29 ก.ค. 2565 | 20:44 น.
ชื่อของ ‘จุน วนวิทย์’ เจ้าของธุรกิจ Hatari แบรนด์พัดลมชื่อดังของไทยโด่งดังชั่วข้ามคืนและกลายเป็นประเด็นใหญ่ที่สังคมสนใจหลังจากบริจาคเงินจำนวน 900 ล้านบาทให้กับมูลนิธิรามาธิบดี จนหลายคนสนใจชีวประวัติและเส้นทางธุรกิจของเศรษฐีใจบุญคนนี้ ซึ่งความจริงแล้วเส้นทางธุรกิจของเขาไม่ได้มีแค่ธุรกิจนี้เท่านั้น ยังมีอีกหลายธุรกิจที่หลายคนอาจไม่รู้
ก่อนจะไปรู้จักอาณาจักรธุรกิจของเขา เราขอเริ่มต้นประวัติของจุนเสียก่อน โดยเขาเกิดเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2480 เป็นคนกรุงเทพฯ ซึ่งในวัยเด็กด้วยฐานะยากจนทำให้ไม่ได้เรียนในระบบโรงเรียน จึงไม่มีคุณวุฒิทางการศึกษา และต้องขวนขวายทำงานตั้งแต่อายุ 12 ปี ตั้งแต่เป็นลูกจ้างกวาดพื้นร้านขายข้าวสาร ช่างทำทอง ขับรถโดยสาร ลูกจ้างโรงกลึง ลูกจ้างร้านทำป้ายพลาสติก ฯลฯ
กระทั่งอายุ 28 ปี ได้ออกแบบและผลิตของเล่นเด็กออกมาขาย จนเกิดความคิดต่อยอดมาทำโครงพัดลมพลาสติก และหลังจากได้ไปเรียนรู้การพันมอเตอร์ที่ประเทศไต้หวัน จึงได้เริ่มผลิตพัดลมด้วยชิ้นส่วนพลาสติกทั้งหมดเป็นของตัวเอง ใช้ชื่อแบรนด์ว่า K และ TORY
ในวัย 52 ปี เขาได้ผลิตพัดลม Hatari ออกมาครั้งแรก โดยที่มาของชื่อ ก็เนื่องมาจากคนในยุคนั้นให้ความสนใจและนิยมใช้พัดลมที่นำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่นกันมาก ดังนั้นเขาจึงใช้ชื่อแบรนด์ให้เหมือนมาจากญี่ปุ่นทั้งๆ ที่เป็นของคนไทย ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
ปัจจุบัน Hatari ถือเป็นผู้นำในตลาดนี้ และมีการผลิตพัดลมทุกประเภท รวมไปถึงเครื่องฟอกอากาศ เครื่องซักผ้าขนาดเล็ก และไม่ได้จำหน่ายเฉพาะแค่ในไทย แต่ส่งออกไปในหลายประเทศ โดยอยู่ภายใต้การบริหารของ 2 บริษัท ได้แก่ ‘บริษัท วนวิทย์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด’ โดยในปี 2564 มีรายได้รวมกว่า 6,000 ล้านบาท กำไร 65 ล้านบาท และ ‘บริษัท ฮาตาริ อิเลคทริค จำกัด’ ทำธุรกิจขายส่งเครื่องใช้ไฟฟ้า รายได้ในปี 2564 อยู่ที่กว่า 5,774 ล้านบาท กำไรกว่า 645 ล้านบาท
อาณาจักรฮาตาริที่ไม่ได้มีแค่พัดลม
นอกจากธุรกิจพัดลมแล้ว จุนและครอบครัววนวิทย์ยังมีธุรกิจหลายอย่าง ทั้งๆ ที่ใช้ชื่อฮาตาริ และไม่ใช้
-บริษัท ฮาตาริ อีคอมเมิร์ซ จำกัด ทำธุรกิจขายปลีกพัดลมทางอินเทอร์เน็ต ก่อตั้งเมื่อปี 2562 ด้วยทุนจดทะเบียน 2,000,000 บาท
-บริษัท ฮาตาริ ไวร์เลส จำกัด ทำธุรกิจด้านสื่อดิจิทัลอย่างจอโฆษณา พัฒนาแอปพลิเคชั่น ระบบเน็ตเวิร์กสำหรับองค์กร ฯลฯ ก่อตั้งในปี 2546 ด้วยทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท
-บริษัท ฮาตาริ คอนเน็คท์ จำกัด ทำธุรกิจจัดจำหน่ายอุปกรณ์สมาร์ทโฮม และให้บริการโซลูชั่นสมาร์ทโฮมสำหรับร้านค้าปลีกและผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ก่อตั้งในปี 2558 มีทุนจดทะเบียน 9 ล้านบาท
-บริษัท ฮาตาริ เทคโนโลยี จำกัด ดำเนินธุรกิจด้านสุขภาพ อาทิ เครื่องวัดสุขภาพหัวใจส่วนบุคคล ซึ่งจับมือกับเอไอเอส, ฟอนดูซ เซอวิช, พรีซิชั่น เฮลท์ และโรงพยาบาลราชธานี เปิดตัวไปเมื่อปี 2562 ทุนจดทะเบียน 60 ล้านบาท
-บริษัท จุน เอส.ดับบลิว.พี. จำกัด ทำธุรกิจซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ จดทะเบียนเมื่อปี 2531 ด้วยทุนจดทะเบียน 25 ล้านบาท
-บริษัท ชุมพร เบย์ ฮิลล์ จำกัด ดำเนินธุรกิจซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ จดทะเบียนในปี 2533 ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีธุรกิจปั๊มแก๊ส LPG ในชื่อ HATA GAS มีบริษัท ฮาตา ออโต้ แก๊ส จำกัด เป็นผู้ดำเนินการ อีกทั้งยังมีธุรกิจที่ปิดกิจการไปแล้ว ได้แก่ บริษัท ฮาตาริ แอลอีดี จำกัด ทำธุรกิจการผลิตหลอดไฟฟ้า ก่อตั้งเมื่อปี 2558 ก่อนจะปิดกิจการในปี 2560
ปัจจุบันจุนในวัย 85 ปี ได้ส่งไม้ต่อธุรกิจให้กับลูกหลาน และใช้เวลาไปกับการช่วยเหลือสังคมด้วยการบริจาคทรัพย์ให้แก่โรงพยาบาล สร้างศูนย์วิปัสสนา ไปจนถึงการช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อน และผู้ด้อยโอกาส ตลอดจนเด็กผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ในการศึกษา ฯลฯ
และนี่เป็นเรื่องราวส่วนหนึ่งของ ‘จุน วนวิทย์’ ผู้เริ่มต้นจากการรับจ้างทำงานสารพัด ก่อนจะสร้างอาณาจักรธุรกิจที่ไม่ได้มีแค่พัดลม Hatari และมหาเศรษฐีผู้บริจาคเงิน 900 ล้านบาทให้กับมูลนิธิรามาธิบดี ซึ่งสร้าง Talk of the Town ในบ้านเรา