเบอร์ 1 ในไทย ก่อนจะไปเป็นผู้นำในภูมิภาค ซึ่งเส้นทางฝันน่าจะมีอุปสรรค สะท้อนจากผลประกอบการที่ผ่านมา โดย 

ปี 2562 (2019) มีรายได้รวม 1,284 ล้านบาท ขาดทุน 1,342 ล้านบาท 

ปี 2563 (2020) มีรายได้รวม 3,491 ล้านบาท ขาดทุน 1,375 ล้านบาท 

ปี 2564 (2021) มีรายได้รวม 7,443 ล้านบาท ขาดทุน 1,930 ล้านบาท 

ส่วนข่าวการถอนตัวออกจากตลาดในไทยที่ออกมาหนาหูตั้งแต่ปลายปี 2022 ปรากฏว่า วันที่ 30 มกราคม 2023 JD Central ประกาศยุติให้บริการดังที่กล่าวข้างต้น

 

หมายเหตุ: เนื้อหานี้ปรับปรุงข้อมูลเพิ่มเติมจากบทความเดิมที่เผยแพร่เมื่อธันวาคม 2022 

ภาพ: jdcorporateblog

อ้างอิง: 

Forbes

jdcorporateblog

Forbes