‘ณิชกานต์ พัฒนพีระเดช’ ทายาทรุ่น 3 ‘แฟรี่พลาซ่าขอนแก่น’ ปรับตัวสู่ธุรกิจ ‘ตลาดต้นตาล’

‘ณิชกานต์ พัฒนพีระเดช’ ทายาทรุ่น 3 ‘แฟรี่พลาซ่าขอนแก่น’ ปรับตัวสู่ธุรกิจ ‘ตลาดต้นตาล’

'แฟรี่พลาซ่า' ห้างสรรพสินค้าแรกในจังหวัดขอนแก่น ที่ปรับตัวสู่บทบาทธุรกิจใหม่ 'ตลาดต้นตาล' พื้นที่ค้าขาย กิจกรรม และเป็นแหล่งวัฒนธรรม ดนตรี ศิลปะ บนพื้นที่กว่า 23 ไร่ ภายใต้การดูแลของทายาทรุ่นที่ 3 'อีฟ - ณิชกานต์ พัฒนพีระเดช' คนรุ่นใหม่ที่เข้าใจพฤติกรรมคนที่เปลี่ยนไป

  • 'แฟรี่พลาซ่า' ห้างสรรพสินค้าแรกในจังหวัดขอนแก่น ก่อตั้งมาแล้วกว่า 56 ปี ตั้งแต่รุ่นคุณปู่
  • เส้นทางใหม่จากห้างฯ สู่ 'ตลาดต้นตาล' พื้นที่รูปแบบใหม่ที่เป็นทั้งแหล่งค้าขาย, แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม, ดนตรี และงานศิลปะ
  • อีฟ - ณิชกานต์ พัฒนพีระเดช ทายาทรุ่น 3 ที่ดูแลห้างฯ แฟรี่พลาซ่า มองเกี่ยวกับพฤติกรรมคน และความเป็น Brand Royalty ที่น้อยลง

 

‘อีฟ - ณิชกานต์ พัฒนพีระเดช’ ทายาทรุ่นที่ 3 ของแฟรี่พลาซ่า ห้างสรรพสินค้าแห่งแรกของจังหวัดขอนแก่น ในบทบาทการปรับตัวทางธุรกิจเพื่อสอดรับกับผู้บริโภคยุคใหม่ที่มีความเป็น Brand Royalty น้อยลง และปัจจัยการ disrupt จากหลายเรื่อง เช่น การช้อปปิ้งออนไลน์ ที่ถูกเร่งสปีดตั้งแต่ที่มีการระบาดของโควิด – 19

 

แฟรี่กับรุ่นคุณปู่ที่เข้าสู่วงการค้าขายอายุ 16

ย้อนไปในวันที่คุณปู่ของ อีฟ – ณิชกานต์ ก็คือ ‘วรพงษ์ พัฒนพีระเดช (นามสกุลเก่าคือ แซ่โง้ว) ได้เริ่มต้นสร้างรากฐานจากมรดกของพ่อด้วยเงินในสมัยนั้น 315 บาท โดยข้อมูลในเว็บไซต์ของ fairyplaza ระบุว่า วรพงษ์ เริ่มต้นวงการค้าตั้งแต่อายุ 16 ปี ในช่วงที่พี่เขยทำร้านที่ชื่อว่า ‘ยี่ปั้ว’ ร้านที่ใหญ่ที่สุดในขอนแก่นเวลานั้น

ความพากเพียรและมานะอยากจะเรียนรู้เกี่ยวกับธุรกิจทำให้ วรพงษ์ พยายามจดจำทุก ๆ อย่างที่อยู่ตรงหน้า พูดง่ายๆ ก็คือเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทุกอย่างที่เห็นตอนนั้นให้ได้มากที่สุด และเมื่อร้านของพี่เขยถูกไฟไหม้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ ก็คือ พี่เขยได้เซ้งกิจการต่อทั้งหมดเพราะไม่อยากทำแล้ว โดยผู้ที่มารับช่วงต่อก็คือ ‘เถ้าแก่กิมฮง’ แต่มีเงื่อนไขว่า วรพงษ์จะต้องอยู่ช่วยงานต่อเหมือนเดิม ซึ่งเขาก็ทำงานต่อไปจนเวลาล่วงเลยมา 4 ปี

แต่หลังจากนั้น วรพงษ์ ตัดสินใจออกมารับช่วงงานต่อจากที่บ้าน แต่หลังจากนั้น เถ้าแก่กิมฮง อยากจะย้ายไปทำธุรกิจที่โลเคชั่นใหม่ วรพงษ์จึงไปขอเช่าพื้นที่และเปิดเป็น ‘ห้างแฟรี่’ ในปี 2509 และได้ขยายห้างใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จากตึกแถว 3 ชั้นก็เป็นตึก 9 คูหา ซึ่งห้างแฟรี่เปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 9 สิงหาคม 2521

ห้างแฟรี่เปลี่ยนมือคนบริหารมาอย่างต่อเนื่องสู่รุ่นลูก ขณะเดียวกันก็ขยายใหญ่ขึ้นเช่นเดียวกัน จนมาถึงรุ่นลูกชายคนโต ‘พีระพล พัฒนพีระเดช’ ที่ช่วยทำให้ห้างแฟรี่ขยายใญ่ขึ้นจนเป็น 17 คูหาด้วยกัน จนถึงรุ่นปัจจุบันก็คือ อีฟ – ณิชกานต์ ผู้ดูแลแฟรี่พลาซ่าทายาทรุ่นที่ 3

 

‘ณิชกานต์ พัฒนพีระเดช’ ทายาทรุ่น 3 ‘แฟรี่พลาซ่าขอนแก่น’ ปรับตัวสู่ธุรกิจ ‘ตลาดต้นตาล’

 

ยุคแห่งการถูก disrupt

ห้างแฟรี่เปิดให้ดำเนินการมาแล้วกว่า 56 ปี ถือเป็นตำนานที่ผ่านช่วงเวลาต่าง ๆ มาได้อย่างนักสู้ ซึ่งในมุมของ อีฟ – ณิชกานต์ ในฐานะทายาทรุ่นที่ 3 เธอได้พูดกับ The People ว่า “ตั้งแต่ก่อนที่จะมีโควิด-19 เมื่อ 5 ปีที่แล้ว เราก็เห็นแล้วว่าแนวโน้มของห้างสรรพสินค้ามันไม่เหมือนเดิม โดน disrupt มากขึ้น อย่างตลาดต้นตาลก็เป็นตัว disrupt อย่างหนึ่งของแฟรี่ฯ เพราะคนไม่มี Brand Royalty นอกจากนี้ก็มีออนไลน์มากขึ้นด้วย”

“ตอนนั้นเราก็เริ่มปรับตัวบ้างแล้ว แต่ก่อนเราจะแบ่งเป็นห้างสรรพสินค้ากับพลาซ่า ที่จะเน้นพื้นที่เช่าก็แบ่งสัดส่วนมาที่พลาซ่าเยอะขึ้นเพื่อให้คนมาขายอาหาร เราเน้นไปทางอาหารเพราะยังไงคนก็ยังต้องกิน ต้องมาเจอกัน ต้องมาสังสรรค์ แต่พอโควิด-19 มาปุ๊บ ทุกอย่างเหมือนกับเร่งสปีด จากที่เราคิดว่าค่อย ๆ ปรับตัวก็ได้ ก็กลายเป็นว่าเราต้องปรับตัวทันที”

“ตอนนี้เราก็มีห้างใหญ่ในขอนแก่นด้วย เลยคิดว่าเราพยายามจับกลุ่มที่เป็นท้องถิ่นให้มากขึ้น มุ่งไปที่กลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนละกลุ่มกับคู่แข่ง”

“สำหรับแฟรี่ฯ กลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่จะเป็นนักเรียน เพราะโลเคชั่นใกล้ชิดกับโรงเรียนแถวนี้ ทำเลก็อยู่ติดกับหลายโรงเรียน อีกหนึ่งกลุ่มก็คือ คนต่างจังหวัด ต่างอำเภอ อันนี้เป็นกลุ่มคนของเราเลยคือคนพื้นที่เลย กลุ่มคนท้องถิ่นเลย”

นอกจากนี้ อีฟ – ณิชกานต์ ยังเล่าต่อว่า “สำหรับจุดเด่นของห้างแฟรี่ฯ อีฟมองว่า ห้างยังไงมันก็คือห้าง แต่เราคิดว่าพอเราพยายามเอาร้านอาหารของคนท้องถิ่นเข้ามา เอาแบรนด์ หรือแม้กระทั่งทำตลาด Farmers Field ที่มีทุกวันอาทิตย์กับวันจันทร์ ก็จะเป็นตลาดออร์แกนิกเพื่อให้แม่ ๆ ป้า ๆ อำเภอต่าง ๆ ขับรถเข้ามาขายของตรงพื้นที่ข้างห้างได้เลย”

“อันนี้เราปรับตัวทำมาหลายปีก่อนที่จะมีโควิด-19 แล้ว เราเชื่อว่า แฟรี่ฯ เข้าถึงคนในพื้นที่มากกว่า ส่วนหนึ่งเพราะแล้วเราไม่มีแพทเทิร์นเหมือนอย่างในห้างใหญ่ ๆ ที่จะมีความเป็นแพทเทิร์นสูงมาก แต่แฟรี่จะสอดแทรกความเป็นบ้าน ๆ เข้าไปเพื่อให้มันเข้าถึงง่าย”

 

‘ณิชกานต์ พัฒนพีระเดช’ ทายาทรุ่น 3 ‘แฟรี่พลาซ่าขอนแก่น’ ปรับตัวสู่ธุรกิจ ‘ตลาดต้นตาล’

 

ก้าวสู่บทบาทใหม่ ‘ตลาดต้นตาล’

ตลาดต้นตาลแม้ว่าจะเปิดให้บริการมา 10 ปีแล้ว แต่แนวคิดและการเปลี่ยนแปลงก็มีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่ง อีฟ – ณิชกานต์ แชร์กับเราในฐานะที่เป็นผู้จัดการตลาดต้นตาล เธอบอกว่า “ตลาดต้นตาลก่อตั้งขึ้นจากรุ่นคุณพ่อของ อีฟ – ณิชกานต์ และด้วยความที่เทรนด์ของห้างไม่เหมือนเดิม เราก็ต้องทำอะไรที่ดูทันสมัยขึ้น หรือว่ามีการปรับเปลี่ยนให้มากขึ้น”

“อย่างที่ตลาดต้นตาล ก็กลายเป็นโซนพลาซ่าอย่างเดียว ก็คือเป็นพื้นที่ให้คนท้องถิ่นมาเช่าและขายของ”

“แต่ด้วยความที่เมืองขอนแก่นไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว เราต้องสร้างทุกอย่างขึ้นเอง เราไม่มีภูเขา ไม่มีน้ำตก ไม่มีอะไรแบบนี้ ก็เลยสร้างตลาดที่สามารถผ่อนคลายได้ โดยจะมีพื้นที่เดินเล่น มีดนตรี มีศิลปะ ดังนั้น สำหรับตลาดต้นตาลพูดได้ว่าเป็นการทำตลาดที่ไม่ใช่แค่กั้นเป็นล็อค ๆ ให้คนมาเช่า แต่เราอยากจะทำยังไงก็ได้ให้มันเป็นตลาดที่มีชีวิต”

ความน่าสนใจของตลาดต้นตาลก็คือ เหมือนเป็นแหล่งโอโซนอย่างดีของเมืองขอนแก่น เป็นพื้นที่กิจกรรม, ขายของ, แสดงวัฒนธรรม ดนตรี ศิลปะ ฯลฯ บนพื้นที่กว่า 23 ไร่ ซึ่งคอนเซปต์ของตลาดก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน

อีฟ – ณิชกานต์ บอกว่า “เราใช้คอนเซปต์เหมือนเป็น ‘ไข่ดาว’ ก็คือตลาดเป็นไข่แดงอยู่ตรงกลาง และมีพื้นที่จอดรถรอบ ๆ เพิ่มความสะดวกให้กับคนที่ไปทำธุระที่ไหนก็สามารถไปจอดรถฝั่งนั้นได้เลยใกล้ ๆ โดยตลาดต้นตาลมีพื้นที่จอดรถขนาดใหญ่อยู่ 4 ลานด้วยกัน ทั้งจอดฟรี เข้าห้องน้ำฟรี”

“อย่างไรก็ตาม ข้อเสียของตลาดต้นตาลคือ เวลาการขายมันสั้นมาก อย่างช่วงฤดูฝนเราแทบจะต้องปิดตลาด เหมือนกับเราก็ต้องยอมแลกบรรยากาศกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในช่วงฤดูนี้ แต่ตอนนี้เรากำลังเพิ่มโซนใหม่ที่สามารถขายได้ 2 เวลา (เพิ่มโซนกลางวันเข้ามา) หวังว่าร้านอาหารใหญ่ ๆ จะเป็นแม็กเนตใหม่ของที่นี่”

ชอบแนวคิดอย่างหนึ่งของ อีฟ – ณิชกานต์ ที่พยายามทำให้ตลาดต้นตาลเป็นตลาดที่มีชีวิต ก็คือ ไม่ได้มีแค่พื้นที่ขายของ แต่ก็มีพื้นที่สำหรับศิลปะด้วย หรืออย่างทุกวันจันทร์กับวันพฤหัสบดีที่จะมีโฟล์กซองถึง 5 เวที (เวทีละ 3 วง) เพราะอยากจะให้คนที่มาที่แห่งนี้ได้ยินเสียงดนตรี รู้สึกผ่อนคลาย ไม่ใช่มาซื้อของแล้วก็กลับเลย

นอกจากนี้ยังปรับเปลี่ยนความน่าสนใจด้วย อย่างวันศุกร์ - เสาร์ - อาทิตย์ ก็จะเป็นการแสดงที่ใหญ่ขึ้นมา เช่น การโชว์ลิง, โชว์ช้าง, โชว์จระเข้, โชว์มายากล ก็ถือว่าตลาดต้นตาลไม่ใช่แค่พื้นที่ช้อปปิ้งหรือทานอาหารอีกต่อไป ฟังไปฟังมาก็เหมือนกับเป็นพื้นที่ใหม่สำหรับคนที่สนใจและมาเสพวัฒนธรรม การละเล่น หรืออะไรที่เป็นของดีเมืองขอนแก่น ก็สามารถหาเจอได้ที่นี่ด้วย

 

‘ณิชกานต์ พัฒนพีระเดช’ ทายาทรุ่น 3 ‘แฟรี่พลาซ่าขอนแก่น’ ปรับตัวสู่ธุรกิจ ‘ตลาดต้นตาล’

 

ความยากของการรับช่วงต่อ

อีฟ - ณิชกานต์ ก็คือคนรุ่นใหม่ที่มาสานต่อธุรกิจครอบครัว ซึ่งแน่นอนว่าความยากและอุปสรรคหลายๆ อย่างจากยุคสมัยนั้นกับตอนนี้ก็ค่อนข้างต่างกัน เธอยกให้ ‘คนและระบบ’ เป็นความท้าทายที่ต้องเผชิญ โดยอธิบายว่า “ด้วยความที่สมัยก่อนจะเน้นว่า ขยันก็คือประสบความสำเร็จ ทำไปเรื่อย ๆ ยังไงก็ประสบความสำเร็จแน่นอน แต่ว่าเดี๋ยวนี้มันไม่ทัน มันต้องมีระบบ มีโปรแกรม มีคอมพิวเตอร์มาช่วย เราไม่สามารถมานั่ง manual เองทุกอย่างได้แล้ว”

“ปัญหาของอีฟก็คือ ถ้าเราไม่ได้ถูกออกแบบมาตั้งแต่ต้นให้เข้าระบบ มันยากมาก ๆ เพราะข้อมูล หรือ data อะไรก็ตามเราไม่มี เพราะฉะนั้นตอนนี้มันก็เลยเป็นปัญหาเรื่องระบบด้วย เรื่องคนกับเรื่อง generation ที่มีบ้างนิดหน่อยค่ะ”

ทั้งนี้ ฮีโร่ในการทำธุรกิจสำหรับ อีฟ – ณิชกานต์ เธอยกความชื่นชมนี้ให้กับ ‘คุณพ่อ’ ซึ่งบอกว่าเห็นพ่อทำธูรกิจตั้งแต่เด็ก ๆ พ่อดูเป็นคนที่ทำงานและสามารถแบ่งเวลาพักผ่อนได้ในเวลาเดียวกัน เธอเชื่อว่าพ่อผ่านอะไรมาเยอะมากกว่าจะมายืนอยู่ตรงนี้ ทั้งในแง่ของงาน, ธุรกิจ แต่เขาก็ยังมีเวลาให้กับครอบครัวได้ดีมากเช่นกัน

เธอยังพูดทิ้งท้ายด้วยว่า “อีฟเป็นคนที่ไม่รู้ความชอบของตัวเองมาตั้งแต่เด็ก และพอมาทำงานได้ 1 - 2 ปี ก็รู้สึกว่ามัน suffer มากในการที่เราหาไม่เจอว่าชอบอะไร ในขณะที่คนอื่นรู้ว่าตัวเองชอบอะไร จนมานั่งคิดกับตัวเองแล้วรู้สึกว่า งานทุกวันนี้ที่ตัวเองทำมันไม่ได้เป็นความชอบนะ แต่พอทำแล้วตัวเองก็มีความสุข เลยไม่ได้รู้สึกว่า เราต้องไปไขว่คว้าว่าจริง ๆ แล้วเราเกิดมาเพื่ออะไร เพราะก็แฮปปี้ดีแล้วตอนนี้”