29 ธ.ค. 2565 | 15:19 น.
- เศรษฐกิจโลกส่งสัญญาณชะลอตัวและมีความไม่แน่นอนสูงตั้งแต่ต้นปี 2022 จากหลายปัจจัย เช่น สงครามรัสเซีย-ยูเครน และอัตราเงินเฟ้อสูงในสหรัฐอเมริกา และยุโรป
- การเติบโตของเศรษฐกิจประเทศมหาอำนาจ เช่น สหรัฐฯ จีน และยุโรป ต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจโลกโดยรวม
- ผลสำรวจนักลงทุนคนมั่งคั่งมองในแง่ลบเกี่ยวกับปี 2023 ความเสี่ยงที่สุดคือ 'ตลาดหุ้น' ดังนั้น การถือเงินสดมากขึ้นคือวิธีที่ดีที่สุด
ปัจจัยภายนอกหลายส่วน ทั้งสงครามยูเครน, วิกฤตอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกา และยุโรป ความถดถอยทางเศรษฐกิจเดิมต่อเนื่องจากปี 2022 นักวิเคราะห์หลายแห่งเห็นตรงกันว่า ปี 2023 จะเป็นปีแห่งความไม่แน่นอนสูง มีทิศทางไร้การควบคุมที่ชัดเจน (เพราะปัญหาสงครามยังไร้คำตอบ) และผลกระทบที่ส่งต่อไปถึงการลงทุน โดยเฉพาะในตลาดหุ้น
จอร์จ วอลเปอร์ (George Walper) ประธาน Spectrem Group บริษัทวิจัยตลาดชั้นนำและที่ปรึกษาในอุตสาหกรรมการบริหารความมั่งคั่ง ได้ทำวิจัยร่วมกับ CNBC (CNBC Millionaire Survey) เขาพูดว่า “นี่เป็นการมองโลกในแง่ร้ายที่สุดที่เราเคยเห็นมา นับตั้งแต่วิกฤตการเงินในปี 2008 และ 2009”
ทั้งนี้ การสำรวจครั้งนี้เป็นข้อมูลเชิงลึกจากกลุ่มนักลงทุนผู้มั่งคั่ง ที่มีสินทรัพย์ที่สามารถลงทุนได้ตั้งแต่ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป
วอลเปอร์ อ้างข้อมูลจากผลสำรวจว่า “อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น และภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่รุนแรงขึ้น ล้วนส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในกลุ่มคนมั่งคั่ง ขณะที่ดัชนี S&P 500 ในปีนี้ปรับตัวลงแล้ว 18% ซึ่งนักลงทุนกลุ่มนี้ประเมินว่าในปี 2023 สถานการณ์จะยิ่งแย่ลง และคาดว่าจะปรับตัวลงอีก 10% นอกจากนี้ นักลงทุนผู้มั่งคั่งเกือบ 1 ใน 3 ยังเชื่อว่าอาจปรับลดลงมากกว่า 15% ในปีหน้า”
นอกจากนี้ นักลงทุนส่วนใหญ่มองว่า ราคาหุ้นที่ร่วงลงจะทำให้ความมั่งคั่งของพวกเขาลดลงด้วย และเมื่อถามถึงความเสี่ยงที่ใหญ่ที่สุดต่อความมั่งคั่งของพวกเขาว่าคืออะไร คำตอบส่วนใหญ่ (28%) ตอบว่า 'ตลาดหุ้น'
นักลงทุนเลือกถือเงินสดมากขึ้น
แนวโน้มทางเศรษฐกิจที่มืดมนทำให้ผลสำรวจส่วนใหญ่บอกว่า ‘เงินสดคือโซลูชั่นที่ดีที่สุด’ ในปี 2023 โดยนักลงทุนผู้มั่งคั่งที่ถือครองหุ้นในตลาดประมาณ 85% มีหลายคนเลือกที่จะถือเงินสดเอาไว้ และวางแผนที่จะระงับการลงทุนเพิ่มในปีหน้า ขณะที่ นักลงทุนราว 46% ตัดสินใจเพิ่มการถือเงินสดในพอร์ตการลงทุนมากกว่าปี 2021 เพราะมองว่าภาวะเศรษฐกิจโลกกำลังไม่มั่นคงตั้งแต่ต้นปี 2022
ทั้งนี้ เหล่านักลงทุนมากถึง 60% มองว่า ช่วงปลายปี 2023 เศรษฐกิจจะอ่อนแอลงอีก หรือ อ่อนแอลงมาก เพราะตลอดทั้งปีปัจจัยภายนอกหลายเรื่องยังไม่คลี่คลาย
หนึ่งในนั้นก็คือ อัตราเงินเฟ้อที่สูงมากในสหรัฐฯ ซึ่ง ‘ลอว์เรนซ์ ซัมเมอร์ส’ (Lawrence Summers) อดีตรัฐมนตรีคลังของสหรัฐฯ เคยให้ความเห็นว่าจากข้อมูล 75 ปีที่ผ่านมาของเศรษฐกิจสหรัฐฯ พบว่า “หากอัตราเงินเฟ้อสูงเกิน 4% และอัตราการว่างงานต่ำกว่า 5% เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยภายในสองปีข้างหน้า”
แต่ล่าสุดอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 8.2% (เดือนกันยายนปี 2022) และอัตราการว่างงานลดลงอยู่ที่ 3.7% (เดือนตุลาคมปี 2022) สะท้อนให้เห็นว่า มีโอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
ขณะที่ผลการศึกษาของเวิลด์แบงก์ (World Bank) ในปี 2022 สะท้อนให้เห็นถึงสัญญาณของเศรษฐกิจโลกที่น่ากังวลเช่นกัน ซึ่งหากเปรียบเทียบกับสถานการณ์ในอดีตจะเห็นว่า ดัชนีแสดงกิจกรรมทางเศรษฐกิจของทั่วโลกทยอยปรับตัวลงต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี 2021
หนึ่งในปัจจัยเกิดจากสินทรัพย์ต่างประเทศและความเชื่อมั่นของนักลงทุนลดลงตั้งแต่ต้นปี 2022 และ การคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มเศรษฐกิจหลักอย่าง สหรัฐฯ, สหภาพยุโรป และจีน ต่างก็ปรับลดลงอย่างมากสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน
หรืออย่างเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีคาดการณ์ของไอเอ็มเอฟ (IMF) เกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ระบุว่า เศรษฐกิจโลกในปี 2023 ยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอนและความเสี่ยงข้างหน้า ทั้งจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ, วิกฤตราคาพลังงานโดยเฉพาะในยุโรป, วิกฤตค่าครองชีพ (Cost of living crisis) จากแรงกดดันเงินเฟ้อที่ขยายวงกว้าง รวมไปถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและจีน
นอกจากนี้ ยังได้ประมาณการเศรษฐกิจโลกในปี 2022 จะเติบโต 3.2% เท่ากับการคาดการณ์เดิมในเดือนกรกฎาคมปี 2022 แต่เศรษฐกิจโลกปี 2023 จะลดลงอยู่ที่ 2.7% ต่ำกว่าการคาดการณ์เดิม เทียบกับก่อนวิกฤตโควิด-19 ที่ประมาณ 3.0%
เศรษฐีกลุ่มมิลเลนเนียลมองโลกแง่ดีกว่า
ในผลสำรวจของ Spectrem กับ CNBC พบว่า นักลงทุนผู้มั่งคั่งกลุ่มมิลเลนเนียล มีมุมมองค่อนข้างบวกกว่ากลุ่มคนมั่งคั่งรุ่นเบบี้บูมเมอร์ ส่วนหนึ่งเพราะว่าสภาพแวดล้อมการเติบโตของพวกเขาอยู่ในช่วงที่ตลาดการเงินทั่วโลกมีดอกเบี้ยที่ต่ำมากอยู่แล้ว และราคาสินทรัพย์ก็สูงขึ้นเรื่อย ๆ ตรงกันข้ามกับกลุ่มเศรษฐีรุ่นเบบี้บูมเมอร์
ประมาณ 81% ของกลุ่มคนมั่งคั่งรุ่นมิลเลนเนียลมองว่า สินทรัพย์ของพวกเขาจะสูงขึ้นในช่วงปลายปี 2023 และเกือบครึ่งหนึ่ง (46%) คาดว่าสินทรัพย์ของพวกเขาจะเพิ่มขึ้นราว 10% หรือมากกว่านั้น แม้ว่ายังมีปัจจัยภายนอกที่เป็นความเสี่ยง
เหตุผลที่เศรษฐีรุ่นเบบี้บูมเมอร์มองภาวะเศรษฐกิจแย่กว่าเพราะว่า พวกเขามีภาพจำเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อสูง และอัตราดอกเบี้ยที่สูงในช่วงทศวรรษ 1970 และต้นทศวรรษ 1980 ซึ่งเป็นช่วงที่ดัชนี S&P 500 ดิ่งลงต่ำมากว่าทศวรรษ ถือเป็นยุคแห่งหายนะของเศรษฐกิจโลกยุคหนึ่งเลยก็ว่าได้
จอร์จ วอลเปอร์ พูดว่า “หากอธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ คือ กลุ่มคนมั่งคั่งที่เป็นรุ่นมิลเลนเนียล พวกเขายังไม่เคยต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อสูงอย่างแท้จริง ซึ่งสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในตอนนี้ ยังเทียบไม่ได้กับยุคเก่า ๆ ที่กลุ่มเบบี้บูมเมอร์ต้องประสบ”
“ตลอดชีวิตธุรกิจของพวกเขาเคยเห็นแต่อัตราดอกเบี้ยที่บริหารโดย Fed (ธนาคารกลางแห่งสหรัฐฯ) หมายความว่า พวกเขาไม่เคยเห็นการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยที่รุนแรงขนาดนี้มาก่อน” จอร์จ วอลเปอร์ กล่าวย้ำ
ทั้งนี้ ในภาพรวมจากการประเมินของหลายฝ่าย เป็นที่ชัดเจนว่าตลอดปี 2023 ที่เราทุกคนกำลังเผชิญ คือ ยุคแห่งความไม่แน่นอน (สูงกว่าเดิม) และเป็นยุคแห่งสถานการณ์ที่คลุมเครือมากขึ้น มีโอกาสที่จะเกิดปัจจัยภายนอกอื่น ๆ เพิ่มเติม ดังนั้น คำตอบที่อยู่ในใจทุกคนตอนนี้ก็คือ การถือเงินสดไว้ให้มากที่สุดและลงทุนอย่างระมัดระวัง เพราะภาวะมืดมนนี้อาจอยู่กับเราอีกนาน
ภาพ: Spectrem Group
อ้างอิง: