11 ธ.ค. 2565 | 18:00 น.
- แนวคิดที่มีต่อการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามทฤษฎีที่ว่าไว้ในตำราเศรษฐศาสตร์ว่าอาจนำไปสู่ปัญหาการตกงานและเงินเฟ้อ
- งานวิจัยโดย Card & Krueger ที่จะพลิกผลลัพธ์จากทฤษฎีจากหน้ามือเป็นหลังมือ
- ความแตกต่างระหว่างการที่ค่าแรงขั้นต่ำถูกดูแลโดยผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และนักการเมืองจากกรณีสหรัฐอเมริกา
‘ค่าแรงขั้นต่ำ’ (Minimum Wage) ถือเป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรับประกันสิทธิ์ของแรงงานในการได้ค่าตอบแทนที่เหมาะสม ในขณะเดียวกันมันก็ยังเป็นเครื่องมือที่แม้แต่นักเศรษฐศาสตร์เองก็ยังถกเถียงกันว่าผลลัพธ์ของมันนั้นดีหรือร้าย
สิ่งที่ใครหลายคนอาจจะคิดเกี่ยวกับค่าแรงขั้นต่ำคือการขยับมันขึ้นอาจจะทำให้แรงงานหลายคนได้มีพื้นที่หายใจหายคอกับการเลี้ยงชีพตัวเองได้บ้าง ซึ่งถามว่ามันผิดหรือไม่ คำตอบก็คงบอกว่าไม่ผิด แต่ถึงกระนั้นแนวคิดดังกล่าวก็อาจจะไม่ได้ถูกทั้งหมด เพราะการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นอาจจะมีผลพวงตามมามากกว่าที่เราคาดคิด
นอกจากนั้น ความเชื่อเดิมที่เรามีต่อค่าแรงขั้นต่ำอาจจะเป็นภาพลวงหลอกตาหากเราไม่พิจารณาอย่างถี่ถ้วน ในบทความนี้เราจะพาไปสำรวจแนวคิดและปรากฎการณ์ที่มีความแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับกรณี และทำให้เราเข้าใจว่าทำไมมันถึงกลายเป็นประเด็นที่ใครหลายคนก็ยังเถียงกันถึงทุกวันนี้
ค่าแรงขั้นต่ำที่มาพร้อมกับภัยซ่อนเร้น
แม้จะถูกขนานนาม่าเป็น ‘Dismal Science’ จากการมองโลกผ่านเลนส์ที่มักเห็นแต่หายนะและการสูญเสียในเชิงทรัพยากร แต่ก็ใช่ว่าสาเหตุที่ผู้สวมเลนส์เศรษฐศาสตร์มักไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะไม่ได้มีที่มาที่ไปหรือเหตุผลเบื้องหลังแนวคิดเหล่านั้น… แต่เพราะอะไรกันที่ทำให้พวกเขารู้สึกไม่เห็นด้วยกับเครื่องมือดังกล่าว?
หากจะสรุปอย่างคร่าว ๆ เราจะลองหยิบผลพวงสองประการที่เหล่านักเศรษฐศาสตร์คาดคะเนว่าจะเกิดขึ้นจากการปรับระดับค่าแรงขั้นต่ำขึ้น ซึ่งประกอบไปด้วยสองประการ ได้แก่ การว่างงาน (Unemployment) และ เงินเฟ้อ (Inflation) ที่จะเพิ่มขึ้นไปพร้อม ๆ กับการขยับขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำ
เริ่มจากของอัตราการว่างงานที่อาจเพิ่มสูงขึ้น ในการที่จะเข้าใจประเด็นที่มาของมัน เราคงต้องพาผู้อ่านไปรู้จักกับหลักการของ ตลาดแรงงาน (Labor Market) โดยตัวหลักการของมันแทบจะไม่ต่างอะไรกับกราฟอุปสงค์-อุปทานที่เราอาจจะคุ้นชินหรือเคยเห็นผ่านตาเลยแม้แต่น้อย เพียงแค่เปลี่ยนผู้เล่นเพียงเท่านั้น
ในตลาดแรงงานนี้เอง แรงงานก็เปรียบเสมือนผู้ขายแรงงานเข้าสู่ตลาดเพื่อให้ผู้ซื้ออย่างบริษัทต่าง ๆ มาจับจอง เฉกเช่นเดียวกับสินค้าหลาย ๆ ประเภทในตลาด ราคาของสินค้าเหล่านั้นก็จะขึ้นอยู่กับว่ามีความต้องการในตลาดมากน้อยเพียงใด และปริมาณของมันในตลาดมีน้อยมากแค่ไหน แน่นอนว่าหากอาชีพของคุณมีปริมาณน้อย แถมยังเป็นที่ต้องการของตลาด เงินเดือนก็จะเพิ่มพูนขึ้นไปตามจุดสมดุลเหล่านี้
ซึ่งการที่เหล่าบริษัทจะตัดสินใจซื้อแรงงานจากเขาเหล่านั้น หรือพูดอีกคำหนึ่งคือตกลงจ้าง ก็ผ่านการประเมินว่าการจ้างแรงงานคนนั้นเพิ่มมาอีกหนึ่งคนจะทำให้ผลผลิตของเขาเหล่านั้นเพิ่มขึ้นมามากกว่าต้นทุนในการจ้างหรือไม่ กล่าวคือ ถ้าจะจ้างคนมาเพิ่มอีกตำแหน่งหนึ่งหรือคนหนึ่ง มันจะคุ้มกับค่าจ้างหรือไม่?
การที่ระดับค่าแรงขั้นต่ำถูกขยับเพิ่มขึ้นมาก็จะทำให้ต้นทุนของผู้จ้างสูงขึ้น และหากผู้ผลิตต้องการจะได้กำไรในระดับเท่าเดิมหรืออยากจะลดต้นทุนไปอยู่ในระดับก่อนหน้า พวกเขาก็มีแนวโน้มที่จะลดปริมาณพนักงานผ่านการเลิกจ้าง ในแง่นี้จึงอธิบายสาเหตุว่าทำไมการปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นอาจทำให้มีคนตกงานมากกว่าเดิม เพราะแน่นอนว่าเมื่อสินค้าแพงขึ้น ผู้บริโภคก็จะอยากซื้อมันน้อยลง
ในด้านของระดับเงินเฟ้อที่จะขยับขึ้นก็มีต้นตอสาเหตุไม่ห่างจากปรากฎการณ์ที่เราได้กล่าวไปก่อนหน้ามากนัก เพราะการที่ต้นทุนของผู้ผลิตสูงขึ้นกว่าเก่า นอกเสียจากการลดสัดส่วนต้นทุนผ่านการลดปริมาณพนักงานแล้ว พวกเขาก็ยังสามารถถ่ายโอนต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมาให้ผู้บริโภคร่วมรับผิดชอบได้อีกด้วย
กรณีนี้หาตัวอย่างได้ไม่ยากนัก เพราะเราจะเห็นได้จากการขึ้นราคาของสินค้าต่าง ๆ เมื่อ ‘น้ำมันขึ้นราคา’ โดยเฉพาะราคาของมื้ออาหารและค่าเดินทางด้วยวินมอเตอร์ไซค์ โดยเราจะนิยามเงินเฟ้อประเภทนี้ว่าเป็นเงินเฟ้อที่มีต้นกำเนิดมาจากฝั่งอุปทาน หรือ Cost-Push Inflation
ปรากฎการณ์เหล่านี้จึงเป็นเหตุผลที่เหล่านักเศรษฐศาสตร์ไม่ค่อยพิศมัยกับการเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำด้วยเหตุผลที่ว่ามันจะทำให้ใครหลายคนหลุดพ้นจากความยากจน เพราะเขาจะได้รับค่าตอบแทนมากขึ้น ถึงกระนั้นมันอาจจะใช่พวกเขาได้ค่าตอบแทนมากขึ้น ถ้าเรามองตัวเลขค่าแรงเพียงระดับตัวเงิน (Nominal) เพราะตัวเลขดังกล่าวไม่ได้นำเอาระดับเงินเฟ้อเข้าไปในการประเมินด้วย
เรื่องนี้สะท้อนผ่านสถิติค่าแรงขั้นต่ำของสหรัฐอเมริกา เพราะถ้าหากเรามองในเชิงตัวเลขที่เป็นระดับตัวเงินโดยไม่ได้นำเอาเงินเฟ้อเข้ามาคำนึง เทรนด์ของมันก็ดูจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่หากเราเอาปัจจัยเงินเฟ้อใส่เข้าไปในการคำนวนจนเกิดเป็นค่าที่แท้จริง (Real Minimum Wage) เราจะเห็นได้อย่างชัดแจ้งว่ามันไม่ได้เพิ่มขึ้นหรือช่วยให้คนหลุดจากความจนดังที่เราได้เห็นในค่าตัวเงินแรกที่ดูเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเลยแม้แต่น้อย ดังนั้น การที่จะประเมินว่าการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจะช่วยคนจนได้จริงหรือไม่ เราคงจะดูเพียงตัวเงินอย่างเดียวไม่ได้…
นอกจากนั้นสถิติดังกล่าวยังสะท้อนให้เห็นถึงผลพวงของการปรับระดับเงินเฟ้อ ‘แบบสหรัฐอเมริกา’ อีกด้วย แต่เราจะมากล่าวถึงประเด็นนี้ในอีกส่วนหนึ่ง
กรณีการเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำและการจ้างงานพร้อม ๆ กัน
แต่ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ก็ยังคงเป็นเพียงทฤษฎี–สามารถอธิบายแนวโน้มพฤติกรรมการตัดสินใจอย่างมีเหตุผลได้แม่นยำระดับหนึ่ง–หาใช่กฎเหล็กของธรรมชาติ ดังนั้นผลของมันอาจจะไม่ได้ดำเนินไปตามกลไกที่เราได้กล่าวไปก่อนหน้าขนาดนั้น มีงานวิจัยหนึ่งชี้ให้เราเห็นเรื่องนี้ได้อย่างน่าสนใจ
ย้อนกลับไปในปี 1992 นักวิชาการสองคนนามว่า ‘เดวิด การ์ด’ (David Card) และ ‘อลัน ครูเกอร์’ (Alan Krueger) ได้ทำการศึกษาผลลัพธ์ของการปรับขึ้นค่าแรงโดยการเอาร้านฟาสต์ฟู้ดสองร้านจากนิวเจอร์ซีย์และเพนซิลเวเนีย ซึ่งทั้งสองรัฐมีนโยบายด้านค่าแรงขั้นต่ำที่แตกต่างกัน–ในด้านนิวเจอร์ซีย์มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 4.25 ดอลลาร์ ขยับขึ้นไป 5.05 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง ในขณะที่ค่าแรงขั้นต่ำในเพนซิลเวเนียคงที่
แน่นอนว่าหากเรายึดเอาตามทฤษฎีที่เราได้สาธยายไป แน่นอนว่านิวเจอร์ซีย์ก็คงมีปริมาณคนตกงานจากร้านฟาสต์ฟู้ดดังกล่าวมากขึ้น แต่มันกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น กลับกันโดยสิ้นเชิง กลายเป็นว่าระดับการจ้างงานในร้านกลับเพิ่มขึ้น!
ไม่ใช่ว่าทฤษฎีดั้งเดิม ‘ผิด’ เพียงแต่มันอาจจะ ‘ไม่ได้ถูกทั้งหมด’
สาเหตุที่การเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำทำให้ร้านฟาสต์ฟู้ดในนิวเจอร์ซีย์มีการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น เป็นเพราะว่าเดิมทีค่าแรงดั้งเดิมนั้น ‘ต่ำอยู่แล้ว’ ต่ำกว่าราคาของตลาดที่มันควรจะเป็น (อาจเป็นเพราะร้านในบริเวณดังกล่าวที่เปิดรับพนักงานมีจำนวนน้อย ผู้คนที่อยากหางานทำจึงต้องจำทนทำงานในค่าจ้างที่ต่ำแบบนั้นไป และผู้จ้างเองก็มีอำนาจต่อรองที่สูงกว่า ในทางทฤษฎีเราเรียกการผูกขาดทำนองนี้ว่า ‘Monopsony’) ด้วยเหตุนี้ ครั้นค่าแรงขั้นต่ำถูกปรับขึ้นจากนโยบาย เจ้าของร้านฟาสต์ฟู้ดก็ไม่เลย์ออฟพนักงาน เพราะระดับค่าแรงขั้นต่ำเดิมก็ต่ำอยู่แล้ว ผสานกับระดับที่เพิ่มขึ้นมาก็ยังไม่พุ่งทะลุราคาตลาด (หรือราคาที่พวกเขายอมรับได้) ในจุดนี้ทำให้ระดับการจ้างงานยังคงเดิม
ส่วนสาเหตุที่ทำให้การจ้างงานเพิ่มขึ้นก็เป็นเพราะการที่ค่าจ้างถูกปรับขึ้น ส่งผลทำให้มีคนสนใจที่จะทำงานกับร้านดังกล่าวมากขึ้น และท้ายที่สุดก็ทำให้การจ้างงาน ณ ร้านดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น
กรณีนี้พิสูจน์อย่างประจักษ์ชัดว่าการจะคาดคะเนความเป็นไปของการตัดสินใจมนุษย์ การยึดติดอยู่กับทฤษฎีหรือแนวคิดดั้งเดิมเพียงอย่างเดียวคงจะไม่ได้ เพราะรายละเอียดเล็ก ๆ อาจจะเปลี่ยนผลลัพธ์จากหน้ามือเป็นหลังมือได้ ท้ายที่สุดก็คงไม่มีสูตรสำเร็จให้การคาดคะเนหรือแก้ปัญหาเหล่านี้ได้เลย
คงจะมีแค่ความละเอียดละออในการเก็บข้อมูลผสานเข้ากับหลักการและเครื่องมือในการคาดการณ์ และความเชี่ยวชาญที่จะนำทุกอย่างมาผสมรวมกันได้อย่างถูกต้อง ที่จะทำให้เราสามารถฟัดกับอนาคตและรู้ทันสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นได้…
แล้วจะให้ใครดูแล?
ย้อนกลับมาประเด็นที่เราได้หย่อนเอาไว้ในช่วงแรก ๆ ถึงสถิติการปรับขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำในสหรัฐอเมริกาที่ก่อให้เกิดความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจอย่างสูง เพราะว่าในบางปีค่าแรงขั้นต่ำขยับขึ้นถึงกว่า 40% ในช่วงเวลาเพียงแค่สองปี การเพิ่มขึ้นอย่างกระชากเช่นนี้ส่งผลให้ผู้ประกอบการหลายคนมีปัญหากับการจัดการบริหารต้นทุนในการผลิต และสร้างผลกระทบอยู่ไม่น้อย
ในขณะที่สถิติค่าแรงขั้นต่ำในสหรัฐอเมริกาเต็มไปด้วยความผันผวนและไม่แน่นอน หากหันมองดูในประเทศฝรั่งเศส อังกฤษ ออสเตรเลีย หรือแม้กระทั่งสาธารณรัฐเช็กที่มีระดับค่าแรงขั้นต่ำที่น้อยกว่า แต่กลับมีความมั่นคงกว่ามาก
แล้วอะไรทำให้ค่าแรงขั้นต่ำของประเทศหนึ่งผันผวนแต่อีกหลาย ๆ ประเทศ? จุดร่วม-จุดต่างต่อไปนี้น่าจะตอบคำถามได้และทำให้เราเห็นภาพบางอย่างได้ไม่มากก็น้อย
จุดร่วมของเหล่าประเทศที่ค่าแรงขั้นต่ำมีการขยับอย่างคงที่ การขยับอย่างคงที่ไม่ได้แปลว่าไม่มีการปรับเลย แต่เป็นการปรับขึ้นแบบมีแนวทางที่มีรูปร่างชัดเจน ยกตัวอย่างเช่นในประเทศที่เาได้กล่าวมาทั้งหมดมานี้ ค่าแรงขั้นต่ำจะถูกปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีล้อไปกับระดับเงินเฟ้อ ซึ่งการตัดสินใจทั้งหลายนี้จะมาจากการตัดสินใจจากเหล่าเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญทางเศรษฐศาสตร์ (Economic Officials)
กลับกัน ในสหรัฐอเมริกาที่มีความไม่แน่นอนสูงในระดับค่าแรงขั้นต่ำ ผู้ครองดาบอาญาสิทธิ์และผู้ลงดาบปรับระดับเองกลับเป็น ‘นักการเมือง’ (Politicians) ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่น่าตั้งคำถามต่อว่าการที่ค่าแรงขั้นต่ำไปอยู่ในมือของตัวแสดงที่แตกต่างกันนั้นเกี่ยวโยงกับความแตกต่างความผันผวนหรือไม่? เป็นเพราะปัจจัยที่พวกเขานำมาคำนึงในการประกอบการตัดสินใจนั้นแตกต่างกันหรือเปล่า? คงต้องหาคำตอบกันต่อไป
แต่อย่างหนึ่งที่เรารู้ดีแน่ คือการตัดสินใจของมนุษย์นั้นพร้อมพยศกับทฤษฎีดั้งเดิมอยู่เสียแทบจะตลอดเวลา การอัพเดทตัวเองและมองทุกรายละเอียดอย่างถี่ถ้วนน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่จะต่อกรกับเรื่องราวการคาดการณ์ได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ… เพราะไม่เช่นนั้นเราอาจจะโดนดาบสองคมบาดมือเอาได้ เราอาจจะหลงไปกับภาพลวงตาที่ชี้บอกว่าเส้นทางที่เรากำลังก้าวเดินไปนั้นถูกแล้ว…